ข่าวเรื่องการถูกโทรหาจาก แก๊งคอลเซ็นเตอร์ กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะนอกจากจะมีผู้สูงอายุและคนทั่วไปโดนโทรหา เพื่อหลอกเอาเงินแล้ว งานนี้ยังลามไปถึงเด็ก ม.1 อีกด้วยค่ะ! โดยล่าสุดได้มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก Thawatchai Hankitjanurak ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “กูก็ว่าอยู่ว่าทำไมมานั่งร้องไห้ พวกคอลเซ็นเตอร์เล่นลูก ๆ กูแล้ว แม่งจดทุกอย่าง ไม่รู้จะเอาเงิน 135,500 บาท ไปจ่ายเขายังไง ในแต่ละวันของกูสดใสจริง ๆ แก้ทุกอย่าง ระมัดระวังช่วยกันดูแลด้วยโอ้ยยยย 555”
โดยเป็นการอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จาก กสทช. หลอกให้โอนเงินจ่ายค่าปรับแสนกว่าบาท โดยบอกว่าทำผิดกฎหมายเพราะไปชักชวนคนเล่นพนันออนไลน์ เด็กเลยตกใจกลัว จึงนำเรื่องไปบอกครูประจำชั้น ถึงรู้ว่าถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอก เมื่อสืบเรื่องราวก็ได้พบว่า นายธวัชชัย หาญกิจจารักษ์ เจ้าของโพสต์ดังกล่าว เป็นครูสอนพิเศษวิชาดนตรี รร.แห่งหนึ่งใน จ.ศรีสะเกษ ได้พบเรื่องราวนี้ผ่านทางลูกศิษย์ที่อยู่ในอาการผวากับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเด็กได้เล่าว่า ขณะที่กำลังซ้อมดนตรีอยู่ มีโทรศัพท์ที่ไม่รู้จักโทรเข้ามา อ้างว่าโทรมาจากสำนักงาน กสทช. บอกชื่อ- นามสกุล เลขบัตรประชาชนได้อย่างถูกต้อง พร้อมแจ้งด้วยว่า มีผู้นำเลขบัตรประชาชนไปใช้ในการเปิดเบอร์โทรศัพท์หลายเบอร์ และมีการนำไปหลอกคนให้มาเล่นการพนันออนไลน์ทำให้มีมูลค่าความเสียหาย จำนวน 135,500 บาท ซึ่งปลายสายเป็นเสียงผู้ชายบอกให้ไปแจ้งความที่ สภ.เชียงราย รวมถึงให้จดข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเด็กตอบไปว่า ไม่ว่างเพราะต้องเรียนหนังสือ
แต่ปลายสายยังบอกด้วยว่า ถ้าไม่ว่างก็จะติดต่อ สภ.เชียงรายให้ แล้วก็มีการโอนสายไป โดยพบว่า ครั้งนี้เป็นผู้หญิง อ้างยศ ร.ต.ท. จากนั้น ตำรวจหญิงบอกด้วยว่า อ้างเรื่องการดำเนินคดี ซึ่งตอนนั้นตกใจมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร จากนั้นตำรวจหญิงบอกว่าอีก 1 ชั่วโมงจะโทรมา จากนั้นก็วางสายไป เด็กตกใจกลัวมากจึงนั่งร้องไห้ จนกระทั่งครูมาพบและสอบถามเรื่องราวดังกล่าว ด้านครูธวัชชัย กล่าวว่า ตนสังเกตเห็นลูกศิษย์ร้องไห้ จึงเข้าไปสอบถามและพบสาเหตุ ซึ่งเคสนี้ โชคดีที่ลูกศิษย์ยังไม่ได้เสียเงินแต่อย่างใด จึงได้นำเรื่องราวดังกล่าวไปโพสต์เตือนในเฟซบุ๊ก เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์อย่าได้หลงเชื่อกลลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์


ต่อมาอาจารย์ประจำชั้นของน้องนักเรียนระดับชั้น ม.1 โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้พานักเรียน เข้าแจ้งความกับตำรวจลงบันทึกประจำวัน สถานีตำรวจภูธรขุขันธ์ เพื่อเอาผิดกับเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ ที่โทรมาข่มขู่น้องนักเรียน ม.1 ให้โอนเงิน และเพื่อที่จะมอบหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาให้เจ้าหน้าที่ส่งต่อให้ กองบัญชาการตำรวจสืบสวน สอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ช่วยตรวจสอบว่าเป็นใคร และเอาผิดแก๊งนี้ให้ได้
ด้านอาจารย์ประจำชั้น บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้จะมีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาข่มขู่ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนเป็นจำนวนมาก ส่วนหมายเลขเบอร์โทร กับชื่อจริง นามสกุลจริง ก็เอามาจากพวกนักเรียนที่ชอบเล่นเกม หรือมีการซื้อขายข้อมูลทางออนไลน์กัน และโทรมาหลอกลวง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีนักเรียนโดนหลอกให้โอนเงินไป หมดไปมากกว่า 10,000 บาท โดยจะใช้กลคือโทรมาหลอกให้ร่วมซื้อหุ้น ต่าง ๆ แล้วหลอกให้โอนเงินไป ยอดแรกก็จะมีดอกผลมาภายใน 2-3 วัน ต่อมาก็หลอกให้โอนอีก สุดท้ายก็สูญเงินนับหมื่น จึงอยากจะขอให้ทุกคนเฝ้าระวัง อย่าได้หลงเชื่อกลโกงพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์
บทความที่เกี่ยวข้อง : เครื่องดื่มชงรสหวาน รู้หรือไม่? ถ้าดื่มเป็นประจำ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ!
