ปลาหมึก เป็นอาหารทะเลที่หลายคนต่างชื่นชอบ และยังอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ มากมาย แต่เรามักจะได้ยินเรื่องราวของปลาหมึก ที่มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูง จึงส่งผลให้ใครหลาย ๆ คนต่างเป็นกังวลทุกครั้งในการกินปลาหมึก คนท้องกินปลาหมึกได้ไหม ? จึงเป็นคำถามยอดฮิต ที่เกิดขึ้น เรามาดูไปพร้อม ๆ กันค่ะ แล้วคุณจะรู้ว่า ปลาหมึกมีอะไรมากกว่าที่คุณคิด
ปลาหมึก กับคุณค่าทางโภชนาการ
ปลาหมึก หรือหมึก เป็นหนึ่งในอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งปลาหมึกมีหลากหลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่เรามักจะที่นิยมรับประทาน ปลาหมึกกล้วย ปลาหมึกกระดอง ปลาหมึกสาย หรือปลาหมึกยักษ์ กันเป็นส่วนมาก
ปลาหมึกเหล่านี้นอกจากรสชาติ และความกรุบกรอบ ปนความหนืดเล็ก ๆ จะถูกปากใครหลาย ๆ คนแล้ว ปลาหมึกยังเป็นแหล่งโปรตีน และแหล่งไขมันดี ไขมันคอเลสเตอรอล โอเมก้า 3 วิตามินอี โปรตีน และแร่ธาตุต่าง ๆ จึงเชื่อว่าการบริโภคปลาหมึกอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ เช่น เพิ่มไขมันดี ลดความดัน สมานแผล ซึ่งอาจส่งผลดีต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด อีกด้วย
แต่เป็นเพราะปลาหมึกมีไขมันหลากหลายชนิดอยู่ในตัว จึงทำให้เราต้องตั้งข้อสงสัยว่า ปลาหมึกนั้น จะดีต่อสุขภาพจริงหรือ? หากมีการรับประทานปลาหมึกในปริมาณที่มาก จะเกิดความเสี่ยงไขมันในเลือดสูงไปด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การเลือกทานปลาหมึกนั้น ควรจะทานในปริมาณที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงปลาหมึกบางชนิด ไม่ว่าจะเป็น หมึกสายวงน้ำเงิน หรือที่เรียกว่าหมึกบลูริง เพราะเป็นชนิดปลาหมึกที่พิษร้ายแรง หากคุณรับประทานเข้าไปแล้วอาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ควรซื้อปลาหมึกจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคภูมิแพ้อาหาร แพ้อาหาร คืออะไร สาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษา
คุณค่าทางโภชนาการของปลาหมึก
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า ปลาหมึกสด 100 กรัม ให้พลังงาน 92 กิโลแคลอรี มีน้ำ 78.6 กรัม และมีสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- โปรตีน 15.6 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 3.08 กรัม
- ไขมัน 1.38 กรัม
- โพแทสเซียม 246 มิลลิกรัม
- คอเลสเตอรอล 233 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 221 มิลลิกรัม
- โคลีน 65 มิลลิกรัม
- โซเดียม 44 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 33 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 32 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 4.7 มิลลิกรัม
- ทองแดง 1.89 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ ปลาหมึกยังอุดมไปด้วยวิตามินชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 9 วิตามินบี 12 วิตามินอี เหล็ก สังกะสี รวมถึงกรดไขมันหลากชนิด โดยเฉพาะกรดไขมันโอเมก้า 3 หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ และหลอดเลือด ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคซึมเศร้า เป็นต้น
ปลาหมึกเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยสร้างความแข็งแรงแก่ร่างกาย ช่วยในการทำงานของกระดูก กล้ามเนื้อ และผิวหนัง และไขมันบางชนิดที่พบในปลาหมึกก็เป็นไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในตัวของปลาหมึกก็ยังคงมีไขมันชนิดคอเลสเตอรอลในปริมาณที่มาก เราจึงไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เพราะอาจส่งผลให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน และเกิดโรคหัวใจได้
