อาหารพื้นบ้าน หรืออาหารพื้นเมือง คืออาหารที่มีทั่วไปประจำท้องถิ่น โดยจะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะมีความแตกต่าง ทั้งเรื่องสภาพอากาศ ภูมิประเทศ วัตถุดิบ วัฒนธรรมการดำรงชีวิตของผู้คน โดยทั่วไปอาหารพื้นบ้านจะมีกรรมวิธีการปรุงแบบ ต้ม ผัด แกง ทอด มีวิธีทำง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน รับประทานกับข้าวสวยหรือข้าวเหนียว ซึ่งจะให้ความสมดุลทางโภชนาการที่สูง โดยจะเน้นใช้ผัก สมุนไพร และแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ ปลา หรือสัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งทรัพยากรของภูมิภาคนั้น ๆ
อาหารพื้นบ้าน
ลักษณะ อาหารพื้นบ้าน ในแต่ละภูมิภาค
อาหารภาคเหนือ
โดยส่วนใหญ่อาหารภาคเหนือ จะเน้นไปทางน้ำพริก และทานข้าวเหนียวเป็นหลัก อาหารภาคเหนือจะส่วนใหญ่จะมีไขมันสูง เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น และมีภูมิประเทศใกล้ป่าเขา จึงนิยมนำพืชผักจากป่ามาประกอบอาหาร เช่น ผักหวาน แค บอน เช่นต้น และอาหารเหนือจะไม่นิยมใส่น้ำตาล โดยจะใช้ความหวานธรรมชาติจากวัตถุดิบ
อาหารภาคกลาง
อาหารของภาคกลาง ถือเป็นว่ามีอาหารที่หลากหลาย เพราะถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีความอุดมสมบูรณ์มาก และค่อนข้างได้รับอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้าน จีน และอินเดีย มีกรรมวิธีการปรุงที่หลากหลายและซับซ้อน โดยจะนิยมใช้ กะทิ มาประกอบอาหาร มีรสชาติ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม กลมกล่อม และมักจะมีเครื่องเคียง ของแนม ที่ทานคู่กัน
อาหารภาคอีสาน
อาหารพื้นบ้านทางอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีลักษณะเผ็ดร้อน แซ่บนัวร์กลมกล่อม โดยชาวอีสานพื้นบ้านจะใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ จึงหาวัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นหลัก เช่นปลา หาจากลำน้ำ คันนา เป็นต้น พืชผักปลูกเองในสวน โดยชาวอีสานจะนิยมปรุงรสอาหารด้วยปลาร้า และรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลัก
อาหารภาคใต้
หากพูดถึงภาคใต้ จะนึกถึงบุคลิกของชาวภาคใต้ที่ทำอะไรรวดเร็ว พูดเร็ว เดินเร็ว แอคทีฟตลอดเวลาจึงส่งผลต่อวัฒนธรรมการกินอาหารของคนใต้ ที่จะจัดจ้านในทุกทาง เปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัด รสชาติเข้มข้น ซึ่งอาหารใต้เองก็ได้รับอิทธิพลมาจากทางมลายู และอินเดียนั่นเอง จะเห็นได้ว่าเครื่องแกงใต้ค่อนข้างที่จะถึงเครื่องและจัดจ้านมาก ๆ
ประโยชน์ของอาหารพื้นบ้าน
แน่นอนว่าอาหารพื้นบ้านนั้นมีประโยชน์และมีคุณค่าทางโภชนาการที่สมดุล ทั้งในส่วนของโปรตีนจากเนื้อสัตว์ วิตามิน แร่เกลือ สรรพคุณต่าง ๆ จากพืชผัก คาร์โบไฮเดรตจากข้าวและแป้ง ไขมันจากการประกอบอาหาร เรียกได้ว่าครบถ้วน นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ได้ใช้เวลาร่วมกันในการช่วยกันประกอบอาหาร และทานข้าวด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาอีกด้วย
แจกสูตรเมนูอาหารพื้นบ้าน