รู้ทันกลโกง “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
แม้จะมีข่าวผู้ที่ถูกหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ก็ยังคงมีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ จะทำอย่างไรถึงจะป้องกันการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้
1. มีสติรู้เท่าทัน ข้ออ้างที่มิจฉาชีพใช้หลอกเหยื่อ มักเป็นเรื่องที่ทำให้เหยื่อตกใจกลัว หรือตื่นเต้นดีใจ และอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการเงินเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความเกรงกลัว ในบางครั้งอาจจะมีระบบโทรศัพท์อัตโนมัติเพื่อให้ดูเป็นการติดต่อจากองค์กรขนาดใหญ่ โดยเรื่องที่มิจฉาชีพนำมาหลอก มักจะเกี่ยวกับหัวข้อดังนี้
- บัญชีของคุณถูกอายัด/หนี้บัตรเครดิต: เป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพนิยมใช้มากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะมี และทำให้ตกใจได้ง่าย โดยจะอ้างว่าท่านมีหนี้ ทำให้บัญชีถูกอายัด
- พัวพันการค้ายาเสพติด/ฟอกเงิน/มีคดีความ: เมื่อพบว่าเหยื่อมีเงินจำนวนมากในบัญชี มิจฉาชีพจะหลอกว่ามีคดีความ และให้เหยื่อโอนเงินเพื่อนำเงินมาตรวจสอบก่อน
- เช็กเงินคืนภาษี: เป็นข้ออ้างที่มักใช้ช่วงที่มีการขอคืนภาษี โดยจะหลอกว่าเหยื่อได้รับเงินคืน และต้องไปทำธุรกรรมที่หน้าตู้เพื่อยืนยันตัวตน แต่แท้จริงแล้ว เป็นการทำธุรกรรมโอนเงินให้ไปกับมิจฉาชีพ
- คุณคือผู้โชคดี: หลอกให้เหยื่อดีใจ โดยให้โอนเงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อแลกรับรางวัลใหญ่
- ข้อมูลส่วนตัวของคุณหาย: หลอกถามข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปปลอมแปลงในการทำธุรกรรมต่าง ๆ
- โอนเงินผิด/อนุมัติเงินกู้: มิจฉาชีพมักจะหลอกว่ามีการโอนเงินผิด หรือมีผู้นำเอกสารของเหยื่อไปขอวงเงินสินเชื่อ แล้วให้เหยื่อโอนเงินกลับมายังบัญชีของมิจฉาชีพ เพื่อทำการตรวจสอบ หรือคืนเงินที่มีผู้โอนไปผิด

2. ป้องกัน ในอนาคต มิจฉาชีพอาจหาวิธีการใหม่ ๆ ดังนั้นเราควรศึกษาวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
- ข้อมูลจริงหรือไม่ เมื่อมิจฉาชีพโทรมา ขอให้เราตรึกตรองว่าข้อมูลที่ได้รับเหล่านั้นมีมูลความจริงหรือไม่ เช่น คุณมีบัญชี/บัตรเครดิตธนาคาร หรือได้มีการทำธุรกรรมตามที่ถูกกล่าวอ้างหรือไม่
- ไม่ทำรายการ/โอนเงิน มิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านตู้ ATM หรือตู้ฝากเงินอัตโนมัติโดยมักให้เลือกเมนูภาษาอังกฤษ มิจฉาชีพจะถือสาย พร้อมกับบอกขั้นตอนการโอนจนกว่าเหยื่อจะโอนเงินสำเร็จ
- ไม่ให้ข้อมูล ไม่บอกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงรหัสต่าง ๆ ในทุกช่องทาง
- ตรวจสอบข้อมูล ให้ขอหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ และวางสายเพื่อติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานหรือสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึง
- เผื่อแผ่คนรอบข้าง นอกจากเราจะต้องระวังภัยที่เกิดขึ้นกับตนเองแล้ว เราควรให้ความรู้เรื่องกลโกงมิจฉาชีพกับคนรอบตัว เช่น ผู้สูงอายุในครอบครัว หรือคนที่มีแนวโน้มจะถูกหลอกลวงได้ง่าย เป็นต้น
3. หาวิธีแก้ปัญหา เมื่อพลาดแล้วทำอย่างไร
- รวบรวมข้อมูล หลักฐาน และเอกสารที่เกี่ยวข้องติดต่อสถาบันการเงินเพื่อระงับการโอนเงินดังกล่าว รวมถึงแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
- แจ้งเบาะแสกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
อย่างที่ทราบกันดีว่าเรื่องของ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นอีกหนึ่งคดีความผิดที่ยังตามติดเอาตัวคนทำมารับผิดไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น จึงควรมีสติให้มากที่สุด ที่สำคัญควรจดข้อมูลหรือรายละเอียดคำพูดไว้ด้วย เพื่อเป็นหนึ่งในการป้องกันตัวเอง และไม่ตกเป็นที่เสียรู้ และเสียเงินให้กับมิจฉาชีพแบบฟรี ๆ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ปอดอักเสบในเด็ก อาการป่วยอันตราย สังเกตอย่างไรได้บ้าง ?
อาบน้ำเด็กทารก เทคนิคอาบน้ำเด็กให้สะอาดและปลอดภัย อาบอย่างไรไม่ให้ลูกป่วย
เครื่องดื่มชงรสหวาน รู้หรือไม่? ถ้าดื่มเป็นประจำ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ!
ที่มา : 1, 2, 3
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!