บ่อยครั้งที่คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคน ต้องเผชิญกับอาการนอนไม่หลับ นอนหลับยากในช่วงกลางคืน ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยล้าในช่วงกลางวัน และทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ วันนี้ theAsianparen Thailand จะพาคุณแม่มาดูสาเหตุกันดีกว่าว่าทำไม คนท้องนอนไม่หลับ นอนหลับยาก และมีวิธีใดบ้างที่จะช่วยให้คุณแม่รับมือกับปัญหานี้
คนท้องนอนไม่หลับ นอนหลับยาก เกิดจากอะไร ?
ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่อาจต้องเผชิญกับปัญหานอนไม่หลับ จนทำให้คุณแม่มีอาการนอนหลับยาก นอนไม่พอ และตื่นขึ้นมากลางดึก โดยอาการเหล่านี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์ ซึ่งส่วนมากนั้น มักจะพบบ่อยในช่วงไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ทั้งนี้อาการนอนไม่หลับของคนท้องมักเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และสาเหตุอื่น ๆ เช่น อาเจียน ปวดหลัง คลื่นไส้ คัดเต้านม หายใจไม่อิ่ม เป็นตะคริว ไม่สบายท้อง แสบร้อนกลางอก นอนกรน หรือแม้กระทั่งรู้สึกวิตกกังวลก็ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้อง นอนไม่หลับทําไงดี คิดมาก กลัวกระทบลูก ทำยังไงให้หลับเร็ว ๆ
อาการของคนท้องนอนไม่หลับ
จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และการไม่สบายเนื้อสบายตัวของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้นอนไม่หลับ นอนหลับยาก รวมถึงยังมีอาการอื่น ๆ อีกด้วย โดยสามารถแบ่งได้ตามไตรมาสของการตั้งครรภ์ ดังต่อไปนี้
- ไตรมาสแรก : ในช่วงไตรมาสแรก คุณแม่อาจต้องเผชิญกับอาการนอนไม่หลับ รวมถึงอาการต่าง ๆ แตกต่างกันไป เช่น แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ และปัสสาวะ อีกทั้งยังมีอาการง่วงซึม อ่อนเพลีย และรู้สึกไม่อยากทำอะไรเลย ดังนั้นสิ่งที่คุณแม่ควรทำมากที่สุดในช่วงนี้ คือการพักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ไตรมาสที่ 2 : ในช่วงไตรมาสนี้ คุณแม่อาจจะรู้สึกดีกว่าในช่วงไตรมาสแรก อาจนอนหลับง่ายขึ้น เพราะระดับฮอร์โมนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามคุณแม่บางคนอาจเป็นตะคริวที่ขา มีอาการแสบร้อนกลางอก กรน และหยุดหายใจตอนนอน ดังนั้นจึงควรไปปรึกษาแพทย์หากพบว่าอาการเหล่านี้ ส่งผลต่อการนอนหลับค่ะ
- ไตรมาสที่ 3 : ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจต้องเผชิญกับปัญหานอนไม่หลับอีกครั้ง และจะหนักกว่าในช่วงไตรมาสหนึ่ง และไตรมาสสอง โดยคุณแม่อาจมีอาการหลับไม่สนิท นอนหลับไม่เพียงพอ มักตื่นแต่เช้า และมีหน้าท้องที่ขยายขึ้น เพราะลูกน้อยในครรภ์มีการเคลื่อนไหว นอกจากนี้คุณแม่บางคนอาจมีอาการกรดไหลย้อน ขากระตุก และปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
คนท้องนอนไม่หลับ ส่งผลเสียอย่างไร?
หากคุณแม่นอนไม่หลับเพียงไม่กี่ครั้ง ก็อาจจะรู้สึกเพลียแค่ตอนกลางวันเท่านั้น แต่หากเป็นบ่อย ๆ ทุกคืน ก็อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย และลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยการนอนไม่หลับเป็นประจำนั้น อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้
- เกิดความเครียด : เมื่อคุณแม่นอนไม่หลับ ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการเครียดมากขึ้น และอาจจะรู้สึกวิตกกังวลจนทำให้นอนไม่หลับ และเกิดอาการอ่อนเพลียในช่วงกลางวันมากกว่าเดิม
- ความดันโลหิตสูง : หากคุณแม่เกิดความดันโลหิตสูง ก็อาจส่งผลเสี่ยงให้เกิดครรภ์เป็นพิษได้ ดังนั้นคุณแม่ควรพยายามนอนหลับพักผ่อนให้มากอย่างน้อย 8-9 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายปรับสมดุล และควบคุมฮอร์โมนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ลูกในครรภ์เจริญเติบโตช้า : การที่คุณแม่นอนไม่หลับ ก็จะส่งผลให้ลูกในครรภ์นอนไม่หลับด้วย อีกทั้งยังส่งผลต่อการเจริญเติบโตทั้งร่างกาย และสมองของลูกน้อย นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงลูกในครรภ์ไม่เพียงพอ อีกทั้งยังอาจส่งผลให้ลูกที่คลอดออกมา น้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐานอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องนอนไม่หลับกลางคืน ทำอย่างไรดี วิธีแก้อาการนอนไม่หลับแบบได้ผล!
