หลังจากที่เกิดการปฏิสนธิตัวอ่อนฝังตัวที่มดลูกแล้ว กระบวน การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ก็จะค่อย ๆ เกิดขึ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกเดือน เริ่มสร้างอวัยวะต่าง ๆ ไปจนกระทั่งสมบูรณ์เมื่อครบเก้าเดือนและพร้อมลืมตาดูโลกเมื่อถึงวันคลอด มาค่ะ คุณพ่อคุณแม่มาแอบดู การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ กัน เจ้าหนูมีการเจริญเติบโตอย่างไร
จุดสังเกต การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ลูกเราโตขนาดไหนกันแล้วนะ
การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ไตรมาสแรก
จุดสังเกตเดือนแรก : การก่อตัวของชีวิตน้อย ๆ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
1. เมื่อการปฏิสนธิสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ตัวอ่อนฝังตัวแล้วเซลล์ไข่จะกลายสภาพเป็นไข่แดงผูกติดกับตัวอ่อนและเริ่มพัฒนาสายรกเพื่อเชื่อมต่อกับระบบเลือด เซลล์เกิดการเพิ่มจำนวน สร้างเนื้อเยื่อ เริ่มมีส่วนของศีรษะและลำตัว มองดูคล้าย ๆ ลูกอ๊อดเหมือนกันนะเนี่ย !!!
2. ภายในลำตัวจะมีการแบ่งเนื้อเยื่อ เพื่อสร้างเป็นอวัยวะที่สำคัญ ได้แก่ สมอง หัวใจ ตา ปาก ทางเดินอาหาร หูชั้นใน แขน ขา ที่สำคัญหัวใจของลูกน้อยเริ่มทำงานแล้วนะคะเมื่ออายุประมาณ 25 วันเท่านั้นเอง
3. ในช่วงเดือนแรกนี้คุณแม่บางคนหรือหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า ได้มีชีวิตน้อย ๆ กำเนิดขึ้นแล้ว เพราะยังไม่สัมผัสถึงการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่เมื่อทราบว่าประจำเดือนขาด และทำการตรวจแล้วว่า ท้องชัวร์ !!!! รีบไปฝากครรภ์เลยนะคะ พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอในการดูแลตนเองเพื่อสุขภาพที่ดีของแม่และลูกค่ะ
จุดสังเกตเดือนที่สอง : ระบบประสาทและหลอดเลือดเริ่มพัฒนาแล้วนะ
1. ในช่วงเดือนที่สอง การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ตัวอ่อนจะพัฒนาจากขนาดเท่าลูกอ๊อดมาเป็นทารกตัวจิ๋วขนาด 1 นิ้วฟุตกะขนาดประมาณผลราสเบอร์รี่ หากทำการอัลตราซาวด์จะเห็นรูปทรงโค้งของกระดูกสันหลังชัดเจน มีศีรษะขนาดโตขึ้นเท่าส่วนหน้าอก เริ่มเห็นจุดสีดำ ๆ จะพัฒนากลายเป็นตาและหูต่อไปแล้วค่ะ
2. การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ในเดือนที่สองนี้มีความสำคัญมากเลยนะคะคุณพ่อคุณแม่ เพราะว่าเจ้าหนูกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาระบบประสาทและหลอดเลือดค่ะ กลุ่มเซลล์สมองที่มีเนื้อเยื่อบาง ๆ พร้อมของเหลวห่อหุ้มไว้ เจริญเติบโตแบ่งออกเป็นสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา และเริ่มทำงานด้วยตนเอง มีการแตกสาขาเส้นประสาทออกไปสู่กระดูกสันหลัง
