แม่ให้นม เคยเป็นมั้ยคะ? น้ำนมที่ลูกดูด หรือที่แม่ปั๊มออกมา มีลักษณะเป็น “ลิ่ม” บางครั้งยังรู้สึกเจ็บแปลบในเต้านมด้วย อาการแบบนี้ผิดปกติไหมนะ? นมแม่เป็นลิ่ม เพราะของทอด ของมัน และอาหารที่กินจริงมั้ย? เกี่ยวข้องกับ ท่อน้ำนมอุดตัน หรือเปล่า? ถ้าลูกกินนมแม่ที่เป็นลิ่มเข้าไปจะมีอันตรายไหม สารพันปัญหาเหล่านี้เรามีคำตอบมาให้ค่ะ

ทำไม? นมแม่เป็นลิ่ม เพราะอาหารที่กินจริงมั้ย?
สาเหตุที่น้ำนมแม่เป็นลิ่มนั้นไม่เกี่ยวกับการที่คุณแม่ให้นมกินอาหารที่มัน จำพวกนม เนย ของทอด ขนมปัง หรืออาหารอื่นใดก็ตามนะคะ โดยในภาวะปกติ เราสามารถพบเจอว่า นมแม่เป็นลิ่ม ได้อยู่บ้าง แต่ต้องไม่เป็นบ่อย และต้องไม่มีอาการปวดเต้าค่ะ กรณีเจ็บจี๊ดๆ ถือว่าปกติจากผลของฮอร์โมนค่ะ ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้น้ำนมของคุณแม่มีลักษณะเป็นลิ่มๆ คือ
หากทารกไม่ดูดนมอย่างสม่ำเสมอ หรือมีการหยุดให้นมในระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดการสะสมของน้ำนมในเต้านม
น้ำนมแม่ประกอบด้วยไขมัน โปรตีน และน้ำ เมื่อตั้งทิ้งไว้ ไขมันจะแยกตัวและลอยขึ้นมาเป็นชั้นบน ทำให้เห็นเป็นลิ่มหรือตะกอน โดยเฉพาะน้ำนมส่วนหลัง (hindmilk) จะมีปริมาณไขมันมากกว่าน้ำนมส่วนหน้า (foremilk) ทำให้เห็นเป็นลิ่มได้ชัดเจนกว่า
-
ความเครียดหรือความเหนื่อยล้า
ความเครียดหรือการพักผ่อนไม่เพียงพอสามารถส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำนมและการไหลเวียนของน้ำนม
ท่าทางการให้นมที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้ท่อน้ำนมถูกกดทับ ทำให้ไม่สามารถปล่อยน้ำนมได้ดี
-
การใส่เสื้อผ้าคับหรือหนาเกินไป
เสื้อผ้าที่กดทับหรือไม่พอดีอาจกดทับเต้านม ทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำนม
ทั้งนี้ ในกรณีที่ นมแม่เป็นลิ่ม ร่วมกับมีความรู้สึกเจ็บเต้า มีอาการตึงบริเวณเต้านม อาจเป็นสัญญาณของ “ท่อน้ำนมอุดตัน” ซึ่งเกิดจากไขมันในน้ำนมจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง ทำให้ขัดขวางการไหลของน้ำนมค่ะ

