กังวลใจกับอาการเจ็บป่วยของลูกน้อยใช่ไหมคะ? โดยเฉพาะ RSV ที่กำลังเป็นปัญหาสุขภาพในเด็กเล็กมีการระบาดหนักในช่วงหน้าฝนไปจนถึงต้นฤดูหนาว การป้องกันเด็กๆ ป่วย RSV จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก theAsiaparent มีคำแนะนำ วิธีป้องกัน RSV ในเด็ก เพื่อให้ลูกน้อยปลอดภัยจากไวรัส RSV กันค่ะ
รู้ก่อนอาจไม่ป่วย : RSV คืออะไร
ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) คือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ไวรัส RSV มักพบว่าแพร่ระบาดหนักและรวดเร็วในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว ทำให้เด็กเล็กป่วยพร้อมกันจำนวนมาก
ไวรัส RSV ติดต่อได้อย่างไร?
ไวรัส RSV ติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่
- การไอหรือจาม: เมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม หยดละอองที่มีเชื้อจะกระจายไปในอากาศและผู้ที่สูดเข้าไปอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
- การสัมผัสโดยตรง: การสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูกหรือปากของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก หรือมือที่ปนเปื้อนเชื้อ แล้วนำมือไปสัมผัสตา จมูก หรือปาก
อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV
อาการของโรค RSV มักคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่ในเด็กบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อาการที่พบบ่อยในเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV
- ไข้: เป็นอาการเริ่มแรกที่พบ
- น้ำมูกไหล: อาจมีสีใสหรือข้นเหลือง
- ไอ: อาจเป็นไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ
- หายใจมีเสียงหวีด: เกิดจากการอักเสบของหลอดลมฝอย
- หายใจลำบาก: เห็นได้ชัดในเด็กเล็ก เช่น ซี่โครงบุ๋ม หายใจเร็ว
- หูอื้อ: อาจเกิดการอักเสบของหูชั้นกลางร่วมด้วย
- ปอดอักเสบ: เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอด
- หลอดลมฝอยอักเสบ: ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดลมฝอย
วิธีสังเกตลูกติดเชื้อไวรัส RSV
ไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก และเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาการที่บ่งบอกว่าลูกน้อยอาจติดเชื้อไวรัส RSV ได้แก่
- มีไข้: เป็นอาการเริ่มแรกที่พบบ่อยที่สุด
- ไอและจาม: อาจมีเสียงหวีดหรือมีเสมหะ มีน้ำมูกไหล
- หายใจลำบาก: หายใจเร็ว หายใจแรง อกบุ๋ม
- กินอาหารได้น้อยลง: อาจมีอาการซึม อ่อนเพลีย
- ร้องกวน: ไม่ยอมนอน
ดังนั้นหากพบว่าลูกน้อยมีอาการผิดปกติตามข้างต้น ควรรีบพาไปโรงพยาบาลพบแพทย์ในการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที
วิธีป้องกัน RSV ในเด็ก ทำได้ทุกวันช่วยลูกน้อยห่างไกลจากไวรัส RSV
เพื่อลดโอกาสการเกิดโรค RSV ในเด็ก เบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่สามารถสามารถป้องกันไม่ให้ลูกน้อยติดเชื้อไวรัส RSV ได้ด้วยวิธีง่ายๆ ที่ทำได้ทุกวันดังนี้
1.ให้นมบุตร: ควรให้ลูกได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เพราะนมแม่มีสารอาหารและภูมิต้านทานที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง
2. พาไปรับวัคซีนตามกำหนด: การฉีดวัคซีนตามกำหนดของช่วงวัย สามารถช่วยป้องกันโรคอื่นๆ ที่อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV ได้มากขึ้น
3. ไม่พาไปรับเชื้อโรค: เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่ถึงวัยเข้าโรงเรียน อาจต้องหลีกเลี่ยงการพาลูกออกไปอยู่ในที่สาธารณะบ่อยๆ สถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอ จาม หรือมีไข้ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามเด็กเล่น เป็นต้น
4. หมั่นล้างมือ: สอนลูกล้างมือให้เป็นนิสัย ด้วยสบู่และน้ำสะอาดเป็นประจำอย่างน้อย 15 วินาที ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และก่อนออกจากห้องน้ำ
5. สวมหน้ากากอนามัย: เด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี สามารถสวมใส่หน้ากากอนามัยได้ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่สอนให้ลูกสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่ออกไปเล่นนอกบ้าน หรือทุกครั้งที่ที่ลูกมีการไอ หรือจามต้องใช้ผ้าเช็ดหน้า ทิชชู่ หรือมือปิดปาก จากนั้นก็ต้องล้างมือให้สะอาด
6. ทำความสะอาดของเล่นและพื้นผิวที่สัมผัสบ่อย: ควรทำความสะอาดของเล่นและพื้นผิวต่างๆ ที่ลูกสัมผัสบ่อยๆ ด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับเด็ก
7. ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป: ในเด็กกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กคลอดก่อนกำหนดอายุน้อยกว่า 1 ปี, เด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง, หรือ โรคหัวใจพิการแต่เกิด อายุไม่เกิน 2 ปี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรครุนแรง
ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Antibody อีกหนึ่งวิธีป้องกัน RSV ในเด็ก ช่วยเสริมเกราะสร้างภูมิคุ้มกันแข็งแรงให้ลูกน้อย
นอกจากวิธีป้องกัน RSV ในเด็ก อย่างการดูแลสุขอนามัย การกินนมแม่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงไปอยู่ในที่สาธารณะที่มีผู้คนเยอะๆ ก็อาจช่วยปกป้องเด็กๆ ให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัส RSV ได้พอสมควร แต่ยังมีอีกวิธีป้องกัน RSV ในเด็ก ด้วยการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Antibody ที่เป็นทางเลือกในการเสริมภูมิคุ้มกันกับเด็กกลุ่มเสี่ยง เช่นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาและวัคซีนที่จำเพาะต่อการติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็ก เด็กกลุ่มเสี่ยง ควรพิจารณาการได้รับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Antibody) ก่อนเข้าฤดูกาลการแพร่ระบาดของไวรัส RSV ซึ่งมักอยู่ในช่วงฤดูฝน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน – เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี
ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Antibody เหมาะกับใคร
- เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดในอายุครรภ์น้อยกว่าเท่ากับ 35 สัปดาห์ อายุไม่เกิน 12 เดือน
- เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 24 เดือน ป่วยโรคปอดเรื้อรังจากการคลอดก่อนกำหนด
- เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 24 เดือน ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด
- เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 24 เดือน มีปัญหาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อ หรือระบบประสาทที่ส่งผลต่อการไอ และการขับเสมหะ
- เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 24 เดือน ที่มีปัญหาภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง
ประโยชน์ที่ได้หลังจากรับ ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Antibody
- ช่วยเสริบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรงมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ RSVแล้วมีอาการรุนแรง
- ช่วยลดอาการและความรุนแรงของ RSV
- ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจากการติดเชื้อ RSV เช่น ปอดบวม (pneumonia) และหลอดลมฝอยอักเสบ (bronchiolitis)
วิธีป้องกัน RSV ในเด็ก เป็นสิ่งสำคัญมาก การดูแลสุขอนามัยที่ดี การหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และการพาลูกน้อยไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ รวมถึงอาจพิจารณาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Antibody) ในเด็กกลุ่มเสี่ยง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค RSV รุนแรงรวมถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการป่วย RSV ส่งผลทำให้ลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีพัฒนาการที่ดีสมวัย
วันนี้สามารถเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเด็กกลุ่มเสี่ยง
อ้างอิง:
1.RSV ไวรัสร้ายใกล้เจ้าตัวน้อย โรงพยาบาลศิริราช ปิยมาหาราชการุณย์ https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/rsv
2.RSV ไวรัสร้ายช่วงปลายฝนต้นหนาว, โรงพยาบาลศิครินทร์ https://www.sikarin.com/doctor-articles/rsv-ไวรัสร้าย-ช่วงปลายฝนต้
3.แนวทางการพิจารณาใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Palivizumab เพื่อป้องกันโรครุนแรงจากการติดเชื้อ RSV, สมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย https://thaipedlung.org/html/News/Detail/3/14/1723
4.ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันไวรัส RSV, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช https://www.bnhhospital.com/th/rsv
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!