อาการปวดหลังในคนท้องอ่อนๆ พบได้ค่อนข้างบ่อยในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกถึงไตรมาสที่สองค่ะ ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวและกังวลใจได้ว่า อันตรายหรือเปล่า เป็นสัญญาณเสี่ยงอะไรหรือไม่ มาหาคำตอบพร้อม 9 วิธีบรรเทาอาการ ปวดหลัง ของคุณแม่ท้องอ่อนๆ ไตรมาสแรกกันค่ะ
อาการปวดหลังในคนท้องอ่อนๆ ปกติมั้ย?
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และร่างกายอันเกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปในช่วงตั้งครรภ์ ส่งผลให้คุณแม่หลายคนอาจต้องพบกับ “อาการปวดหลังส่วนล่าง” โดยมีอาการปวดหรือรู้สึกไม่สบายที่บริเวณหลังส่วนบั้นเอว เชิงกราน สะโพก บางคนอาจร้าวลงไปที่ขาทั้งสองข้าง และปวดมากขึ้นเมื่ออยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานๆ หรือมีการเคลื่อนไหวสะโพกหรือกระดูกสันหลัง ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นได้ของคุณแม่ตั้งครรภ์
ทั้งนี้ เคยมีการศึกษาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า อาการปวดหลังขณะตั้งครรภ์นั้นพบได้มากถึง 48-90% โดยมีอาการปวดรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันถึง 10-36% ซึ่งสามารถพบ อาการปวดหลังในคนท้องอ่อนๆ ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ แต่จะพบมากที่อายุครรภ์ 5-7 เดือนค่ะ

สาเหตุของ อาการปวดหลังในคนท้องอ่อนๆ
สำหรับสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คุณแม่ท้องอ่อนๆ มีอาการปวดหลัง อาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้ค่ะ
ในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีการผลิตฮอร์โมนที่ชื่อว่า “รีแลกซิน” (Relaxin) จากรังไข่ ส่งผลให้เนื้อเยื่อ เส้นเอ็นรอบข้อต่อ กล้ามเนื้อ เกิดการหย่อนตัวและยืดออก ช่วยให้กระดูกเชิงกรานยืดหยุ่นเพื่อรองรับการขยายตัวของทารกและการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ทำให้จุดศูนย์ถ่วงในการทรงตัวเปลี่ยนแปลงไป เกิดความไม่สมดุลในการทรงตัวของร่างกาย กระดูกสันหลังส่วนล่างจะมีการปรับตัวให้แอ่นมากขึ้น (lumbar lordosis) และทำให้มี อาการปวดหลังในแม่ท้องได้
การขยายตัวของมดลูก ทำให้เกิดการยืดตัวของกล้ามเนื้อหน้าท้อง (abdominal muscles) กล้ามเนื้อหน้าท้องทำหน้าที่ช่วยพยุงแกนกลางของลำตัวมีความแข็งแรงของลดลง รวมถึงน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์โดยเฉลี่ย 11.5 – 16 กิโลกรัม จากน้ำหนักตัวของทารกในครรภ์ รก น้ำคร่ำ เต้านมและมดลูกที่ใหญ่ขึ้น ปริมาตรเลือดและไขมันสะสมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้จุดศูนย์ถ่วงเปลี่ยนไป ร่างกายจึงมีการปรับท่าทางโดยอัตโนมัติ โดยการแอ่นหลังมากกว่าปกติ ร่วมกับหลังส่วนบนค่อมลง มีแรงกระทำต่อข้อต่อหลังเพิ่มขึ้นสองเท่า กล้ามเนื้อหลังและเอ็นรอบข้อต่อหลังก็จะทำหน้าที่รับน้ำหนักมากขึ้น จึงเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหลังเกิดเป็นอาการปวดหลังตามมา
-
การเพิ่มขึ้นของการไหลเวียนโลหิต
ในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงของระบบหลอดเลือด โดยมีการเพิ่มปริมาณเลือดเพื่อหล่อเลี้ยงทารก ซึ่งอาจส่งผลให้เส้นเลือดในบริเวณหลังเกิดการขยายตัวและมีอาการปวดได้ นอกจากนี้ ในขณะที่คุณแม่นอน เลือดจะไหลกลับจากร่างกายส่วนล่างเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการกดเส้นเลือด vena cava จากตัวมดลูก ทำให้มีเลือดคั่งในอุ้งเชิงกราน เกิดภาวะ hypoxia ของเล้นประสาทส่งผลให้แม่ท้องมีอาการปวดหลังในเวลากลางคืนนั่นเอง
การทำงานที่ใช้ลักษณะท่าทางเดิมเป็นระยะเวลานาน หรือมีระยะเวลาในการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่ได้หยุดพัก รวมถึงการใช้แรง การยกของหนัก และลักษณะงานค่อนข้างหนัก นั่งหรือก้มหยิบสิ่งของไม่ถูกวิธี สามารถส่งผลให้เกิด อาการปวดหลังในคนท้องอ่อนๆ เพิ่มขึ้นได้
คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มีความกังวลและความเครียดซ่อนอยู่ ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อตึงตัว ส่งผลให้ปวดหลังได้เช่นกันนะคะ
|
อาการปวดหลังที่พบได้บ่อยในคนท้อง
|
- ปวดบริเวณหลังส่วนล่าง หรือบริเวณกระดูกเชิงกราน
- ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อบริเวณหลัง
- อาการปวดอาจเป็นๆ หายๆ หรือปวดตลอดเวลา
- อาจมีอาการปวดร้าวลงไปที่สะโพกหรือต้นขา
|

