วันนี้ (21 ธ.ค.) เวลา 13.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ ได้รับแจ้งเหตุว่ามีผู้จมน้ำเสียชีวิต 2 ราย เป็นแม่ลูกกัน ที่บริเวณบ่อน้ำ ลูกจมน้ำ ใกล้สระน้ำสาธารณประโยชน์ หนองตาวิน หมู่ 8 บ้านโคกจ๊ะ ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ หลังได้รับแจ้งเหตุ ได้ประสานแจ้งให้ ศูนย์วิทยุศรีไผท สภ.เมืองสุรินทร์ พร้อมทั้ง ร.ต.ท. ภาณุวัฒน์ ริมหมู่ดี พนักงานสอบสวนเวร เร่งเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ

ณ ที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่บ่อน้ำ ใกล้สระน้ำสาธารณประโยชน์หนองตาวิน บ้านโคกจ๊ะ หมู่ 8 ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ มีชาวบ้านมายื่นดูเหตุการณ์ด้วยความเศร้าเสียใจ ซึ่งสระน้ำสาธารณะ ได้กำลังมีการขุดลอก ปรับแต่งพื้นผิว บริเวณรอบสระน้ำ และคนงานที่ทำการลอกสระน้ำ ได้ใช้รถขุดบ่อน้ำ มีขนาดความยาว ประมาณ 3 เมตร กว้าง 1 เมตร ลึกประมาณ 2.5 เมตร
จากการสอบสวนเบื้องต้นได้ความว่า เวลาประมาณ 12.00 น. เด็กชาย เอ็ม อายุ 10 ขวบ เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กับ เด็กชายโอม อายุ 8 ขวบ เรียน ป.2 เรียนที่เดียวกัน พร้อมด้วย นางจ๊าบ อายุ 47 ปี แม่ของเด็กชายเอ็ม พากันเดินทางมาที่สระน้ำเพื่อดูคนงานที่กำลังมีการปรับเกลี่ยหน้าดิน

ขณะนั้น ด.ช.เอ็ม เห็นบ่อน้ำที่รถขุดไว้ ได้มีน้ำซึมออกมาจนเต็มบ่อ อยากทราบว่า น้ำลึกแค่ไหน จึงได้กระโดดลงไปในบ่อ กระทั่งน้ำท่วมหัว จึงพยายามจะปีนขึ้นจากบ่อ แต่ขึ้นไม่ได้ ด.ช.โอม เห็น ด.ช.เอ็ม กำลังจมน้ำ จึงได้ยื่นมือ ไปให้ ด.ช.เอ็ม จับเพื่อจะช่วยแต่ดึงไม่ขึ้น แถมยังถูกดึงลงไปยังบ่อน้ำอีกคน เด็กชายทั้ง 2 คน พยายามดิ้นรนเพื่อขึ้นจากบ่อน้ำแต่ขึ้นไม่ได้
ขณะที่นางจ๊าบ ผู้เป็นแม่ ด.ช.เอ็ม ได้เห็นเหตุการณ์ ทั้งลูกและหลานกำลังจะจมน้ำ จึงได้กระโดดลงไปในบ่อน้ำอีกคน เพื่อช่วยลูกและหลาน ได้ใช้มือดันร่าง ด.ช.โอม ผู้เป็นหลาน อายุ 8 ขวบขึ้นจากน้ำได้จนปลอดภัย ส่วนตัวเองว่ายน้ำไม่เป็น จึงได้จมน้ำเสียชีวิตพร้อมกับลูกชาย ด.ช.เอ็ม
ร.ต.ท. ภาณุวัฒน์ ริมหมู่ดี พนักงานสอบสวนเวร ได้บันทึกภาพ รวบรวมหลักฐานและสอบปากคำชาวบ้านที่ได้เห็นเหตุการณ์ในเบื้องต้น โดยมีแพทย์หญิงศุธินี ทัตติยกุล แพทย์เวรโรงพยาบาลสุรินทร์ เดินทางมาชันสูตรพลิกศพ ประสานกับอาสาสมัครกู้ภัยสุรินทร์ เคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ร่าง ส่งพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตที่นิติเวช โรงพยาบาลสุรินทร์ หลังจากนั้นจะได้ส่งมอบศพ ให้ญาติประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป
