วินาทีที่ลูกน้อยลืมตาดูโลกนั้นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและน่าตื่นเต้นในชีวิตของคุณแม่ทุกคนค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด ก็ตาม โดยหลังการคลอดร่างกายของคุณแม่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู และหนึ่งในสิ่งที่หลายคนสงสัยคือเรื่องของ “น้ำคาวปลา” กรณีที่ ผ่าคลอด น้ำคาวปลาจะหมดตอนไหน จะหายไปเองหรือมีวิธีจัดการอย่างไร มีภาวะอันตรายที่เกิดจากน้ำคาวปลาหรือไม่ บทความนี้มีคำตอบ
น้ำคาวปลา หลังคลอด คืออะไร
ในช่วงหลังคลอดลูกร่างกายของคุณแม่จะมี “ของเหลว” ออกมาจากช่องคลอด ไม่ว่าจะคลอดแบบธรรมชาติหรือผ่าคลอดก็ตาม เจ้าสิ่งนี้นี่แหละค่ะคือ “น้ำคาวปลา” (Lochia) เกิดจากการที่มดลูกหดตัวเพื่อกลับสู่สภาพเดิมหลังการตั้งครรภ์ และมีเยื่อบุโพรงมดลูกบริเวณที่รกเคยเกาะอยู่หลุดลอกออกมา ซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาติตามปกติที่ร่างกายของผู้หญิงจะค่อย ๆ ขับออกไป ลักษณะคล้ายกับประจำเดือน
ผ่าคลอด น้ำคาวปลาจะหมดตอนไหน ลักษณะน้ำคาวปลา 3 ระยะหลังคลอด
น้ำคาวปลานี้จะเป็นเลือดปนเมือกของเหลว ประกอบไปด้วยเม็ดเลือดแดง เมือก (Mucus) เม็ดเลือดขาว และเยื่อบุมดลูกที่สลายหลุดออกมา โดยในช่วงวันแรก ๆ หลังคลอดอาจมีน้ำคาวปลาในลักษณะคล้ายเลือดออกมาค่อนข้างมาก เพราะช่วงที่ตั้งครรภ์ ปริมาณเลือดในร่างกายคุณแม่จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดลูก ทั้งนี้ ลักษณะของน้ำคาวปลาโดยทั้งไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ
เป็นน้ำคาวปลาที่จะออกมาในช่วง 1-5 วันแรกหลังคลอด (คุณแม่บางคนอาจมีน้ำคาวปลาเมื่อเข้าสู่วันที่ 3 หลังคลอด) น้ำคาวปลาในระนะแรกนี้จะมีลักษณะเป็นสีแดงเข้ม สีคล้ำ ประกอบด้วยเลือด เมือก และเศษรก ลักษณะคล้ายลิ่มเลือดขนาดเล็ก
-
ระยะที่ 2 (Lochia serosa)
อยู่ในช่วงประมาณวันที่ 4-10 หลังคลอด ซึ่งสีของน้ำคาวปลาระยะนี้จะเริ่มจางลงเป็นสีชมพู หรือน้ำตาล และจะค่อย ๆ กลายเป็นสีเหลืองใส เริ่มมีความเหลวมากขึ้น ลักษณะเป็นเลือดจาง ๆ มีมูกปน เป็นช่วงที่ประกอบด้วยน้ำเหลือง เยื่อเมือก เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว
หลังมีน้ำคาวปลาสีเหลืองใสในระยะที่ 2 แล้ว คุณแม่อาจจะยังคงมีน้ำคาวปลาต่อไปจนถึงประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งน้ำคาวปลาระยะที่ 3 นี้จะมีลักษณะคล้ายครีม มีสีเหลืองขุ่น หรือสีขาว เนื่องจากมีเม็ดเลือดแดงลดน้อยลง แต่เม็ดเลือดขาว ไข เมือก และเซลล์บุผนังช่องคลอดมากขึ้น โดยปริมาณน้ำคาวปลาจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนหมดไป
ผ่าคลอด น้ำคาวปลาจะหมดตอนไหน ต่างกับการคลอดธรรมชาติมั้ย
ร่างกายของคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติและคุณแม่ผ่าคลอดจะต้องมีน้ำคาวปลาออกมาเช่นเดียวกันแบบไม่มีข้อยกเว้นนะคะ แต่จะมีความต่างกันบ้างเล็กน้อยตรงที่ ภายในช่วง 24 ชั่วโมงหลังคลอด คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติอาจมีน้ำคาวปลามากกว่าคุณแม่ที่ผ่าคลอดนั่นเอง โดยน้ำคาวปลาของคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติควรหมดไประยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์