นมแม่เป็นลิ่ม จากภาวะท่อน้ำนมอุดตัน
ลักษณะน้ำนมแม่ที่เป็นลิ่มๆ นั้น อาจเกิดจากภาวะท่อน้ำนมอุดตันได้ค่ะ โดยพบบ่อยในคุณแม่ที่น้ำนมผลิตเยอะมากเกินไปค่ะ
|
อาการนมแม่เป็นลิ่ม จากท่อน้ำนมอุดตัน
|
เต้านมบวม |
บริเวณที่มีการอุดตันของท่อน้ำนมจะเกิดอาการบวมและตึง |
เจ็บปวด |
มักมีอาการเจ็บปวดเฉพาะที่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากการให้นมหรือระหว่างที่ทารกดูดนม |
เกิดก้อนในเต้านม |
คุณแม่อาจรู้สึกถึงก้อนแข็งๆ ที่เต้านม ซึ่งอาจเป็นลิ่มน้ำนมที่สะสม |
อุณหภูมิร่างกายสูง |
ในบางกรณีอาจเกิดอาการไข้และอาการอักเสบหากการอุดตันของท่อน้ำนมเกิดขึ้นนานจนทำให้เกิดการติดเชื้อ |
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ท่อน้ำนมอุดตัน นอกจากจะเป็นเพราะคุณแม่มีน้ำนมมากจนเกินไปและไม่ได้ระบายออกตามเวลาแล้ว ยังเกิดเนื่องจากปัจจัยอื่นๆ ต่อไปนี้ได้ด้วยค่ะ
- ปั๊มนมบ่อยในช่วงกลางวันแล้วกลางคืนหลับยาว ไม่ตื่นมาให้นมลูกหรือปั๊มนมตามรอบ
- ให้ลูกดูดนมไม่บ่อยพอ หรือดูดน้อย ทำให้นมค้างเต้า ระบายออกไม่หมด รวมทั้งปล่อยให้เต้านมคัดเป็นเวลานาน
- ใส่เสื้อชั้นในที่ไม่พอดี สวมใส่ไม่สบาย ซึ่งเสื้อชั้นในที่คับแน่นจนเกินไป ทำให้น้ำนมไหลเวียนได้ไม่สะดวก ส่วนเสื้อชั้นในที่หลวม ไม่กระชับ ทำให้เต้านมหย่อนคล้อย กดทับท่อส่งน้ำนม
- เต้านมคุณแม่มีลักษณะใหญ่ยานเกินไป ทำให้การระบายน้ำนมออกไม่ดี
- คุณแม่ให้นมดื่มน้ำไม่เพียงพอ หรือร่างกายขาดน้ำ

วิธีระบายน้ำนม ป้องกันเต้านมคัด ท่อน้ำนมอุดตัน
การระบายน้ำนมนั้นคุณแม่ควรใช้นิ้วมือรีดน้ำนมออกมากกว่าการปั๊มนมนะคะ เพราะการปั๊มนมจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้มีน้ำนมเยอะเกินความต้องการ อีกทั้งเครื่องปั๊มนมจะไม่ได้รีดกระเปาะน้ำนมที่อยู่รอบๆ ลานนม ทำให้น้ำนมคั่งค้าง เป็นสาเหตุให้เกิด ท่อน้ำนมอุดตัน ดังนั้นการระบายน้ำนมด้วยนิ้วมือโดยรีดจากบริเวณลานนม น้ำนมจะพุ่งออกมาได้ดีที่สุด ซึ่งมีวิธีการดังนี้
- วางนิ้วมือและหัวแม่มือหลังลานหัวนม (ส่วนที่เป็นสีน้ำตาล)
- กดลงบนเต้านมเบาๆ รีดไปข้างหน้าแล้วปล่อยมือ ทำหลายๆ ครั้งจนกว่าน้ำนมจะไหล
- บีบน้ำนมใส่ภาชนะที่สะอาด
- เปลี่ยนบริเวณที่บีบเต้านมไปเรื่อยๆ จนรอบเต้า

