การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในช่วงแรกของชีวิตลูกน้อย เพราะนมแม่มีสารอาหารและภูมิคุ้มกันที่สำคัญมากมายอันจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพและพัฒนาการของทารก แต่บางครั้งคุณแม่มือใหม่บางคนอาจปั๊มนมแล้วเห็นว่า “น้ำนมแม่เป็นสีเหลือง” จนกลายเป็นใจไม่ดี? อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ! เพราะสีของน้ำนมแม่เปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งสีที่แตกต่างล้วนมีความหมายและบอกถึงคุณประโยชน์ที่หลากหลายด้วย เรามาทำความเข้าใจกันดีกว่าว่า นมแม่เหลือง เป็นสัญญาณของความผิดปกติหรือไม่? ลูกกินได้หรือเปล่า แล้วจริงๆ น้ำนมแม่มีกี่สี เพื่อให้คุณแม่มั่นใจในทุกหยดน้ำนมที่มอบให้ลูกน้อยค่ะ

นมแม่ แหล่งรวมโภชนาการของลูกน้อย
ทารกแรกเกิดนั้นยังมีภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ น้ำนมแม่จึงเปรียบเหมือนวัคซีนหยดแรกสำหรับลูกน้อย เพราะมีภูมิคุ้มกันโรค มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน และยังมีเซลล์สิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งจากเซลล์จากแม่ รวมถึงแบคทีเรียที่ดีต่อระบบทางเดินอาหารของลูกด้วยจำนวนมาก ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าลูกควรได้กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้นหากเป็นไปได้ ทั้งนี้ สารอาหารในน้ำนมแม่มีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาหลังการคลอด ผ่านกระบวนการสร้างน้ำนมที่เกิดจากการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นโดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะค่ะ
|
สารอาหารในน้ำนมแม่
|
น้ำนมระยะที่ 1
(Colostrum) |
- ระยะหัวน้ำนม 1-3 วันแรก
- น้ำนมจะมีสีเหลือง บางครั้งเรียกว่า น้ำนมเหลือง เนื่องจากมีแคโรทีนสูงกว่านมระยะหลังมาก
- เป็นน้ำนมที่อุดมสมบูรณ์มาก มีโปรตีนที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เกลือแร่ วิตามิน สารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของสมองและการมองเห็นของลูก
- มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยในการขับขี้เทาของลูกได้ด้วย
|
น้ำนมระยะที่ 2
(Transitional Milk) |
- เป็นน้ำนมสีขาวขุ่น มาในช่วง 5 วัน – 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด
- มีสารอาหารเพิ่มขึ้นทั้งไขมันและน้ำตาล ในปริมาณเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
|
น้ำนมระยะที่ 3
(Mature Milk) |
- น้ำนมช่วงหลังจาก 2 สัปดาห์
- มีปริมาณมากขึ้น และมีสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูก ได้แก่
- โปรตีน ช่วยยับยั้งจากเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด เพิ่มภูมิต้านทาน และเอนไซม์ที่สามารถทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรียได้
- ไขมัน ที่เป็นกรดไขมันจำเป็น ได้แก่ DHA และ AA มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทและการมองเห็น
- น้ำตาลแลคโตส โอลิโกแซคคาไรด์หรือคาร์โบไฮเดรตสายสั้น ซึ่งมีมากกว่า 200 ชนิด มากกว่านมวัวถึง 5 เท่า สำคัญต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้
- วิตามินและแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต
|

