ลูกขี้กลัว ทำอย่างไรดี? วิธีช่วยลูกจัดการ และก้าวข้ามความกลัว เชื่อได้เลยว่าหลายคนที่เป็นคุณพ่อ คุณแม่แล้วต่างก็ยังมีความกลัวบางสิ่งบางอย่างอยู่บ้าง และสำหรับลูกของเราที่ยังเด็กอยู่ก็ต้องมีความกลัวเยอะมากแน่ ๆ เรามาลองหาวิธีสำหรับ ลูกขี้กลัว กันดีกว่าค่ะ
ความกลัว คืออะไร?
ความกลัว เป็นอารมณ์หนึ่งที่ถูกแสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติของมนุษย์ โดยความกลัวนั้นเป็นการตอบสนองทางอารมณ์ต่อคน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้แต่บางสิ่งที่เป็นเพียงแค่นามธรรม ซึ่งความกลัวของแต่ละบุคคลนั้นจะมีระดับความกลัวที่แตกต่างกันออกไป หรือในบางครั้งความกลัวจะเป็นเครื่องเตือนให้เราทราบได้ว่าตนเองตกอยู่ในอันตราย หรือกำลังถูกคุกคามทางร่างกาย และจิตใจนั่นเอง ในบางกรณีความกลัวที่เกิดจากการคุกคามที่เคยเกิดขึ้นจริง และอาจส่งผลทำให้พวกเขาวิตกกังวล ตระหนก หรือเครียดที่จะอยู่ในสถานการณ์ หรือพบกับอันตรายนั้นอีกครั้ง
ลูกขี้กลัว นั้นกลัวอะไรกันบ้าง
การที่ลูกขี้กลัวนั้นถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งเด็กแต่ละบ้านนั้นมีความกลัวที่แตกต่างกันออกไป ตามแบบฉบับของตนเอง และความรู้สึกกลัวของพวกเขาในช่วงอายุหนึ่ง อาจเปลี่ยนแปลงหากพวกเขามีอายุที่มากขึ้น โดยความกลัวที่มักพบบ่อยในเด็ก มีดังต่อไปนี้
- กลัวการอยู่คนเดียว จะเห็นได้ว่าในเด็กช่วงอายุประมาณ 1-3 ปีจะอยู่ติดกับคุณแม่ แทบจะตลอดเวลา เพราะพวกเขากลัวว่าแม่ของเขานั้นจะหายไป และเขาต้องอยู่เพียงตัวคนเดียว
- ความมืด ถึงแม้ว่าพวกเขาจะชอบนอนมากแค่ไหน แต่ความมืดก็มักจะน่ากลัวสำหรับเด็กเล็กเสมอ และถ้าหากพวกเขาตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วไม่พบใครแล้วหละก็ ยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่
- สุนัข หรือสัตว์ตัวใหญ่ ในช่วงวัยเด็กเล็กที่เพิ่งเริ่มเดิน หรือวัยแรกเข้าโรงเรียน พวกเขาไม่มีความกล้ามากพอที่จะเผชิญหน้ากับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวของพวกเขาเอง ไม่เพียงแต่สัตว์เลี้ยงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์ในสวนสัตว์ด้วย
- ความสูง การที่ตัวของพวกเขาไม่ได้สูงมากนัก ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เขามักจะกลัวความสูงได้ เพราะพวกเขาจะรู้สึกไม่ปลอดภัย หากจะต้องยืนมองลงไปยังพื้นที่ดูเหมือนไกล และอันตราย
- การไปหาหมอ และเข็มฉีดยา เรื่องปกติที่สุดที่เชื่อว่าเด็ก ๆ หลายบ้านมักงอแงทุกครั้งที่ถูกพาไปหาคุณหมอ ทั้งกลิ่นของโรงพยาบาล หรือแม้แต่เครื่องมือภายในห้องตรวจสีเงินสะท้อนรับกับแสงไฟที่เย็บเฉียบ และเข็มฉีดยาที่มีปลายแหลม ทำให้พวกเขาไม่อยากที่จะไปหาคุณหมอสักเท่าไหร่
