อาการคนท้อง อาการท้อง ในแต่ละเดือน เป็นอย่างไร ตั้งแต่เดือนแรกจนเดือนสุดท้าย คุณแม่รู้ไหมว่าคุณท้องต้องเจอกับอะไรบ้างในแต่ละเดือน วันนี้ทาง theAsianparent จะมาอธิบายถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และอาการต่าง ๆ ที่คุณแม่ต้องเตรียมรับมือในระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย
- เต้านมเริ่มเปลี่ยน : ร่างกายของคุณจะแสดงอาการคล้ายกับก่อนมีประจำเดือน เช่น เจ็บเต้านม ปัสสาวะบ่อย แต่จะมีอาการเพิ่มหน่อย เช่น อ่อนเพลีย ง่วงนอน และอาจมีเส้นเลือดขึ้นบริเวณเต้านมค่ะ
- มีมูกเหนียวข้น : ในช่วงนี้ ร่างกายจะเริ่มผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการผลิตมูกข้นเพื่อมาปิดช่องปากมดลูกไว้ ไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปถึงตัวลูกค่ะ แต่ว่าพอใกล้คลอดปากมดลูกก็จะบางและเริ่มเปิดขึ้น ทำให้อาจเกิดเป็นมูกเลือดได้ค่ะ
- ประจำเดือนหยุด : หลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก ถุงน้ำรังไข่จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อดูแลครรภ์ ทำให้รังไข่หยุดผลิตไข่ คุณแม่จึงขาดประจำเดือนในรอบถัดมานั่นเองค่ะ
- อารมณ์แปรปรวน : คุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่าหงุดหงิดง่าย ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ รู้สึกหวาดกลัวต่าง ๆ นานา บางคนอาจเป็นทันที แต่บางคนอาการจะแสดงช้ากว่านี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : อ่านอาการคนท้องเดือนแรก ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์แรกอย่างละเอียด
อาการคนท้องในเดือนที่ 2
- เจ็บเต้านม : ในช่วงนี้ คุณแม่จะรู้สึกถึงอาการคัดเต้า เจ็บตึงบริเวณเต้านม หากสังเกตจะเห็นว่าฐานของหัวนมจะมีขนาดกว้าง และนุ่มมากขึ้นค่ะ
- มีตกขาว : คุณแม่จะมีตกขาวมากกว่าปกติ เนื่องจากจะมีเลือดไปเลี้ยงช่องคลอดและอวัยวะเพศภายนอกมากขึ้นถึงร้อยละ 25 รวมถึงใช้ในระบบหมุนเวียนของรก ทำให้คุณแม่บางครั้งคุณแม่จะเห็นว่าอวัยวะเพศสีคล้ำขึ้น
- มีอาการแพ้ท้อง : คุณแม่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหม็นไปหมดทุกอย่าง บางครั้งก็อยากลองกินอาหารแปลก ๆ หรือบางคนก็กินอะไรไม่ได้เลย หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้ แนะนำให้ดื่มน้ำขิงจะช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ค่ะ
- อารมณ์แปรปรวน : คุณแม่ยังคงมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาอยู่ แต่บางคนยังรู้สึกเหนื่อยล้า หรือเหนื่อยง่ายมากขึ้น ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการขาดพวกธาตุเหล็กและโปรตีน ดังนั้น คุณแม่ควรทานอาหารให้ครบถ้วนมากขึ้น
- หิวบ่อย : สำหรับคุณแม่บางคนจะรู้สึกว่าช่วงนี้ตัวเองจะกินเก่ง หิวบ่อย นั่นเป็นเพราะว่าร่างกายเกิดการเผาผลาญอาหารมากขึ้น เพราะร่างกายต้องการพลังงานมากขึ้น ดังนั้น คุณแม่ควรทานโปรตีนและแป้งให้เพียงพอให้แต่ละมื้อค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อ่านอาการคนท้องเดือนที่ 2 ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 8 อย่างละเอียด
