คนท้องไตรมาสที่3
ไตรมาส 3 รวมเรื่องราวแม่ท้องแก่ คนท้องใกล้คลอด คนท้องไตรมาสที่3 อาการคนท้องไตรมาสที่3 ที่พบบ่อย อาหารคนท้องไตรมาส3
อาหารคนท้องไตรมาส3
โค้งสุดท้ายก่อนคลอดเป็นช่วงที่สำคัญมาก ช่วงอายุครรภ์ 24-42 สัปดาห์ สารอาหารมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาสมองลูก ถ้าแม่ไม่เลือกกิน กินน้อย การสร้างสมองส่วนต่าง ๆ ของลูกก็อาจไม่สมบูรณ์ได้ ถ้าอยากให้ลูกฉลาดตั้งแต่ในท้อง แม่ต้องกินอาหารที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทและการพัฒนา เช่น โปรตีน เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม ไอโอดีน โฟเลต
ไตรมาส 3 อาหารบำรุงน้ำนม
ช่วงไตรมาสสุดท้าย แม่ต้องคำนึงถึงอาหารเพิ่มน้ำนม เพื่อบำรุงร่างกายควบคู่ไปด้วย เช่น
- อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง บำรุงเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงมีมากพอที่จะลำเลียงออกซิเจนจากเลือดแม่ไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และมีเลือดไปเลี้ยงเซลล์ที่ผลิตน้ำนมบริเวณเต้านมของคุณแม่ได้เพิ่มขึ้น
- อาหารที่มีแคลเซียมสูง แคลเซียมสร้างเสริมพัฒนาการของลูกน้อย และเป็นส่วนประกอบในน้ำนมที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูกและฟันของเจ้าตัวน้อย
- อาหารที่มีวิตามินซีและวิตามินดี ทำให้ทั้งแม่และทารกในครรภ์มีภูมิต้านทานสูงขึ้น ช่วยในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อและสร้างกระดูกของทารก ซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายของคุณแม่ นอกจากนี้ วิตามินที่คุณแม่ได้รับนั้นยังจำเป็นต่อการเสริมสร้างเซลล์ในบริเวณเต้านม ทำให้สามารถผลิตน้ำนมได้ดีขึ้น มีปริมาณน้ำนมมากเพียงพอต่อการลูกน้อยที่กำลังจะคลอดออกมา แหล่งอาหารที่มีวิตามินซีจากธรรมชาติคือในผักหรือผลไม้ เช่น ส้ม มะนาว มะเขือเทศ ผักสด ฯลฯ และวิตามินดี เช่น ปลา ไข่แดง เนื้อสัตว์ ธัญพืช และนม
อาการทั่วไปคนท้องไตรมาสที่3
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายแม่ท้อง ดำเนินมาถึงช่วงไตรมาสสุดท้าย ใกล้ถึงเวลาจะเจอหน้าลูกน้อยแล้ว อาการต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย ช่วงไตรมาสที่3 เป็นช่วงที่ฝึกความอดทน เพราะร่างกายแม่ต้องเตรียมพร้อม ในช่วงสุดท้าย ก่อนลูกจะถึงวันคลอด โดยอาการที่แม่ท้องไตรมาสที่3 พบได้บ่อย อาทิ
- น้ำหนักในช่วงไตรมาสที่3 ของคนท้อง จะเพิ่มประมาณ 5 กิโลกรัม ทำให้แม่ท้องรู้สึกอุ้ยอ้ายมากขึ้น ท้องใหญ่อย่างชัดเจน
- อีกไม่นานจะถึงวันคลอดแล้ว แม่ท้องจึงมักจะมีอาการเจ็บท้องหลอก อาการเจ็บท้องจากการหดรัดตัวของมดลูกในช่วงใกล้คลอด คล้ายกับการเจ็บท้องจะคลอดจริง ๆ แต่ยังไม่รุนแรง และจะเจ็บน้อยกว่า
