สาว ๆ หลายคน ที่เคยทานยาคุมกำเนิด แล้วเกิดปัญหาในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ฝ้า กระ หรือแม้แต่ ร่างกายที่มีความอวบอิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมาก แล้วจะมีหรือไม่ ยาคุมกินแล้วไม่อ้วน และจะต้องกินอย่างไร ถึงจะไม่อ้วน ความอวบอิ่มของร่างกายที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากยาคุมกำเนิดจริงหรือไม่ เรามาไขข้อสงสัยกันเลยค่ะ
ยาคุมกำเนิดกินแล้วอ้วนขึ้น จริงหรือไม่? ยาคุมที่กินแล้วไม่อ้วน มีจริงหรือ?
หลายคนประสบปัญหาจากการรับประทานยาคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นยาคุมกำเนิดแบบรายเดือน หรือแม้กระทั่งยาคุมฉุกเฉิน โดยมากหลังจากที่รับประทานยาเหล่านี้ไปแล้ว จะพบว่า รูปร่างของแต่ละคนจะดูอวบอิ่ม มีน้ำมีนวล มากยิ่งขึ้น จนเป็นสาเหตุให้สาว ๆ หลายคน เริ่มเป็นกังวลในเรื่องของน้ำหนักตัว
นั่นเป็นเพราะ ตัวยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่มีอยู่ในยาคุมกำเนิด จะเข้าไปเพิ่มความอยากอาหาร ในขณะที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนเมื่อมีปริมาณสูง ก็มักจะเพิ่มการกักเก็บน้ำมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดอาการบวมน้ำในช่วงแรก ๆ ซึ่งหลายคน จะเรียกอาการนี้ว่า “บวมยาคุม” แต่อาการนี้จะหายไปเอง เมื่อมีการกักเก็บน้ำในระยะหนึ่ง
อาการดังกล่าวข้างต้น เรียกได้ว่าเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายผู้หญิงค่ะ จะคล้ายกับช่วงที่ประจำเดือนหมดไปแล้ว 2 สัปดาห์ ร่างกายก็จะเริ่มเก็บกักของเหลว หรือน้ำ และอาหารแบบอัตโนมัติ เพื่อการเตรียมพร้อมในการปฏิสนธิของทารก แต่ถ้าหากไม่มีการปฏิสนธิของเหลวเหล่านั้นก็จะหายไป และเรามักจะเรียกอาการเหล่านี้ว่า “บวมน้ำ” ดังนั้นความอวบอิ่มที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ไขมันแต่อย่างใดค่ะ
ดังนั้นเราสามารถที่จะสรุปในเรื่องของอาการบวมของร่างกายที่เกิดขึ้นจากยาคุมกำเนิดได้ว่า หากคุณสาว ๆ เลือกใช้ยาคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นชนิดรายเดือน หรือยาคุมฉุกเฉิน ที่มีปริมาณฮอร์โมนสูง โอกาสที่ร่างกายจะเกิดอาการ “บวมยาคุม” ก็จะมีสูงตามไปด้วยเช่นกันค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 10 ข้อควรรู้ก่อนกินยาคุม ที่สาว ๆ ควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อน!
ทำไมกินยาคุมแล้วอ้วนขึ้น
แม้ว่าตัวยาที่อยู่ในส่วนประกอบของยาคุมกำเนิด จะทำให้ปริมาณของฮอร์โมนบางตัวในร่างกายสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการอยากอาหารมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุหลักของความอ้วน ดังนั้นเราอาจจะต้องไปดูที่พฤติกรรมการรับประทานอาหาร และไลฟ์สไตล์ของคุณเองมากกว่า ว่าปริมาณอาหารที่ทานไปนั้น ส่งผลกระทบทำให้เกิดการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือไม่
นิสัยการทานอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
- ทานอาหารที่มีปริมาณแคลอรี่สูง
- ทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตมากเกินปกติ เช่น แป้ง ไขมัน และน้ำตาล
- ระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติ
- ขาดการออกกำลังกาย
- ดื่มน้ำน้อย
- นอนดึก
- นั่งทำงานนาน ขยับตัวน้อย
- ชอบปาร์ตี้สังสรรค์เป็นประจำ สาเหตุของแอลกอฮอล์ทำให้อ้วนลงพุง
ยาคุมกินแล้วไม่อ้วน ยาคุมไม่อ้วน มีจริงไหม?
หากทำการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยว่า ความอ้วนของคุณ ไม่ได้เป็นผลจากพฤติกรรมการทาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน แต่น่าจะเป็นสาเหตุหลักมาจากยาคุมกำเนิดที่ทานอยู่ คราวนี้ก็ต้องมาดูกันว่า เราจะสามารถเลือก กินยาคุมแล้วไม่อ้วน ได้อย่างไร
- เลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนต่ำ : ในกรณีนี้สามารถขอคำปรึกษาจากเภสัชกรประจำร้านขายยานั้น ๆ ได้ค่ะ ซึ่งในท้องตลาดจะมียาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงแค่ 0.02 มิลลิกรัม ซึ่งจะช่วยลดอาการข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการบวมน้ำ หรือ บวมยาคุม ได้
- เลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีตัวยา “ดรอสไพรีโนน (Drospirenone)” ซึ่งเป็นตัวยาที่ช่วยลดอาการบวมน้ำที่เกิดขึ้นได้
- เลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่มีตัวยา “ไซโปรเตอโรน อะซิเตท (Cyproterone Acetate) ซึ่งจะช่วยลดอาการ หน้ามัน สิวเห่อ หรืออาการขนดก และยังช่วยให้ผิวพรรณมีน้ำมีนวลสดใสขึ้นอีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : กินยาคุมตอนท้อง ท้องแล้วกินยาคุม จะอันตรายต่อลูกในท้องไหม
ถ้าบวมยาคุม จะทำอย่างไรได้บ้าง?
