ยาคุมฉุกเฉิน เป็นอีกหนึ่งวิธีการคุมกำเนิดที่หลาย ๆ คนให้ความสนใจ เนื่องจากตัวยา มีจำนวนน้อย และไม่จำเป็นจะต้องกินประจำต่อเนื่องเหมือนกับยาคุมกำเนิดชนิดรายเดือน แต่ข้อจำกัดของยาคุมฉุกเฉินนั้น ยังคงจะต้องทำการศึกษาให้เข้าใจ และต้องรู้ว่า ยาคุมฉุกเฉินกินตอนไหน กินอย่างไรให้ปลอดภัย และสามารถคุมกำเนิดได้ตามวัตถุประสงค์ของตัวยา
ยาคุมฉุกเฉิน หรือยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน คืออะไร?
ยาคุมฉุกเฉิน (emergency contraceptive pills, morning-after pills) คือยาคุมกำเนิดที่ใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ในกรณีฉุกเฉิน ขอย้ำว่า ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น คำว่า “ฉุกเฉิน” ในที่นี้หมายความถึง การมีเพศสัมพันธ์อันไม่พึงประสงค์ หรือเกิดการผิดพลาด เช่น เกิดการรั่ว หรือฉีกขาดของถุงยางอนามัย รวมถึงกรณีของการลืมรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดรายเดือนเป็นเวลานานตั้งแต่ 3 เม็ด ขึ้นไป
เป็นยาเม็ดที่มีปริมาณฮอร์โมนสูง เมื่อรับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์ จะทำให้ลดโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้มีประสิทธิภาพภายใน 2 – 3 วัน โดยตัวยาจะไปรบกวนการตกไข่ หรือรบกวนการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิ แต่หากไข่ได้รับการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้ว จะไม่สามารถป้องกันได้
ยาคุมฉุกเฉินมีกี่ประเภท ?
ยาคุมฉุกเฉินทั่วไปตามท้องตลาด จะพบว่ายาคุมฉุกเฉิน จะมีทั้งแบบชนิดเดียว คือ 1 เม็ด และแบบชนิด 2 เม็ด ซึ่งให้ผลในการคุมกำเนิดไม่แตกต่างกัน และมีลักษณะของการทานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราสามารถจำแนกออกมาได้ดังนี้
- ยาคุมกำเนิดชนิดเดี่ยว 1 เม็ด จะมีตัวยาเพียงแค่เม็ดเดียว แต่จะมีปริมาณของ เลโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) อยู่ที่ 1.5 มิลลิกรัม
- ยาคุมชนิดคู่ 2 เม็ด จะมีตัวยาด้วยกัน 2 เม็ด โดยที่ยาแต่ละเม็ด จะมีปริมาณของ เลโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) อยู่ที่ 0.75 มิลลิกรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับยาคุมชนิดเดี่ยว จะเห็นได้ว่า เมื่อทานครบ 2 เม็ด ก็จะได้รับปริมาณของ เลโวนอร์เจสเตรล ซึ่งเป็นตัวยาที่เข้าไปกระตุ้นร่างกายให้การปฏิกิริยาในการยับยั้งการปฏิสนธิของไข่กับสเปิร์มนั่นเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 10 ข้อ ควรรู้เกี่ยวกับยาคุมกำเนิด ที่สาว ๆ ไม่ควรมองข้าม
ยาคุมฉุกเฉินกินตอนไหน ?
- หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
- สตรีถูกข่มขืน (Sexual assault)
- มีการใช้การคุมกำเนิดที่ไม่ถูกต้อง มีโอกาสล้มเหลว เช่น ถุงยางแตก หลุด หรือใส่ไม่ถูกต้อง
- ลืมทานยาคุมกำเนิด
- ชนิดฮอร์โมนรวมตั้งแต่ 3 เม็ด
- ชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินชนิดเดี่ยวลืมทานเกินเวลา 3 ชั่วโมง จากเวลาเดิมที่ทานประจำ หรือเกิน 27 ชม.จากเม็ด
- ชนิด desogestrel-containing pill (0.75 mg) มากกว่า 12 ชั่วโมง จากเวลาทานปกติ หรือเกิน 36 ชม.จากเม็ดที่ทานก่อน
- เลยกำหนดฉีดยาคุม
- มากกว่า 2 อาทิตย์ ชนิด norethisterone enanthate (NET-EN)
- มากกว่า 4 อาทิตย์ ชนิด depot-medroxyprogesterone acetate (DMPA)
- มากกว่า 7 วัน ชนิด combined injectable contraceptive (CIC)
- diaphragm or cervical cap หลุด ขาด หรือแตก ก่อนเอาออก
- ล้มเหลวในวิธีการหลั่งข้างนอก เช่นหลั่งในช่องคลอด หรืออวัยวะเพศด้านนอก
- คำนวณวันเว้นมีเพศสัมพันธ์พลาด
- ห่วงคุมกำเนิดหลุด หรือยาฝังหลุด
วิธีการกินยาคุมฉุกเฉินที่ถูกต้อง
- กินครั้งเดียวพร้อมกันทั้ง 2 เม็ด ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์
- กินยาเม็ดแรกทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ และเม็ดที่สองห่างไปอีก 12 ชั่วโมง แต่การกินยาครั้งละเม็ดห่างกันนานถึง 12 ชั่วโมงอาจทำให้หลายคนลืมกินยาเม็ดที่สอง หรือเข้าใจผิดว่ากินยาเพียงเม็ดเดียวก็เพียงพอแล้ว ทำให้การคุมกำเนิดไม่ได้ผล
- หากไม่สามารถกินยาได้ทันที ก็สามารถกินหลังจากนั้น แต่ไม่ควรเกิน 3 วันหรือ 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์
- ควรต้องกินยาซ้ำ หากอาเจียนหลังกินยา 2 ชั่วโมง
- หากมีเพศสัมพันธ์ระหว่างที่กินยาคุมฉุกเฉินแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องกินยาซ้ำ เนื่องจากยาจะไม่ส่งผลใดๆ เพิ่ม
- ไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินมากกว่า 2 แผง (4 เม็ด) ภายในรอบเดือนเดียว เนื่องจากยาจะส่งผลให้ระบบสืบพันธุ์สร้างฮอร์โมนผิดปกติ
- ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินเมื่อการมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นแบบฉุกเฉินโดยไม่ได้ป้องกันเท่านั้น เนื่องจากการกินยาคุมฉุกเฉินบ่อย ๆ อาจทำให้การคุมกำเนิดไม่ได้ผล และไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินแทนยาคุมปกติ
- หากตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเด็ดขาด
ความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน
มีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉินหลายประการ ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินสามารถคุมกำเนิดในระยะยาวได้หรือไม่ ?
