พ่อแม่ทุกคนควรท่องไว้เสมอว่า ลูกเราไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน การพาเด็กไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ เป็นความรับผิดชอบของผู้ปกครองในการดูแลและอบรมบุตรหลานไม่ให้ เด็กเสียงดังในโรงหนัง หรือรบกวนผู้อื่นที่มาใช้บริการร่วมกัน แต่จากเหตุการณ์หนึ่ง การตักเตือนเรื่องเสียงดังในโรงภาพยนตร์กลับนำไปสู่ความขัดแย้งถึงขั้นจะทำร้ายร่างกาย
สาวเตือน เด็กเสียงดังในโรงหนัง กลับถูกผู้ปกครองดักทำร้ายร่างกาย
เพจ “อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part 6” ได้แชร์เรื่องราวของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ระบุว่า
**อยากจะมาแชร์ประสบการณ์ แค่พูดตักเตือนในโรงภาพยนตร์ ก็ทำให้เกิดเรื่องถึงขั้นคู่กรณีจะทำร้ายร่างกาย
-คู่กรณีเป็นผปคเด็ก พ่อเด็กและผู้หญิง (เราไม่แน่ใจว่าฝ่ายหญิงใช่แม่ของเด็กไหม) คนที่เป็นคู่กรณีหลักคือฝ่ายหญิง
ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ 16:30 โดยประมาณ ของวันที่ 1 มิถุนายน 2568
ต้นเหตุมาจาก ฉันและแฟนฉันดูหนังอยู่ที่โรงภาพยนตร์หนึ่ง เราสองคนนั่งอยู่ที่โซฟาคู่หลังสุด คู่กรณีและลูกคู่กรณีนั่งอยู่โซฟาคู่ข้างล่างถัดไปแค่แถวเดียว ตอนนั้นหนังกำลังฉายละ พูดก่อนว่าเรื่องนั้นมีเด็กค่อนข้างเยอะ แต่จะมีอยู่ครอบครัวหนึ่ง ที่ปล่อยให้เด็ก 2 คน นั่งกันตามลำพังอีกโซฟา อันนี้ไม่แน่ใจว่ามีผู้ใหญ่นั่งด้วยมั้ย แต่จากที่เห็นคิดว่าไม่ เด็กคุยกันเสียงดังหลายครั้ง และเด็กได้มีการเดินออกจากโรงภาพยนตร์ไปซื้อขนมทั้งๆที่หนังกำลังฉาย เด็กมีการเดินไปมาระหว่างโซฟา ของผปค และที่ตัวเด็กนั่งอยู่ หลายครั้ง แกะถุงขนมเสียงดัง กินขนมกันเสียงดัง เพราะตอนนั้นได้ยินเสียงถุงขนมหลายครั้ง ทางฉันก็พูดตักเตือนในที่ๆของฉัน ที่ๆฉันนั่งอยู่ว่า “อย่าเสียงดังค่ะ” อันนี้พูดก่อนว่า ถ้าทางเราไม่แน่ใจหรือยังไง เราจะไม่พูดเลย แต่นี้ เสียงดังมาตลอดตั้งแต่เริ่มเรื้อง จนหมดความอดทน ก็ตักเตือนไป เด็กก็เงียบไม่เสียงดังอีก ก็ดูหนังต่อไป
ต่อมาหนังใกล้จะจบละ มีผปคเด็ก มาหาตัวว่าใครเป็นคนด่าน้อง มาเดินหาบังคนที่ดูอยู่ ทางเราก็ไม่ได้สนใจ เพราะตอนนั้น เราพูดจบไปนานแล้ว เราก็คิดว่า อาจจะเป็นคนอื่นอีกที่ตักเตือนเพราะน้องเสียงดังจริงๆ ผปคเด็กก็พาเด็กออกไปก่อนหนังจะจบ (พูดก่อนว่าทางคู่กรณีคิดว่าเราไปด่าน้อง แต่จริงๆเราพูดตักเตือนในที่ๆของเราดีๆนะ )
พอหนังจบเราสองคนกับแฟนก็เดินออกจากโรงภาพยนตร์ เดินลงไปฝั่งเกมส์เซนเตอร์ ทางคู่กรณีหญิง (ผปค.เด็ก) ได้เดินปรี่เข้ามาหา ทันทีว่า “คนนี้ใช่ไหมที่ด่าน้อง” เราก็บอกด่าว่าอะไร เราก็พูดเสริมอีก ว่าไม่ได้ด่านะคะ พูดดีๆ มีหางเสียงด้วยซ้ำ ทางคู่กรณีก็คงจะไม่พอใจ ไม่ยอมรับว่าเด็กเสียงดัง ก็เถียงว่าไม่ได้เสียงดัง (แต่ทางเราคิดว่าถ้าเด็กไม่ได้เสียงดังเราจะพูดตักเตือนทำไม)
”พูดก่อนว่าคู่กรณีเริ่มควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้แล้ว ตะคอกเสียงใส่ โวกเวกเสียงดัง “
ประเด็นอยู่ตรงนี้ ทางคู่กรณีบอกเด็กไม่ได้เสียงดังถูกไหมคะ แต่ทางเราพูดตักเตือนไปลอยๆ ตักเตือนในที่ๆของเรา พูดตักเตือนให้รู้ว่ามีคนเสียงดัง ไม่ได้ไปชี้หน้าด่าลูกคู่กรณีเลย แต่คู่กรณีดันเดือดร้อนไม่พอใจ (ทางเราก็เลยคิดว่าถ้าลูกคุณไม่ได้เสียงดังคุณจะร้อนตัวทำไมถูกไหมคะ)