9 วิธีบรรเทา อาการปวดหลังในคนท้องอ่อนๆ
แม้จะเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะปวดหลัง แต่ก็น่าจะเป็นอาการที่สร้างความทรมานให้คุณแม่หลายคนอยู่มาก ดังนั้น มาดูวิธีบรรเทา อาการปวดหลังในคนท้องอ่อนๆ ที่เรานำมาฝาก แล้วลองปรับใช้ให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และกิจวัตรประจำวันของตัวเองดูนะคะ
-
การปรับท่าทางในชีวิตประจำวัน
ท่าทางที่ดีช่วยบรรเทาความล้าของกล้ามเนื้อหลังที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นได้ ซึ่งคุณแม่ควรพยายามยืดตัวตรงและหลีกเลี่ยงการยืนหรือการนั่งในท่าเดียวเป็นเวลานานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ และควรปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องในการปรับเปลี่ยนท่าทางที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
|
การปรับท่าทางในชีวิตประจำวันแม่ท้อง |
ท่ายืน |
- ขณะยืนปล่อยหัวไหล่ให้ผ่อนคลาย ผายหน้าอก กระชับกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อสะโพก
- ทำหลังให้ตรง ยืดคอ
- ยกศีรษะให้เหมือนส่วนบนของศีรษะกำลังถูกดึงเข้าหาเพดาน กระจายน้ำหนักตัวให้สม่ำเสมอ
- หากต้องยืนบนพื้นแข็งๆ ควรหาผ้าหรือพรมเช็ดเท้ามารองพื้น
|
ท่านั่ง |
- นั่งหลังตรงสม่ำเสมอ
- เมื่อนั่งบนเก้าอี้ให้เลือกเก้าอี้ที่มีพนักพิงหลังและเบาะนั่งที่ไม่นุ่มเกินไป
- นั่งชิดพนักพิงเพื่อให้พนักประคองหลัง และมีเก้าอี้เตี้ยๆ รองขาข้างหนึ่งไว
- หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง
|
ท่านอน |
- ควรนอนลงช้าๆ และเริ่มจากท่านั่งเสมอ
- ค่อยๆ ลดตัวลงนอนในท่าตะแคงข้าง โดยใช้ศอกยันเพื่อพยุงน้ำหนักร่างกายส่วนบน
- เลื่อนตัวลงสู่ท่านอนโดยให้มือช่วย
- การลุกจากที่นอนควรเริ่มจากการตะแคงตัว แล้วห้อยเท้าทั้งสองข้างลงจากเตียง หรือนอนตะแคง งอเข่า ยันแขน แล้วยกตัวขึ้นช้าๆ แล้วค่อยเลื่อนเท้าให้พ้นขอบเตียง
- จากนั้นให้นั่งพักสักครู่แล้วค่อยลุกขึ้น จะช่วยหลีกเลี่ยงอาการหน้ามืดได้ด้วย
|
-
ออกกำลังกายเบา ๆ
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรมีการออกกำลังกายอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับอายุครรภ์ ซึ่งการออกกำลังกายที่ปลอดภัยและสามารถทำได้ตลอดการตั้งครรภ์คือ การเดินเบาๆ ว่ายน้ำ ถีบจักรยานอยู่กับที่ การออกกำลังกายในน้ำ การทำท่าฝึกโยคะสำหรับคนท้อง ที่จะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหลัง ลดความตึงเครียด ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกายนะคะ

-
เลือกที่นอนให้เหมาะสม และใช้หมอนช่วย
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเลือกที่นอนที่ไม่อ่อนยวบจนเกินไป โดยเฉพาะที่นอนที่ยุบไปตามน้ำหนักตัว เพราะจะทำให้คุณแม่ปวดหลังมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในขณะนอนหลับควรใช้หมอนรองใต้ท้อง หรือระหว่างขา เพราะสามารถช่วยให้กระดูกสันหลังอยู่ในท่าที่สบายและลดอาการปวดหลังได้
-
ประคบอุ่น ประคบเย็น
ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น หรือกระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่ปวด เมื่อมีการตึงตัวของกล้ามเนื้อหลัง สามารถช่วยลดอาการปวดและความตึงเครียดได้ และประคบเย็นเมื่อมีการอักเสบปวดบวมที่บริเวณหลัง
-
หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
การยกของหนักในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หลังได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นเมื่อยกของ หากมีความจำเป็นต้องยกของหนัก คุณแม่ตั้งครรภ์ควรฝึกให้ถูกวิธี ดังนี้
- ยืนแยกเท้าออกเท่าช่วงสะโพก ให้ปลายเท้าเฉียงออกเล็กน้อย
- ค่อยๆ งอเข่า หย่อนตัวลงตรงๆ พยายามให้น้ำหนักตัวอยู่ตรงกลางและบริเวณสะโพก
- ใช้กำลังจากแขนและไหล่ยกของ
- สุดท้ายจึงใช้ขาพยุงตัวขึ้น โดยไม่ใช้แรงหลังเด็ดขาด
-
ควบคุมน้ำหนักตัว
ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรคุมน้ำหนักตัวให้ขึ้นตามเกณฑ์ที่แพทย์กำหนดไว้ โดยไม่ให้ครรภ์ใหญ่เกินไปจนเกิดการถ่วงกระดูกสันหลังแอ่น
-
หากปกติคุณแม่นอนหงาย ให้เปลี่ยนมาเป็นนอนตะแคง โดยงอเข่าและวางขาลงบนหมอนข้างที่มีความแข็งและหนาพอให้ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนหมอนข้างแบบที่กำลังพอดี ช่วยให้น้ำหนักตัวและครรภ์ถูกถ่ายลงไปยังหมอนข้าง ลดภาระการทำงานของกล้ามเนื้อหลังได้มากขึ้น

-
หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง
ตามหลักการแพทย์แล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่รองเท้าที่มีส้นไม่เกิน 1 – 2 นิ้ว เพื่อให้น้ำหนักอยู่ในช่วงกลางลำตัวและมีความสมดุลนะคะ
-
นวดผ่อนคลาย
การนวด สามารถช่วยลดอาการปวดหลังได้ โดยเป็นการกระตุ้นปลายประสาทขนาดใหญ่ ทำให้มีการหลั่งสารที่มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีนภายในร่างกาย คุณแม่ตั้งครรภ์จะรู้สึกว่าความปวดที่ไขสันหลังลดลงหรือหายไป นอกจากนี้ การนวดที่เหมาะสมยังช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดอาการบวมและอักเสบ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ช่วยขจัดของเสียของกระบวนการเผาผลาญที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อในแม่ท้องได้ด้วย

คนท้องอ่อนๆ ปวดหลัง แบบไหน? ควรไปพบแพทย์
ทั้งนี้ หากคุณแม่ท้องอ่อนๆ ที่มีอาการปวดหลัง มีอาการปวดหลังรุนแรงขึ้นหรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ชา หรืออ่อนแรง ขาบวม หรือมีเลือดออก ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการดูแลรักษาค่ะ
อาการปวดหลังในคนท้องอ่อนๆ ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายนะคะ การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมตามวิธีการที่แนะนำไปข้างต้น จะสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ แต่หากคุณแม่มีข้อสงสัยหรือความกังวลใจ การปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสม จะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายและมีความสุขกับการตั้งครรภ์ครั้งนี้มากขึ้นค่ะ
ที่มา : pt.mahidol.ac.th , www.rehabmed.or.th , www.samitivejhospitals.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ตั้งครรภ์ คัดเต้าตอนไหน ? ไขข้อสงสัยอาการเบื้องต้นของ คนท้อง
12 วิธีรับมืออาการแพ้ท้อง แพ้ท้อง ทำไงดี? ให้สุขภาพดีทั้งแม่และลูก
ติ่งเนื้อตอนท้อง ภัยร้าย หรือเรื่องปกติ? ปัญหาผิว! ที่แม่ตั้งครรภ์ต้องเข้าใจ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!