3. อวัยวะภายในจะแยกพัฒนาเนื้อเยื่อเพื่อเจริญเติบโตไปตามหน้าที่แต่ละส่วนของอวัยวะ ได้แก่ ปอด ตับ ไต ระบบทางเดินอาหาร หากอัลตราซาวด์จะเริ่มเห็นเป็นปาก แขน ขา แยกเป็นอวัยวะชัดเจนมากขึ้น
4. ในเดือนนี้ท้องของคุณแม่จะยังไม่โตเท่าใดนัก แต่คุณแม่เองจะเริ่มรู้สึกคัดเต้านม เต้านมเริ่มขยายใหญ่ขึ้น คลำได้เป็นก้อน รู้สึกเหนื่อยง่ายและอยากจะพักผ่อน เริ่มแล้วค่ะสำหรับอาการ “แพ้ท้อง” ส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารไม่ค่อยลง แต่ควรรับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยขึ้น อาจจะแบ่งอาหารออกเป็น 6 มื้อก็ได้นะคะ ที่สำคัญควรงดสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองนะเพราะยาบางชนิดจะมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์
จุดสังเกตเดือนที่ 3 : ดุ๊กดิ๊ก ๆ ทารกน้อยเริ่มเคลื่อนไหวแล้วนะ
1. ในช่วงเดือนที่สาม ทารกตัวจิ๋วจะอยู่ในสภาพไร้น้ำหนักแขวนติดกับสายรกอยู่ในถุงน้ำคร่ำ พัฒนาอวัยวะทุกส่วนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ระบบโครงสร้างกระดูกเริ่มพัฒนาโครงสร้างได้สมบูรณ์
2. มีตุ่มฟัน 20 ตุ่มเกิดขึ้นใต้เหงือกแล้วนะคะ เพื่อจะพัฒนาเป็นฟันน้ำนมต่อไป มีริมฝีปาก อวัยวะเพศเริ่มพัฒนาแต่ในเดือนนี้อัลตราซาวด์จะยังไม่ไม่เห็นอวัยวะเพศของเจ้าหนูนะคะว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง อดใจรออีกนิดนึง ไตทั้งสองข้างเริ่มทำงาน เจ้าหนูเริ่มถ่ายปัสสาวะแล้ว โดยปัสสาวะที่ลูกถ่ายออกมา ลูกน้อยจะกลืนเข้าทางเดินอาหาร และถูกดูซึมเข้ากระแสเลือด ส่งผ่านสายสะดือไปยังแม่ เพื่อให้คุณแม่ขับของเสียต่อไป
3. ทารกน้อยเริ่มเคลื่อนไหวแล้วนะคะ เริ่มเตะ กำหมัด หันหัวไปมา ตาเริ่มเคลื่อนไหวมองไปมาได้
4. ในช่วงเดือนที่สามนี้อาการแพ้ท้องของคุณแม่จะเริ่มดีขึ้นแล้วค่ะ มดลูกขยายขนาดขึ้น แต่อาจจะยังอยู่ในอุ้งเชิงกรานของคุณแม่นะคะ แต่คุณแม่จะสังเกตได้ว่ารอบเอวใหญ่ขึ้นแล้ว
อ่าน จุดสังเกตการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ไตรมาสสอง คลิกหน้าถัดไป
การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ไตรมาสสอง
จุดสังเกตเดือนที่สี่ : ร่างกายทารกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
1. ในช่วงเดือนที่สี่นี้ ตัวอ่อนจะโตเป็นทารกเต็มตัวมีความยาวประมาณ 6.5 นิ้วฟุต มีน้ำหนักประมาณ 130 กรัมเมื่อนอนขดตัวจะมีขนาดเท่าผลอโวคาโด มีอวัยวะครบทุกส่วน
