หลังความปลื้มปริ่มดีใจที่รู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมาสะดุดใจกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากมายที่จะเกิดขึ้น และอาการที่อาจเรียกได้ว่าเป็นด่านเคราะห์อันดับหนึ่งของคุณแม่ก็คือ “อาการแพ้ท้อง” ซึ่งกว่า 70% ของคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่สบายตัว และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน theAsianparent เลยจะขอแนะนำ 12 วิธีรับมืออาการแพ้ท้อง ที่สามารถทำได้ง่ายๆ เพื่อให้คุณแม่มีสุขภาพดีบำรุงลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างเต็มที่ มีความสุขตลอดช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ค่ะ

ทำไม? คุณแม่ตั้งครรภ์ มีอาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้อง หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ของคุณแม่ นับได้ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติค่ะ โดยเกิดจากระดับฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) ในร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งร่างกายและจิตใจของคุณแม่ ซึ่งทำให้มีอาการแพ้ท้อง ทั้งนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์มากกว่า 70% จะมีอาการแพ้ท้อง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เหม็นกลิ่นอาหาร ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หรือประมาณ 6 สัปดาห์นับจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้น
แพ้ท้อง ทำไงดี อันตรายไหม ?
คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจมีความกังวลว่าอาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้นจะเป็นอันตรายต่อลูกในท้อง แต่อีกหลายคนก็มีความเชื่อว่า การแพ้ท้องแสดงถึงการที่ทารกในท้องแข็งแรง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อาการเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลและไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ ต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ค่ะ เพราะปกติอาการแพ้ท้องจะไม่รุนแรง และหายไปเองได้ นอกจากนี้ในคุณแม่ตั้งครรภ์บางคน อาจไม่มีอาการแพ้ท้องเลยก็ได้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม แม่ท้องที่มีอาการแพ้ท้องมาก อาจคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง จนร่างกายขาดน้ำ และน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หากเกิดกรณีเหล่านี้คุณแม่ท้องจำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เพื่อรับอาหารเหลว และยาบำรุงนะคะ
แม้ว่าอาการแพ้ท้องจะไม่อันตราย และเกิดได้ตามเป็นธรรมชาติ แต่บางครั้งก็รบกวนการพักผ่อนในแต่ละวันของคุณแม่ได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาให้คุณแม่ได้พักร่างกายอย่างเต็มที่ เราจึงจำเป็นที่ต้องหาวิธีการรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุดค่ะ
|
อาการแพ้ท้อง ที่พบบ่อย
|
- คลื่นไส้ อาจอาเจียนหรือไม่ก็ได้ คล้ายอาการเมารถ ในช่วงไตรมาสแรก
|
- มักมีอาการคลื่นไส้ในตอนเช้า แต่ก็อาจกลับมาเป็นอีกในระหว่างวันได้
|
|
- คลื่นไส้หลังกินอาหาร โดยเฉพาะอาหารรสจัด
|
- คุณแม่บางคนอาจมีอาการกรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก มีอะไรติด/จุกอยู่ในคอ หรือหิวจนปวดท้องได้
|

12 วิธีรับมืออาการแพ้ท้อง ทำไง? ให้สุขภาพดีทั้งแม่และลูก
เมื่ออาการแพ้ท้องเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์หลายๆ คน แต่แพ้ท้องแล้ว ทำไงดี ? มาดู 12 วิธีรับมืออาการแพ้ท้อง ที่ทำได้ง่ายๆ ต่อไปนี้กันค่ะ
-
แบ่งกินเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้ง
การกินอาหารมื้อใหญ่ๆ เหมือนปกติช่วงก่อนท้อง อาจทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดและอาการคลื่นไส้แย่ลงค่ะ ดังนั้น ลองเปลี่ยนมาแบ่งกินอาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น 5-6 มื้อตลอดวัน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้นและลดอาการคลื่นไส้ได้ค่ะ
-
เลือกอาหารที่ย่อยง่าย
ควรเลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อป้องกันท้องอืดแน่นท้อง เช่น ข้าวต้ม ขนมปังแห้ง หรือกล้วยที่มีโพแทสเซียม ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็น เน้นอาหารประเภทโปรตีน และหลีกเลี่ยงอาหารมัน ทอด และอาหารรสจัด เพราะอาจกระตุ้นอาการคลื่นไส้ได้ง่ายกว่า และหากคุณแม่อยากกินอาหารรสเปรี้ยวให้เลือกทานเป็น ยำ สลัด หรือผลไม้สดแทนของดองนะคะ
-
ดื่มน้ำให้มากขึ้น
การขาดน้ำอาจทำให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย ดังนั้น ควรดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาลในปริมาณที่พอเหมาะ โดยค่อยๆ ดื่มทีละน้อยตลอดวัน ซึ่งการดื่มน้ำมากขึ้นจะช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้า อาการบวม วิงเวียนศีรษะ ที่เกิดจากอาการแพ้ท้องได้เป็นอย่างดี หรือคุณแม่อาจดื่มน้ำผลไม้สดเพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์ยังได้รับประโยชน์จากน้ำที่คุณแม่ดื่มเข้าไปด้วย