วิธีการเอาตัวรอดเมื่อตกเรือ ตกน้ำ
1. ตั้งสติ
สิ่งแรกที่ต้องมีเมื่อเกิดอุบัติเหตุนั้นคือ สติ คุณควรพยายามลืมตา มองไปรอบ ๆ หากมีอะไรที่สามารถลอยได้ ก็ให้พยายามเอื้อมไปเกาะไว้ก่อน พยายามมองหาแสงสว่างบริเวณผิวน้ำ หรือในกรณีที่คุณอยู่บนเรือที่กำลังจะล่ม ให้คุณรีบออกจากตัวเรือให้เร็วที่สุด และว่ายน้ำออกห่างจากเรือให้ได้มากที่สุด เพราะกระแสน้ำอาจดูดคุณเข้าไปใต้ท้องเรือ จนขาดอากาศหายใจและจมน้ำเสียชีวิตได้ในที่สุด หรือเรืออาจพลิกคว่ำมาทับตัวคุณได้
2. อย่าว่ายทวนน้ำเด็ดขาด
การพยายามว่ายน้ำในทะเล หรือแม่น้ำที่กว้างและลึก จะทำให้เราหมดแรงได้ง่าย ไม่ควรว่ายน้ำสวนทิศทางน้ำเด็ดขาด คุณควรว่ายตามแนวคลื่นเพื่อพยายามเข้าใกล้ฝั่ง หรือใกล้ตลิ่งให้มากที่สุด และควรหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางจำพวกเศษขยะ พืชน้ำ ผักตบชวา เนื่องจากขยะเหล่านี้ อาจเข้ามาพันตัวจนว่ายน้ำยากกว่าเดิม อีกทั้งไม่ควรเข้าใกล้สะพาน เพราะมักเป็นจุดที่มีกระแสน้ำวนค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตกน้ำ ตกเรือต้องทำยังไง วิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ

3. พยายามลอยตัว
ในกรณีที่สวมเสื้อชูชีพ หรือเสื้อที่จะทำให้ลอยตัวได้ จะช่วยทำให้ร่างกายของเราลอยเหนือผิวน้ำได้ง่ายกว่าปกติ เสื้อชูชีพจะช่วยให้เราพยุงตัวอยู่ในน้ำได้นานประมาณ 3 – 6 ชั่วโมง หากเป็นเสื้อชูชีพคุณภาพดีอาจช่วยให้ลอยตัวอยู่ได้นานอีกหลายชั่วโมง หากเป็นไปได้ควรจะสวมเสื้อชูชีพที่มีสีสด เพราะจะทำให้คนสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญควรล็อกเสื้อชูชีพทุกจุดให้ครบ อย่าเพียงแค่สวมไว้เฉย ๆ และสำหรับกรณีที่ไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ ไม่ว่าจะว่ายน้ำเป็นหรือไม่ก็ตาม ก็มีวิธีลอยตัวอยู่หลายแบบให้ได้ทำกัน ดังนี้
- ลอยตัวด้วยท่าลูกหมาตกน้ำ โดยใช้แขนและขากวักน้ำเข้าหาตัวเองโดยสลับขาซ้ายขวา ให้ปากและจมูกโผล่พ้นน้ำเพื่อหายใจเอาอากาศเข้าปอด และย่อเหยียดเข่าซ้ายขวาสลับกับทิศทางของแขนและมือ เหมือนท่าที่หมาใช้ว่ายน้ำ
- ลอยตัวแบบนอนหงาย โดยพยายามหงายหน้าลอยตัวในน้ำโดยนอนนิ่ง ๆ อยู่กับที่ ให้ศีรษะอยู่พ้นน้ำ ขาแขนเหยียดตรงเหมือนนอนอยู่บนที่นอน เงยหน้ายกคาง เพื่อใช้ปากหายใจ
- ลอยตัวด้วยท่าปลาดาว โดยพยายามบังคับตัวเองให้กางแขนกางขาเป็นรูปปลาดาว ให้ใบหน้าหงายขนานไปกับผิวน้ำ และพยายามอยู่นิ่ง ๆ จะทำให้ตัวจะลอยขึ้นผิวน้ำได้