2. พัฒนาการด้านร่างกายของทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้เริ่มมีขนคิ้วและเส้นผมแล้วนะ แต่ผิวยังบอบบางมากจนมองเห็นเส้นเลือดใต้ผิวหนัง ระบบกระดูกพัฒนาไปพร้อมกับกล้ามเนื้อ กระดูกเริ่มมีความแข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะไหปลาร้าและกระดูกขา นิ้วมือ นิ้วเท้าแยกออกจากกันครบทุกนิ้ว เริ่มมีเล็บและลายนิ้วมือ
3. ศีรษะเริ่มตั้งตรง ใบหูยื่นออกมาจากศีรษะ ส่วนตาทั้งสองข้างที่เคยอยู่ตำแหน่งค่อนไปทางซ้าย ก็จะค่อย ๆ เคลื่อนมาอยู่บนใบหน้า แม้ว่าเปลือกตาจะปิดสนิทอยู่ แต่เค้าโครงกระดูกใบหน้าพัฒนาไปตามสัดส่วน เริ่มมีกล้ามเนื้อใบหน้า หากทำอัลตราซาวด์แบบ 4 มิติ จะสามารถเห็นทารกแสดงสีหน้าตามอารมณ์ได้ เพราะเจ้าหนูเริ่มรับรู้สิ่งภายนอกด้วยประสาทสัมผัสจากการได้ยิน ทากรเริ่มได้ยินเสียงหัวใจของคุณแม่
บทความแนะนำ พัฒนาการกระดูกของทารกในครรภ์
4. ในช่วงเดือนนี้จะตัวน้อยจะรู้จักหลับและตื่นสลับกัน ส่วนหัวใจแบ่งออกเป็นสี่ห้องแล้ว ในเดือนที่สี่นี้คุณหมอสามารถฟังเสียงหัวใจของทารกโดยใช้หูฟังธรรมดาไม่ต้องพึ่งเครื่องมือพิเศษใด ๆ หากคุณแม่คุณพ่ออยากฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ก็สามารถทำได้นะคะ แต่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยฟังที่มีขายตามแผนกเด็กอ่อนก็สามารถได้ยินเสียงหัวใจทารกได้เช่นกันค่ะ
5. น้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามขนาดของท้อง โดยเฉลี่ยประมาณ 0.5 กิโลกรัม เมื่อสิ้นสุดเดือนที่สี่น้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นจากก่อนที่ตั้งครรภ์ประมาณ 3 – 4 กิโลกรัม
การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
จุดสังเกตเดือนที่ห้า : ระบบสืบพันธุ์พัฒนารู้แล้วนะว่าหนูเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง
1. ในช่วงเดือนที่ 5 นี้ทารกในครรภ์จะเจริญเติบโตทั้งขนาดและรูปร่าง เริ่มพัฒนาระบบสืบพันธุ์ หากทารกน้อยเป็นเพศหญิงช่วงนี้ร่างกายอยู่ในระหว่างพัฒนามดลูก ช่องคลอด และท่อนำไข่ หากเป็นเพศชายก็กำลังสร้างถุงอัณฑะ เมื่อครบห้าเดือนทารกเพศชายจะเริ่มมีการเคลื่อนย้ายอัณฑะ ส่วนทารกเพศหญิงก็จะเริ่มจัดวางตำแหน่งของมดลูกและรังไข่เข้าที่ รวมทั้งช่องคลอดก็มีการพัฒนามากขึ้น
2. ระบบต่าง ๆ เริ่มเจริญเติบโตมีพัฒนาการมากขึ้น ได้แก่
– ระบบทางเดินหายใจและระบบปอด สามารถขยับหน้าอกขึ้น – ลง เพื่อสูดเอาน้ำคร่ำเข้าไปในปอด
– ระบบผิวหนังทั่วร่างกายเริ่มมีชั้นไขมันมาสะสม ทำให้ทารกตัวใหญ่ขึ้นได้อย่างชัดเจน
– เซลล์สมองยังเพิ่มจำนวนต่อไปไม่หยุดจนเริ่มเติมพื้นที่ในกะโหลกศีรษะแล้ว
