การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลังคลอดเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ทุกคนต้องเผชิญค่ะ การทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงกระบวนการฟื้นตัว และสัญญาณของภาวะผิดปกติหลังคลอด จะช่วยให้คุณแม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสมและมั่นใจค่ะ วันนี้ เลยจะมาตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับ ร่างกายแม่หลังคลอด จะฟื้นตัวตอนไหน ดูแลตัวเองหลังคลอดยังไงดี แล้วมีภาวะใดบ้างที่เป็นความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นหลังคลอด

|
ระยะการฟื้นตัวของ ร่างกายแม่หลังคลอด
|
ระยะแรก (6 สัปดาห์แรก) |
- มดลูกจะค่อยๆ หดตัวกลับสู่ขนาดปกติ
- น้ำคาวปลาจะค่อยๆ ลดลงและเปลี่ยนสี
- แผลฝีเย็บหรือแผลผ่าคลอดจะค่อยๆ สมาน
- ระดับฮอร์โมนจะค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติ
|
ระยะกลาง (6 สัปดาห์ – 6 เดือน) |
- น้ำหนักตัวจะค่อยๆ ลดลง
- กล้ามเนื้อหน้าท้องและอุ้งเชิงกรานจะค่อยๆ แข็งแรงขึ้น
- ประจำเดือนจะเริ่มกลับมา (ในกรณีที่ไม่ได้ให้นมลูก)
|
ระยะยาว (6 เดือน – 1 ปี) |
- ร่างกายจะค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติเกือบสมบูรณ์
- รอยแตกลายจะค่อยๆ จางลง
- ระดับพลังงานจะค่อยๆ กลับมาเป็นปกติ
|
10 ข้อสงสัย เกี่ยวกับ ร่างกายแม่หลังคลอด
คุณแม่หลังคลอดมักมีข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปมากมายค่ะ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งโดยปกติหลังคลอดประมาณ 6 สัปดาห์แรก จะเป็นช่วงภาวะหลังคลอดที่ร่างกายของคุณแม่เกิดความเปลี่ยนแปลงและกำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้คุณแม่ดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสมและฟื้นตัวได้อย่างราบรื่น
-
ทำไม? ร่างกายแม่หลังคลอด ยังดูเหมือนคนท้อง
ความจริงแล้วคุณแม่อาจพบว่าน้ำหนักหลังคลอดลดลงมากถึง 6 กิโลกรัม และสามารถลดลงได้เรื่อยๆ เนื่องจากหลังคลอด รก น้ำคร่ำ และน้ำที่อยู่ในร่างกายขณะตั้งครรภ์ถูกขับออกมาด้วย แต่ในบางกรณี ร่างกายแม่หลังคลอด ก็ยังดูเหมือนคนท้องอยู่มาก เพราะกล้ามเนื้อที่ยืดออกในระหว่างตั้งครรภ์จะยังไม่กลับคืนสู่สภาพเดิมทันที ซึ่งไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะร่างกายคุณแม่สามารถกลับเข้าสู่สภาพเดิมก่อนคลอดได้ด้วยปัจจัยต่อไปนี้
- การให้นมลูก ทำให้เกิดการหดตัวที่ทำให้มดลูกเล็กลง และช่วยเผาผลาญแคลอรีได้
- ออกกำลังกายหลังคลอด สามารถกระชับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหน้าท้องของคุณแม่ได้ ดังนั้น ควรหมั่นออกกำลังกาย แต่ต้องไม่หักโหมจนเกินไปนะคะ
- ควบคุมอาหาร กินอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการให้เหมาะสมในแต่ละวัน แน่นอนว่า งดของหวานหรือขนมไปก่อนนะคะ
- หลีกเลี่ยงการกินยาลดความอ้วน งดเครื่องดื่มอย่างกาแฟ น้ำอัดลม และอาหารที่มีรสชาติเผ็ด ซึ่งอาจส่งผลต่อน้ำนมได้

-
รอยแตกลายจากการตั้งครรภ์ จะจางลงมั้ย?
ระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่อาจสังเกตเห็นรอยแตกลายเกิดขึ้นบริเวณหน้าท้อง หน้าอก หรือต้นขาด้านใน โดยรอยแตกลายนี้ควรจางลงหรือสังเกตเห็นได้น้อยลงหลังคลอด ซึ่ง 90% ของแม่หลังคลอดจะยังมีผิวแตกลายในลักษณะเป็นริ้ว สีชมพูหรือสีแดง ตามสภาพผิวหนังของแต่ละคน โดยคุณแม่สามารถลดรอยแตกลายเหล่านี้โดยการออกกำลังกายเพื่อกระชับหน้าท้อง เช่น โยคะ รวมถึงอาจใช้ครีมบำรุงเพื่อช่วยลดเลือนริ้วรอยหน้าท้องแตกลาย แต่ควรเลือกผลิตภัณฑ์ลดรอยแตกลายที่อ่อนโยนต่อผิว
-
อาการปวดต่างๆ หลังคลอด ปกติใช่มั้ย?
คุณแม่หลังคลอดจำนวนมากค่ะที่ประสบกับ “อาการปวด” ตามร่างกายหลังคลอด เช่น
- ปวดหลัง เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้กับ ร่างกายแม่หลังคลอด เนื่องจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ทำให้กระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อหลังของคุณแม่เปลี่ยนแปลงไป และหลังจากคลอดร่างกายจะยังไม่สามารถปรับตัวกลับสู่สภาพเดิมได้ทันที นอกจากนี้อาจเป็นเพราะ อิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เช่น การอุ้มลูก ท่าทางการให้นม การยกของหนัก อาจทำให้กล้ามเนื้อหลังต้องทำงานหนักขึ้น ซึ่งสามารถแก้ไขได้ดังนี้
- มีตัวช่วยรองรับบริเวณหลังระหว่างให้นมลูก หรือปรับท่าให้นมที่ถูกต้องเหมาะสม
- ใช้วิธีคุกเข่าหรือย่อตัว อย่าโค้งหลัง เพื่อหยิบของที่พื้น หรืออาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม ให้ลูกน้อยในท่าที่หลังยังโก้งโค้งอยู่
- หากต้องยกของ ให้งอเข่าลง หลังตรง แล้วค่อยๆ ลุกขึ้น
- กรณีอุ้มลูกน้อยด้วยเป้อุ้ม ควรเลือกขนาดที่พอดี ไม่กดแรงลงที่หลังมากจนเกินไป
- อาการปวดหัวหลังคลอด ประมาณ 39% ของคุณแม่หลังคลอดจะมีอาการปวดหัวในช่วงสัปดาห์แรกค่ะ ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้ดีขึ้นได้คือ ดื่มน้ำมากๆ และอาจกินยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ต้องปรึกษาแพทย์ทันทีหากมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงหรือต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีคุณแม่คลอดโดยการบล็อกหลัง หรือกรณีที่ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ จากความดันโลหิตสูง ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาเพิ่มเติม
- อาจปวดท้องน้อยนานถึง 1 สัปดาห์จริงไหม? ทั้งคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ และคุณแม่ผ่าคลอด สามารถเผชิญกับปัญหาปวดท้องน้อยหลังคลอดได้ค่ะ โดยมีอาการปวดเกร็งหน้าท้องส่วนล่าง หรืออุ้งเชิงกราน คล้ายกับอาการปวดท้องประจำเดือน หรืออาการช่วงที่ใกล้คลอด และจะรู้สึกปวดมากขึ้นใน 2-3 วันหลังคลอดลูก และปวดนานถึง 1 สัปดาห์ เนื่องจากมดลูกเกิดการบีบรัดตัวเพื่อปรับสภาพ ซึ่งอย่าเพิ่งกังวลค่ะ เพราะอาการนี้สามารถหายได้เอง และบรรเทาอาการปวดได้ดังนี้