- แม่ท้องบางคนเป็นริดสีดวงทวารแล้ว และมีหนัก ๆ เอาช่วงไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเพิ่มแรงดันในร่างกายมากขึ้น จนเส้นเลือดบริเวณทวารหนักเกิดการขยาย บวม หรือเกิดเส้นเลือดขอดจนอาจมีอาการริดสีดวงทวารได้
- คนท้องแก่มักจะหายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก เนื่องจากมดลูกขยายตัว ดันอวัยวะด้านบนให้ขยับขึ้นไปดันกระบังลม ทำให้พื้นที่ปอดเหลือน้อยลง ขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการหายใจได้ลำบาก หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจสั้นได้
- มือบวม ตัวบวม เท้าบวม อาการตัวบวม เกิดจากมีปริมาณน้ำสะสมตามเนื้อเยื่อมากกว่าปกติ
- ไตรมาสสุดท้าย ท้องของคุณแม่มักบวมเป่งคล้ายจะระเบิด หน้าท้องที่ขยายแบบสุด ๆ ทำให้สะดือถูกดันจนราบหรือจุ่น แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมหลังคลอด
- แม่ท้องมักจะมีอาการปัสสาวะเล็ดเวลาไอ จาม หรือวิ่ง เรียกง่าย ๆ ว่า ฉี่เล็ด ทั้งยังปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากศีรษะทารกลงไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- คนท้องไตรมาสสุดท้าย มักจะมีปัญหานอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท เนื่องจากการเจ็บครรภ์เตือน หรือเพราะทารกดิ้นแรง และยังปวดเมื่อยมาก จนนอนท่าเดิมนาน ๆ ไม่ค่อยได้ ต้องพลิกตัวทั้งคืน ลองหาหมอนหลาย ๆ ใบมาหนุนรอง จะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นค่ะ
- กระดูกเชิงกรานของแม่จะเริ่มขยาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับช่วงเวลาใกล้คลอด ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกปวดหน่วงบริเวณข้อสะโพกหรือปวดหัวหน่าว ปวดร้าวอวัยวะเพศ ขณะเคลื่อนไหว
ร่างกายคนท้องไตรมาสที่3
อาการผิดปกติในช่วงไตรมาสที่3
หากคุณแม่มีอาการผิดปกติในช่วงไตรมาสุดท้าย ควรรีบไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด สำหรับอาการผิดปกติ มีดังนี้
- มีไข้สูง ไม่ทราบสาเหตุ
- เวลาปัสสาวะรู้สึกแสบ ขัด หรือเป็นเลือด อาจเป็นโรคทางเดินปัสสาวะติดเชื้อได้
- ปวดท้องน้อยรุนแรง
- เลือดออกจากช่องคลอด อาจเป็นอาการนำของการตกเลือดก่อนคลอด
- มีตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น หรือคันช่องคลอด
สัญญาณใกล้คลอดคนท้องไตรมาสที่3
ผศ.นพ.เมธาพันธ์ กิจพรธีรานันท์ สูติแพทย์ อธิบายถึงอาการเจ็บท้องคลอด อาการที่บ่งบอกว่าเข้าสู่ระยะคลอด หากคนท้องไตรมาสที่3 มีอาการเช่นนี้ ควรรีบไปพบแพทย์
- อาการมูกเลือดออกทางช่องคลอด การตั้งครรภ์ทั่วไปจะไม่มีเลือดออกทางช่องคลอด หากพบว่ามีเลือดสดออกให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องไปพบสูติแพทย์โดยด่วน แต่หากเป็นการเข้าสู่ระยะคลอดตามปกติ เมื่อมีการเปิดของปากมดลูกแล้ว มักจะมีมูกปนเลือดออกมาทางช่องคลอดได้ ลักษณะเป็นเมือกใส เหนียวคล้ายน้ำมูกมีสีแดงปนได้