อาการคนท้องในเดือนที่ 3
- หลอดเลือดขยายตัว : ในเดือนนี้คุณแม่บางคนจะรู้สึกว่าตัวเองอาจมีอาการบวมที่แขนหรือขาเล็กน้อย ซึ่งสาเหตุมาจากการฮอร์โมนส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้ปริมาณเลือดไหลเข้าสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น ในช่วงนี้คุณแม่อาจมีความดันต่ำ ให้ระวังอาการหน้ามืดไว้นะคะ
- น้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลง : คุณแม่บางคนอาจมีน้ำหนักตัวที่ลดลงเนื่องจากอาการแพ้ท้อง ส่วนบางคนก็อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของทารก หากน้ำหนักที่เพิ่มไม่เกิน 2 กก. อาจมาจากทารก 48 กรัม ที่เหลือเป็นน้ำหนักของมดลูก เต้านม รก น้ำคร่ำ และปริมาณเลือดค่ะ
- เจอยอดมดลูก : หากคุณแม่ไปตรวจครรภ์จะเห็นว่าคุณหมอจะตรวจร่างกายเพื่อดูขนาดของทารกในครรภ์ ซึ่งถ้าคุณแม่คลำจะเจอยอดมดลูกบริเวณหัวหน่าว ซึ่งเป็นตัวการันตีได้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์แน่นอนค่ะ
- อารมณ์แปรปรวน : คุณแม่อาจยังมีอารมณ์ที่ไม่แน่นอน แต่หลังจากเดือนนี้คุณแม่จะรับมือต่าง ๆ ได้ดีขึ้น อารมณ์แปรปรวนจะน้อยลงค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อ่านอาการคนท้องเดือนที่ 3 ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 12 อย่างละเอียด
อาการคนท้อง ในเดือนที่ 4
- หน้าท้องเริ่มออก : คุณแม่หลายคนกังวลว่าทำไมท้องไม่ออกเลย ในเดือนนี้จะเริ่มเห็นบ้างแล้วค่ะ เพราะมดลูกจะเริ่มเข้าสู่ช่วงท้องแล้ว เนื่องจากทารกในครรภ์เริ่มโตขึ้น และเริ่มเห็นเส้นดำ ๆ กลางหน้าท้องด้วยค่ะ
- หัวใจเต้นเร็วขึ้น : ร่างกายของคุณแม่ต้องสูบฉีดเลือดให้เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงของร่างกาย ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นค่ะ
- หัวนมคล้ำ : หากคุณแม่สังเกตที่เต้านมจะรู้สึกว่าหัวนมเริ่มดำ หรือมีสีคล้ำขึ้น และเห็นเส้นเลือดเป็นสีเขียว ๆ ชัดขึ้น อีกทั้งเวลาที่สัมผัสก็จะรู้สึกเจ็บค่ะ
- เริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้น : คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกตอดเป็นคลื่น ๆ ในช่วงต้น ๆ เดือน พอปลายเดือนคุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงลูกดิ้นครั้งแรกแล้วค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อ่านอาการคนท้องเดือนที่ 4 ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 16 อย่างละเอียด
อาการคนท้องในเดือนที่ 5
- เริ่มเป็นตะคริว : คุณแม่บางคนจะเริ่มรู้สึกว่าช่วงนี้ทำไหมตัวเองรู้สึกขาชา ตัวชาบ่อย บ้างก็เป็นตะคริวนาน ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการได้รับแคลเซียมที่ไม่เพียงพอค่ะ อย่างไรก็ตาม อาการนี้พบบ่อยในคนท้องมาก
- เริ่มเกิดท้องลาย : คุณแม่จะเริ่มมีอาการเปลี่ยนแปลงตามร่างกายจะเริ่มมองเห็นเส้นเลือดฝอยขึ้นตามส่วนต่าง ๆ เช่น ใบหน้า และแขน บางคนขึ้นเป็นริ้ว ๆ ที่หน้าท้อง และมีอาการคันเพราะหน้าท้องเริ่มขยาย และอาจเริ่มมีอาการท้องลายได้
- ลูกดิ้น : หากเดือนที่แล้วคุณแม่ยังไม่รู้สึกถึงลูกดิ้น เดือนนี้คุณแม่จะรู้สึกถึงลูกดิ้นแน่ ๆ ค่ะ ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ
- ร้อนง่าย : เนื่องจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ทำงานหนักมากขึ้น คุณแม่จะรู้สึกว่าช่วงนี้ตัวเองกลายเป็นคนขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย และหายใจหอบด้วย เพราะฉะนั้นพยายามหลีกเลี่ยงในที่ที่มีคนเยอะ ๆ หรือที่แออัดนะคะ
- เกิดอาการต่าง ๆ : คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงอาการต่าง ๆ เช่น ปัสสาวะอักเสบ เป็นกรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย และท้องผูกค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อ่านอาการคนท้องเดือนที่ 5 ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 17-20 แบบละเอียด
อาการคนท้องในเดือนที่ 6
- อาการปวดเมื่อยตามชายโครง : เนื่องจากขนาดของครรภ์คุณแม่ใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดการเสียดสีที่ชายโครงคุณแม่จึงรู้สึกปวด และบางครั้งอาจไปกดทับเอากระเพาะอาหารและเกิดแสบร้อนได้
- มดลูกหดเกร็ง : ให้ช่วงนี้คุณแม่อาจรู้สึกปวดท้องบ้าง ซึ่งสาเหตุมาจากการหดเกร็งของมดลูกและเกิดการเสียดท้องน้อย ในขณะที่คุณแม่เปลี่ยนอิริยาบถในทันที
- เป็นตะคริวบ่อย : อีกสิ่งหนึ่งมาจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อช่วงน่อง ต้นขา และปลายเท้า ทำให้เกิดตะคริวขึ้นบ่อย ๆ ค่ะ
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น : โดยปกติแล้วคุณแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอาทิตย์ละประมาณครึ่งกิโลกรัม หากคุณแม่ยังรู้สึกว่าท้องเล็กอยู่ก็ไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะไม่ได้แปลว่าลูกในท้องจะตัวเล็กไปด้วย
- เกิดโรคแทรกซ้อน : คุณแม่ควรระมัดระวังในเรื่องของอาหารการกิน และหมั่นดูแลสุขภาพให้ดี เพราะคุณแม่อาจเกิดภาวะเสี่ยงต่าง ๆ เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : อ่านอาการคนท้องเดือนที่ 6 ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 21-24 อย่างละเอียด
อาการคนท้องในเดือนที่ 7
- นอนลำบาก : ตอนนี้ท้องคุณแม่ใหญ่แล้วจะนอนก็ลำบาก นอนก็ไม่ค่อยหลับ ไม่สบายตัว หากคุณแม่รู้สึกแบบนี้ แนะนำให้นอนตะแคงซ้ายแล้วใช้หมอสอดระหว่างขา เพื่อให้นอนได้สบายมากขึ้นค่ะ
- อาการปวดหลัง : มาในเดือนนี้คุณแม่หลายท่านมักจะมีอาการปวดหลัง เพราะว่าต้องพยุงน้ำหนักของครรภ์ที่มากขึ้น อีกทั้งกระดูกเชิงกรานเกิดการขยายตัวเพื่อรองรับน้ำหนักทำให้คุณแม่เกิดอาการปวดหน่วง ๆ ด้วยเช่นกันค่ะ
- ปัสสาวะบ่อย : แน่นอนว่าเมื่อหน้าท้องที่ใหญ่ ขนาดตัวของทารกที่โตขึ้น ทำให้เกิดการกดทับที่กระเพาะปัสสาวะ คุณแม่จึงเข้าห้องน้ำบ่อย บางคนก็ปัสสาวะเล็ดเพราะลูกดิ้นด้วยค่ะ
- น้ำนมไหล : คุณแม่บางท่านอาจเกิดภาวะน้ำนมไหลซึม หากสังเกตดูจะเห็นว่าน้ำนมมีสีเหลืองใสค่ะ ซึ่งเกิดจากที่ร่างกายเริ่มเตรียมพร้อมก่อนที่จะคลอด