มีความเข้าใจว่า ใช้ยาคุมฉุกเฉินเพื่อคุมกำเนิดระยะยาวได้ ความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้อง หากสามีภรรยาที่ยังไม่พร้อมมีบุตร แต่ต้องการคุมกำเนิดในระยะยาว มีวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากกว่าเช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกติชนิดเม็ด โดยรับประทานทุกวันวันละ 1 เม็ด นอกจากนี้ การรับประทานยาคุมฉุกเฉินเป็นประจำ จะพบอาการข้างเคียงสูง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกกะปริดกะปรอย รวมทั้งพบความเสี่ยงในการเกิดอุบัติการณ์การตั้งครรภ์นอกมดลูกเพิ่มขึ้น
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินทำให้แท้งได้หรือไม่ ?
มีความเข้าใจว่า ยาคุมฉุกเฉินเป็นยาทำแท้ง ความเข้าใจนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด ยาคุมฉุกเฉินสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เท่านั้น นั่นคือต้องได้ยาเข้าไปในร่างกาย ก่อนที่จะมีการฝังตัวของไข่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก เแต่หากไข่ที่ผสมกับอสุจิได้ฝังตัวที่ผนังมดลูกไปแล้ว ยานี้จะทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น ยานี้จึงไม่ใช่ยาทำแท้ง
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ ?
มีความเข้าใจว่า ยาคุมฉุกเฉินป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ความเข้าใจนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด การใช้ยาคุมฉุกเฉินนั้นไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่การใช้ถุงยางอนามัย เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่สามารถคุมกำเนิด และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- หากรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินระหว่างตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกพิการหรือไม่ ?
มีความเข้าใจว่า ยาคุมฉุกเฉินอาจทำให้ทารกพิการได้ หากรับประทานไปโดยไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ ความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้มีรายงานว่า ไม่พบทารกพิการจากมารดาที่รับประทานยา โดยไม่ทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : คุมกำเนิด แบบไหนดี ? …วิธีคุมกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพ ที่วัยรุ่นควรรู้!
ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาคุมฉุกเฉิน
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยาคุมฉุกเฉิน มักเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ได้แก่ ปวดท้อง มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ประจำเดือนมาเร็ว หรือช้ากว่าปกติ อาการข้างเคียงเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา การรับประทานในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้นไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่การใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ นอกจากประสิทธิภาพที่ด้อยกว่า เมื่อเทียบกับการรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกติชนิดเม็ดแล้ว ยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกถึงร้อยละ 2 เป็นต้น ดังนั้น การใช้ยานี้จึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และไม่แนะนำให้รับประทานเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่อง ต่อเดือน
ยาคุมฉุกเฉินมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายหรือไม่ ?
นอกจากผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังมีการค้นพบว่า ยาคุมฉุกเฉินจะทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตกับผู้ใช้ หรือแม้แต่ผลกระทบต่อทารก ในกรณีที่ตั้งครรภ์โดยไม่ทราบ อย่างไรก็ตามผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีประวัติเป็นโรคลมชัก โลหิตแข็งตัว หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
หลังจากรับประทานยาคุมฉุกเฉินแล้ว ทำอย่างไรต่อ ?
โดยทั่วไปแล้ว ประจำเดือนจะมาหลังจากรับประทานยาภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ (หากไม่มี ให้สงสัยว่าตั้งครรภ์ และไปพบแพทย์) หลังจากนั้นประจำเดือนของรอบเดือนนั้น ก็จะมาในช่วงเวลาเดิม ในบางรายอาจพบประจำเดือนรอบต่อไปมาช้า หรือเร็วกว่าปกติได้
บทความที่น่าสนใจ :
10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ยาคุมกำเนิด ที่สาว ๆ ไม่ควรมองข้าม
ยาคุมกินตอนไหน วิธีกินยาคุมกำเนิดที่ถูกต้อง ที่คุณไม่ควรพลาด
ราคายาคุมฉุกเฉิน แต่ละยี่ห้อเท่าไหร่บ้าง เทียบราคาอย่างละเอียด
ที่มา : ram-hosp , samitivejhospitals
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!