6 เคล็ดลับช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับ
- เข้านอนให้เป็นเวลา : คุณแม่ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเข้านอน โดยเข้านอนให้เป็นเวลา ไม่นอนดึกมากจนเกินไป และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8-9 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้คุณแม่ควรเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ และนอนในเวลาเดียวกันทุกคืน เพราะเมื่อตื่นมาก็จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย และรู้สึกดีมากขึ้น
- ทำกิจกรรมผ่อนคลาย : คุณแม่สามารถทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ นวด หรือเล่นโยคะ ก็จะช่วยคลายความเครียดระหว่างวันได้ และยังส่งผลให้คุณแม่นอนหลับได้ และหลับสนิทมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ : การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง อย่างขนมปัง หรือนม อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน เช่น อัลมอนด์ โยเกิร์ต และอาหารจำพวกผัก และผลไม้ สามารถช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันการร้อนวูบวาบ ปวดศีรษะ หรือฝันร้ายระหว่างนอนหลับได้
- จัดห้องนอนให้มีความเหมาะสม : คุณแม่สามารถจัดห้องนอนให้มีอุณหภูมิที่เย็นสบาย มืดสนิท และเงียบสงบ ไม่มีเสียงรบกวนขณะนอน ก็จะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น นอกจากนี้คุณแม่สามารถใช้หมอนรองครรภ์ หรือหมอนข้างที่เป็นรูปสามเหลี่ยม เพื่อช่วยรองรับหลัง และท้อง และทำให้นอนหลับสบายมากยิ่งขึ้นได้
- ออกกำลังกายเบา ๆ : การออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำ จะช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้สบายมากยิ่งขึ้น เช่น การเดิน วิ่งเบา ๆ เล่นโยคะ และพิลาทิส ก็จะช่วยให้ร่างกายคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์แข็ง และนอนหลับได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้ร่างกายตื่นตัว จนเกิดอาการนอนไม่หลับได้
- ฟังเพลงก่อนนอน : เชื่อไหมคะ การฟังเพลงก่อนสามารถช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้ง่ายขึ้น เพราะส่วนใหญ่แล้ว คุณแม่มักจะคิดวิตกกังวลเรื่องต่าง ๆ ก่อนนอน โดยเฉพาะเรื่องลูกในครรภ์ ดังนั้นคุณแม่ควรฟังเพลงเบา ๆ เพื่อผ่อนคลายก่อนนอน ก็จะช่วยลดความเครียด และนอนหลับได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์ ?
แม้ว่าอาการนอนไม่หลับจะเป็นปัญหาสุขภาพปกติที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่หากคุณแม่พบว่าตัวเองนอนไม่หลับติดต่อกันหลายวัน นอนหลับยาก และนอนหลับไม่สนิท ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด หรือโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น นอกจากนี้คุณแม่ที่มีอาการนอนกรนเป็นประจำ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เช่นกัน เพราะอาจส่งผลให้ลูกในครรภ์คลอดออกมาแล้วน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ หรือเกินเกณฑ์ อีกทั้งยังส่งผลให้คลอดยาก ทำให้ต้องผ่าคลอดอีกด้วย
คนท้องนอนไม่หลับ ถือเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลง และอาการไม่สบายเนื้อสบายตัวร่วมด้วย ส่งผลให้คุณแม่นอนไม่ค่อยหลับนั่นเอง หากคุณแม่พบว่าตัวเองนอนไม่หลับติดต่อกันหลายวัน และนอนหลับยาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
การจัดห้องนอนให้ลูกน้อย หลับสนิท หลับสบาย และเสริมสร้างพัฒนาการ
เคล็ดลับทำให้ แม่ท้องนอนหลับเพียงพอ หมดปัญหา นอนไม่พอ นอนไม่สบาย
โรคนอนไม่หลับ คืออะไร? ทุกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับโรคนอนไม่หลับ พร้อมวิธีรักษา
ที่มา : hellokhunmor, healthline, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!