ทำไม? นมแม่สีเหลือง
เมื่อพูดถึง “น้ำนม” แน่นอนว่าภาพจำและความเข้าใจของเราทุกคนต้องเห็นภาพ “น้ำนมสีขาวขุ่น” อย่างแน่นอน ดังนั้น เมื่อคุณแม่มือใหม่บางคนพบว่าสีของน้ำนมเป็นสีเหลือง จึงทำให้เกิดความกังวลใจได้ว่า นมแม่สีเหลือง ปกติมั้ย? สามารถให้ลูกน้อยกินนมแม่ได้ตามปกติหรือเปล่า ซึ่งต้องบอกว่าสีของนมแม่นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยสีเหลืองของน้ำนมส่วนใหญ่เกิดจาก
น้ำนมส่วนแรก (Colostrum) ซึ่งมาช่วงแรกหลังคลอด 1-3 วันแรก จะมีสีเหลืองเข้ม บางครั้งอาจพบว่าเป็นสีส้มคล้ายกับไข่แดงก็ได้เช่นกัน เนื่องจากมีสารอาหารและแอนติบอดีสูงมาก โดยเฉพาะเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ หากคุณแม่พบว่าน้ำนมมีสีเหลืองในช่วงนี้ก็สบายใจได้ค่ะว่าปกติ เพราะน้ำนมเหลืองนี้มีความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยอย่างยิ่ง ลูกกินนมแม่ได้ปลอดภัยแน่นอนค่ะ
-
นมแม่สีเหลือง เพราะอาหารที่คุณแม่กิน
หากคุณแม่กินอาหารที่มีสีเหลืองหรือส้ม เช่น แครอท ฟักทอง หรือผักใบเขียวเข้ม อาจทำให้สีของน้ำนมเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้เช่นกันค่ะ
น้ำนมส่วนหลัง (Hindmilk) ซึ่งมีปริมาณไขมันสูงกว่าน้ำนมส่วนหน้า (Foremilk) อาจมีสีเหลืองเข้มกว่าได้
นมแม่สีเหลือง ผิดปกติมั้ย? ทำไมนมแม่เปลี่ยนสีได้
โดยทั่วไปแล้ว นมแม่สีเหลือง ถือเป็นเรื่องปกติค่ะ ไม่น่ากังวล และเป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกน้อยได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตน้ำนม อย่างไรก็ตาม สีของน้ำนมแม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หลากหลาย ไม่ใช่แค่สีเหลือง หรือสีขาวขุ่นเท่านั้น มาดูกันค่ะว่า น้ำนมแม่มีกี่สี สีน้ำนมแม่ บ่งบอกถึงอะไรได้บ้าง
|
น้ำนมแม่มีสีอะไรได้บ้าง
|
น้ำนมสีขาว |
- น้ำนมระยะที่ 2 (Transitional Milk) เป็นช่วงที่น้ำนมของแม่เริ่มเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีขาว
|
สีขาวข้น |
- Mature Milk หรือ น้ำนมระยะที่ 3 เป็นช่วงที่เต้านมได้ผลิตนมแม่ออกมาแบบเต็มตัว
- ลักษณะน้ำนมแม่ในระยะหลังจากนี้เป็นต้นไป จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะไขมัน หากไขมันมากน้ำนมก็จะมีสีขาวข้น
|
น้ำนมแม่สีเขียว |
- อาจเกิดจากการกินผักใบเขียว เช่น ผักโขม สาหร่าย ตำลึง สมุนไพรหรืออาหารเสริมบางชนิด
- เครื่องดื่มที่ผสมสีเขียวบางชนิด ก็ส่งผลให้น้ำนมแม่เปลี่ยนเป็นสีเขียวได้เช่นกัน
|
สีชมพู ส้ม และแดง |
- เกิดจากการกินอาหารอย่าง บีทรูท แครอท น้ำส้ม หรืออาหารแต่งสีต่างๆ เป็นต้น
|
นมแม่สีน้ำตาล สีสนิม
หรือสีแดงแบบมีเลือดปน |
- เกิดจากการมีเลือดปนผสมอยู่ในน้ำนม
- อาจจะเกิดจากปัญหาหัวนมแตก หรือเส้นเลือดฝอยแตก น้ำนมนี้ไม่เป็นอันตราย ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 วัน อาการก็จะดีขึ้น
|
สีดำ |
- พบได้น้อยมาก อาจเกิดจากการกินยาปฏิชีวนะบางตัว หากมีอาการนี้ ควรหยุดให้นมลูก และรีบปรึกษาแพทย์
|

ดูแลยังไง? เมื่อนมแม่เปลี่ยนสี
การที่นมแม่เปลี่ยนสีเกิดจากปัจจัยหลายอย่างข้างต้น ซึ่งเมื่อปัจจัยเปลี่ยนหรือกลับสู่จุดที่เป็นปกติ สีของนมแม่ก็จะกลับมาเป็นปกติได้เองค่ะ อย่างไรก็ตาม มีวิธีการดูแลตัวเองง่ายๆ ของแม่ให้นมมาฝาก ดังนี้
- รักษาสุขอนามัยในการให้นม อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายตามปกติ แต่ไม่ควรใช้สบู่ถูบริเวณหัวนมหรือขัดถูหัวนมแรงๆ และซับเต้านมให้แห้งเสมอ นอกจากนี้ ควรล้างมือให้สะอาดและรักษาความสะอาดของเต้านมทั้งก่อนและหลังการให้นม
- ให้นมบ่อยๆ และให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธีจะช่วยให้กระบวนการผลิตน้ำนมเป็นไปอย่างราบรื่น
- หากคุณแม่สังเกตเห็นว่ามีอาการปวดเต้านม หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและคำแนะนำ เช่น
- กินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย เพื่อให้น้ำนมมีคุณภาพดี และดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยในการผลิตน้ำนม

มาถึงตรงนี้คุณแม่น่าจะคลายความกังวลเรื่องสีของน้ำนมลงได้บ้าง และสามารถให้นมลูกน้อยอย่างต่อเนื่องได้แล้ว ซึ่งการให้นมแม่ไม่เพียงช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของลูกเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือช่วยสร้างความรักสานความผูกพันระหว่างแม่กับลูกได้เป็นอย่างดี ช่วงเวลาที่ตาสบตา ร่วมกับสัมผัสแห่งอ้อมกอด ที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกของการเป็นแม่ได้เป็นอย่างดี ร่างกายผลิตฮอร์โมนออกซิโทซินเพื่อสร้างความสุข รวมถึงช่วยให้คุณแม่สามารถผลิตน้ำนมได้มากขึ้นด้วยค่ะ
ที่มา : คลินิกนมแม่ โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง , multimedia.anamai.moph.go.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ทำไม? อยู่ดีๆ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า วิธีแก้ไขให้ลูกน้อย ยอมกลับมากินนมแม่
นมแม่เป็นลิ่ม เพราะอาหารที่กินจริงมั้ย? เกี่ยวกับ ท่อน้ำนมอุดตัน หรือเปล่า?
ลูกกินนมแม่ท้องอืด ได้ไหม? วิธีป้องกันและดูแลเมื่อเด็กนมแม่ท้องอืด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!