กลับมาอีกครั้งกับการแจกสูตรอาหารสูตรเด็กจากทั่วทุกมุมของโลก วันนี้เราได้นำสูตร “น้ำพริกอ่อง” น้ำพริกของทางเหนือที่ใครได้ลิ้มลองแล้วก็ติดใจกันไปตาม ๆ กัน ด้วยรสชาติและวัตถุดิบที่หาง่ายแสนง่าย อีกทั้งยังช่วยบำรุงผิวเพราะว่าส่วนประกอบหลักเป็นมะเขือเทศที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงอีกด้วย ไปดูกันเลยว่าจะต้องเตรียมวัตถุดิบอะไรบ้าง และมีขั้นตอนอะไรบ้าง
น้ำพริกอ่อง อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ
หากพูดถึงน้ำพริกสักอย่างหนึ่งของภาคเหนือ คงหนีไม่พ้นน้ำพริกอ่อง ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และต่างจากน้ำพริกภาคอื่น ๆ ในประเทศไทย น้ำพริกอ่อง เป็นน้ำพริกที่เป็นส่วนหนึ่งในอาหารที่ถูกบรรจุอยู่ในขันโตกที่คนเหนือที่นำมาต้อนรับผู้มาเยือน หรือแขกที่มาที่บ้าน ซึ่งส่วนประกอบของน้ำพริกอ่องส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยมะเขือเทศ พริก และหมูสับ ซึ่งในบางครั้งก็จะถูกมองว่าน้ำพริกอ่องนั้นเหมือนกับผัดหมูสับใส่มะเขือเทศ หรือแกงมะเขือเทศใส่หมูมากกว่าเป็นน้ำพริก แต่ถึงอย่างไรก็ตามลักษณะในการทานก็ยังคงเหมือนกับน้ำพริกทั่วไป ซึ่งจะนิยมรับประทานคู่กับผักแนม อาทิ แตงกวา ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี และแคบหมู เป็นต้น และสิ่งที่ทำให้อาหารภาคเหนือมีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ต่างจากภาคอื่น คือการใส่ “ถั่วเน่า” ลงไปในอาหารนั่นเอง
บทความที่น่าสนใจ : อาหารไทยภาคกลาง รสกลมกล่อม ที่ทั้งคนไทย และต่างชาติ ห้ามพลาด
ถั่วเน่า คืออะไร
หลายคนที่มักจะต้องตกใจทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า “ถั่วเน่า” จากปากของคนเหนือ แต่ความจริงแล้ว ถั่วเน่า เป็นเครื่องปรุงอาหารอย่างหนึ่งที่ถูกใช้ในภาคเหนือของประเทศไทย ที่มีความใกล้เคียงกับกะปิ เคย หรือนัทโตะของประเทศญี่ปุ่น จะให้รสชาติเค็มและทำให้อาหารกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งถั่วเน่านั้นทำจากถั่วเหลืองบดละเอียด ก่อนที่จะนำไปวางบนแผ่นแป้งและตากแดดจนแห้งกลายเป็นสีน้ำตาล และก่อนนำมาปรุงอาหารจะต้องนำถั่วเน่าไปย่างไฟอ่อน ๆ ก่อน และก็สามารถนำมาปรุงอาหารได้เลย โดยกระบวนการทำถั่วเน่านั้นจะไม่เติมเกลือเข้าไป แต่ให้แบคทีเรียที่อยู่ในกลุ่มบาซิลลัส (Bacillus sp.) ที่ทำให้ถั่วเน่านั้นมีรสชาติ ทั้งนี้นอกจากจะให้รสชาติแล้วยังมีวิตามินบี 12 ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจางและโรคเกี่ยวกับระบบประสาทได้อีกด้วย
มะเขือเทศ กินแล้วผิวดี อย่างไร?
อีกหนึ่งส่วนประกอบหลักในการทำน้ำพริกอ่องที่ขาดไม่ได้เลยคือมะเขือเทศ มะเขือเทศเป็นแหล่งอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและมะเร็ง และยังมีวิตามินอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของเราอีกมากมาย ดังต่อไปนี้
- วิตามินซี เป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายและสามารถต้านอนุมูลอิสระได้ โดยมะเขือเทศขนาดกลางนั้นจะมีประมาณวิตามินซีมากถึง 28% ของปริมาณสามารถที่แนะนำต่อวัน
- โพแทสเซียม มีส่วนช่วยในการควบคุมความดันโลหิตและป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
- วิตามินเค หรือ Phylloquinone มีส่วนช่วยในเรื่องจองการแข็งตัวของเลือกและสุขภาพของกระดูก
- โฟเลต หรือ วิตามินบี 9 มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ และการทำงานของเซลล์ อีกทั้งยังเป็นวิตามินที่มีความสำคัญสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มาก
นอกจากวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่พบในมะเขือเทศแล้ว ในมะเขือเทศยังมีไลโคปีน (Lycopene) ที่พบมากในผักผลไม้ที่มีสีแดง เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และช่วยป้องกันผิวจากการถูกแดดเผาได้เป็นอย่างดี, เบต้าแคโรทีน (Beta carotene) สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในผลไม้สีเหลืองหรือส้ม ที่จะถูกแปลงเป็นวิตามินเอให้ร่างกายได้นำไปใช้, นารินจิน (Naringenin) ช่วยลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อและป้องกันโรคต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาตากหนู กรดคลอโรจีนิก (Chlorogenic acid) ช่วยลดความดันโลหิตสูง เป็นต้น