- เสียงที่ไม่คุ้นเคย หรือเสียงดัง การที่เด็ก ๆ ได้ยินเสียงที่ไม่คุ้นเคย อย่างเสียงของเครื่องมือในร้านหมอฟัน หรือเสียงที่ดังมาก ๆ อย่างฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ก็อาจทำให้พวกเขาเกิดความกลัวได้ เพราะพวกเขานั้นอาจรับรู้ได้ถึงความอันตรายที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า
- สัตว์ประหลาดในจินตนาการ หรือผี เด็กเล็ก หรือเด็กที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโตนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่พวกเขามักจะเก่งเรื่องการจินตนาการ เขาสามารถสร้างสัตว์ประหลาดที่น่ากลัว หรือจินตนาการถึงสิ่งต่าง ๆ และสร้างมันขึ้นมาเป็นรูปร่างได้ โดยที่พ่อแม่อย่างเรานั้นไม่มีทางได้เห็น ซึ่งการจินตนาการพวกนั้นก็นำไปสู่ความกลัวของพวกเขาได้
บทความที่น่าสนใจ : ลูกกลัวทะเล โรคนี้อันตรายไหม จะรับมือยังไงได้บ้าง มาดูกัน!!
วิธีก้าวข้ามความกลัวสำหรับ ลูกขี้กลัว
การพาลูกก้าวข้ามความกลัวนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากอย่างที่คุณคิด เพราะสำหรับเด็ก ๆ แล้วคุณอาจเป็น Safe Zone ของพวกเขาที่พวกเขาต้องการมากที่สุดเมื่อเกิดความกลัว การเรียนรู้ที่จะรับมือ และฟังความเห็นของเด็ก ๆ นั้นคุณสามารถทำมันได้ เพียงแค่คุณต้องเริ่มลองลงมือทำ ก่อนที่จะเพียงแค่บอกให้พวกเขาเลิกกลัว
1. สร้างความกล้า แทนความกลัว
ในบางครั้งที่ลูกของคุณวิ่งร้องไห้มาหา หรือแม้แต่พวกเขานั่งร้องไห้ และเก็บตัวอยู่ในห้อง ขั้นตอนพื้นฐานที่คุณควรทำคือการพูดกับพวกเขาว่า “ไม่มีอะไรต้องกลัว” หรือ“คุณอยู่ตรงนี้แล้ว” ถึงแม้ว่าคำพูดประเภทนี้จะทำให้เด็ก ๆ กลัวน้อยลงบ้างก็ตาม แต่คุณควรลองเปลี่ยนเป็นการสร้างความกล้าให้กับพวกเขาแทน โดยการพูดว่า “มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่พวกเขาคิด” หรือ “เราสามารถเอาชนะมันได้” เป็นคำพูดที่จะพาลูกของคุณให้ก้าวข้ามความกลัวได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ใช่เพียงแค่คุณคอยปลอบพวกเขา แต่เป็นสอนให้เขากล้าที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวของพวกเขาเอง โดยมีคุณคอยดูแลอยู่ข้างหลัง
2. ใช้เหตุ และผลในการอธิบาย
ลูกขี้กลัวของคุณ มักจินตนาการไปต่าง ๆ นานา ทำให้พวกเกิดความกลัวขึ้นเอง ซึ่งนั่นอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาได้ และแน่นอนว่าพวกเด็ก ๆ บางครั้งก็ไม่สามารถตอบคำถามคุณเองได้ด้วยซ้ำว่าเขากำลังกลัวอะไร คุณควรจะถามเขาว่า “ทำไมเขาถึงกลัว” หรือ “คิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะทำร้าย หรือคุกคามหรือเปล่า” เพื่อเป็นคำถามปลายเปิดให้กับพวกเขาได้อธิบายสิ่งที่พวกเขากลัว ถ้าหากเป็นเพียงแค่ความกลัวที่มาจากจินตนาการ คุณเพียงแค่อธิบายให้พวกเขาฟังว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง หรือไม่มีทางทำร้ายพวกเขาได้ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องจริงที่พวกเขาประสบมา ไม่ว่าจะเป็นการถูกคุกคามทั้งทางร่ายกาย หรือจิตใจ คุณควรระวังให้มากขึ้น หรืออาจต้องดูแลพวกเขาเป็นพิเศษ
