ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่คุณพ่อคุณแม่ควรฝึก เพื่อพัฒนาทักษะด้านร่างกาย เพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ดีและเรียนรู้อย่างเต็มที่ วันนี้ theAsianparent ขอนำวิธีการฝึกพัฒนาการลูกน้อย เกี่ยวกับ ประสาทสัมผัสทั้ง 5 มาให้คุณพ่อคุณแม่มาฝึกลูกน้อยกัน
พัฒนา 5 ประสาทสัมผัส เพื่อพัฒนาการที่ดีของทารกน้อย
1. พัฒนาการด้านการมองเห็น (Visual sense)
เด็กทารกมักจะสะดุดตากับสิ่งของที่มีสีสันสวยงามชวนมอง อย่างเช่น โมบายสีแดง-ดำ เหลือง-ฟ้า เป็นต้น โมบายที่แขวนไว้เหนือเปล มีประโยชน์ในการฝึกกล้ามเนื้อตาของลูก เด็กในช่วงนี้จะเริ่มมองเห็นในระยะ 2 ฟุต และจะมองเห็นในระยะไกลขึ้นเรื่อยๆ ตามพัฒนาการเมื่อโตขึ้น
วิธีกระตุ้นด้วยประสาทสัมผัส
1. จัดให้เด็กอยู่ในท่านอนควํ่า คุณแม่เขย่าของเล่นที่มีเสียงตรงหน้าเด็ก ระยะห่างประมาณ 30 ซม. (1 ไม้บรรทัด) เมื่อเด็กมองที่ของเล่นแล้วค่อย ๆ เคลื่อนของเล่นมาทางด้านซ้าย เพื่อให้เด็กหันศีรษะมองตาม
2. ค่อย ๆ เคลื่อนของเล่นกลับมาอยู่ที่เดิม
3. ทําซํ้าอีกครั้งโดยเปลี่ยนให้เคลื่อนของเล่นมาทางด้านขวา
4. ของเล่นควรเลือกแบบพื้นผิวไม่เรียบ และสีก็เป็นแบบปราศจากสารพิษตกค้าง
2. พัฒนาการด้านการได้ยิน (Auditory sense)
เด็กวัยทารกนั้นหากคุณพ่อคุณแม่สังเกตให้ดี เมื่อเกิดเสียงดังเข้ามาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เจ้าตัวน้อยมักจะตกใจร้องจ้า หรือสะดุ้งสุดตัว นั่นแสดงว่าหูและระบบการได้ยินมีพัฒนาการในระดับหนึ่งแล้ว และพร้อมที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เสียงที่จะกระตุ้นพัฒนาการด้านการได้ยินนั้น ควรเป็นเสียงดนตรีที่มีท่วงทำนองไพเราะ มีจังหวะ ของเล่นที่มีเสียง และที่สำคัญคือ เสียงของคุณพ่อคุณแม่นี่ล่ะค่ะที่จะพัฒนาลูกได้มากที่สุด
วิธีกระตุ้นด้วยประสาทสัมผัส ประสาทสัมผัสทั้ง 5
1. จัดเด็กอยู่ในท่านอนหงาย ผู้ปกครองเรียกชื่อหรือพูดคุยกับเด็กจากด้านข้างทั้งข้างซ้ายและขวา โดยพูดเสียงดังปกติ
2. หากเด็กสะดุ้งหรือขยับตัวเมื่อผู้ปกครองพูดคุยเสียงดังปกติ ให้ผู้ปกครองยิ้มและสัมผัสตัวเด็ก
3. ถ้าเด็กไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ให้พูดเสียงดังเพิ่มขึ้น โดยจัดท่าเด็กเช่นเดียวกับข้อ 1 หากเด็กสะดุ้งหรือขยับตัวให้ลดเสียงลงอยู่ในระดับดังปกติ พร้อมกับสัมผัสตัวเด็ก
3. พัฒนาการด้านการรับรส (Gustatory sense)
ในช่วงวัยทารกแรกเกิดถึง 4 เดือน รสชาติที่ลูกจะได้รับ คือ รสชาติของนมแม่เป็นรสชาติที่สมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว เพราะรสชาติของทารกวัยนี้ควรเป็นรสธรรมชาติ การให้ลูกดื่มนมที่ผสมน้ำตาลนั้นนอกจากจะทำให้ลูกติดหวานแล้ว ยังไม่จำเป็นต่อเด็กวัยนี้อีกด้วย ส่วนการที่ลูก มักจะเอาของต่าง ๆ เข้าปากนั้นไม่ใช่ว่าเขาอยากลิ้มรสนะคะ แต่ลูกอยากจะสำรวจของต่างๆ ด้วยปากนั่นเอง
