คุณแม่ท้องหลายคน หรือแม้แต่คุณพ่อบางคน อาจเคยสังเกตเห็น “ติ่งเนื้อ” เล็กๆ ที่ปรากฏขึ้นตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ที่คอ รักแร้ หรือบริเวณหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งเจ้าติ่งเนื้อเหล่านี้น่าจะสร้างความกังวลใจให้กับคุณแม่ไม่น้อย เนื่องจากบางคนคิดว่าเป็นอันตราย แต่หลายคนก็มองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดได้กับผิวแม่ท้อง เราเลยจะชวนมาไขข้อข้องใจค่ะว่า ติ่งเนื้อตอนท้อง ถือเป็นภัยร้าย หรือปัญหาผิวปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ กันแน่ เพื่อให้คุณแม่ทำความเข้าใจถึงสาเหตุ วิธีดูแล และคลายความกังวลเกี่ยวกับติ่งเล็กๆ นี้

ติ่งเนื้อ คืออะไร?
“ติ่งเนื้อ” (Skin tags) คือ ก้อนเนื้อขนาดเล็กที่ยื่นออกมาจากผิวหนัง มีลักษณะนุ่ม มักมีสีเดียวกับผิวหนัง หรือสีเข้มกว่าเล็กน้อย โดยมีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงประมาณ 2 นิ้ว ส่วนมากพบในบริเวณที่ผิวหนังมีการเสียดสีกัน เช่น บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ หรือเปลือกตา โดยผู้ที่มีอายุมากขึ้นอาจเกิดติ่งเนื้อได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50-60 ปี ขึ้นไป และมีแนวโน้มเกิดขึ้นกับผู้ที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ หรือมีบุคคลในครอบครัวเคยเกิดติ่งเนื้อ อย่างไรก็ตาม ติ่งเนื้อนี้ไม่เป็นอันตราย ไม่ใช่เนื้อร้าย และไม่กลายเป็นมะเร็งผิวหนัง แต่ก็อาจสร้างความรำคาญหรือกังวลใจให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ค่ะ
ทำไม? จึงเกิด ติ่งเนื้อตอนท้อง
ในระหว่างตั้งครรภ์ฮอร์โมนของคุณแม่จะแปรปรวนและเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด ติ่งเนื้อตอนท้อง เนื่องจากฮอร์โมนจะไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของผิวหนัง ทำให้เกิดติ่งเนื้อขึ้นมาได้ง่าย นอกจากนี้ ในแม่ท้องบางรายอาจเกิดปัญหาคอดำร่วมด้วย รวมถึงน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสียดสีของผิวหนังมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดติ่งเนื้อได้เช่นกัน

ติ่งเนื้อตอนท้อง อันตรายหรือไม่?
โดยทั่วไปแล้ว ติ่งเนื้อที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์จะไม่เป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ค่ะ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และมักจะหายไปได้เองหลังคลอด อย่างไรก็ตาม การเกิดติ่งเนื้อในบุคคลปกติทั่วไปที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ อาจมีความสัมพันธ์กับโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคอ้วน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย แต่ต้องแน่ใจว่าเป็นติ่งเนื้อที่ไม่มี “หูด” ผสมอยู่ โดยติ่งเนื้อปกติจะมีลักษณะผิวที่เรียบ แต่ถ้ามีหูดผสมจะมีลักษณะผิวที่ขรุขระ มีสีเดียวกับผิว ติ่งเนื้อที่มีหูดผสม จะเป็นลักษณะของการติดเชื้อร่วมด้วย และอาจเกิดการลุกลามไปบริเวณอื่นของร่างกายได้
|
วิธีดูแล ติ่งเนื้อตอนท้อง
|
หลีกเลี่ยงการเสียดสี |
สวมเสื้อผ้าที่หลวมสบาย ไม่รัดแน่น เพื่อลดการเสียดสีของผิวหนังบริเวณที่มีติ่งเนื้อ |
ไม่ควรแกะหรือดึงติ่งเนื้อ |
การแกะหรือดึงติ่งเนื้อเอง อาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ |
ปรึกษาแพทย์ |
หากติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น มีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออก หรือมีการเปลี่ยนแปลงสี ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสม |

ติ่งเนื้อตอนท้อง หายเองได้ไหม?
ติ่งเนื้อที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักจะค่อยๆ จางหายไปเองหลังคุณแม่คลอดลูกน้อยแล้วค่ะ เนื่องจากระดับฮอร์โมนของคุณแม่หลังคลอดจะค่อยๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม อาจมีติ่งเนื้อบางส่วนที่ไม่หายไปเอง ซึ่งกรณีที่คุณแม่ต้องการเอาติ่งเนื้อออกก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาได้ โดยการรักษาติ่งเนื้อสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- การจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy)
- การใช้ไฟฟ้าจี้ (Electrocautery)
- การตัดออก (Excision)
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและผลลัพธ์ที่ดี การรักษาติ่งเนื้อควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นนะคะ

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิด “ติ่งเนื้อ”
ในคนปกติทั่วไปนั้น การเกิดติ่งเนื้อมักมีเหตุมาจากผิวหนังล้อมรอบเส้นใยคอลลาเจนและเส้นเลือด ซึ่งคอลลาเจนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ตามร่างกายโดยเฉพาะที่ผิวหนัง เมื่ออายุมากขึ้นเราจึงมักมีติ่งเนื้อขึ้นมา โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดติ่งเนื้อได้ ดังนี้
- ภาวะดื้ออินซูลิน นำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะน้ำตาลผิดปกติ (Prediabetes) โดยภาวะดื้ออินซูลินอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อ เนื่องจากร่างกายดูดซึมน้ำตาลกลูโคสจากกระแสเลือดได้ไม่ดี
- ภาวะอ้วน ผู้ที่ประสบภาวะอ้วน จะป่วยเป็นโรคผิวหนังช้าง (Acanthosis Nigricans) โดยจะเกิดติ่งเนื้อจำนวนมากตามผิวหนังบริเวณคอและรักแร้
- เชื้อเอชพีวี มีงานวิจัยบางชิ้นทำการศึกษาติ่งเนื้อจำนวน 37 ชิ้น ที่ขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย พบว่าร้อยละ 50 ปรากฏดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) จึงกล่าวได้ว่า เชื้อเอชพีวีอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อได้
- พันธุกรรม ผู้ที่บุคคลในครอบครัวเคยมีติ่งเนื้อขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดติ่งเนื้อค่ะ

ลักษณะติ่งเนื้อที่อันตราย!
แม้ติ่งเนื้อในคนปกติ และติ่งเนื้อตอนท้อง จะไม่เป็นอันตราย แต่ก็มีลักษณะติ่งเนื้อบางประการที่อาจเกิดความเสี่ยงโรค และเป็นอันตรายได้ ดังนี้ค่ะ
- ขนาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ติ่งเนื้อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และโตเร็วผิดปกติ เมื่อมีขนาดเกิน 5 มิลลิเมตร เป็นสัญญาณที่ต้องระวังอย่างมาก
- จำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเพิ่มจำนวนติ่งเนื้ออย่างรวดเร็วก็เป็นสัญญาณที่ไม่ปกติ และอาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงภาวะเสี่ยงบางอย่างได้ค่ะ
- ความแข็ง ติ่งเนื้อที่มีลักษณะแข็งมากและเป็นก้อนนูนออกมา ถือเป็นประเด็นที่ควรนำมาพิจารณาในการตรวจสุขภาพนะคะ
- สีที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าติ่งเนื้อมีสีที่เข้มมากหรือแตกต่างไปจากสีผิวปกติ เช่น สีเหลืองหรือสีดำ เป็นสัญญาณของปัญหาที่อาจต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม
- มีเลือดออก การมีเลือดออกบริเวณติ่งเนื้อ เป็นสัญญาณที่เป็นอันตรายและควรได้รับการรักษาทันทีค่ะ
คุณแม่ตั้งครรภ์น่าจะพอเข้าใจกันแล้วนะคะว่า ติ่งเนื้อที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย และการดูแลติ่งเนื้ออย่างเหมาะสมจะสามารถช่วยลดความกังวล รวมถึงป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับผิวหนังและสุขภาพร่างกายของคุณแม่ได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยสูงสุดหากมีข้อสงสัยหรือความกังวลเกี่ยวกับติ่งเนื้อ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมนะคะ
ที่มา : คุยกับหมออัจจิมา , www.pobpad.com , www.rattinan.com , allwellhealthcare.com
บทความอื่นๆ ที่นาสนใจ
ตั้งครรภ์ ท้องนิ่มหรือแข็ง ? คุณแม่มือใหม่กดท้องเองได้มั้ย? เช็กขนาดท้องแม่แต่ละเดือน
คนท้องนั่งยองได้ไหม ท่านั่งคนท้อง ท่าไหนไม่ควรนั่งระหว่างตั้งครรภ์
คนท้องเหนื่อยง่าย หายใจไม่ทัน หายใจไม่สะดวก อันตรายไหม รับมือยังไง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!