– ระบบประสาทรับรู้ทางรสและเสียงพัฒนาขึ้นมาก เริ่มได้ยินเสียงคนพูด เริ่มแยกแยะและจดจำเสียงพูดได้
– แขน ขา มีแรงมากขึ้น เริ่มดูดนิ้วมือ ทารกจะเคลื่อนไหวไปมาในถุงน้ำคร่ำจนกระทบผนังหน้าท้องด้านใน ทำให้คุณแม่เริ่มรับรู้ถึงการดิ้นของทารกน้อยแล้วค่ะ
3. เดือนนี้ร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนขนาด ไม่ใช่เฉพาะบริเวณหน้าท้องเท่านั้นนะคะ แต่ร่างกายของคุณแม่จะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นทั้งตัว หน้าอก เต้านม จะขยายใหญ่ขึ้นต้องเปลี่ยนคัพเสื้อชั้นในแล้วนะคะ หัวนมและลานนมจะมีสีเข้ม บั้นท้ายและสะโพกกลมอิ่ม เส้นกลางท้องเริ่มเห็นชัดเจนสีเข้มขึ้น
จุดสังเกตเดือนที่หก : เจ้าหนูในครรภ์เริ่มเตะทักทายคุณแม่แล้วนะ
1. ทารกจะเจริญเติบโตจนมีลักษณะและสัดส่วนเหมือนทารกแรกเกิดแล้ว มีศีรษะเหมาะสมกับขนาดของลำตัว แขน ขา ยาวได้สัดส่วน เริ่มเห็นลายนิ้วมือ ลายนิ้วเท้า เล็บมือ เล็บเท้า หากทำอัลตราซาวด์จะเห็นใบหน้าชัดเจนแล้วค่ะ มีขนคิ้วบาง ๆ เพิ่งเริ่มเปิดเปลือกตา มีปฏิกิริยาหันหน้าไปหาแสงส่องทะเลุผ่านหน้าท้องได้ คุณแม่สามารถเล่นกับลูกได้โดยการใช้ไฟฉายส่องไปที่หน้าท้อง จะรู้สึกว่าเจ้าตัวน้อยมีการตอบสนองค่ะ
2. ชั้นผิวหนังไม่โปร่งแสงเหมือนเดิมแล้วนะ เพราะมีไขมันมาสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ระบบสั่งงานของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นพัฒนาไปมากขึ้น สามารถบิดขี้เกียจ ยืดแขน ยืดขา ดิ้นไปดิ้นมาในถุงน้ำคร่ำ ทารกน้อยจะออกแรงดิ้นเป็นรอบ ๆ ไป รอบละประมาณ 45 นาที สลับกับนอนพักอีก 45 นาที
3. พัฒนาการสมองเป็นไปอย่างชัดเจน ระบบการฟังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถตอบสนองต่อเสียงที่คุ้นเคยอย่างสังเกตได้ชัดเสียงคุณแม่ เสียงคุณพ่อ เสียงดนตรีที่ได้ฟังเป็นประจำ เรียกชื่อลูกน้อยบ่อย ๆ พร้อมกับลูบท้องไปด้วยจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้อย่างดี
บทความแนะนำ ดนตรีช่วยพัฒนาสมองลูกตั้งแต่ในครรภ์
4. ในเดือนนี้คุณแม่จะเริ่มรู้สึกอึดอัด หายใจได้ไม่เต็มปอด หายใจได้ไม่สะดวก แน่นหน้าอก หายใจได้เพียงเบา ๆ เป็นต้น เหมือนกะบังลมดันหน้าอกขึ้นมา อึดอัดแม้กระทั่งจะนั่งในท่าปกติ ในเดือนนี้จะเริ่มมีเจ็บท้องหลอกเพื่อชิมลางแล้วนะคะ เกิดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งพร้อมกับมดลูกหดรัดตัวเป็นจังหวะถี่ ๆ ติด ๆ กัน 2 – 3 วินาที แต่ไม่สม่ำเสมอ การเจ็บหลอกจะไม่เจ็บเพิ่มขึ้นนะคะ และม่เจ็บร้าวไปที่หลังด้วย เรียกว่าเป็นการเตรียมความพร้อมซ้อมไว้ก่อนนะแม่!!!