วิธีกระตุ้นด้วยประสาทสัมผัส
1. เตรียมอาหารหลายชนิดที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน เช่น นุ่ม กรอบ เหนียว มีรสชาติต่าง ๆ กัน เช่น หวาน เปรี้ยวน้อย เค็มน้อย ๆ
2. แตะลิ้นให้ลูกได้ชิม แล้วบอกลูกว่าสิ่งนี้คืออาหารอะไร เช่น หวาน ๆ แบบนี้ เรียกว่ามะม่วงสุกนะจ๊ะ เป็นต้น
4. พัฒนาการด้านการได้กลิ่น (Olfactory sense)
แน่นอนว่า กลิ่นที่ทารกน้อยคุ้นเคยและไว้ใจ คือ กลิ่นของคุณพ่อคุณแม่ และกลิ่นสมาชิกในบ้าน ดังนั้น คนในบ้านจึงไม่ควรใส่น้ำหอมหรือเปลี่ยนแป้งบ่อย ๆ เพราะนอกจากลูกจะจดจำยากแล้ว ยังทำให้ลูกขาดความไว้ใจอีกด้วย
วิธีกระตุ้นด้วยประสาทสัมผัส
1. คุณแม่อุ้มเจ้าตัวน้อยออกไปเดินเล่น รับกลิ่นต่าง ๆ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน เช่น กลิ่นดอกไม้ในสวน กลิ่นต้นไม้ใบหญ้า เป็นต้น
2. หากลูกโตสักหน่อยคุณแม่นำผัก ผลไม้มาให้ลูกลองดมกลิ่น พอโตขึ้นมาหน่อยก็สามารถเล่นเกมปิดตาดมกลิ่นกับคุณพ่อคุณแม่ได้ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องภูมิแพ้นะคะหากเป็นพวกดอกไม้ต่าง ๆ
5. พัฒนาการด้านประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว (Tactile sense)
แม้จะอยู่ในวัยทารกแต่ลูกก็สามารถรู้ได้ว่าเขากำลังนอนอยู่บนที่นอนหรือว่าอ้อมอกแม่ เนื่องจากการสัมผัสก่อให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะในสถานะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น คลานบนเบาะกับคลานบนพื้นไม้ เด็กจะเรียนรู้และปรับตัวด้วยวิธีคลานที่แตกต่างกัน ดังนั้น พ่อแม่ควรจัดหาสิ่งของที่มีทำจากวัสดุหลากหลายมาให้ลูกเรียนรู้ เช่น เลือกของเล่น ที่ทำจากไม้ ผ้า หรือพลาสติกบ้าง อย่าเลือกชนิดใดชนิดหนึ่งให้เพียงอย่างเดียว
บทความที่เกี่ยวข้อง : ชวนลูกฟังเพลง กิจกรรมกระชับสัมพันธ์ ที่ง่าย สนุก แถมพัฒนาทักษะการฟังได้อย่างดี
วิธีกระตุ้นด้วยประสาทสัมผัส
1. จัดเด็กอยู่ในท่านอนหงาย
2. ผู้ปกครองเขย่าของเล่นให้ห่างจากตัวเด็กประมาณ 20-30 ซม. (1 ไม้บรรทัด)
ที่จุดกึ่งกลางลำตัว
3. ถ้าเด็กไม่เอื้อมมือออกมาคว้าของเล่นให้ใช้ของเล่นแตะเบาๆ ที่หลังมือเด็กและขยับของเล่นถอยห่างในระยะที่เด็กเอื้อมถึง
4. ถ้าเด็กยังคงไม่เอื้อมมือมาคว้า ให้ผู้ปกครองช่วยเหลือด้วยการจับมือเด็กให้เอื้อมมาหยิบของเล่น
5. อาจแขวนโมบายในระยะที่เด็กเอื้อมถึงเพื่อให้เด็กสนใจคว้าหยิบ
อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://baby.haijai.com
เอกสารคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
ลูกนอนหลับดีตลอดคืน จะส่งผลต่อสมองและพัฒนาการร่างกายอย่างไร
ทารกว่ายน้ำเสริมพัฒนาการรอบด้าน
พัฒนาการ ของเด็กวัยหัดเดิน ช่วงอายุ 12 – 18 เดือน มีอะไรบ้าง?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!