ช่วงนี้มองไปทางไหนก็มีแต่ทุเรียน ราชาของผลไม้แสนอร่อย และเมนูขนมไทยอย่างข้าวเหนียวทุเรียนก็มาคู่กัน แม่ท้องเห็นแล้วอดใจไม่ไหว ก่อนอื่นคุณแม่ลองมาดูข้อมูล คนท้องกินข้าวเหนียวทุเรียนได้ไหม หรือควรกินปริมาณเท่าไหร่จึงจะปลอดภัยต่อแม่และลูกน้อยในท้อง มาดูกันเลยค่ะ
คนท้องกินข้าวเหนียวทุเรียนได้ไหม กินเท่าไหร่ถึงจะไม่เสี่ยง
สำหรับแม่ท้องที่อยากกินข้าวเหนียวทุเรียน ต้องบอกเลยว่าสามารถกินได้ค่ะ แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป เพราะจะเสี่ยงโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคอ้วน และไขมันในเลือดสูงได้ เพราะเมนูข้าวเหนียวทุเรียน มีแคลอรีสูง และยังประกอบไปด้วยน้ำตาล น้ำกะทิ และความหวานจากทุเรียนอีก จึงไม่ควรกินในปริมาณที่มากจนเกินไป และแม่ท้องที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน หรือกำลังเป็นเบาหวานอยู่ อาจจะงดกินไปก่อน หรือกินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ให้ลองปรึกษาคุณหมอดูก่อนนะคะ
ปริมาณข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิที่แม่ท้องกินได้
ข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิ 1 ถ้วย ให้พลังงานประมาณ 400 แคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับการกินข้าวซอย หรือข้าวผัดปลาเค็ม 1 จาน ดังนั้นถ้าหากแม่ท้องอยากกินจริง ๆ ควรกินเป็นอาหารจานหลัก หากอยากกินเป็นของว่างให้ลดปริมาณลงครึ่งถ้วย และควรกินนาน ๆ ครั้ง ไม่แนะนำให้กินบ่อย ๆ หรือกินทุกวันนะคะ
กินทุเรียนตอนท้อง มีประโยชน์อย่างไร
หากแม่ท้องอยากกินทุเรียน ควรเลือกกินทุเรียนพันธุ์หมอนทอง หรือชะนีไข่ เพราะทุเรียนพันธุ์นี้ มีโฟเลตสูง ซึ่งดีต่อสุขภาพของแม่และลูกน้อยในครรภ์
- ช่วยให้คุณแม่เจริญอาหาร
- แก้อาการอ่อนเพลีย
- รักษาแผลร้อนใน
- ป้องกันภาวะซีด หรือโลหิตจาง
- ช่วยบำรุงผิว
- ป้องกันพยาธิในลำไส้
- ช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้เด็กพิการแต่กำเนิด
แต่อย่าลืมว่า ถึงแม้ทุเรียนจะมีประโยชน์ต่อร่างกายของแม่ท้องและลูกน้อยในท้อง ก็ไม่ควรกินเยอะ กินเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งปริมาณทุเรียนที่คนท้องควรกินต่อวันนั้น จะอยู่ที่ 1 พู หรือประมาณวันละ 2 เม็ด และไม่ควรกินเกินสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 13 อาหารลดน้ำตาลในเลือด สำหรับคนท้อง ลดความเสี่ยงเบาหวาน
แม่ท้องกินข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิอย่างไรให้ปลอดภัย
ความสะอาด
นอกเหนือจากปริมาณที่แนะนำไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่แม่ท้องควรคำนึงถึงเลยก็คือ ความสะอาด นั่นเองค่ะ ควรเลือกกินข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิจากร้านที่สะอาด สุขลักษณะ ปรุงสดใหม่ เพื่อให้ปลอดจากสารปนเปื้อนต่าง ๆ รวมไปถึงเชื้อโรคด้วย
การปรุงอย่างเหมาะสม
ถ้าหากเลือกได้ควรเลือกร้านที่ทำสูตรหวานน้อย และถ้าแม่ท้องสามารถทำกินเองได้ ให้ลดปริมาณน้ำตาลลง ควรเลือกใช้น้ำตาลมะพร้าว และเลือกทุเรียนที่ไม่แก่มาก หวานกำลังดี และใช้กะทิคั้นสด จากนั้นนำไปปรุงสุก
วิธีทำน้ำกะทิทุเรียนสูตรหวานน้อย
ส่วนผสม
- ทุเรียน 200-300 กรัม ( 1 พู )
- น้ำกะทิ 500 กรัม
- น้ำตาลมะพร้าว 80 กรัม
- เกลือ 1/4 ช้อนชา
- ใบเตย 3-4 ใบ
- ข้าวเหนียวมูน
วิธีทำ
- ตั้งหม้อ (ไฟอ่อน) แล้วใส่กะทิ น้ำตาลมะพร้าว เกลือ ใบเตย ลงไปในหม้อ จากนั้นให้เคี่ยวด้วยไฟอ่อน คนให้ส่วนผสมเข้ากันดี
- เมื่อส่วนผสมเข้าดี และน้ำตาลละลายเข้ากันแล้ว ให้ใส่เนื้อทุเรียน (แกะเม็ดออกก่อน หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ) ตามลงไปในหม้อ
- ต้มต่อจนเดือด ก็เป็นอันเสร็จค่ะ ตักน้ำกะทิทุเรียนมาราดบนข้าวเหนียวมูน พร้อมทาน
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินข้าวเหนียวมะม่วงได้ไหม กินเพลิน ๆ ระวังเสี่ยงเบาหวาน !