บทความนี้เราจะมาแจกสูตรอาหารพื้นบ้าน ต้ม ผัด แกง ทอด จากแต่ละภูมิภาคกัน บอกเลยว่าอาหารพื้นบ้านแต่ละเมนู ทำทานง่าย รสชาติอร่อยถูกปาก ทำให้ลูกทานแล้วต้องติดใจอย่างแน่นอน จะมีเมนูอะไรบ้าง และจะมีขั้นตอนวิธีทำอย่างไร ไปดูกันเลย
ไก่ต้มขมิ้น
มากันที่เมนูแรกขอยกให้เป็นเมนูต้ม นั่นก็คือไก่ต้มขมิ้นนั่นเอง โดยไก่ต้มขมิ้นนั้นเป็นเมนูอาหารพื้นบ้านภาคใต้ที่มีรสชาติเข้มข้นจัดจ้านตามเอกลักษณ์ภาคใต้ หอมเครื่องสมุนไพรไทยแบบจัดเต็มมาก ๆ ได้โปรตีนจากเนื้อไก่สุดละมุนที่เข้ากับส่วนผสมได้อย่างลงตัว ทำให้ลูกทานโดยเบาความเผ็ดจัดจ้านลงพอประมาณ รับรองว่าติดใจ ถ้าพร้อมกันแล้วไปดูขั้นตอนการทำไก่ต้มขมิ้นกันได้เลย
วัตถุดิบ
- น่องไก่ติดสะโพก (สามารถใช้เนื้อไก่ส่วนอื่นตามที่ชอบได้เลย)
- น้ำเปล่า
- ขมิ้นชันสด
- ตะไคร้
- ใบมะกรูด
- พริก
- ข่า
- ผักชี
- รากผักชี
- กระเทียมทุบ
- หอมแดงทุบ
- เกลือ
- น้ำปลา
วิธีทำ
- ตั้งน้ำใส่หม้อลงเตา รอจนน้ำเดือด
- เมื่อน้ำเดือดแล้ว ใส่ ข่า ตะไคร้ ขมิ้นชันสด หอมแดงทุบ กระเทียมทุบ รากผักชี และใบมะกรูดลงไป
- หากชอบให้มีรสเผ็ด สามารถใส่พริกได้ตามชอบใจ
- เมื่อน้ำเดือดอีกให้ใส่เนื้อไก่ลงไปต้ม เมื่อไก่สุกให้ปรุงรสต่อด้วยเกลือ และน้ำปลา ชิมรสชาติ
- ตักเสิร์ฟทานพร้อมข้าวสวยร้อน ๆ
บทความที่น่าสนใจ : สูตรเด็ด เมนูแกงไก่ กับเคล็ดลับง่าย ๆ เสิร์ฟคู่กับอะไรก็อร่อย
ผัดต้นอ่อนทานตะวัน
ต่อกันด้วยเมนูผัด ซึ่งเราได้นำสูตร ผัดต้นอ่อนทานตะวันของชาวพื้นบ้านภาคกลางมาแจกสูตรให้ทุกคนกัน โดยต้นอ่อนทานตะวันนั้นถือว่าเป็นผักที่ทานง่าย รสชาติอร่อย และยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ บี1 บี6 และมีโอเมก้า 3 6 9 นอกจากนี้ยังเหมาะกับการให้คุณพ่อทานด้วย เพราะต้นอ่อนทานตะวันมีช่วยในการพัฒนาสเปิร์มให้แข็งแรง และยังเหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์อีกด้วย เพราะมีสารอาหารโฟเลตสูง แน่นอนว่ามีประโยชน์ขนาดนี้ ก็ไม่พลาดที่จะนำมาทำอาหารพื้นบ้านง่าย ๆ อย่างผัดผักอ่อนทานตะวัน ทานกันในครอบครัวนะคะ
วัตถุดิบ
วิธีทำ
- โขลกพริกและกระเทียมพอหยาบ ใส่พริกตามระดับตามเผ็ดที่ทานได้ หรือหากไม่ทานเผ็ด จะไม่ใส่พริกเลยก็ได้
- ตั้งน้ำมันในกระทะเล็กน้อยจนน้ำมันร้อน ใส่พริกและกระเทียมลงไปผัดจนหอม
- ตามด้วยต้นอ่อนทานตะวัน ผัดให้พริกและกระเทียมกระจายทั่วต้นอ่อนทานตะวัน
- ใส่เปล่าลงเล็กน้อย และตามด้วยการปรุงรสด้วย น้ำตาล น้ำมันหอย น้ำปลา และซีอิ๊วขาว
- ผัดจนต้นอ่อนทานตะวันสุก โดยใช้เวลาแค่แป๊บเดียวต้นอ่อนทานตะวันก็สุกแล้ว
- ชิมรสชาติ และปรุงเพิ่มเติมตามความชอบ
- ตักเสิร์ฟทานกับข้าวสวยร้อน ๆ ได้เลย
แกงเห็ดผักแขยง
ตามมาด้วยเมนูแกง ความแตกต่างของเมนูแกงและต้มนั้น อยู่ที่เมนูแกงจะต้องมีการตำเครื่องแกงหรือพริกแกงนั่นเอง ในขณะที่เมนูต้มจะเป็นแค่การต้มส่วนวัตถุดิบและส่วนผสมรวมกันเฉย ๆ โดยเมนูแกงของเราวันนี้ก็คือ แกงเห็ดผักแขยง ซึ่งเป็นเมนูพื้นบ้านของชาวอีสาน รสชาติเข้มข้นจัดจ้านหอมปลาร้าสไตล์อีสาน ผักแขยง หรือ ผักกะแยงนั้นเป็นผักพื้นบ้านทางอีสาน มีรสชาติเผ็ดและหอมฉุน มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ไอแก้ไข้ ระบายท้อง และบำรุงน้ำนมให้กับคุณแม่อีกด้วย ว่าแล้วเราก็ไม่พลาดที่จะมาลองทำเมนูแกงเห็ดผักแขยงกันได้เลย