- หมั่นเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ จะช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายให้แข็งแรงได้เร็วยิ่งขึ้น
- หมอนสำหรับแม่หลังคลอด เลือกนั่งบนหมอนที่ออกแบบมาสำหรับคุณแม่หลังคลอด จะทำให้น้ำหนักไม่ทิ้งลงก้นกบจนเกินไป และสบายตัวมากขึ้น
- ประคบน้ำอุ่น หรือน้ำเย็น บริเวณที่ปวด แต่หากมีอาการปวดมาก และปวดนานเกิน 10 วัน ควรพบแพทย์ทันที

-
ทำไม? แม่หลังคลอดรู้สึกอ่อนเพลีย
เป็นเรื่องปกติมากๆ ค่ะที่คุณแม่หลังคลอดจะรู้สึกเหนื่อย เพราะ ร่างกายแม่หลังหคลอด นั้นผ่านอะไรมามากมาย และลูกน้อยก็มักจะตื่นหลายครั้งในตอนกลางคืน จนคุณแม่อาจได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่เชื่อเถอะค่ะว่ามันจะดีขึ้นได้ ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัว ไม่อ่อนเพลียมากเกินไป คือ ลองเข้านอนแต่หัวค่ำ พักผ่อนด้วยเมื่อลูกน้อยนอนหลับ แต่หากรู้สึกหงุดหงิด เครียด หรือเศร้าผิดปกติ ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจภาวะซึมเศร้าหลังคลอดค่ะ
-
กังวลกับผื่นคันหลังคลอด และรู้สึกว่าผิวแพ้ง่าย
สภาพผิวแพ้ง่ายและผื่นคันหลังคลอดอาจทำให้คุณแม่เกิดอาการคันจนน่าหงุดหงิดค่ะ โดยเป็นผลจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หรืออาจเกิดจากยาบางชนิดที่แม่กินหลังคลอด รวมถึงแพ้ครีมบำรุงหลังคลอด ส่งผลให้ผิวแห้งมากกว่าปกติ รู้สึกระคายเคืองผิวได้ง่าย ซึ่งคุณแม่ควรดูแลผิวโดยเลี่ยงอาบน้ำร้อน เพื่อลดอาการผิวแห้ง เลือกครีมบำรุงผิวสูตรอ่อนโยนเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และในกรณีที่มีผื่นแดง เกิดอาการคันมาก ควรรีบพบแพทย์ก่อนลุกลามค่ะ
-
แผลผ่าตัดหลังคลอด ดูแลยังไง
คุณแม่หลายคนเลยค่ะที่มีคำถามและความกังวลเกี่ยวกับแผลผ่าตัดคลอด จะเป็นแผลเป็นมั้ย รอยแผลจะจางลงเมื่อไร ซึ่งรอบแผลเป็นนั้นมีแน่นอนค่ะ แต่จะค่อยๆ จางลงได้เอง แต่สิ่งสำคัญคือคุณแม่ต้องรักษาความสะอาดของแผลให้ดี สวมเสื้อผ้าที่หลวมและสบาย กินยาแก้ปวดได้หากมีอาการปวดแผล แต่เมื่อไรก็ตามที่มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีสารคัดหลั่ง มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ควรพบแพทย์ทันทีค่ะ
-
หลังคลอด น้ำคาวปลาจะหมดตอนไหน?
น้ำคาวปลา หรือเนื้อเยื่อและเลือดที่ไหลออกมาจากโพรงมดลูกหลังการคลอด จะถูกขับออกมาจากมดลูกโดย 3-4 วันแรกหลังคลอดจะมีน้ำคาวปลาเยอะมากและเป็นสีแดงสด คุณแม่ต้องใส่ผ้าอนามัยเอาไว้และเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ รักษาความสะอาดของร่างกายสม่ำเสมอ และทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด และสบู่ทุกครั้งหลังจากทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ ซึ่งการมีน้ำคาวปลาจะกินเวลาตั้งแต่ 2-6 สัปดาห์ แตกต่างกันไปตามร่างกายของแม่แต่ละคน และโดยส่วนใหญ่จะมีเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 สัปดาห์ค่ะ
-
ขาบวม เพราะหลอดเลือดดำอุดตัน?