ประโยชน์ของปลาหมึกต่อสุขภาพ
ได้มีการค้นคว้าเกี่ยวกับประโยชน์ของอาหารทะเลอย่างปลาหมึก ที่ส่งผลต่อสุขภาพของเรา เอาไว้ดังนี้
เชื่อหรือไม่ว่า ปลาหมึก ที่เรามักเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารที่ทำให้เราอ้วนได้ง่าย แต่กลับมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2561 ว่า ผู้หญิงวัยสูงอายุที่มีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนจำนวน 54 คน พบว่า การรับประทานอาหารโปรตีนสูงช่วยให้อิ่มนาน และช่วยลดความอยากอาหารได้มากกว่าการรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตสูง และเมื่อกลุ่มตัวอย่างรับประทานอาหารโปรตีนสูงร่วมกับการออกกำลังกายแบบแรงต้าน ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อและกระดูก ก็อาจยิ่งช่วยลดไขมันในร่างกายและช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ
ซึ่งปลาหมึก เป็นอาหารทะเลที่มีค่าโปรตีนที่สูงมาก และมีไขมันต่ำ หากเรานำปลาหมึกมาปรุงอาหารด้วยกรรมวิธีที่เหมาะสม เช่น การย่าง ต้ม อบ หรือนึ่ง “ปลาหมึก” จะกลายเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้ที่มีความต้องการลดน้ำหนัก หรือกำลังควบคุมน้ำหนักอย่างมาก
-
ช่วยบำรุงหัวใจ และหลอดเลือด
กรดไขมันโอเมก้า 3 โดยเฉพาะชนิดดีเอชเอ (Docosahexaenoic Acid : DHA) เป็นสารที่ช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ และหลอดเลือดให้มีความแข็งแรง ลดภาวะอักเสบภายในร่างกาย และยังช่วยลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และภาวะหัวใจวาย เป็นต้น
จากการวิจัยในอดีต ได้มีการทดลองให้ผู้ชายซึ่งมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ 18 คน บริโภคอาหารทะเลที่แตกต่างกัน 6 ชนิด คือ ปลาหมึกกล้วย ปู กุ้ง หอยนางรม หอยแมลงภู่ และหอยกาบ พบว่าปลาหมึกกล้วย และกุ้งมีไขมันคอเลสเตอรอลสูงกว่าอาหารชนิดอื่น ในขณะที่มีไขมันโอเมก้า 3 ต่ำกว่า และไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดของผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้น ปลาหมึกกล้วย หอยแมลงภู่ และหอยนางรมช่วยเพิ่มไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (HDL) ให้แก่ร่างกาย ซึ่งไขมันชนิดนี้จะช่วยกำจัดคอเลสเตอรอลส่วนเกินออกไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ปลาหมึกอาจมีไขมันชนิดที่ดีที่ช่วยลดระดับไขมันไม่ดีในร่างกายได้ แต่ยังคงต้องศึกษากลไกในการลดระดับไขมันร่างกายจากการบริโภคปลาหมึกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำผลลัพธ์ไปประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้จริงในอนาคต ดังนั้น ขณะนี้ผู้บริโภคควรรับประทานปลาหมึกในปริมาณพอเหมาะ เพราะหากบริโภคปริมาณมากอาจเสี่ยงมีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป เพราะในปลาหมึกมีไขมันอิ่มตัวและไขมันชนิดอื่น ๆ อยู่ด้วยเช่นกัน
-
บรรเทาอาการโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
การทานปลาหมึก อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เพราะปลาหมึกเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบภายในร่างกาย โดยเฉพาะโรคนี้ เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ จนส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อข้อต่อ ดังนั้น กรดไขมันโอเมก้า 3 จึงเป็นการเข้าไปช่วยป้องกัน รักษา หรือบรรเทาอาการดังกล่าวได้
-
เสริมการทำงานของสมองและระบบประสาท
เพราะปลาหมึก เป็นอาหารทะเลที่อุดมไปด้วยวิตามินบีหลายชนิด ทั้งวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 9 และวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนา และการทำงานของสมอง และระบบประสาทได้เป็นอย่างดี เพราะหากเราได้เราวิตามินต่าง ๆ อย่างเพียงพอ ร่างกายจะเกิดการหลั่งสารสื่อประสาท และการทำงานของสารเคมีในสมอง ช่วยให้ระบบประสาททำงานได้อย่างเป็นปกติ