วัตถุดิบ
- เห็ด
- ผักแขยง
- ผักต่าง ๆ ตามชอบ
- น้ำใบย่านาง
- น้ำปลาร้า
- ข้าวเหนียวแช่
- ตะไคร้
- หอมแดง
วิธีทำ
- เตรียมเครื่องตำ โดยนำข้าวเหนียวดิบไปแช่น้ำจนนิ่ม และนำมาโขลกในครกให้ละเอียด ตามด้วยตะไคร้สับ พริก หอมแดง โขลกรวมกันให้ละเอียดพอใช้ได้
- ต้มน้ำใบย่านาง ใส่เครื่องตำที่เราเตรียมไว้ลงไป คนให้เครื่องตำกระจายทั่วในน้ำใบย่านาง
- เมื่อน้ำใบย่านางร้อน ให้ใส่ผักแขยง และผักอื่น ๆ ตามชอบลงไปด้วย
- และเมื่อน้ำเดือดให้ใส่เห็ดตามลงไป และปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า น้ำปลา เกลือ
- เมื่อส่วนผสมสุกดี ก็ยกขึ้นเสิร์ฟรับประทานกับข้าวสวยร้อน ๆ ได้เลย
บทความที่น่าสนใจ : รวมสูตร! 5 เมนูเห็ดออรินจิ เพื่อสุขภาพ อร่อย ทำง่าย ได้แคลอรีน้อย
กระบอง
ปิดท้ายด้วยเมนูกระบอง ซึ่งไม่ใช่อาวุธไว้ใช้ตีกันแต่อย่างใด แต่เป็นเมนูของทอดนั่นเอง หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเมนูกระบอง โดยกระบองเป็นเมนูพื้นบ้านทางภาคเหนือ เป็นอาหารคาวหรืออาหารกินเล่นก็ได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้ฟักทอง ทานคู่กับน้ำพริก รสชาติอร่อยถูกใจเด็ก ๆ ทานได้ทั้งครอบครัว ฟักทองยังมีประโยชน์ช่วยบำรุงผิวพรรณอีกด้วย ในส่วนของวิธีทำนั้น จะทำอย่างไรไปดูกันได้เลย
วัตถุดิบ
- ฟักทอง
- แป้งทอดกรอบ
- พริกแห้ง
- กระเทียม
- หอมแดง
- ตะไคร้
- ขมิ้น
- กะปิ
- เกลือ
วิธีทำ
- เตรียมฟักทองหั่นเป็นลักษณะแท่ง ๆ ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่มาก และวางตากเตรียมไว้ 1 คืนเพื่อให้เนื้อฟักทองแห้งดี
- เตรียมเครื่องแกง โดยใส่พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ตะไคร้ ขมิ้น และเกลือ ลงไปโขลกในครกให้ละเอียด หากต้องการเพิ่มความเค็มและความหอมสามารถเพิ่มเติมกะปิได้
- นำฟักทองที่เราเตรียม ใส่ภาชนะไว้ ตักเครื่องแกงใส่ คลุกตัวเครื่องแกงให้ทั่วฟักทอง และใส่แป้งทอดกรอบคลุกเคล้าตามลงไป
- ตั้งกระทะและใส่น้ำมันสำหรับทอด รอจนน้ำมันเดือดจึงใส่ฟักทองลงไปทอด
- ทอดจนสุกเหลืองกรอบ จึงนำขึ้นมาเสิร์ฟ พร้อมรับประทาน
และทั้งหมดนี้คือเมนูอาหารพื้นบ้านที่หาทานได้ยาก แต่รสชาติอร่อย ทำให้เด็ก ๆ ทานกันได้ ซึ่งมีทั้ง ต้ม ผัด แกง ทอด ครบรส ครบ 4 ภาคของไทย เรามั่นใจว่าคุณแม่จะต้องรังสรรค์เมนูมาให้ลูก ๆ ได้ทานและติดใจในรสชาติอย่างแน่นอน อีกทั้งอาหารเหล่านี้นอกจากมีความอร่อยง่าย ๆ ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายอีกด้วย หวังว่าบทความนี้จะถูกใจเหล่าคุณแม่กันนะคะ
สามารถติดตามบทความที่น่าสนใจสำหรับคุณแม่และลูกน้อยได้ในเว็บไซต์ของเรา
บทความที่น่าสนใจ :
แจกสูตร น้ำพริก 4 ภาค อร่อยจัดจ้านทุกภาคแน่นอน !!
แจกสูตร! น้ำพริกอ่อง อาหารเหนือ ทำง่าย ทานง่าย บำรุงผิวสวยใส
แจกสูตร! เมนูสะตอ อาหารใต้ หรอยแรง รสชาติไทยแท้ ทานได้ทั้งครอบครัว
ที่มา : nlovecooking, foodnetworksolution, thai403153141
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!