บทความแนะนำ เจ็บท้องหลอกVSเจ็บท้องจริง แม่ท้องต้องดูยังไง
อ่าน จุดสังเกตการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ไตรมาสสาม คลิกหน้าถัดไป
การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ไตรมาสสาม
จุดสังเกตเดือนที่ 7 : ระบบหายใจของหนูทำงานเต็มที่สมบูรณ์แล้วนะ
1. ในเดือนที่เจ็ดนี้ ทารกน้อยพัฒนาระบบต่าง ๆ เกือบสมบูรณ์แล้ว ทารกน้อยจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตราประมาณ 100 กรัม / สัปดาห์ จากน้ำหนักประมาณ 600 กรัม สูง 33 เซนติเมตร เมื่อต้นเดือนที่เจ็ด ไปเป็นสูง 38 เซนติเมตรหนัก 100 กรัม เมื่อสิ้นสุดเดือนที่เจ็ด
2. ระบบต่าง ๆ ในร่างกายพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง ปอดเริ่มทำงาน ทารกน้อยจะขยับหน้าอกขึ้นลงเพื่อสูดน้ำคร่ำเข้าปอด จนบางครั้งคุณแม่จะรู้สึกได้ว่า ลูกน้อยกำลังสะอึกน้ำคร่ำอยู่
3. ทารกน้อยยังคงดิ้นแรงอย่างต่อเนื่อง เพราะสามารถขยับร่างกาย แขน ขา และอวัยวะภายนอกทุกส่วนได้อิสระ แต่ยังอยู่ในถุงน้ำคร่ำที่มีบริเวณจำกัด ปริมาณน้ำคร่ำน้อยลงเมื่อเทียบกับขนาดของทารกที่โตขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเย็นเป็นเวลาที่ทารกน้อยตื่นและมีการเคลื่อนไหวมากที่สุด โอกาสทองที่จะกระตุ้นพัฒนาการเจ้าหนูให้คุณแม่ คุณพ่อลูบท้อง พูดคุยทักทายลูกนะคะ จะกระตุ้นพัฒนาการด้านการได้ยินและสมอง รวมถึงการเคลื่อนไหวอีกด้วย
บทควมแนะนำ แม่จ๋ารู้ไหม!!!ลูบท้องกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์
4. ในช่วงเดือนนี้พัฒนาการของทารกในครรภ์จะเริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อคลอดออกมาสู่โลกภายนอก จะเริ่มมีการตีลังกากลับหัวลง แต่ก็มีที่ยังไม่กลับหัวลงก็ได้นะคะ ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละคน หากทารกที่คลอดก่อนกำหนดในเดือนนี้จะมีโอกาสรอดชีวิตสูง เพราะทารกมีระบบการหายใจสมบูรณ์แล้ว
5. ในเดือนที่เจ็ดนี้คุณแม่จะเริ่มมีรูปร่างอุ้ยอ้าย เริ่มรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อยเพลียและง่วงนอนบ่อย ๆ มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ บ้างบางคนมีอาการไมเกรนร่วมด้วยเพราะเส้นเลือดในสมองขยายตัวสืบเนื่องจากฮอร์โมนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การได้งีบนอนในช่วงกลางวันจะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้ค่ะ
จุดสังเกตเดือนที่แปด : ระบบประสาทสัมผัสพร้อมแล้ว
1. การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์มีอวัยวะสมบูรณ์ทุกอย่าง ผมยาวขึ้น เล็บยาวขึ้น ไขมันห่อหุ้มตัวหนาขึ้น ผิวเรียบเนียนแม้จะมีรอยย่นอยู่บ้าง เซลล์ประสาทและสมองกำลังพัฒนามากขึ้น รับรู้สภาพแวดล้อมทั้งการได้ยิน การมองเห็น และการรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ เริ่มจัดท่าทางการคลอดพร้อมออกมาดูโลกแล้วด้วยนะคะ
บทความแนะนำ ท่าทารกในการคลอด
2. ในช่วงเดือนนี้ลูกน้อยจะดิ้นน้อยลงเพราะร่างกายที่ใหญ่โตขึ้นจนแคบพื้นที่ในถุงน้ำคร่ำและหน้าท้องของคุณแม่ เมื่อพลิกตัวหรือขยับแขนขาแต่ละครั้งจะสะเทือนทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บท้องได้นะคะ
