โรคธาลัสซีเมีย หรือ ที่รู้จักกันดีว่า โลหิตจาง ซึ่งเป็นโรคที่เป็นตั้งแต่กำเนิด และถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่โรคนี้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โรคธาลัสซีเมียคนท้อง สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยการตรวจตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ ครอบครัวไหนที่อยากมีลูก ควรตรวจดูก่อน เพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกัน ธาลัสซีเมีย ไม่ให้เกิดขึ้นกับลูกเรา
ธาลัสซีเมีย คืออะไร ?
โรคธาลัสซีเมีย หรือ โลหิตจาง (Thalassemia) เป็นโรคที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงผิดปกติ แตกหักง่าย ซึ่งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม มีสาเหตุมาจากร่างกายของเรา สร้างฮีโมโกลบิน หรือ สารสีแดงในเม็ดเลือดแดง มีน้อยลง ทำให้เกิดภาวะเลือดจางเรื้อรัง และอาจเกิดการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น หัวใจ และตับ ทำงานผิดปกติ นิ่วในถุงน้ำดี เบาหวาน เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : 5 เมนู อาหารเพิ่มเม็ดเลือดแดงคนท้อง คนท้องเลือดจางควรกินอะไร ?
อาการของโรคธาลัสซีเมีย เป็นอย่างไร ?
อาการของผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ขึ้นอยู่กับชนิด และความรุนแรงของโรค ซึ่งมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ไม่มีภาวะผิวซีด อาการซีด
- มีอาการซีดเล็กน้อย ไม่มีผลต่อส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
- มีอาการรุนแรง ผิวซีด ตัวเหลือง ตาเหลือง มีภาวะตับ ม้าม โต
- รูปหน้ามีการเปลี่ยนแปลง การเจริญเติบโตผิดปกติ
- ผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการรุนแรง จนส่งผลให้เกิดการแท้ง ทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือ หลังคลอดได้ไม่นาน
โรคธาลัสซีเมียคนท้อง ควรตรวจก่อน
การตรวจหาโรคธาลัสซีเมีย ด้วยการตรวจเลือด เป็นการหาพาหะธาลัสซีเมีย ซึ่งสามารถตรวจคัดกรอง ตรวจชนิดฮีโมโกลบิน และ การตรวจดีเอ็นเอ สามารถทำได้ง่าย ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจ ไม่จำเป็นต้อง งดน้ำ งดอาหาร สามารถเข้ารับการเจาะเลือดได้เลย
หากวางแผนตั้งครรภ์ แต่ตรวจพบโรคธาลัสซีเมีย ควรทำอย่างไร ?
เมื่อตรวจพบโรค อย่าพึ่งกังวลไป เพราะหากเรามีร่างกายสุขภาพแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ แต่ควรแนะนำให้พี่น้อง หรือ คนในครอบครัว ไปตรวจด้วยเช่นกัน เพราะมีโอกาส ที่จะพบโรคได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบโรค ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำ และการรักษาตัว (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค) หากวางแผนการตั้งครรภ์อยู่ ควรบอกแพทย์ในเรื่องนี้ด้วย เพื่อพูดคุยถึงแนวทางในการรักษา หรือรับคำแนะนำที่เหมาะสม
ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ควรดูแลตนเองอย่างไร ?
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และรับประทาน ผัก ผลไม้ ไข่ นม เป็นพิเศษ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เครื่องในสัตว์
- ออกกำลังกายเป็นประจำ แบบเบา ๆ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และ สูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก หักโหม หรือ การเล่นกีฬาหนัก ๆ
- ตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ เพราะผู้ป่วยจะมีภาวะฟันผุง่าย
- ไม่ควรหาซื้อวิตามินมารับประทาน เพราะอาจมีสารอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
การรักษาโรคธาลัสซีเมีย
การรักษาโรคธาลัสซีเมีย แตกต่างกันไปตามอาการ และความรุนแรงของโรค ดังนี้
1. ดูแลรักษาสุขภาพด้วยตัวเองเบื้องต้น
ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือ อาการไม่รุนแรง ให้ดูแลรักษาสุขภาพตนเองเบื้องต้น เช่น การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก งดยา วิตามินที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็ก เป็นต้น และหากมีอาการปวดท้องที่ชายโครงด้านขวา มีไข้ หรือ ตัวเหลืองมากขึ้น ให้รีบเข้าไปพบแพทย์ทันที
2. การให้เลือด
การให้เลือด เป็นการรักษาผู้ป่วย ในภาวะที่มีความรุนแรงปานกลาง ไปจนถึงรุนแรงมาก ถ้ามีอาการผิวซีดมาก หรือ อ่อนเพลีย การรักษาด้วยการให้เลือด จะช่วยให้ผู้ป่วยสบายขึ้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการรักษาในลักษณะนี้
3. การรับประทานยาขับธาตุเหล็ก
หากร่างกายของผู้ป่วย มีธาตุเหล็กมากเกินไป ทำให้เกิดการสะสมในอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลเสียได้ ดังนั้น ควรขับออกด้วยการใช้ยา มีทั้งแบบฉีด และแบบรับประทาน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ผู้ทำการรักษา
4. การตัดม้าม
การรักษาโดยการตัดม้าม จะทำในเฉพาะรายที่มีภาวะม้ามโต ซีดมาก และต้องการเลือด ซึ่งการรักษาลักษณะนี้ ไม่ควรทำในเด็กที่อายุต่ำกว่า 4-5 ปี เพราะอาจทำให้ติดเชื้อง่าย
5. การปลูกถ่ายไขกระดูก
การรักษาโรคธาลัสซีเมีย ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นวิธีรักษาเพียงวิธีเดียว ที่จะช่วยให้หายจากโรคแบบเด็ดขาดได้ ซึ่งให้ผลดีในผู้ป่วยที่ยังอายุน้อย แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ จะแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
ธาลัสซีเมีย ป้องกันได้หรือไม่ ?
โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ แม้จะเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จากพ่อ แม่ มาสู่ลูก แต่การป้องกัน สามารถทำได้ด้วยการตรวจเลือด ก่อนที่จะมีลูก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ หรือครอบครัวไหนที่อยากมีลูก ควรเข้ารับการตรวจเลือดก่อน เพื่อทำการวินิจฉัย และป้องกันโรคดังกล่าว รวมถึงการทานอาหารเสริมที่ปลอดภัยด้วย
ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย ต้องได้รับยีนที่มาจากพ่อและแม่ ที่มีเชื้อพาหะทั้งคู่เท่านั้น ดังนั้น การตรวจหาก่อนแต่งงาน หรือ ก่อนวางแผนการมีครอบครัว จะทำให้แพทย์บอกได้ว่า ความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นโรคธาลัสซีเมีย จะมีมากน้อยอย่างไรบ้าง
ถ้าหากพบอาการเหล่านี้แล้วหล่ะก็ อย่าชะล่าใจ รีบจูงมือคุณพ่อพาไปพบแพทย์เพื่อรีบรักษานะคะ ศึกษาเรื่องโลหิตจางของคนท้องเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ภาวะครรภ์เป็นพิษ อันตรายมากไหม อาการครรภ์เป็นพิษ ดูแลตัวเองอย่างไร
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ รับมืออย่างไรดี มีผลกับลูกในท้องหรือไม่
เลือดจางระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลอันตรายต่อแม่และลูกในครรภ์สูง
ที่มา : Bumrungrad , Nhlbi.nih, Mamastory
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!