วิดีโอจาก : Bee happy kitchen
อันตรายจากการกินทุเรียนมากเกินไป
หากแม่ท้องกินทุเรียนเยอะเกินไป อันดับแรกคือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ง่าย รวมทั้งอาจเป็นโรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีกำมะถันออกฤทธิ์ร้อน ถ้าหากกินมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อากาศร้อน ก็จะยิ่งทำให้อุณหภูมิในร่างกายและความดันโลหิตสูงขึ้นได้ง่ายมากขึ้น จนอาจรู้สึกแน่นท้อง และส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ในที่สุด
ดังนั้น หากแม่ท้องอยากสุขภาพดี และได้ประโยชน์จากการกินทุเรียน ก็ควรกินตามปริมาณที่แนะนำ และควรกินคู่กับอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ด้วยจะดีที่สุด และอย่าลืมออกกำลังควบคู่ไปด้วย เพื่อไม่ให้น้ำหนักสูงเกินเกณฑ์นะคะ
สรุปแล้ว การกินข้าวเหนียวทุเรียนนั้นแม่ท้องสามารถกินได้ เพียงแค่กินอย่างพอดี และปรุงให้เหมาะสม ไม่หวานจนเกินไป เลือกกินข้าวเหนียวทุเรียนที่สดใหม่ สะอาด และอย่าลืมที่จะดูแลควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมตามเกณฑ์ที่คุณหมอแนะนำ ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่เองและเจ้าตัวเล็กที่กำลังอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ด้วยนะคะ
อันตรายจากการกินของหวานมากเกินไปสำหรับคนท้อง
การทานของหวานมากเกินไปส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนทั่วไปอยู่แล้ว แต่สำหรับคนท้อง อันตรายเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก
ผลเสียต่อสุขภาพของแม่:
- น้ำหนักตัวเพิ่ม: ของหวานมักมีแคลอรี่สูง การทานมากเกินไปจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ส่งผลต่อสุขภาพทั้งของแม่และทารกในครรภ์
- เบาหวาน: การทานของหวานเป็นประจำ โดยเฉพาะน้ำตาลทรายขาว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อทั้งแม่และทารก
- ความดันโลหิตสูง: ของหวานบางชนิดมีโซเดียมสูง การทานมากเกินไปอาจส่งผลต่อความดันโลหิต
- ไขมันในเลือดสูง: การทานของหวาน โดยเฉพาะขนมหวานอบทอด เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะไขมันในเลือดสูง
- ฟันผุ: ของหวานเป็นแหล่งอาหารของแบคทีเรียในช่องปาก ทำให้ฟันผุได้ง่าย
- กรดไหลย้อน: ของหวานบางชนิดกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อน
- ท้องผูก: การทานของหวานมากเกินไปอาจส่งผลต่อระบบขับถ่าย ทำให้ท้องผูก
ผลเสียต่อสุขภาพของทารก:
- น้ำหนักตัวแรกคลอดมาก: ทารกที่แม่ทานของหวานมากเกินไป มีโอกาสคลอดออกมาตัวโต น้ำหนักเกิน เกิดปัญหาคลอด
- เป็นโรคอ้วน: ทารกที่แม่ทานของหวานมาก มีโอกาสเป็นโรคอ้วนในวัยเด็ก
- เป็นโรคเบาหวาน: ทารกที่แม่ทานของหวานมาก มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิด 2
- มีปัญหาการเรียนรู้: ทารกที่แม่ทานของหวานมาก มีโอกาสมีปัญหาการเรียนรู้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินสเต๊กได้ไหม กินแบบ Rare และ Medium Rare ได้ไหม ?
กินอะไรคลอดง่าย กินอะไรคลอดเร็ว วิธีให้คลอดลูกง่าย ด้วยอาหารการกิน คนท้องกินอะไรดี
คนท้องไตรมาสที่ 3 คนท้องใกล้คลอด อาหารคนท้องไตรมาส 3 อาการที่พบบ่อย แม่ท้องไตรมาสสุดท้าย
ที่มา : th.theasianparent.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!