อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิด แต่ไม่อยากรับประทานยาคุมกำเนิดแบบรายเดือน รวมถึงการฉีดยาคุมกำเนิด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยการใช้ ยาคุมแบบแปะ ติดไว้บริเวณผิวหนัง บนพื้นที่ที่กำหนดไว้ จะช่วยให้กระบวนการการคุมกำเนิด สามารถทำงานได้ไม่แตกต่างกับการคุมกำเนิดในรูปแบบอื่น ๆ หากแต่ยังมีหลายคนยังคงตั้งข้อสงสัยว่า ยาคุมแบบแปะ นี้ จะสามารถคุมกำเนิดได้จริงหรือไม่ และวันนี้เราได้หาคำตอบมาให้แล้วค่ะ
ยาคุมกำเนิดแบบแปะ คืออะไร?
ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า ยาคุมกำเนิดชนิดแปะผิวหนัง (Birth Control Patch) เป็นอีกหนึ่งวิธีการคุมกำเนิด ที่ถูกพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์สำหรับผู้ที่มีปัญหาจากการทานยาฮอร์โมน รวมถึงการฉีดยาคุมกำเนิด โดยแผ่นที่แปะนั้นจะมีลักษณะเป็นแผนบาง มีสีเนื้อ และมีความยืดหยุ่น ตัวแผนจะมีส่วนประกอบของฮอร์โมนที่ช่วยในการคุมกำเนิด ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดเดียวกันกับ ยาคุมกำเนิด และยาฉีดเพื่อการคุมกำเนิดนั่นเอง
โดยมากแผ่นแปะนี้จะนำมาแปะบริเวณสะโพก หน้าท้อง แผ่นหลังช่วงบน หรือบริเวณต้นแขนด้านนอก ซึ่งเป็นบริเวณที่ผิวหนังมีความบอบบาง พอที่จะสามารถนำตัวยาจากแผ่นแปะ ดูดซึมผ่านผิวหนัง เพื่อเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อนำไปทำปฏิกิริยาโดยตรงกับมดลูกนั่นเอง
ซึ่งจากการทดสอบนั้น พบว่า ความสามารถในการป้องกันการตั้งครรภ์สำหรับแผ่นแปะคุมกำเนิดนั้น เทียบเท่ากับการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด หากคุณใช้อย่างถูกวิธี
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ยาคุมยี่ห้อไหนดี ยาคุมแต่ละยี่ห้อ มีความแตกต่างกันอย่างไร?
ยาคุมแบบแปะ ทำงานอย่างไร?
ยาคุมแบบแปะ หรือยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง จะเป็นแผ่นยาที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป โดยมากที่พบเห็นจะมีทรงสี่เหลี่ยม หรือทรงกลม โดยมากผู้ผลิตจะผลิตออกมาเป็นสีเนื้อ หรือสีน้ำตาลอ่อน เพื่อให้กลมกลืนกับผิว
ยาคุมชนิดแผ่นแปะนี้จะเป็นแผ่นรองยา เป็นลักษณะของแผ่นฟิล์มพลาสติก หรือผ้าใยสังเคราะห์ สามารถยืดหดได้ เพื่อช่วยป้องกันตัวยาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยส่วนประกอบที่อยู่รองจากตัวฟิล์มนั้นจะเป็นสารเหนียว (adhesive) ที่มีทั้งตัวยาฮอร์โมน และส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อการคุมกำเนิด
โดยการใช้แผ่นแปะเพื่อการรคุมกำเนิดนั้น จะแปะยาสัปดาห์ละ 1 แผ่น ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 สัปดาห์ แล้วจึงเว้นไป 1 สัปดาห์ เพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติ จากนั้นจึงค่อยเริ่มแปะแผ่นยาคุมกำเนิดรอบใหม่
แผ่นยาคุมกำเนิดจะปล่อยตัวยาฮอร์โมนเพื่อให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง และร่างกายจะดูดซึมตัวยาฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด และนำไปสู่กระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลการคุมกำเนิดที่สมบูรณ์ ซึ่งมีผลไม่แตกต่างจากการรับประทานยาคุม หรือการฉีดยาคุม
ณ ปัจจุบัน มีผู้ผลิตแผ่นแปะคุมกำเนิด พยายามหาวิธีเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้ที่ต้องการใช้แผ่นแปะ เป็นทางเลือก ซึ่งเดิมที อาจจะต้องเปลี่ยนแผ่นแปะทุก ๆ 1 สัปดาห์ ก็จะพัฒนาให้มีการใช้แผ่นแปะเพื่อการคุมกำเนิดยาวนานถึง 1 เดือน โดยไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแผ่นแปะบ่อย ๆ เพื่อความสะดวกสบาย กับผู้ที่ใช้นั่นเอง
วิธีการใช้งาน ยาคุมแบบแปะ
- ให้เริ่มใช้แผ่นแปะยาคุมกำเนิด ภายใน 24 ชั่วโมง ของวันแรกที่ประจำเดือนมา และนับเป็นวันที่หนึ่งของการใช้ยาคุมกำเนิด จากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนแผ่นยา ให้ตรงกับวันที่เริ่มแปะแผ่นยาในทุก ๆ สัปดาห์ เช่น วันแรกที่คุณเริ่มแปะแผ่นยาเป็นวันจันทร์ ในวันจันทร์ถัดไปอีกหนึ่งสัปดาห์ คุณจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแผ่นยาอีกครั้งหนึ่ง
- สำหรับผู้ที่เริ่มใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดครั้งแรก ในช่วง 7 วันแรก ควรใช้การคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย
*ถ้าผู้ใช้มีรอบเดือนไม่ปกติ ก่อนใช้แผ่นยาคุมกำเนิดควรปรึกษาแพทย์ และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะการใช้อย่างไม่ถูกต้องจะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ แต่หากต้องการมีบุตร สามารถหยุดใช้ได้ทันที โดยภาวะตกไข่ธรรมชาติจะเริ่มกลับมาภายใน 1 – 2 รอบเดือนหลังจากหยุดแปะแผ่นยา
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : กินยาคุมตอนท้อง ท้องแล้วกินยาคุม จะอันตรายต่อลูกในท้องไหม
ข้อควรรู้ ในการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด
- ห้ามหยุดใช้ยา ถึงแม้ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ไม่บ่อยก็ตาม
- แจ้งแพทย์ให้ทราบทุกครั้งว่ามีการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นอยู่ เนื่องจากยาบางอย่างอาจลดประสิทธิภาพการคุมกำเนิดลง
- ผลข้างเคียง เช่น การเจ็บตึงหน้าอก คลื่นไส้ ปวดท้อง ปวดศีรษะ ระคายเคืองผิวหนังบริเวณแปะแผ่นยา จัดเป็นอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรงและเกิดขึ้นไม่บ่อย ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของผู้ใช้
- ภาวะท้องเสียหรืออาเจียน ไม่มีผลกระทบต่อการดูดซึมของฮอร์โมน
ข้อควรคำนึงในการใช้ แผ่นแปะคุมกำเนิด
- แผ่นแปะคุมกำเนิดมีตัวยาเป็นลักษณะของฮอร์โมนรวม ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิด และยาฉีดคุมกำเนิด ที่เรามักจะนิยมใช้กัน ดังนั้นจะส่งผลเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ไม่แตกต่างจากยาคุมกำเนิดทั่วไป เช่น ใครที่เคยเกิดอาการแพ้ยาเม็ดคุมกำเนิดมาก่อน สันนิษฐานได้ว่า การใช้แผ่นแปะก็จะมีอาการแพ้ไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัย
- แผ่นแปะคุมกำเนิดมีความปลอดภัย และความสามารถในการคุมกำเนิดเทียบเท่ากับการคุมกำเนิดด้วยการทานยา และการฉีดยา เพียงแค่วิธีนี้ จะเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบการรับประทานยาอยู่เป็นประจำ หรือการไปแพทย์เพื่อรับการฉีดยาคุมกำเนิดนั่นเอง
- การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดนี้ จะมีข้อกำหนดหลายอย่าง ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มใช้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการประเมินว่าคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่
- ต้องมั่นใจก่อนว่าคุณจะไม่ตั้งครรภ์ก่อนการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด หากไม่มั่นใจ ให้ทำการทดสอบการตั้งครรภ์ก่อน จะดีที่สุด
- การเปลี่ยนแผ่นยา เมื่อคุณแกะแผ่นยาเดิมออกแล้ว จำเป็นต้องรีบแปะแผ่นใหม่ทันที ไม่ควรแกะรอเอาไว้ล่วงหน้า
- การแปะแผ่นใหม่หลังจากครบกำหนดเว้นช่วง 7 วัน ให้เริ่มแปะแผ่นแรกของการคุมกำเนิดรอบใหม่ในวันรุ่งขึ้นโดยทันที ไม่ว่าวันนั้นประจำเดือนยังไม่มา หรือประจำเดือนยังไม่หมดก็ตาม
- หากช่วงพักยา 7 วันแล้ว ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันถึง 2 รอบของการคุมกำเนิด ให้ทำการทดสอบการตั้งครรภ์ หรือปรึกษาแพทย์โดยทันที หากทดสอบแล้วพบว่าเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น ให้หยุดแปะแผ่นยาโดยทันที
- ไม่ควรแปะยา 2 แผ่นในเวลาเดียวกัน แม้ว่าอีกแผ่นหนึ่งจะเป็นแผ่นเดิมที่เคยแปะเอาไว้ก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม
- หากความเหนียวของแผ่นยาลดลงจนไม่สามารถแปะใหม่ได้ หรือมีโอกาสหลุดล่อน ให้เปลี่ยนแผ่นใหม่โดยทันที ไม่ควรนำกาว หรือพลาสเตอร์อื่น ๆ มาแปะทับโดยเด็ดขาด
- ตัวแผ่นแปะควรมีลักษณะการแปะที่สมบูรณ์ ไม่หลุดลอก หรือเผยอออกมา หากพบว่ามีการเผยออก แนะนำให้เปลี่ยนแผ่นใหม่โดยทันที
- แน่นอนว่าแผ่นแปะคุมกำเนิดนั้น เป็นเพียงตัวยาฮอร์โมนที่ช่วยในการคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- หากจำเป็นจะต้องไปซื้อยาอื่น ๆ รับประทาน จำเป็นจะต้องแจ้งกับทางแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้ง ว่ามีการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด เพราะตัวยาที่ได้รับอาจจะไปทำปฏิกิริยากับตัวยาฮอร์โมน ก่อให้เกิดการรบกวนประสิทธิภาพของตัวยากันเอง หรืออาจเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ยาคุมกำเนิด ที่สาว ๆ ไม่ควรมองข้าม
ฉีดยาคุมกำเนิด ควรฉีดยาคุมตอนไหน ราคาเท่าไหร่ ดีหรือไม่ เรามีคำตอบ
ยาคุมฉุกเฉินกินตอนไหน ยาคุมฉุกเฉินมีกี่ประเภท กินอย่างไรให้ปลอดภัย
ยาคุมกินแล้วไม่อ้วน มีจริงไหม? กินยาคุมอย่างไรถึงไม่อ้วน?
ที่มา : pharmacy.mahidol , samitivejhospitals
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!