- อาการน้ำคร่ำรั่ว หรือ น้ำเดิน เมื่อมีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอด มารดาควรสังเกตให้ดีว่าเป็นน้ำใส ไม่มีกลิ่น เหลว อาจมีเศษตะกอนสีขาวปนเล็กน้อยคล้ายน้ำซาวข้าวแสดงว่าเป็นน้ำคร่ำเดิน ไหลเป็นพักๆหรือต่อเนื่องก็ได้ จะออกมากขึ้นเมื่อขยับตัวหรือเดิน ซึ่งจำเป็นต้องแยกกับตกขาวในช่องคลอดซึ่งจะมีลักษณะเป็นน้ำสีขาวข้นคล้ายนม มีกลิ่นคาวหรือคันร่วมด้วย ในกรณีที่พบว่าเป็นน้ำปนกับตะกอนสีเขียวเข้มแสดงว่าเด็กทารกมีการถ่ายขี้เทาออกมาปนในน้ำคร่ำด้วย กรณีนี้ให้รีบมาพบสูติแพทย์โดยด่วนเนื่องจากทารกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยด้วย
- อาการเจ็บครรภ์จริง ในช่วงใกล้คลอดมักจะมีอาการเจ็บครรภ์เตือนบ่อยครั้ง ทั้งนี้เป็นการซ้อมของกล้ามเนื้อมดลูกในการหดรัดตัว ซึ่งการเจ็บครรภ์เตือนนี้มักจะเกิดเป็นพักๆ ไม่สม่ำเสมอ เป็นการบีบตัวเบาๆ ไม่มีรูปแบบ เป็นเวลาสั้นๆ เกิดที่มดลูกในตำแหน่งทั่วไปไม่จำเพาะ เมื่อนอนพักนิ่งๆ อาการจะค่อยทุเลาได้เอง ซึ่งอาการเจ็บครรภ์เตือนนี้ไม่มีอันตรายต่อทั้งมารดาหรือทารกในครรภ์ สามารถสังเกตอาการต่อที่บ้านได้ กรณีที่เจ็บครรภ์จริงมักจะเริ่มมีการหดรัดตัวของมดลูกบริเวณยอดมดลูกก่อนและค่อยกระจายไปทั่วทั้งมดลูก เกิดได้บ่อยขึ้น นานขึ้น แรงขึ้น จนมารดารู้สึกอึดอัดมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งอาจมีการรัดตัวอยู่นานเป็นนาทีได้ มีช่วงพักคลายตัว 2-3 นาทีแล้วจึงกลับมาบีบรัดตัวใหม่อย่างสม่ำเสมอต่อไป
- อาการลูกดิ้นน้อยลง เนื่องด้วยเมื่อมีอาการเจ็บครรภ์ถี่ขึ้น ทำให้มารดาไม่สามารถรับรู้ลูกดิ้นได้ทุกครั้ง จึงรู้สึกเสมือนว่าลูกดิ้นน้อยลง นอกจากนี้ยังไม่สามารถแยกจากทารกที่มีปัญหาลูกดิ้นน้อยลงจริงได้ จึงควรมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจประเมินจากสูติแพทย์โดยตรง
ร่างกายคนท้องไตรมาสที่ 3 มักจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย คุณแม่ต้องสังเกตอาการตัวเองให้ดี เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญ หากพบอาการผิดปกติควรรีบไปโรงพยาบาล
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทำไมแม่ท้องแก่ใกล้คลอดถึงหายใจไม่ออก
โรคที่คนท้องต้องระวัง อาการผิดปกติ หญิงตั้งครรภ์ ควรพบแพทย์ อาการผิดปกติของคนท้อง โรคไหนอันตรายแม่และลูก
คนท้องไตรมาสที่สาม มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ควรดูแลตัวเองอย่างไรในช่วงนี้
แม่ท้องกังวล ฉีดยากันแท้ง กลัวมีผลเสียกับลูกในท้อง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!