วิธีใช้ยาหยอดหูทารกให้ถูกต้อง
ยาหยอดหู มีประโยชน์ในการรักษาการอักเสบของหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง รวมทั้งการอุดตันของขี้หู การที่เราจะสามารถเลือกยาหยอดหูที่เหมาะสมกับโรค จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับชนิดและส่วนประกอบของ ยาหยอดหู รวมทั้งโรคทางหูอย่างถูกต้อง
ความผิดปกติของหูที่มักพบในเด็ก
ยาหยอดหู
1. ขี้หูอุดตัน (Impact cerument) ขี้หู ทำหน้าที่คอยปกป้องหูและจะมีการขจัดออกได้เองตามธรรมชาติ มีบางครั้งที่ขี้หูจะจับตัวกันมากเกินไป จนเกิดขี้หูอุดตันจนทำให้ลูกได้ยินไม่ถนัด ขี้หูอุดตันแบบนี้คุณแม่ห้ามแคะนะคะอันตรายอาจทำให้หูอักเสบได้และที่สำคัญลูกจะเจ็บมากค่ะ
การรักษา
ยาหยอดหูที่ทำให้ขี้หูอ่อนนุ่มลง และสามารถกำจัดออกได้ง่าย เช่น ดอกคิวเสท โซเดียม (Docusate sodium) 0.5% กลีเซอรีน (Glycerin) หรืออาจใช้น้ำมันมะกอก (Olive Oil) หยอดหูครั้งละ 5 หยด และใช้สำลีอุดหูไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมงหรือข้ามคืน ทำซ้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน ขี้หูที่อัดแน่นอยู่จะอ่อนตัวและไหลออกมา ถ้าขี้หูไม่ออกควรไปพบคุณหมอเพื่อใช้เครื่องมือช่วยดูดขี้หูออกนะคะ ที่สำคัญห้ามเด็ดขาดคือ การน้ำประปาหยอดหู เพราะจะทำให้อักเสบติดเชื้อได้ค่ะ อันตรายนะคะอย่าทำ !!
บทความแนะนำ บรรเทาอาการปวดศีรษะ-ปวดหูให้ลูก
ยาหยอดหู
2. หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis External) เกิดจากหูได้รับการรบกวนจากการกระทำต่าง ๆ เช่น การแคะหู น้ำเข้าหูบ่อย ๆ ทำให้เกิดความชื้นขึ้นในหู หรือจากผื่นแพ้ในช่องหู ทำให้เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราเจริญเติบโต ลูกมักจะมีอาการปวดหู หากเป็นมากอาจมีน้ำหนองไหลออกจากหูได้
การรักษา
ต้องทำให้ช่องหูแห้งเสียก่อน โดยการใช้สำลีพันก้านเช็ดบริเวณรอบ ๆ หู และในช่องหูอย่าเช็ดเข้าไปลึกมากนะคะ การเช็ดเช่นนี้จุดประสงค์ เพื่อทำให้หูของลูกแห้ง ใช้ยาหยอดหูที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ และต้านการอักเสบที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ หากมีอาการมากจำเป็นการรับประทานยาเพื่อต้านเชื้อที่เกิดขึ้น
3. หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) เป็นการอักเสบบริเวณระหว่างแก้วหูกับหูชั้นใน มักเกิดจากหลังเป็นหวัด ทำให้เกิดของเหลวขึ้นที่หูชั้นกลาง ซึ่งปกติจะเป็นโพรงอากาศ แต่เมื่อลูกจามหรือสั่งน้ำมูกรุนแรง เชื้อโรคจะแพร่เข้าไปและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสในหูชั้นกลางได้ มักจะเกิดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เพราะความลาดชันในช่องหูของเด็กยังมีน้อย ดังนั้น เชื้อจึงแพร่กระจายขึ้นไปได้ง่าย ลูกจะมีอาการปวดหู หูอื้อ มีไข้ ร้องโยเย และไม่ค่อยได้ยินเสียง
บทความแนะนำ อันตราย!! ลูกหูชั้นกลางอักเสบหากปล่อยไว้เสี่ยงหูหนวก
การรักษา
อาการเช่นนี้ ต้องพาลูกไปพบคุณหมอเท่านั้น เพื่อรับยาต้านเชื้อโรคมารับประทาน ยาแก้ปวด และยาหยอดหู หรือทานยาลดอาการหูอื้อ
ประเภทของยาหยอดหู
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ประเภทของยาหยอดหู มีแบบไหนบ้าง ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วสามารถแบ่งได้ออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ยาต้านจุลชีพและยาต้านเชื้อรา
ใช้ในรักษาอาการอักเสบของหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง รวมไปถึงเชื้อราในหู ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการที่น้ำเข้าหูระหว่างอาบน้ำหรือว่ายน้ำแล้วไม่ได้เช็ดให้แห้ง ทำให้หูเกิดการอักเสบ ปวด คัน และอาการบวมตามมาค่ะ
2. ยาต้านการอักเสบชนิดสเตียรอยด์
ยาประเภทนี้ใช้สำหรับรักษาอาการอักเสบและอาการบวม สาเหตุมาจากการอักเสบหรือการติดเชื้อภายในหู โดยยาหยอดหูบางชนิดอาจมีทั้งยาต้านจุลชีพและยาคอร์ติโคสเตียรอยด์อยู่ด้วยกัน ซึ่งในบางกรณี ตัวยาหยอดหูคอร์ติโคสเตียรอยด์สามารถนำมาใช้รักษากับอาการคันหูที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อได้อีกด้วย
3. ยาแก้ปวด
ยาชนิดนี้ใช้ในการรักษาอาการปวดหู สาเหตุมาจากการอักเสบและติดเชื้อภายในหู โดยทั่วไปจะถูกใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ นอกจากนี้ ยาแก้ปวดหูบางชนิดมักมีการผสมยาต้านจุลชีพร่วมด้วย มีส่วนช่วยในการลดการระคายเคืองจากยาต้านจุลชีพ
4. ยาละลายขี้หู
ยาชนิดนี้ช่วยรักษาอาการขี้หูอุดตัน ตัวยาจะไปช่วยทำให้ขี้หูอ่อนนุ่ม ทำให้สามารถเอาออกจากรูหูได้ง่ายขึ้น ยาประเภทนี้มี 3 แบบค่ะ คือ แบบน้ำ แบบไม่ใช่น้ำ และรูปแบบน้ำมัน
วิธีการใช้ยาหยอดหู
- ทำความสะอาดบริเวณใบหู ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำและเช็ดใบหูให้แห้ง
- กำขวดยาไว้ในอุ้งมือ 2 – 3 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิยาให้ใกล้เคียงกับร่างกาย
- หากยาที่ใช้หยอดหูมีลักษณะเป็นน้ำแขวนตะกอน ให้เขย่าขวดก่อนใช้ประมาณ 10 วินาที
- ให้ลูกนอนตะแคงหรือเอียงหูให้ด้านที่จะหยอดยาอยู่ด้านบน
- เวลาหยอดยา คุณแม่ควรจับใบหูของลูกดึงเบา ๆ ลงด้านล่างและเยื้องไปข้างหน้าเล็กน้อย
- ใช้มืออีกข้างหนึ่งค่อย ๆ หยอดยา ตามจำนวนที่กำหนด ดูที่ฉลากยา ควรระวังไม่ให้ปลายหลอดหยดสัมผัสกับหู
- เอียงหูข้างนั้นไว้ 2 – 3 นาที ให้น้ำยาไหลลงไปถึงแก้วหู อาจใช้สำลีอุดไว้
- ปิดขวดยาให้เรียบร้อย คุณแม่ล้างมือให้สะอาดอีกครั้งค่ะ
บทความแนะนำ แพทย์เตือน!! อย่าใช้คอตตอนบัดปั่นหูลูก
ยาหยอดหู และยาหยอดตา ใช้แทนกันได้หรือไม่
ปัจจุบันยาหยอดหูและยาหยอดตามีมากมายในท้องตลาด โดยยาทั้ง 2 อาจทำมาจากตัวยาเดียวกันเพื่อต้องการผลการรักษาทำนองเดียวกัน เช่น มีตัวยาปฏิชีวนะที่ฆ่าแบคทีเรียชนิดเดียวกัน หรือมียาลดบวม ลดอักเสบพวกยาสเตียรอยด์ อีกทั้งรูปลักษณ์ขวดยาที่คล้ายกัน ทำให้เกิดความสับสนในการใช้ แต่ไม่สามารถใช้แทนกันได้ทุกกรณี เนื่องจากคุณลักษณะของยาแตกต่างกัน เช่น
- ยาหยอดหูมีความเข้มข้นของตัวยา และความหนืด มากกว่ายาหยอดตา
- มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH ) แตกต่างกัน โดย pH ของยาตาต้องเหมาะสมกับสารน้ำในลูกตา
- ยาหยอดตาผลิตภายใต้สภาวะสะอาดปราศจากเชื้อ
คุณแม่ได้ทราบถึง อาการผิดปกติของหูลูกน้อยแล้วนะคะว่า หลัก ๆ จะมี 3 อาการ ได้แก่ ขี้หูอุดตัน หูชั้นกลางอักเสบและหูชั้นนอกอักเสบ รวมถึงวิธีใช้ยาหยอดหูทารกให้ถูกต้องแล้วนะคะ สามารถนำไปปฏิบัติตามได้ค่ะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
คลิปการใช้ยาหยอดหูทารก
https://www.youtube.com/watch?v=p-Tkd83nsrQ
อ้างอิงข้อมูลจาก
rcot.org, Pobpad
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ดูแลสุขภาพหูลูกน้อยอย่างไรให้ถูกวิธี
โรคหูติดเชื้อในเด็ก
ลูกชอบเอาของเล่นชิ้นเล็กๆเข้าปาก ใส่หู ใส่จมูก พ่อแม่ต้องป้องกันยังไง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!