อัลตร้าซาวด์คืออะไร
คลื่นเสียงความถี่สูงที่เกินกว่าหูมนุษย์จะได้ยิน มากกว่า 20,000 เฮิซร์ต ในการวินิจฉัยโรคจะใช้ความถี่ประมาณ 2 – 7.5 เมกกะ เฮิซร์ต โดยอาศัยหลักการทำงานของเสียง เมื่อเปิดเครื่องอัลตราซาวด์ กระแสไฟฟ้าสลับที่ไหลเข้ามาภายในเครื่องจะผ่านหัวตรวจจะเกิดการสั่นสะเทือน และมีการปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงออกมาจากหัวตรวจ ผ่านลงสู่ผิวหนังเข้าไปยังอวัยวะภายในที่ต้องการตรวจ เมื่อเสียงกระทบเนื้อเยื่อต่างชนิดกัน ก็จะเกิดการสะท้อนและการดูดกลับของเสียงไม่เท่ากันในเวลาที่ไม่เท่ากันตาม ระดับความลึกของเนื้อเยื่อนั้น ๆ และจะถูกแปลผลให้ปรากฏเป็นภาพบนจอ
จำเป็นหรือไม่? คนท้องต้องอัลตราซาวด์
พญ.จิตรนพิน ดุลยเกษม สูติ-นรีแพทย์ เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงความจำเป็นและความสำคัญในการตรวจอัลตราซาวด์ไว้ว่า
1. ในช่วงแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์ จะมีสิ่งที่ต้องประเมินหลากหลายแตกต่างกัน ดังนั้น คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรได้รับการแนะนำให้ตรวจดูความสมบูรณ์ของทารกทุก ๆ 3 เดือน หรืออย่างน้อยที่สุดต้องตรวจ 1 ครั้ง ในช่วงสัปดาห์ที่ 18-24 ของการตั้งครรภ์ หรืออาจจะมากกว่านั้นตามความเหมาะสม
2. การตรวจอัลตราซาวด์ ตรวจหาความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายทารกในครรภ์ โดยเฉพาะโครงสร้างหลัก ได้แก่ กะโหลกศีรษะ เนื้อสมอง โครงกระดูก แขนขา ทรวงอก เนื้อปอด หัวใจ ผนังหน้าท้อง อวัยวะหลักภายในช่องท้อง ได้แก่ ตับ ไต ความผิดปกติของลำไส้บางชนิด กระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะส่วนอื่น เช่น ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ จำนวนนิ้วมือ นิ้วเท้าครบหรือไม่ เป็นต้น
อัลตราซาวด์แต่ละมิติมีความแตกต่างกันอย่างไร
รศ.พญ.สายฝน ชวาลไพบูลย์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายถึงการอัลตราซาวด์ในแต่ละแบบไว้ ดังนี้
อัลตราซาวด์แบบ 2 มิติ คือ การประมวลผลแสดงเป็นภาพ 2 มิติ จะมีความกว้างและความยาวเป็นภาพแบน ๆ มักเห็นเป็นสีขาวดำ โดยทั่วไปการอัลตราซาวด์แบบ 2 มิติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสามารถตรวจวินิจฉัยความพิการแต่กำเนิดได้เกือบทุกชนิด
บทความแนะนำ เสริมกรดโฟลิกในขนมปังช่วยลดความพิการแต่กำเนิดได้จริงหรือ
อัลตราซาวด์แบบ 3 มิติ คือ การอัลตราซาวด์ที่แสดงผลเป็นภาพมีความกว้าง ความยาว และเพิ่มความลึกของภาพให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นสำหรับคนทั่วไปเป็นภาพที่มีความนูนความลึกเสมือนจริง มีประโยชน์ในการวินิจฉัยความพิการแต่กำเนิดบางชนิดได้ดีขึ้น เช่น ความพิการของระบบประสาท ความผิดปกติของพื้นผิว หรือต้องการเก็บข้อมูลเชิงปริมาตร และภาพทารกแบบ 3 มิติ จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เห็นหน้าลูกน้อยแบบเสมือนจริงได้ชัดเจนขึ้น