นมแม่เป็นลิ่ม เพราะเต้านมอักเสบ
หากมีอาการท่อน้ำนมอุดตันไม่มาก เพียงแค่คุณแม่ระบายออก สามารถเคลียร์เต้าได้ ปัญหานี้ก็จะจบไปเองค่ะ แต่ถ้าเกิดเต้านมอักเสบตามมาหลังภาวะท่อน้ำนมอุดตัน ก็เสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า coagulase-positive Staphylococcus aureus ซึ่งทำให้นมแม่จับตัวเป็นลิ่ม เป็นก้อน และเหนียวหนืด
ซึ่งคุณแม่ที่มีภาวะเต้านมอักเสบ มักพบการติดเชื้อร่วมด้วย อาจมีอาการหัวนมแตก ติดเชื้อที่หัวนม หรือเต้านมอักเสบลงลึกไปทำให้น้ำนมเหนียวหนืด จับตัวเป็นก้อนลิ่ม เวลาระบายนมออกมาจะเจอลิ่มเยอะ ขนาดใหญ่ หรือยาวเป็นประจำร่วมกับความปวดแปลบ บางทีอาจหนืดยืดเป็นเส้นๆ บีบออกมาเป็นก้อนยืดๆ ซึ่งไม่ใช่ผลจากอาหารที่กินแน่นอนค่ะ แต่เป็นเพราะการติดเชื้อที่ต้องได้รับการรักษา ดังนั้น หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์เร็วที่สุดนะคะ
ป้องกันยังไง? ไม่ให้นมแม่เป็นลิ่ม
- ให้ลูกน้อยดูดนมบ่อยขึ้น และสม่ำเสมอ ในท่าทางและตำแหน่งที่ถูกต้อง เพื่อให้การดูดน้ำนมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดการสะสมของน้ำนมในเต้านม
- นวดเต้าก่อนให้นม การนวดเบาๆ บริเวณที่บวมในเต้านมก่อนให้นมลูก จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำนม และอาจช่วยป้องกันไม่ให้ท่อน้ำนมอุดตันได้ค่ะ
- พักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยลดความเครียด ทำให้การผลิตน้ำนมและการไหลเวียนของน้ำนมเป็นไปได้ดีขึ้น
- ใส่ชุดชั้นในที่เหมาะสม เลือกชุดชั้นในที่ไม่คับหรือไม่กดทับเต้านม จะช่วยให้การไหลเวียนของน้ำนมเป็นไปอย่างปกติ
- ประคบร้อน หากนมแม่เป็นลิ่ม หรือท่อน้ำนมอุดตัน การใช้ผ้าร้อนประคบบริเวณที่บวมก่อนให้นม จะช่วยให้ท่อน้ำนมเปิดและปล่อยน้ำนมได้ดีขึ้นค่ะ
- ลองเปลี่ยนท่าให้นม การเปลี่ยนท่าทางการให้นมจะช่วยให้ลูกน้อยสามารถดูดนมได้ในตำแหน่งที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ท่อน้ำนมแต่ละท่อสามารถเปิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ใช้มือช่วยบีบระบายน้ำนม หากยังคงมีน้ำนมสะสมอยู่ในเต้านม คุณแม่ควรใช้มือช่วยบีบเพื่อดึงและระบายน้ำนมออกมาหลังจากให้นมเสร็จค่ะ
- สังเกตและดูแลสุขภาพเต้านม หากมีอาการเจ็บปวดหรือบวมที่เต้านม ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

โดยทั่วไป การที่น้ำนมแม่เป็นลิ่มเป็นเรื่องปกติและไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยค่ะ ลูกยังคงกินน้ำนมที่เป็นลิ่มได้ เพียงแค่เขย่าขวดนมเบาๆ ก่อนให้นม อย่างไรก็ตาม หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บเต้านม เต้านมแข็ง หรือมีไข้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม รวมถึงถ้าอาการน้ำนมเป็นลิ่มไม่หายไปภายใน 24 ชั่วโมง หรือมีสัญญาณบอกว่าอาจเกิดการติดเชื้อในเต้านม ควรพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทันทีเพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสม ปลอดภัยกับคุณแม่และลูกน้อยค่ะ
ที่มา : เลี้ยงลูกตามใจหมอ , นมแม่แฮปปี้ , bpk9internationalhospital.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
วิธีนวดเต้าหลังคลอด นวดยังไง? กระตุ้นน้ำนม ลดเต้าคัดให้แม่หลังคลอด
ทำไม? อยู่ดีๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า วิธีแก้ไขให้ลูกน้อย ยอมกลับมากินนมแม่
ให้นมลูกกินยาอะไรได้บ้าง ส่งผลต่อลูกไหม? คู่มือเลือกยาสำหรับแม่ให้นม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!