โดยในระหว่างที่ลอยตัวอยู่ หากเป็นไปได้ ให้ถอดรองเท้า เข็มขัด หรือสิ่งของติดตัวที่จะเป็นเครื่องถ่วงน้ำหนักออกให้หมด

วิธีช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ
หากในกรณีกลับกัน เมื่อเกิดอุบัติเหตุ พบคนตกน้ำ หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันทางน้ำ คุณสามารถให้การช่วยเหลือได้โดยทำตามดังนี้
- โยนอุปกรณ์ที่ไม่มีเชือกผูก เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถังแกลลอน โดยโยนอุปกรณ์ให้ตกตรงหน้าผู้ประสบภัย สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ควรใส่น้ำเล็กน้อย เพื่อให้อุปกรณ์มีน้ำหนัก จะทำให้สามารถโยนได้แม่นยำมากขึ้น
- โยนอุปกรณ์ที่มีเชือกผูก เช่น ถังแกลลอนผูกเชือก ถุงเชือก โยนอุปกรณ์ให้ข้ามศีรษะผู้ประสบภัยไป เพื่อให้เชือกตกลงไปกระทบตัวผู้ประสบภัย โดยเชือกที่ใช้จะต้องมีความอ่อนตัว และไม่บิดเป็นเกลียว
- ยื่นอุปกรณ์ให้กับผู้ประสบภัย เช่น ไม้ ย่อตัวลงต่ำ เพื่อไม่ให้ถูกผู้ประสบภัยดึงตกน้ำ โดยยื่นอุปกรณ์ไปด้านข้างของผู้ประสบภัย แล้วจึงค่อย ๆ นำอุปกรณ์เข้าไปหาตัวผู้ประสบภัยจากด้านข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์โดนหน้าผู้ประสบภัย
- ในระหว่างที่ให้การช่วยเหลือ ให้ตะโกนขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างไปด้วย
- ไม่ควรรีบโดดลงไปช่วย เพราะตัวผู้ประสบภัยอาจจะกำลังตกใจและพยายามเกาะและกดตัวคุณ ซึ่งอาจทำให้จมทั้งคู่ได้
- รีบโทรขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1196 เพื่อแจ้งอุบัติเหตุทางน้ำ หรือ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669
ในช่วงระยะที่ผ่านมานี้ ได้มีข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางน้ำ มาค่อนข้างบ่อย ไม่ว่าจะเป็นข่าวเรือล่ม หรือคนจมน้ำ มีทั้งผู้ที่มีประสบการณ์ทางน้ำและผู้ที่ไม่มีทักษะในการว่ายน้ำเลย บ่งบอกได้ว่าอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งนี้จึงอยากจะให้ความรู้เกี่ยวกับอุบัติเหตุทางน้ำ เพื่อที่จะช่วยให้ทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางน้ำ รวมถึงวิธีเอาตัวรอดและการให้ความช่วยเหลือมากขึ้น เพราะเชื่อว่าทุกคนคงไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เด็กจมน้ำวันลอยกระทง คาดเป็นเพราะเก็บเงิน พลาดจมน้ำหมดสติ ช็อกทั้งงาน!
ดราม่าสนั่น! เด็กเล่นน้ำริมสระ “จมน้ำ” แต่คนถ่ายยืนมองนานกว่าจะช่วย
เด็กชาวญี่ปุ่นวัย 3 ขวบ จมน้ำ ที่พูลวิลล่า บางละมุง จ.ชลบุรี โชคดี ช่วยไว้ได้ทัน !!
ที่มา : 1
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!