-
จิบน้ำขิงอุ่นๆ
“ขิง” มีสรรพคุณช่วยลดอาการคลื่นไส้ค่ะ ดังนั้น แนะนำให้คุณแม่ลองจิบน้ำขิงอุ่นๆ หรือกินขนมปังที่มีส่วนผสมของขิง เพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้อง เพื่อลดอาการวิงเวียนศีรษะ พร้อมกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้
-
หลีกเลี่ยงกลิ่นฉุน
กลิ่นฉุนบางชนิด เช่น กลิ่นน้ำหอม หรืออาหาร อาจกระตุ้นอาการคลื่นไส้ได้ คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่มีกลิ่นฉุน หรือใช้หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ อาจซื้อเลมอนติดบ้านเพราะกลิ่นเลมอนให้ความสดชื่น สามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ค่ะ
-
เดินออกกำลังกายบ้าง
การเดินสามารถช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง และช่วยลดอาการจุกเสียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ได้ หรืออาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการออกกำลังกายเบาๆ ในช่วงไตรมาสแรกที่มีอาการแพ้ท้อง ซึ่งการเดินเล่น หรือโยคะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ สามารถช่วยกระตุ้นการย่อยอาหารและลดอาการคลื่นไส้ได้อย่างดีค่ะ

-
พักผ่อนให้เพียงพอ
ช่วงแพ้ท้องร่างกายคุณแม่จะมีอาการอ่อนเพลียมากกว่าปกติ จะมีความรู้สึกว่าต้องการพักผ่อน เพื่อให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายทำงานอย่างเป็นสมดุล ดังนั้น คุณแม่ควรพยายามพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก หลีกเลี่ยงความร้อน รวมถึงสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะ เพราะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้วิงเวียน นอกจากนี้ ควรสวมใส่เสื้อผ้าสบายตัว เข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ และควรหาเวลางีบพักช่วงกลางวันบ้างค่ะ
-
ฝึกสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด
คุณแม่ควรหาเวลาว่างทำจิตใจให้สงบ อาจนั่งสมาธิทุกเช้า หรือลองฝึกการหายใจลึกๆ โดยการสูดลมหายใจเข้าทางจมูก แล้วค่อยๆ ปล่อยลมหายใจออกทางปาก เพื่อปรับสมดุลในร่างกาย และปรับจิตใจให้สู้กับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายในร่างกาย เนื่องจากการได้นั่งหายใจลึกๆ จะช่วยให้ผ่อนคลายและลดความตึงเครียด อันเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้อาการแพ้ท้องของคุณแม่เป็นมากขึ้นค่ะ
-
กินวิตามินบี 6
วิตามินบี 6 สามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ค่ะ แต่คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการกินวิตามินชนิดนี้อย่างเหมาะสม ซึ่งโดยปกติแพทย์จะให้วิตามินบำรุงร่างกายแก่คุณแม่อยู่แล้ว หากต้องการกินวิตามินเสริมเพิ่มเติม จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ค่ะ
-
กดจุดข้อมือ
ลองกดจุดบริเวณข้อมือ (P6 หรือ Neiguan) เบาๆ หรือใช้สายรัดข้อมือช่วย อาจลดอาการคลื่นไส้ได้ค่ะ
-
รักษาสภาพจิตใจให้ดี
ลองทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือที่ให้ความรู้สึกดี เพื่อผ่อนคลาย เพราะการตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ การพยายามคิดบวกจะช่วยลดความเครียดและทำให้คุณแม่รับมือกับอาการแพ้ท้องได้ดีขึ้นค่ะ
-
ใช้ยาแก้แพ้ท้องตามคำแนะนำแพทย์
หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับยาที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์นะคะ

อาการแพ้ท้อง แบบไหน? ควรไปพบแพทย์
หากเริ่มมีอาการแพ้ท้องที่รับมือไม่ไหว อย่ารอจนอาการรุนแรงขึ้น ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อรับคำแนะนำตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้ เพื่อที่แพทย์จะสามารถหาวิธีช่วยป้องกันไม่ให้อาการอาเจียนรุนแรงขึ้นได้ค่ะ
- คลื่นไส้อาเจียนติดต่อกันตลอดวัน จนทำให้กินอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้
- อาเจียนมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน
- อาเจียนสีน้ำตาลหรือมีเลือดปนออกมา
- น้ำหนักลดลง
- รู้สึกอ่อนเพลียมากและสับสน
- รู้สึกมึนงง หมดสติ
- หัวใจเต้นเร็ว
- ปัสสาวะได้น้อย
- มีอาการปวดหรือมีไข้
วิธีรับมืออาการแพ้ท้อง อย่างเหมาะสม ไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น แต่ยังช่วยให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่ดีและการพัฒนาที่เหมาะสมเช่นกัน อย่าลืมปรึกษาแพทย์หากอาการแพ้ท้องยังรุนแรงหรือมีอาการที่ผิดปกติ เพื่อการดูแลที่ดีที่สุดสำหรับทั้งคุณแม่และลูกน้อยนะคะ
ที่มา : www.medparkhospital.com , www.bpksamutprakan.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
คำถามที่แม่ท้องควรรู้! ตั้งครรภ์ ตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ไหม ?
พ่อแม่ทำได้! กระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ สร้างลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรง
ตั้งครรภ์ ท้องนิ่มหรือแข็ง ? คุณแม่มือใหม่กดท้องเองได้มั้ย? เช็กขนาดท้องแม่แต่ละเดือน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!