บทความที่น่าสนใจ : น้ำมะเขือเทศ ดีอย่างไร กินน้ำมะเขือเทศแล้วมีประโยชน์อะไรต่อร่างกายบ้าง
วิธีทำ “น้ำพริกอ่อง” อาหารเหนือ ทำง่าย ทานง่าย
หลังจากที่ทราบถึงประโยชน์ของวัตถุดิบที่นำมาใส่ในน้ำพริกอ่องของเราแล้ว เรามาดูกันดีกว่ามีขั้นตอนการทำ และจะต้องเตรียมวัตถุดิบอื่น ๆ เพิ่มอย่างไรบ้าง และทำตามไปพร้อมกันทีละขั้นตอนได้เลยค่ะ
วัตถุดิบ น้ำพริกอ่อง
- หมูสามชั้น 500 กรัม
- มะเขือเทศสีดา 700 กรัม
- กระเทียม 50 กรัม
- หอมแดง 100 กรัม
- รากผักชี 4 ราก
- พริกแดงจินดาแห้ง 10 เม็ด
- พริกชี้ฟ้าแห้ง 5-10 เม็ด
- ถั่วเน่า 1 แผ่น
- กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
- ต้นหอม 1-2 ต้น
- ผักชี 1-2 ต้น
- เกลือป่น 1/2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำเปล่า 100 มิลลิลิตร
วิธีทำ น้ำพริกอ่อง
- นำถั่วเน่าไปปิ้งไฟอ่อน ๆ ให้หอม พยายามอย่าใช้ไฟที่แรงหรือนำถั่วเน่าใกล้ไฟจนเกินไป อาจทำให้ถั่วไหม้และขมได้
- นำหอมแดง กระเทียม และรากผักชีมาซอยให้มีขนาดที่เล็กลง เผื่อที่เวลาตำจะได้ง่ายขึ้น
- นำถั่วเน่าที่ปิ้งไฟไว้แล้วมาตำในครกให้ละเอียด ก่อนที่จะตักออก
- นำพริกแห้งไปแช่ในน้ำให้นิ่ม บีบให้แห้งก่อนที่จะเอาเม็ดด้านในออก และนำมาตำในครกให้ละเอียด
- เมื่อพริกละเอียดแล้ว ใส่รากผักชี หอมแดง และกระเทียมลงไปตำให้เข้ากันอย่างละเอียด
- พอเริ่มละเอียดแล้วก็ใส่ถั่วเน่าที่ตำไว้ก่อนหน้านี้มาตำในครกให้เข้ากัน เมื่อทุกอย่างเข้ากันแล้วก็ใส่กะปิลงไปตำร่วมกัน
- นำมะเขือเทศมาล้างให้สะอาด และหั่นให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ และนำหมูสามชั้นมาสับให้เป็นหมูสับ หรือว่าจะใช้เนื้อหมูสับที่สับมาแล้วก็ได้
- ตั้งกระทะ แล้วใส่น้ำมันลงไปไม่ต้องมาก ให้พอดีกับเครื่องแกงที่มีอยู่ และใส่เครื่องแกงที่ตำไว้ลงไปในกระทะ ผัดจนพริกแกงส่งกลิ่นหอม
- เมื่อหอมแล้วก็ใส่หมูสับลงไปผัดให้พริกแกงกับหมูเข้ากัน หากทั้งสองอย่างเข้ากันดีแล้วให้ใส่มะเขือเทศที่หั่นเตรียมไว้ลงไป
- ใช้ไฟแรงในการผัด คอยหมั่นผัดและพักเป็นระยะ ๆ เพื่อรอให้มะเขือเทศสุขและนิ่ม ในส่วนนี้มะเขือเทศจะเริ่มคายน้ำออกมาก ผัดต่อไปเรื่อย ๆ
- หากผัดไปแล้วน้ำเริ่มหมดให้ใส่น้ำเปล่าเพิ่มลงไป เพื่อทำให้มะเขือเทศนุ่มมากยิ่งขึ้น และเริ่มปรุงรสด้วยน้ำตาลเล็กน้อยเพื่อความกลมกล่อม
- จะเคี้ยวไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ความข้นเท่าที่ต้องการ และน้ำของน้ำพริกหากใครต้องการความงวดก็ปล่อยทิ้งไว้อีกสักพักหนึ่ง หากใครต้องการน้ำก็สามารถปิดแก๊สแล้วจัดเสิร์ฟได้เลย
- นำต้นหอมและผักชีมาซอยก่อนที่จะโรยไปด้านหน้าของน้ำพริก บางบ้านอาจมีการโรยกระเทียมเจียวโรยหน้าไปอีกทีเพื่อเพิ่มความหอมให้กับน้ำพริก
- จัดเสิร์ฟพร้อมกับผักลวกหรือผักสดตามต้องการ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับเมนูอาหารเหนือ ถึงแม้ว่าจะเป็นเมนูที่ขึ้นชื่อว่าน้ำพริก แต่คุณสามารถลดจำนวนพริกลงได้นะคะ หากต้องการเริ่มอยากให้ลูกน้อยของคุณได้ทดลองทานน้ำพริกดู เพราะน้ำพริกอ่องถือเป็นน้ำพริกที่ทำง่าย และน่าจะถูกปากเด็ก ๆ หลายคน ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดต้องการสูตรอาหารเพิ่มเติมสำหรับเด็ก ๆ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ (คลิก) และแอปพลิเคชันของเรา (คลิก) ได้เลยนะคะ
บทความที่น่าสนใจ :
แจกสูตร แกงฮังเล อาหารเหนือ กลิ่นหอมชวนหิว รสชาติโดนใจ
แจกสูตรเด็ด ข้าวซอย เมนูอาหารเหนือทำง่าย อร่อยได้ที่บ้าน !!
รวม 7 ร้านอาหารเหนือรสเด็ด ร้านไหน ในกรุงเทพ ที่ไม่ควรพลาด
ที่มา : wikipedia, wikipedia, healthline
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!