ส่วนคุณแม่ผ่าคลอดนั้น หากดูจากระยะและลักษณะของน้ำคาวปลาที่อธิบายไว้ ก็น่าจะพอมีคำตอบให้แล้วค่ะว่า ผ่าคลอด น้ำคาวปลาจะหมดตอนไหน ซึ่งก็คือ ผ่าคลอด น้ำคาวปลาควรหมดไปในระยะเวลาไม่เกิน 4-6 สัปดาห์ แต่โดยปกติแล้วน้ำคาวปลาจะหยุดหรือแห้งไปเองในสัปดาห์ที่ 2-3
อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงเวลาอาจมีปัจจัยบางอย่างทำให้น้ำคาวปลาถูกขับออกมามากกว่าปกติ เช่น ช่วงเช้าหลังตื่นนอน ขณะที่คุณแม่ออกกำลังกายเบา ๆ หรือระหว่างขับถ่าย นอกจากนี้อาจมีน้ำคาวปลาถูกขับออกมามากในขณะให้นมลูกได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งอาจช่วยเร่งการรักษาและกระตุ้นการหดตัวของมดลูกของคุณแม่นั่นเอง
ดูแลตัวเองหลังผ่าคลอดยังไงดี ในช่วงที่มีน้ำคาวปลา
หลังจากผ่าคลอด คุณแม่ที่มีน้ำคาวปลา อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อค่ะ ดังนั้น การดูแลตัวเองในช่วงเวลานี้จึงต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเรื่องของความสะอาด รวมถึงควรหมั่นสังเกตลักษณะน้ำคาวปลาและอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายตัวเองด้วย ดังนี้
- ดูแลอวัยวะเพศให้สะอาด ไม่อับชื้น
- เปลี่ยนผ้าอนามัยตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมที่อาจก่อให้เกิดการสะสมเชื้อโรคต่าง ๆ ได้
- งดการแช่อ่างน้ำ หรือว่ายน้ำ เนื่องจากปากมดลูกยังเปิดอยู่ อาจทำให้มีน้ำเข้าไปในโพรงมดลูกเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
- งดมีเพศสัมพันธ์ในช่วงหลังคลอดอย่างน้อย 3 เดือน
- เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย โดยเฉพาะกางเกงไม่ควรรัดรูป เนื่องจากเสี่ยงสะสมความอับชื้นที่จุดซ่อนเร้น
- หลีกเลี่ยงการทำงานหนักและยกของหนัก
น้ำคาวปลา แบบไหนผิดปกติ และควรพบแพทย์
น้ำคาวปลาควรจะอยู่กับคุณแม่หลังผ่าคลอดไม่เกิน 6 สัปดาห์นะคะ หากพ้นช่วงเวลา 6 สัปดาห์มาแล้วคุณแม่ยังมีน้ำคาวอยู่ โดยเฉพาะน้ำคาวปลายังมีสีแดง อาจมีการอักเสบ หรือมีเศษรกตกค้างในมดลูก ควรปรึกษาแพทย์ รวมถึงลักษณะของน้ำคาวปลาต่อไปนี้เช่นกัน คือ
- น้ำคาวปลามีสีแดงสดตลอด 4 วันหลังคลอด หรือนานกว่านั้น และอาการไม่ดีขึ้นแม้นอนหลับพักผ่อนแล้ว
- น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นเน่า พร้อมกับมีอาการปวดมดลูกมาก อาจมีไข้ร่วมด้วย อันแสดงถึงการติดเชื้อ
- ปริมาณน้ำคาวปลามากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยเกือบทุก 1 ชั่วโมง มีสีแดงสด มีก้อนเลือดหรือลิ่มเลือดออกมา อาจเกิดจากภาวะเลือดออกผิดปกติหลังคลอด ซึ่งมีหลายสาเหตุ อาทิ การกินยาขับเลือด การมีชิ้นส่วนรกค้างอยู่ในมดลูก การติดเชื้อในเยื่อบุโพรงมดลูก ความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
- น้ำคาวปลากลับมาเป็นสีแดงสดอีกครั้ง หลังจากเริ่มจางได้ 2-3 วันแล้ว
- มีน้ำคาวปลาออกมาก ร่วมกับอาการเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว
นอกจากนี้ หากคุณแม่มีอาการไข้ มีน้ำหรือเลือดออกจากแผลผ่าคลอด ปวดแผลมากขึ้น หรือแผลบวมแดง มีหนองควรรีบไปพบแพทย์ทันทีนะคะ
ที่มา : www.samitivejhospitals.com , www.phyathai.com , hdmall.co.th , www.pobpad.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ตั้งครรภ์ทาเล็บได้ไหม คุณแม่มือใหม่อยากสวย ต้องรู้
อาการหน่วงท้องน้อย ตั้งครรภ์ ผิดปกติไหม แบบไหนอันตราย
ไหมละลายหลังคลอดกี่วันหาย แผลฝีเย็บดูแลอย่างไร
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!