อัลตราซาวด์ แบบ 4 มิติ คือ การประมวลผลจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเครื่องจะทำการเก็บภาพ 3 มิติ แต่ละภาพแล้วแสดงผลเรียงต่อกัน ทำให้เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับภาพยนตร์ซึ่งมีมิติที่ 4 หรือก็คือ เวลานั่นเอง ในการตรวจทารกในครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์ 4 มิติ จะสามารถเห็นภาพทารกเคลื่อนไหวอยู่ในครรภ์ ตลอดจนเห็นกิริยาอาการที่ทารกกำลังทำอยู่ในขณะตรวจได้ เช่น การเคลื่อนไหวใบหน้าไปมา ยกแขน ขยับนิ้ว อ้าปาก กลืน เป็นต้น
อัลตราซาวด์มีอันตรายหรือไม่
รศ.พญ.สายฝน ชวาลไพบูลย์ กล่าวถึงการอัลตราซาวด์ในช่วงตั้งครรภ์ สรุปได้ว่า
1. การอัลตราซาวด์บ่อย ๆ จะปลอดภัยต่อลูกในท้องหรือไม่ เรื่องนี้ ทางการแพทย์ยืนยันว่า คลื่นเสียงความถี่สูงจากการอัลตราซาวด์นั้นไม่ส่งผลต่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ เพราะไม่มีการใช้รังสี ที่สำคัญอัลตร้าซาวด์ที่ใช้ตรวจคุณแม่ตั้งครรภ์ จะมีความเข้มข้นของเสียงผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อของร่างกายในปริมาณที่น้อยมาก
2. ในต่างประเทศมีการศึกษาของสถาบันทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านอัลตร้าซาวด์ แห่งสหรัฐอเมริกา และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งอังกฤษ ยืนยันว่า
ลูกในท้องที่คุณแม่ได้รับการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ ไม่ได้มีความพิการ หรือการเจริญเติบโตช้ากว่าลูกในท้องของคุณแม่ที่ไม่ได้รับการตรวจแต่อย่างใด เมื่อทำการตรวจติดตามเด็กที่คลอดไปนานแล้ว ก็ไม่พบว่ามีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทั้งร่างกาย จิตใจ และสมอง
3. โดยทั่วไปคุณหมอจะแนะนำให้อัลตราซาวด์เพียง 2-3 ครั้ง ในระหว่างที่ตั้งครรภ์เท่านั้น หรืออย่างน้อยที่สุด 1 ครั้ง และควรทำขณะอายุครรภ์ประมาณ 18-22 สัปดาห์ เพื่อจะดูว่า อายุครรภ์ตรงหรือไม่ คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกคนเดียว หรือครรภ์แฝด เพราะข้อมูลที่ได้จะช่วยในการวางแผนการรักษาในอนาคต
ได้ทราบกันแล้วนะคะ สบายใจได้เลยว่าไม่มีผลเสียหรือผลกระทบใด ๆ ต่อทารกน้อยในครรภ์ การตรวจอัลตราซาวด์ยังมีดีในเรื่องของการประเมินเกี่ยวกับความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้อีกด้วย
ร่วมแชร์ประสบการณ์บอกเล่าเรื่องราวการอัลตราซาวด์ระหว่างตั้งครรภ์ได้นะคะ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันละกันระหว่างแม่ ๆ ค่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.s-momclub.com
https://www.si.mahidol.ac.th
https://baby.kapook.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สุดซึ้ง! ภาพอัลตราซาวด์ฝาแฝดจับมือกัน ขณะที่อีกคนอาจไม่รอด
ความเสี่ยงที่แม่ตั้งครรภ์แฝดควรระวัง เพื่อคลอดลูกแฝดอย่างปลอดภัย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!