ดูแลสุขภาพหู ของลูกน้อยของคุณอย่างไร ให้ถูกวิธี และถูกสุขอนามัย
ผศ.นพ.จำรูญ ตั้งกีรติชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โสต ศอ นาสิกแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการ ดูแลสุขภาพหู ของลูกน้อยให้ถูกวิธี ดังนี้
หากขี้หูมีจำนวนมาก จะร่วง หรือหล่นออกมาเอง จึงไม่จำเป็นต้องปั่นหรือแคะหู
1. การทำความสะอาดหู
ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำบิดหมาดเช็ดบริเวณใบหู และรูหูเท่าที่นิ้วจะเข้าไปได้
2. ขี้หู
– ขี้หูเป็นสิ่งที่ร่างกายผลิตขึ้นตามธรรมชาติ
– ขี้หูบางคนมีลักษณะแห้ง บางคนมีลักษณะเปียก
– หากขี้หูมีจำนวนมากจะร่วงหรือหล่นออกมาเองจึงไม่จำเป็นต้องปั่นหรือแคะหู
– สำหรับคนที่มีขี้หูมากจับเป็นก้อนอุดตัน ทำให้ได้ยินเสียงไม่ชัดเจน ทำให้รู้สึกว่าหูอื้อ ไม่ควรแคะหูด้วยที่แคะหู กิ๊บเสียบผมหรือไม้จิ้มฟัน เด็ดขาด เพราะอาจอันตรายต่อเยื่อแก้วหู ผนังรูหู อาจเป็นแผลหรืออักเสบได้ จะนำเชื้อโรคเข้าสู่ช่องหูโดยไม่รู้ตัว
– ควรใช้น้ำมันกลีเซอรีนหรือน้ำมันมะกอกหยอดหูวันละ 2 ครั้ง จะทำให้ขี้หูนิ่มและละลายหลุดออก
– หากยังมีอาการปวดหูหรือได้ยินไม่ชัดเจน ต้องไปพบคุณหมอเพื่อตรวจอย่างละเอียดต่อไป
3. เมื่อเป็นหวัด เจ็บคอ
เมื่อลูกน้อยมีอาการเป็นหวัดหรือเจ็บคอ หากลูกสั่งน้ำมูกเป็นแล้ว ต้องระมัดระวังอย่าให้ลูกสั่งน้ำมูกแรง ๆ หรืออุดจมูกข้างใดข้างหนึ่งในขณะที่สั่งน้ำมูก เพราะจะทำให้เชื้อโรคในคอและจมูกดันเข้าสู่หูชั้นกลาง ทำให้เกิดการติดเชื้อและอาจเป็นหูน้ำหนวกได้
4. หวัดที่เกิดจากภูมิแพ้
หวัดที่เกิดจากภูมิแพ้มักมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคจากหูชั้นกลางอักเสบจากการติดเชื้อแทรกซ้อน ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้จะปลอดภัยที่สุด
หากลูกสั่งน้ำมูกเป็นแล้ว ต้องระมัดระวังอย่าให้ลูกสั่งน้ำมูกแรง ๆ
5. ระวังอย่าให้หูกระทบกระแทกแรงๆ
คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังอย่าให้หูของลูกน้อยเกิดการกระทบกระแทกแรง ๆ เพราะจะทำให้เยื่อหูฉีกขาดหรือกระดูกหูหลุด จนทำให้สูญเสียการได้ยิน
6. อย่าตะโกนหรืออยู่ในที่มีเสียงดังมาก ๆ
สถานที่ที่มีเสียงดังหรือบริเวณที่มีเสียงอึกทึก เช่น บริเวณที่จัดงานมีเครื่องเสียงดัง ๆ เสียงเครื่องจักร เสียงเจาะถนน เป็นต้น เสียงดังเหล่านี้เป็นอันตรายต่อหูของลูกน้อยหรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่เองก็อาจได้รับอันตรายหากได้รับเสียงดังมากเกินไป
7. แมลงเข้าหู
หากบังเอิญมีแมลงเข้าหู สิ่งสำคัญของการปฐมพยาบาล คือ ห้ามแคะออก เพราะจะทำให้แมลงเข้าไปในหูลึกยิ่งขึ้น สิ่งที่ต้องปฏิบัติ คือ
– ควรใช้น้ำสะอาดหรือน้ำมันที่ปลอดภัย เช่น น้ำมันมะกอก หยอดลงในรูหู ทิ้งไว้สักครู่เพื่อให้แมลงตาย
– เอียงหูให้น้ำมันไหลออกมาพร้อมแมลง แล้วใช้สำลีเช็ดทำความสะอาด
– หากเป็นเวลากลางคืน อาจใช้วิธีปิดไฟในห้องให้มืด แล้วใช้ไฟฉายส่องเข้าไปในรูแสงไฟจะล่อแมลงออกมาได้
8. สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดกับหู
อาการผิดปกติที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตได้ คือ หูอื้อ ปวดหู คันหู ซึ่งเจ้าหนูจะแสดงอาการโดยมักจะเอามือจับหู เกาหูบ่อย ๆ หากมีอาการปวดหูจะร้องโยเย เอามือจับหู ดึงหู ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตว่า มีน้ำหนองหรือเลือดไหลออกจากหูหรือไม่ หรือการฟังเสียงลดลง เรียกแล้วลูกไม่ได้ยิน ไม่หันมามอง หากพบอาการเช่นนี้รีบไปพบคุณหมอโดยด่วนค่ะ เพราะอาจเกิดอาการแก้วหูทะลุหรืออักเสบ ต้องระวังอย่าให้น้ำเข้าหูขณะอาบน้ำ หรือสระผม ควรใช้สำลีอุดหูไว้ก่อน
ยาหยอดหู : ตัวช่วยเมื่อหูมีปัญหา
ผศ.นพ.จำรูญ ตั้งกีรติชัย ให้คำแนะนำวิธีการใช้ยาหยอดหูที่ถูกต้อง คือ
1. ให้ลูกนอนตะแคงหันหูด้านที่หยอดยาขึ้น ยกศีรษะเล็กน้อยให้อยู่ในแนวระนาบกับพื้น เพื่อให้ช่องหูอยู่ในแนวดิ่ง
2. ระวังอย่าให้ปากขวดยาสัมผัสกับหูของลูกน้อย ให้หยอดยาตามปริมาณที่คุณหมอแนะนำ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที
3. กรณีที่หูชั้นนอกอักเสบให้ขยับใบหู ดึงใบหูขึ้นแล้วดึงไปด้านหลัง ซึ่งตำแหน่งของช่องหูจะอยู่ในแนวดิ่ง ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จะช่วยไล่ฟองอากาศที่เกิดขึ้น และทำให้น้ำยาไหลเข้าช่องหูได้ดีขึ้น
4. ให้ลูกลุกขึ้น ใช้สำลีเช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ ใบหู
ข้อควรรู้
ก่อนหยอดยาให้ทำความสะอาดบริเวณใบหูส่วนนอก และปรับอุณหภูมิของขวดยาให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิของร่างกาย เพราะการหยอดยาที่เย็นจนเกินไป จะทำให้เกิดอาการมึนศีรษะได้ ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นควรประคบด้วยมือสักครู่ก่อนใช้ยา
จะเห็นว่า การดูและสุขภาพหูเป็นสิ่งที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับหูลูกน้อย ควรตรวจดูอย่างละเอียด เพราะอาจมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู เพราะบางทีความซนของเจ้าหนูเอาสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นขนม หรือของเล่นชิ้นเล็ก ๆ ใส่เข้าไปในหูซึ่งต้องปฐมพยาบาลโดยด่วน แต่ถ้าเกิดความผิดปกติ มีเลือด หรือน้ำเหลืองออกจากช่องหู ต้องพาไปพบคุณหมอโดยด่วนค่ะ
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th
แผ่นพับ การดูแลสุขภาพหูจัดทำโดย กลุ่มงานสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยตรวจโรคผู้ป่วยนอก โสต ศอ นาสิก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
10 วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้เด็กรอดพ้นอันตราย
5 วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อลูกได้รับบาดเจ็บ
เห็บเข้าหู เห็บเข้าหูลูก แม่ใช้ไฟฉายส่องดูถึงกับช็อค! พาไปหาหมอพบเห็บวางไข่ในหูลูก
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการดูแลหูทารก ได้ที่นี่!
หูทารก มีวิธีในการดูแล ทำความสะอาดหูทารกยังไงบ้างคะ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!