คุณแม่ตั้งครรภ์และคุณแม่หลังคลอดในช่วง 6 สัปดาห์ จะมีความเสี่ยงภาวะหลอดเลือดดำอุดตันเพิ่มขึ้นได้ค่ะ โดยมีอาการขาบวมและเจ็บ และ/หรือหายใจลำบาก ซึ่งภาวะนี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากลิ่มเลือดเคลื่อนจากขาไปยังปอด ดังนั้น หากคุณแม่หลังคลอดมีอาการขาบวมและเจ็บ หรือมีปัญหาในการหายใจหลังจากเดินทาง ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
-
ทำไมหลังคลอดผมร่วงเยอะมาก
ในช่วงตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตราการงอกใหม่ของเส้นผมคุณแม่เพิ่มขึ้น จนดูผมดกหนาค่ะ แต่เมื่อคลอดลูกแล้วระดับฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดอาการผมร่วงมากกว่าปกติ ซึ่งไม่ผิดปกตินะคะ อาการผมร่วงนี้จะหายไปเองภายใน 6-12 เดือน เมื่อฮอร์โมนกลับสู่ระดับปกติค่ะ โดยคุณแม่ควรกินอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอ เช่น ไข่แดง 3 ฟองต่อสัปดาห์ ผักที่มีสีเขียวเข้ม เช่น ผักคะน้า ผักโขม รวมถึงอาหารทะเลที่มีสังกะสีสูง เช่น หอยต่างๆ ก็จะช่วยเสริมสร้างเส้นผมได้

-
แม่หลังคลอด ทำไม? กลั้นปัสสาวะไม่ได้
การที่แม่หลังคลอดมีความสามารถในการกลั้นปัสสาวะลดลง หรือกลั้นไม่ได้ เนื่องจากการคลอดอาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานของคุณแม่ยืดออก โดยเฉพาะกรณีใช้เวลาคลอดนานกว่าปกติ จะเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้เมื่อมีการไอ จาม หรือหัวเราะ เกิดปัสสาวะเล็ดออกมา แต่จะค่อยๆ หายและกลับมาเป็นปกติได้ประมาณ 3 สัปดาห์หรือนานกว่านี้ในคุณแม่บางคน ดังนั้น แนะนำให้คุณแม่หลังคลอดใส่ผ้าอนามัย และบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ค่ะ
นอกจาก 10 อาการที่เกิดกับ ร่างกายแม่หลังคลอดข้างต้นแล้ว คุณแม่ยังอาจพบเจออาการอื่นๆ ที่เป็นเรื่องปกติได้ด้วย เช่น เต้านมคัดตึงบวม เนื่องจากจุน้ำนมจนเต็มแล้วไม่ถูกระบายออก แนะนำให้ประคบอุ่นประมาณ 10 นาที นวดคลึงหัวนม พร้อมทั้งให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำนมระบายออกได้มากที่สุด หรืออาจเกิดภาวะท้องผูกหลังคลอด ซึ่งหากคุณแม่กินอาหารที่มีเส้นใยสูง อย่างผัก ผลไม้ หรือธัญพืช และดื่มน้ำให้มากๆ ก็จะช่วยบรรเทาได้ค่ะ
อาการที่เกิดกับ ร่างกายแม่หลังคลอด ที่ถือว่าผิดปกติและควรพบแพทย์
- มีไข้สูง อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
- น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น หรือมีสีแดงสดเป็นเวลานาน อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในมดลูก
- ปวดท้องน้อยรุนแรง อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ
- ปวดศีรษะรุนแรง หรือมีปัญหาด้านการมองเห็น อาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษหลังคลอด
- เจ็บหน้าอก หรือหายใจลำบาก อาจเป็นสัญญาณของลิ่มเลือดในปอด
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หากรู้สึกเศร้า หดหู่ หรือวิตกกังวลอย่างรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์
การดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างเหมาะสมจะช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่นะคะ
ที่มา : www.nct.org.uk , www.nakornthon.com , healthsmile.co.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
นมแม่สีเหลือง ปกติมั้ย? ลูกกินได้หรือเปล่า น้ำนมแม่มีกี่สี
15 เคล็ดลับปรับตัวสำหรับคุณแม่มือใหม่ ในสัปดาห์แรกหลังคลอด
นมแม่เป็นลิ่ม เพราะอาหารที่กินจริงมั้ย? เกี่ยวกับ ท่อน้ำนมอุดตัน หรือเปล่า?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!