แต่ที่ทำให้เราไม่โอเคเลยคือทางคู่กรณีเอาคำว่าเด็กมาอ้าง ทั้งๆที่คุณควรจะดูแลให้ดี ไม่ให้ไปรบกวนคนอื่น มารยาทในโรงภาพยนตร์ก็มีว่าอย่าเสียงดังรบกวนผู้อื่น มันเป็นพื้นที่ส่วนรวม คุณควรสอนน้องไม่ใช่ไม่พอใจที่คนอื่นมาพูดเตือน
ทางฝั่งนั้นก็ไม่พอใจไม่ยอม ทางเราก็ไม่โอเค ว่าทำไมเราตักเตือนเด็กเราผิดหรอ เราไม่ได้ไปว่าน้องด้วยคำหยาบคายเลย พูดตักเตือนในที่ๆของเราดีๆ
พอเริ่มมีปากเสียงกันหนักขึ้น ทางนั้นคงควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ละ จึงเดินปรี่เข้ามาจะตบเรา แต่ทางแฟนเราห้ามไว้ แต่เขาก็ไม่ยอม มือเขาเลยหลุดมาข่วนโดนแขนเรากับกระชากผมเราไปนิดหน่อย แต่สุดท้ายยังไงคู่กรณีก็มีเจตนาจะทำร้ายฝ่ายเรา แต่ดีที่เราไม่เป็นอะไรมากก็แยกย้ายกันไป
หลังจากเกิดเหตุเราก็เข้าไปแจ้งความเลย เราคิดว่าเขาควรคิดนิดหนึ่ง ที่ไม่ใช่อยากเอาชนะโดยไม่ลืมหูลืมตาเลย เราพูดตักเตือนดีๆ ไม่ได้ด่าเลย คือเอาง่ายๆ คู่กรณีไม่ยอมรับอะไรเลย
**ทุกคนมีความคิดเห็นยังไงก็สามารถมาพูดคุยกันได้นะคะ ขอบคุณนะคะที่อ่านมาจนจบ

ในฐานะพ่อแม่ การพาลูกไปดูหนังในโรงภาพยนตร์เป็นกิจกรรมครอบครัวที่เปิดประสบการณ์ให้กับลูกน้อยได้ตื่นตาตื่นใจได้ดูหนังสนุกๆ บนภาพยนตร์จอยักษ์ แต่ก็ต้องมีการเตรียมตัวที่ดี เพื่อป้องกัน เด็กเสียงดังในโรงหนัง และเพื่อให้เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจทั้งกับครอบครัวเราและผู้ชมคนอื่นๆ ด้วย
พาลูกดูหนังในโรงยังไงให้แฮปปี้ทั้งครอบครัวและคนรอบข้าง
นี่คือเคล็ดลับง่ายๆ ที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ เด็กเสียงดังในโรงหนัง ได้อย่างราบรื่น
-
เข้าใจธรรมชาติของเด็ก
สิ่งแรกที่ต้องจำไว้คือ เด็กๆ ไม่ได้มีสมาธิจดจ่อได้นานเท่าผู้ใหญ่ และการเรียนรู้เรื่องมารยาท กาลเทศะ รวมถึงการควบคุมเสียงและพฤติกรรมต่างๆ ก็ต้องใช้เวลา เด็กเล็กบางคนอาจกระตือรือร้นมาก หรือมีช่วงความสนใจที่สั้น ทำให้การนั่งนิ่งๆ หรือเงียบตลอดเรื่องเป็นเรื่องที่ท้าทายคนเป็นพ่อแม่อย่างมาก
-
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกจากบ้าน
- เลือกหนังและรอบที่เหมาะสม พิจารณาว่าหนังที่เลือกเหมาะกับวัยของลูกแค่ไหน ลูกสามารถนั่งดูหนังได้ตลอดเรื่องหรือไม่ บางทีโรงภาพยนตร์อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเด็กเล็กมากๆ
- อธิบายกติกาให้ลูกฟัง ก่อนไปถึงโรงหนัง ลองคุยกับลูกถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เช่น “ในโรงหนังเราต้องเงียบๆ นะลูก เพราะเสียงดังจะรบกวนคนอื่น” หรือ “เราจะกินขนมเบาๆ ไม่ให้เสียงดัง”
-
ระหว่างที่อยู่ในโรงภาพยนตร์
- จับตาดูพฤติกรรมลูกอยู่เสมอ ดูแลและสังเกตลูกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่ต้องการความสงบ
- รีบตักเตือนทันทีอย่างใจเย็น ถ้าลูกเริ่มส่งเสียงดัง หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้ตักเตือนทันที อาจเตือนด้วยท่าทาง “จุ๊ๆ” หรือเลือกใช้คำเชิงบวก เช่น “ลูกพูดเสียงเบาๆ หน่อยนะ” หรือ “เรามานั่งดูหนังเงียบๆ กันดีกว่า”
