เมื่อพูดถึงคำว่า “สติ” หลาย ๆ คนคงจะคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นคำที่มีอยู่ในสังคมไทยและชีวิตประจำวันของเรามานาน ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยา ได้นำ “การมีสติ” (Mindfulness) มาประยุกต์ใช้ในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ใช้ประกอบการบำบัดทางจิตวิทยาเพื่อให้การบำบัดนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ การเพิ่มทักษะการมีสติเพื่อเพิ่มหรือลดอะไรบางอย่างในตัวบุคคล
ที่ผ่านมา… ในทางจิตวิทยา การมีสติมักจะถูกใช้กับผู้ใหญ่ เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันความคิดและความรู้สึกของตนเอง โดยการมีสติถูกใช้อย่างมากกับการลดความเครียด ภาวะซึมเศร้า หรือ ความเจ็บปวดทางร่างกาย และในเมื่อ “การมีสติ” มีประโยชน์มากมายกับผู้ใหญ่ นักจิตวิทยาจึงพยายามที่จะนำการมีสติมาใช้กับเด็กด้วย…
แต่… เมื่อจะนำการมีสติมาใช้กับเด็ก ๆ จึงต้องพยายามทำให้ คำว่า “การมีสติ” มีความชัดเจนและง่าย เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้กับเด็กให้ได้มากที่สุด
การมีสติ ฉบับเด็ก ๆ คืออะไร ?
จากงานวิจัยโดยการสัมภาษณ์เด็ก ๆ ที่เคยมีประสบการณ์ในการฝึกสติ ผู้ปกครองของเด็ก และคุณครูที่เคยมีประสบการณ์ในการฝึกสติ เพื่อหาคำตอบว่า…การมีสติฉบับเด็ก ๆ คืออะไร ?
พบว่า การมีสติ ฉบับเด็ก ๆ ควรเน้นที่ การตระหนักรู้ (Awareness) และการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น (Acceptance)
แล้ว… แต่ละอย่างมันหมายถึงอะไรกันล่ะ ???
การตระหนักรู้ คือ การที่เด็กรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับพวกเขา
คำว่า “อะไร” ในที่นี้คือ สิ่งที่เด็กสามารถเห็นได้ สัมผัสได้ ได้ยินได้ หรือรับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 นั่นเอง…
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง ความคิด อารมณ์ และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งการที่เด็กสามารถตระหนักรู้ หรือ รู้ตัวว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับเขานั้น สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ความสามารถในการควบคุมตนเอง (Self-control) ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเอง หรือ สามารถยับยั้งชั่งใจได้
ส่วน การยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น คือ การยอมรับว่า… อะไรก็ตามที่กำลังเกิดขึ้นนั้น มันกำลังเกิดขึ้นจริง ๆ !!!
เด็ก ๆ ไม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และยอมรับว่ามันได้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ โดยไม่พยายามหลีกหนีหรือหลีกเลี่ยง พฤติกรรมหลีกหนีของเด็ก ๆ อย่างหนึ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนคือ การไม่ยอมไปโรงเรียน (School refusal) ดังนั้น…. การฝึกให้เด็กกล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น จะช่วยลดพฤติกรรมหลีกหนีหรือหลีกเลี่ยงของเด็ก ๆ ได้
สมมติว่า… เด็กทำผิดและถูกคุณครูลงโทษ
หากเด็กมีสติแบบง่าย ๆ ฉบับเด็ก ๆ (ที่ประกอบไปด้วย การตระหนักรู้ และ การยอมรับ)
สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้คือ… เด็กจะรู้และเข้าใจได้ว่า อะไรคือสิ่งที่เด็กทำผิดพลาด รวมไปถึง ความคิดหรือความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะผ่านการพูดคุยและการอธิบายโดยผู้ใหญ่ และ ยอมรับว่าตนเองทำผิด ยอมรับในความรู้สึกผิด โดยไม่พยายามปกปิด
ดังนั้น… การมีสติฉบับเด็ก ๆ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับตนเองได้ละเอียดยิ่งขึ้น
ทั้งในแง่ของสาเหตุ ความเป็นไปของเหตุการณ์ (ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 อารมณ์ และ ความคิด) และผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ…
และเมื่อเด็กต้องเจอกับเหตุการณ์อื่น ๆ ในอนาคต…
การมีสติฉบับเด็ก ๆ จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถตัดสินใจและตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมต่อไป….
บทความโดย อาจารย์ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล (อาจารย์น้ำฝน)
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เอกสารอ้างอิง
Felver, J. C., Doerner, E., Jones, J., Kayne, N., & Merrell, K. W. (2013). Mindfulness in school psychology: applications for intervention and professional practice. Psychology in the Schools, 50(6), 531-547.
Raveepatarakul, J. (2013). The developments of mindfulness inventory scale and mindfulness enhancement program for eight-to eleven-year-old children. Doctoral dissertation. Bangkok: Chulalongkorn University.
Raveepatarakul, J., Suttiwan, P., Iamsupasit, S., & Mikulas, W. L. (2014). A mindfulness enhancement program for Thai 8-to 11-year-old children: effects on mindfulness and depression. Journal of Health Research, 28(5), 335-341.
Rempel, K. D. (2012). Mindfulness for children and youth: a review of the literature with an argument for school-based implementation. Canadian Journal of Counseling and Psychotherapy, 46(3), 201-220.
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!