3. จดจำ และไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ
ความกลัวที่เกิดขึ้นจากการมีประสบการณ์ตรง หรือประสบการณ์ร่วมนั้นเหมือนเป็นฝันร้ายที่ทำให้เกิดบาดแผลที่ฝังลึกอยู่ภายในใจของเด็ก ๆ ที่ส่งผลทำให้ลูกขี้กลัวของคุณนั้นยิ่งกลัวเข้าไปใหญ่ โดยสิ่งเหล่านั้นมีโอกาสที่ส่งผลกระทบถึงความกลัวในวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ได้ ซึ่งคุณควรที่จะจดจำรายละเอียดของเรื่องราว และระวังไม่ให้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 อาทิ เด็กอาจกลัวน้ำทะเล เพราะเคยจมน้ำมาก่อน หรือแม้แต่การถูกทำร้ายจากโรงเรียนที่ทำให้พวกเขากลัวที่จะไปโรงเรียน เป็นต้น
บทความที่น่าสนใจ : แผลบาดทะยัก เป็นแบบไหน จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเป็นโรคบาดทะยัก
4. ทำให้พวกเขาเห็นว่าสิ่งที่เขาคิดไม่ได้น่ากลัว
จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ แต่หากสิ่งที่พวกเด็ก ๆ คิดกำลังส่งผลทำให้พวกเขากลายเป็นเด็กขี้กลัว และไม่สามารถทำกิจกรรม หรือเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ ได้ตัวตนเอง บางครั้งอาจเป็นเพียงจินตนาการของพวกเขาที่คิดไปก่อนว่าสิ่งเหล่านั้นน่ากลัว ทั้งที่พวกเขายังไม่เคยลองทำ คุณควรทำให้พวกเขาเห็นว่าสิ่งที่คิดไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น เช่น การที่พวกเขากลัวการให้อาหารสัตว์ตัวใหญ่ ด้วยขนาดตัวที่แตกต่าง ทำให้พวกเขาไม่กล้าที่จะทำ ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะเข้าไปพวกเขาต่างให้ความรักกับสัตว์เหล่านั้นเป็นอย่างมาก คุณควรทำเป็นตัวอย่างให้พวกเขาได้ดูว่าไม่มีอันตรายเกิดขึ้น และให้พวกเขาลองอีกครั้งพร้อมกับจับมือ หรืออุ้มพวกเขาไว้ เพื่อให้เขาแน่ใจว่ายังมีคุณอยู่นั่นเอง
ความกลัวเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใคร หากสิ่งที่คุณกำลังจะปลอบโยนเด็ก ๆ คือการให้พวกเขาทำมันเพียงลำพังแล้วหละก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดที่สุด เพราะลูกขี้กลัวจะก้าวผ่านความกลัวไปได้ ต้องคอยมีคนอยู่ข้างพวกเขา เพื่อที่จะคอยซัพพอร์ตเขาให้เอาชนะความกลัวเหล่านั้นได้ และหากความกลัวของลูกของคุณส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา คุณควรพาเด็ก ๆ ไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะความกลัวนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจของพวกอยู่ก็เป็นได้
บทความที่น่าสนใจ :
สู้กับความกลัว เมื่อคุณตั้งครรภ์อีกครั้งหลังแท้งมาก่อน ต้องสู้อีกครั้ง
เด็กเล่นน้ำฝน มีประโยชน์ อันตราย หรือแค่ทำให้เป็นหวัด
ภาษามือเด็ก สื่อสารกับทารกผ่านภาษามือง่าย ๆ เพื่อให้เข้าใจลูกน้อยมากยิ่งขึ้น
ที่มา : kidshealth, understood, childmind
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!