- สอนเรื่องความเห็นอกเห็นใจ อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการกระทำของเขาส่งผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร เช่น “ถ้าลูกเสียงดัง คนอื่นที่กำลังดูหนังอยู่จะไม่สนุกนะ”
- ตัดสินใจถอยถ้าจำเป็น หากพยายามแล้วแต่ลูกยังไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้จริง ๆ การตัดสินใจพาเด็กออกจากโรงหนังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้รบกวนผู้อื่น และเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

-
เมื่อมีคนตักเตือนลูกของเราในโรงหนัง
หากลูกของเราอาจเผลอทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ และมีคนอื่นเข้ามาตักเตือน ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกอัดอัดใจ แต่การรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างมีสติและเหมาะสม จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี และยังเป็นโอกาสที่ดีในการสอนลูกอีกด้วย
- คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติและควบคุมอารมณ์ ไม่โต้เถียง อย่าเพิ่งแสดงท่าทีไม่พอใจ โกรธ หรือปกป้องลูกทันที เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง
- กล่าวคำขอโทษอย่างจริงใจ ไม่ว่าลูกจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ควรกล่าวคำขอโทษผู้ที่ตักเตือนทันที เช่น “ขอโทษด้วยนะคะ/ครับ ที่ลูกส่งเสียงดัง รบกวนคุณ” หรือ “ขอโทษด้วยนะคะ/ครับ เดี๋ยวจะดูแลให้ดีกว่านี้ค่ะ/ครับ”
- จัดการพฤติกรรมลูกทันที ตักเตือนอย่างนุ่มนวล แต่สื่อให้ลูกรับรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่เหมาะสม เช่น “เราต้องเงียบๆ นะคะ/ครับ เสียงดังจะรบกวนคนอื่น” หรือ “หนูต้องนั่งดูหนังเงียบๆ นะคะ/ครับ” หรือพาออกไปพักนอกชั่วคราว เพื่อสงบสติอารมณ์ และพูดคุยกับลูกถึงมารยาทในการอยู่ในที่สาธารณะ
-
หลังเหตุการณ์
- เมื่อกลับถึงบ้าน พูดคุยกับลูกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถามความรู้สึกของลูก และอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าทำไมพฤติกรรมนั้นถึงไม่เหมาะสม และส่งผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร
- เน้นย้ำถึงความสำคัญของมารยาท สอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิผู้อื่น และรู้จักกาลเทศะในการแสดงออกในที่สาธารณะ
- เป็นแบบอย่างที่ดี พ่อแม่เองควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงมารยาทและการตอบสนองต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ
การรับมือกับสถานการณ์ที่มีคนตักเตือนลูกของเราอย่างเข้าใจและมีวุฒิภาวะ ไม่เพียงแต่จะช่วยรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง แต่ยังเป็นบทเรียนที่พ่อแม่สามารถสอนลูกให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและมีมารยาทที่ดีในสังคมได้ค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
มารยาททางสังคมที่ควรสอนลูก ปลูกฝังลูกให้เป็นเด็กดี
ปักหมุด! 10 มารยาทที่พ่อแม่ต้องสอนลูก สร้างนิสัยที่ดีในการเข้าสังคม
8 ข้อคิดสอนเด็กจาก Lilo & Stitch 2025 ภาพยนตร์สุดน่ารัก ดูสนุกทั้งครอบครัว
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!