3. น้ำหนักของทารกในครรภ์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสองเท่า เฉลี่ยสัปดาห์ละ 200 กรัม จนเมื่ออายุครรภ์ครบแปดเดือนเต็ม เจ้าหนูจะเริ่มกลับหัวลงไปด้านล่างของมดลูกบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยมีน้ำหนักประมาณ 1,800 กรัม มีความยาวประมาณ 42 เซนติเมตรเมื่อนอนอยู่ในท้องคุณแม่จะมีขนาดเท่าผลแคนตาลูป
4. สำหรับคุณแม่จะอุ้ยอ้ายมากขึ้น ลุกนั่งลุกนอนลำบากมากขึ้น ก้าวเดินช้า ๆ เหมือนนกเพนกวิน แขนใหญ่ ขาใหญ่ ตัวเริ่มบวม มือ เท้าบวม ไม่ต้องกังวลค่ะเพราะร่างกายเริ่มสะสมน้ำและไขมันเอาไว้ในเซลล์ทั่วร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด อาจจะมีอาการนอนไม่ค่อยหลับเพราะกลางคืนต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำบ่อย แบบนี้ควรหาเวลางีบในช่วงกลางวัน และจัดท่าทางในการนอนให้เหมาะสม โดยท่านอนตะแคงจะเป็นท่านอนที่ดีที่สุดหรับคนท้อง
จุดสังเกตเดือนที่เก้า : สิ้นสุดการรอคอย
1. สิ้นสุดการรอคอยนะคะสำหรับเดือนนี้ เมื่อครบเก้าเดือน ศีรษะของทารกน้อยจะเคลื่อนเข้ามาสู่อุ้งเชิงกราน ร่างกายเจริญเติบโตสมบูรณ์เกือบ 100 % ระบบสั่งการทั้งหมดของร่างกายทำงานอย่างสมบูรณ์ หากดูในอัลตราซาวด์จะเห็นพฤติกรรมของทารกเหมือนกับทารกแรกคลอดออกมาแล้ว เช่น การสะอึก การหายใจ บิดขี้เกียจ กะพริบตา การแสดงออกทางสีหน้า เป็นต้น
2. ทารกจะนอนอยู่ในท่างอตัว เข่าชิดคางและจมูก ต้นขาพับมาด้านบนหน้าท้อง เมื่อมดลูกบีบตัวจะเป็นแรงผลักให้ลูกค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่อุ้งเชิงราน เวลาคลอดศีรษะจะนำมาก่อน แล้วไหล่จะคลอดออกมาตามลำดับ
3. ในช่วงเดือนที่เก้านี้คุณหมอจะนัดคุณแม่เพื่อตรวจสุขภาพความพร้อมของร่างกายบ่อยขึ้น อาจจะถี่ขึ้นถึงหนึ่งครั้ง / สัปดาห์ เพื่อตรวจดูความพร้อมของทารกในครรภ์ หากทารกไม่กลับศีรษะลงสู่อุ้งเชิงกราน หรือมีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ คุณหมอจะได้ดำเนินการรักษาหรือาจจะต้องผ่าตัดคลอดได้ทันท่วงที
การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
ถึงกำหนดคลอด
เมื่อผ่านระยะเก้าเกือนหรือ 40 สัปดาห์แล้ว เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่สามารถคลอดได้ตลอด จริงอยู่แม้ว่าคุณหมอจะกำหนดวันคลอดไว้อย่างคร่าว ๆ แต่คุณแมสามารถคลอดทารกได้ตั้งแต่ครบสัปดาห์ที่ 37 เป็นต้นไป ถึงสัปดาห์ที่ 42 ดังนั้น สิ่งที่คุณแม่ควรสังเกตที่จะบ่งบอกว่าจะคลอดแล้วนะ คือ การเจ็บท้องหลอก หรือเจ็บท้องจริงที่จะเจ็บขึ้นเรื่อย ๆ และมีอาการอื่น ๆร่วมด้วย เช่น ปวดท้องน้อยและทวารหนัก ปวดหลังส่วนล่างตลอดเวลา บางคนมีอาการท้องเสียร่วมด้วย เพราะลำไส้ถูกรบกวนโดยมดลูกที่เคลื่อนต่ำลงมา มูกในช่องคลอดเหนียวข้น และมีมูกปนเลือดสดไหลออกจากช่องคลอด แบบนี้คุณแม่พร้อมที่จะคลอดภายใน 24 – 48 ชั่วโมงแล้วค่ะ รีบไปโรงพยาบาลได้เลยนะคะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ เรื่องน่ารู้คู่มือแม่ท้อง ผู้เขียนหมอโอ๋
หนังสือ เตรียมตัวคลอดอย่างไรให้ปลอดภัย ทั้งแม่และเด็ก ผู้เขียน พ.ญ.ภักษร เมธากูล
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
พัฒนาการทารกแรกเกิดถึง 1 ปีที่น่าจับตา
22 สุดยอดภาพ พัฒนาการทารกในครรภ์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!