เราจึงกล่าวได้ว่า วิตามินบีอาจช่วยป้องกัน และรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เช่น โรคปลายประสาทอักเสบ รวมถึงโรคทางสมอง เช่น ไมเกรน อัลไซเมอร์ อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้เพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือผลการวิจัยที่แน่ชัดขึ้น
เนื่องจากปลาหมึกเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง จึงมีการศึกษาประสิทธิภาพของโปรตีนคอลลาเจนที่ได้จากผิวหนังชั้นนอกของปลาหมึกกล้วยไดมอนด์ พบว่าคอลลาเจนที่ได้จากปลาหมึกชนิดนี้เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูสภาพผิวหนัง และกระดูกของวัว
เช่นเดียวกับอีกหนึ่งงานวิจัยที่ค้นคว้าคุณสมบัติของเจลคอลลาเจนที่ได้จากผิวหนังชั้นนอกของปลาหมึกกระดองในห้องปฏิบัติการ พบว่าหลังจากทาสารชนิดนี้ แผลติดกันเร็วขึ้น ซึ่งอาจพัฒนาสารดังกล่าวไปเป็นยาสมานแผลได้ในอนาคต
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องแพ้อาหารทะเล แพ้กุ้ง ส่งผลต่อลูกในท้องอย่างไร?
อันตรายจากการทานปลาหมึก
- เกิดลมพิษ รู้สึกคัน หรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
- คัดจมูก หายใจเสียงดังวี้ด หรือหายใจลำบาก
- มีอาการบวมที่ใบหน้า ลำคอ ริมฝีปาก ลิ้น หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น หู ฝ่ามือ นิ้วมือ
- ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
- รู้สึกมึนงง วิงเวียน บ้านหมุน หรือคล้ายจะเป็นลม
- คอบวมหรือมีก้อนในลำคอ ส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบลงและหายใจลำบาก
- ชีพจรเต้นเร็ว
- วิงเวียนศีรษะอย่างมาก หรือหมดสติ
คนท้องกินปลาหมึกได้ไหม ?
สำหรับคำถามที่คนท้องต่างพากันสงสัย เราก็ต้องบอกว่า คนท้องเราสามารถกินปลาหมึกได้ค่ะ แต่ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่า ปลาหมึกที่กินนั้น จะต้องถูกปรุงอย่างถูกสุขลักษณะ สะอาด ปลอดภัย เพราะความเสี่ยงจากการติดเชื้ออันเนื่องมาจากการทานอาหาร ก็ส่งผลร้ายกับครรภ์ได้ไม่มากก็น้อย
ทั้งนี้ ตัวคุณแม่เอง จำเป็นจะต้องทำการทดสอบก่อนว่า ตนเองมีอาการแพ้อาหารดังกล่าวอย่างปลาหมึกหรือไม่ เพราะเมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ร่างกายของตัวคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก บางอย่างที่ไม่เคยแพ้มาก่อน กลับมีอาการแพ้ในขณะที่ตั้งครรภ์ก็เป็นได้ ดังนั้นในช่วงแรก ควรรับประทานเพียงเล็กน้อย เพื่อทำการทดสอบ และไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมได้เช่นกัน
แม้ปลาหมึกมีสารโภชนาการที่เป็นประโยชน์และอาจส่งผลดีต่อสุขภาพในบางด้าน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดปริมาณที่แนะนำในการรับประทานปลาหมึกที่ชัดเจน ผู้บริโภคจึงควรรับประทานปลาหมึกที่สด สะอาด และปรุงสุกในปริมาณที่เหมาะสมเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มสตรีมีครรภ์ ที่ควรจะให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ และหากเกิดอาการผิดปกติจากการทานปลาหมึก หรืออาหารต่าง ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันที
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แนะสูตรเด็ด !! เมนูปลาหมึก ราชาแห่งอาหารทะเล ทำง่าย อร่อยไม่มีวันลืม
รวมสูตร 7 เมนูหนวดปลาหมึก อร่อยเด้งหนึบหนับจนต้องติดใจ
อาหารควรกิน-เลี่ยง “ลองโควิด” หลังหายจากโควิด แต่ยังป่วยอยู่ ต้องรับมืออย่างไร
ที่มา : pobpad, hellokhunmor
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!