หากคุณมีอาการ “บวมยาคุม” หรือ “บวมน้ำ” สาเหตุจากการทานยาคุมกำเนิด ต้องเข้าใจก่อนว่า อาการนี้จะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะอาการบวมนี้ ไม่ได้เกิดจากการที่ไขมันในร่างกายสะสม แต่เป็นเพียงแค่ผลข้างเคียงที่มาจากตัวยาฮอร์โมนที่อยู่ในยาคุมกำเนิด แต่ก็สามารถส่งผลทำให้เกิดความอ้วนได้ในอนาคต เนื่องจากตัวฮอร์โมนจะไปกระตุ้นอาการอยากอาหารให้มีมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลถึงน้ำหนักตัวของคุณในระยะยาวนั่นเอง
ดังนั้นหากคุณมีอาการบวมยาคุมกำเนิด นอกจากจะเลือกทานยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำ เพื่อไม่ให้เกิดอาการบวมยาคุมแล้ว การควบคุมอาหาร ด้วยการลดปริมาณอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยลดอาการบวมยาคุม และอาการบวมน้ำได้เป็นอย่างดี
ความเข้าใจผิด กับการใช้ยาคุมแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว
ในบางรายที่ผอมเกินเกณฑ์มาตรฐาน ก็หันมาเลือกใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเพื่อเพิ่มน้ำหนักตัว ในขณะที่บางคนเชื่อว่าการทานยาคุมกำเนิดบางชนิด ช่วยทำให้รูปร่างของผู้หญิงดูสมส่วน เพราะคิดว่าฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในตัวยาคุมกำเนิด จะสามารถช่วยปรับเปลี่ยนปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้น
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ณ ปัจจุบัน มียาคุมกำเนิดผลิตออกมาจัดจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อ ซึ่งคุณสมบัติโดยรวมจะเหมือนกันคือ เพื่อการควบคุมการตั้งครรภ์ แต่ผลกระทบทางด้านผิวพรรณ สรีระ จะเป็นเพียงแค่ผลข้างเคียงที่เกิดจากปริมาณยา หรือตัวฮอร์โมนที่อยู่ในตัวยา และร่างกายของแต่ละคน ซึ่งจะส่งผลแตกต่างกันออกไป
บางคนทานยี่ห้อ A ทำให้ผิวสวย ดูอวบอิ่ม มีน้ำมีนวล ในขณะที่บางคน ทานยี่ห้อเดียวกัน แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้การเลือกใช้ยาคุมกำเนิดที่ดี ที่ถูกต้อง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างตรงวัตถุประสงค์ เพราะนอกจากการคุมกำเนิดแล้ว ผลข้างเคียงที่เกิดจากตัวยาคุมกำเนิด ก็เป็นสิ่งที่คุณต้องคำนึงถึงเช่นกัน
อ้วนเพราะยาคุม แล้วลดไม่ลง ต้องทำอย่างไร?
บางคนน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการทานยาคุมกำเนิดมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะพยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร แต่น้ำหนักที่ลดลงนั้น ก็ไม่เป็นไปตามที่หวัง สัดส่วนร่างกายก็มีปัญหาของไขมันที่ถูกสะสมเอาไว้ ทำให้เกิดการขาดความมั่นใจ
ซึ่งสาเหตุหลัก อาจจะไม่ได้เกิดจากตัวยาคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียวค่ะ แม้ว่าในตัวยาจะมีส่วนที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร หรืออาการบวมน้ำ แต่ถ้าหากคุณมีความเครียดสะสมในร่างกาย ร่างกายก็จะเกิดการหลั่งฮอร์โมนเครียดที่ชื่อว่า คอร์ติซอล ออกมาผิดปกติ ก็จะส่งผลให้เรารู้สึกอยากอาหารมากขึ้นเป็นเท่าตัว และฮอร์โมนตัวนี้ ยังส่งผลกระทบไปถึงระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกาย อีกด้วย
ดังนั้นหากคุณอ้วนเพราะยาคุม แล้วลดไม่ลง ก็ต้องหันมาดูตัวเองก่อน ว่าคุณได้ทำตามนี้หรือไม่
- การพักผ่อนที่เพียงพอ ไม่นอนดึกจนเกินไป
- เลือกทานอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และมีการควบคุมปริมาณของคาร์โบไฮเดรต ที่เหมาะสมกับร่างกาย
- การดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ดื่มทีละมาก ๆ แต่ให้ค่อย ๆ ดื่ม และดื่มตลอดทั้งวัน
- การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ และต่อเนื่องเกิน 15 นาทีต่อครั้ง
- การรู้ทันอารมณ์ของตนเอง พยายามไม่ให้ตนเองอยู่ในสภาวะที่เครียดจัด หรือวิตกกังวล
หากคุณสามารถทำตามได้เพียงเท่านี้ ร่างกายของคุณจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยง่าย โดยที่อาการบวมทั้งหลายจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ กับคุณเลย แต่ถ้าคุณพยายามทำแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบว่า เกิดภาวะผิดปกติอะไรบ้าง และควรจะแก้ไขอย่างไร น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 ข้อควรรู้ก่อนกินยาคุม ที่สาว ๆ ควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อน!
กินยาคุมฉุกเฉินบ่อย มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง กินบ่อยไปแล้วควรทำอย่างไร ?
ยาคุมลดสิว ยาปรับฮอร์โมนลดสิว ช่วยให้ไม่เป็นสิวได้จริงหรือ?
ที่มา : huapood
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!