- น้ำหนักขึ้นเร็ว : คุณแม่จะรู้สึกว่าน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ รู้สึกอึดอัด บ่อยครั้งที่กินได้น้อยลง และเริ่มรู้สึกว่าอาหารไม่ย่อย ดังนั้น คุณแม่ควรแบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อย ๆ และเคี้ยวให้ละเอียดมากขึ้นก็จะช่วยได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อ่านอาการคนท้องเดือนที่ 7 ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 25 – 28 อย่างละเอียด
อาการท้อง ในเดือนที่ 8
- ปวดหน่วง ๆ : อาการนี้คุณแม่อาจเป็นมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว แต่มาเดือนนี้จะรู้สึกมากขึ้น เนื่องจากบริเวณข้อต่อของกระดูกเชิงกรานเกิดการหย่อนตัว ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดหน่วง ๆ ระหว่างเปลี่ยนอิริยาบถไม่ว่าจะเดิน นั่ง หรือเปลี่ยนท่านอนค่ะ
- เจ็บท้องเตือน : ช่วงนี้มดลูกของคุณแม่จะเกิดอาการหดตัวเป็นระยะ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การคลอดลูกจริง ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดท้องและท้องแข็งเป็นระยะ โดยที่จะรู้สึกว่าท้องนูนแข็งครั้งละไม่เกิน 30 นาที
- เกิดอาการจุกเสียด : เมื่อยอดมดลูกเกิดการขยายตัวไปเบียดเอายอดอกและชายโครง ทำให้คุณแม่เกิดอาการจุกเสียดเอาได้ง่าย หากสังเกตจะเห็นว่าสะดือคุณแม่จะตื้นขึ้นและมีสีคล้ำลง อีกทั้งเส้นดำกลางลำตัวจะมีสีที่เข้มขึ้นด้วยค่ะ
- เท้าบวม : ในเดือนนี้คุณแม่จะเห็นเท้าตัวเองบวมง่าย ซึ่งสาเหตุมาจากการที่น้ำหนักตัวที่กดทับหลอดเลือดดำใหญ่ด้านหลังลำตัว ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีอาการเท้าบวมมาก ๆ แนะนำให้พบแพทย์นะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการคนท้องเดือนที่ 8 ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 29 – 32 แบบละเอียด
อาการคนท้องในเดือนที่ 9
- หน้าท้องลด : ทารกจะเริ่มกลับหัว ทำให้หน้าท้องลดลง ช่วงนี้คุณแม่จึงรู้สึกหายใจได้สะดวกมากขึ้น แต่ระยะเวลาที่ทารกเริ่มกลับหัวไม่แน่นอนค่ะ บางคนก็เกิดขึ้นเร็วบางคนก็ช้าคุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ
- นอนไม่ค่อยหลับ : ด้วยความที่ท้องโตมาก ๆ คุณแม่จึงนอนยาก ไหนจะลูกดิ้นแรง ไหนจะลุกเข้าห้องน้ำบ่อย และอาการปวดต่าง ๆ นาน ทำให้การนอนของคุณแม่เริ่มยากขึ้น ดังนั้น คุณแม่อาจจะอาศัยการงีบหลับเพิ่มในระหว่างวัน และอย่าลืมหนุนเท่าให้สูงกว่าลำตัวเล็กน้อยเวลานอนด้วยนะคะ
- กังวลมากขึ้น : ยิ่งใกล้กำหนดคลอดคุณแม่ก็จะยิ่งกังวล เพราะต้องกังวลว่าเตรียมของให้ลูกครบหรือยัง ลูกจะคลอดเมื่อไหร่ ปวดท้องบ่อย ๆ แบบนี้จะคลอดหรือยังนะ และอีกสารพัด ทำให้คุณแม่เครียด และอาการอารมณ์แปรปรวนอาจกลับมาได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อ่านอาการคนท้องเดือนที่ 9 ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 33 – 36 แบบละเอียด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องนอนไม่หลับกลางคืน ทำอย่างไรดี วิธีแก้อาการนอนไม่หลับแบบได้ผล!
น้ำคร่ำน้อย น้ำคร่ำมาก อันตรายไหม แม่ท้องมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไรได้บ้าง
แม่ท้องฉีดวัคซีน หรือยัง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ ป้องกันภาวะปอดอักเสบ
ที่มา: mamastory
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!