ว่าที่คุณแม่มือใหม่ที่กำลังอยู่ในช่วงการตั้งครรภ์เดือนที่ 9 เชื่อว่าน่าจะกำลังเตรียมตัวสำหรับการคลอดกันอยู่ใช่ไหมคะ อีกไม่กี่สัปดาห์ทารกน้อยก็จะคลอดออกมาให้ได้ชื่นใจว่าที่คุณพ่อคุณแม่คนใหม่กันแล้ว theAsianparent พามาดู 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 23 อาการคนตั้งครรภ์ 9 เดือน การตั้งครรภ์เดือนที่ 9 มีอะไรที่ควรรู้บ้างมาดูกัน!
- ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 34 เป็นต้นไป คุณแม่จะพบว่าตัวเองเริ่มได้รับสัญญาณบางอย่าง นั่นก็คือ มดลูกเริ่มหดรัดตัวเป็นก้อนแข็งนูนเป็นประจำ และมีจังหวะสม่ำเสมอ คุณแม่จะรู้สึกเกร็งที่ยอดมดลูก และค่อย ๆ คลายตัวลง แต่สบายใจได้ค่ะ นี่ยังไม่ใช่การเจ็บท้องคลอดจริง เพราะหากเกิดการคลอดขึ้นมาอีกหนึ่งสัญญาณที่ปรากฏขึ้นนั่นคือ การมีน้ำออกจากช่องคลอดนั่นเองค่ะ ซึ่งหากพบว่ามีสัญญาณนี้ด้วยก่อนกำหนดให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
- ยอดมดลูกขยับขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุด สังเกตได้ชัดว่าจะอยู่ตรงใต้กระดูกสันอก ซึ่งผลกระทบที่ได้คือ คุณแม่จะรู้สึกว่าหายใจได้ลำบาก และมีอาการเจ็บชายซี่โครง
- ในเดือนนี้คุณแม่จะต้องไปพบคุณหมอทุกสัปดาห์ เพื่อตรวจอาการก่อนคลอดต่าง ๆ และการดูความพร้อมของทารกในครรภ์ รวมทั้งหากพบความผิดปกติในการคลอดใด ๆ คุณหมอก็จะแจ้งให้คุณแม่ทราบทันทีค่ะ
- เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 37 ทารกจะเริ่มเคลื่อนส่วนนำ (ศีรษะ) มาอยู่ตรงอุ้งเชิงกราน ทำให้คุณแม่รู้สึกโล่งที่ชายโครง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 9 เดือนเท่ากับกี่สัปดาห์ ท้องกี่เดือน นับวันตั้งครรภ์ นับอายุครรภ์อย่างไรถึงจะถูก
- เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 38 ก่อนที่มดลูกจะหดรัดตัวเป็นการเจ็บครรภ์คลอดจริง คุณแม่ก็จะได้รู้สึกถึงอาการเจ็บครรภ์เตือน ที่เป็นการเจ็บเตือนที่แรงประมาณเดียวกับการเจ็บครรภ์คลอดจริงเลยล่ะค่ะ
- เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 39 ปากมดลูกเตรียมพร้อมแล้วสำหรับการคลอด คุณแม่จะรู้สึกหนักที่กระเพาะปัสสาวะนั่นเกิดจากการกดทับจากทารก และมดลูกมีการหดรัดตัวแรงขึ้นเมื่อคุณแม่เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งการหดรัดตัวของมดลูกนี้จะเป็นจังหวะสม่ำเสมอและบ่อย นี่ถือเป็นสัญญาณเตือนการคลอดจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น หากยังอยู่ที่บ้าน ควรสังเกตว่าร่างกายมีสัญญาณอื่น ๆ ด้วยหรือเปล่า ได้แก่ ถุงน้ำคร่ำแตก
- อายุครรภ์ครบกำหนดคลอดทารกมีความสมบูรณ์เต็มที่ จะอยู่ในระหว่าง 37 ถึง 41 สัปดาห์ และหากอายุครรภ์ 42 สัปดาห์ขึ้นไป ถือเป็นการตั้งครรภ์ที่เกินกำหนด ซึ่งเสี่ยงต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้แก่ รกเสื่อม น้ำคร่ำลดน้อยลง เมื่อมดลูกหดรัดตัวก็จะเป็นผลให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน ซึ่งถือเป็นภาวะอันตรายที่เสี่ยงมากต่อชีวิต
- เมื่ออยู่ในห้องคลอดคุณแม่ควรควบคุมการหายใจของตัวเองให้ดี มีสมาธิอยู่ที่ลมหายใจระหว่างที่มีอาการมดลูกหดรัดตัวเป็นก้อนนูนแข็ง จะช่วยให้คุณแม่ควบคุมตัวเองจากการเจ็บท้องคลอดได้ดี
พัฒนาการทารกในครรภ์ช่วงการตั้งครรภ์เดือนที่ 9
- สัดส่วนของทารก จะมีลำตัวยาวประมาณ 50 เซนติเมตร หนักประมาณ 3,000 กรัม
- การหายใจ ต่อมหมวกไตจะเร่งสร้างฮอร์โมนเพิ่มความสมบูรณ์ของปอด เพื่อเตรียมการหายใจครั้งแรกในชีวิตที่ต้องออกจากครรภ์ของคุณแม่
- ในลำไส้ของทารกเต็มไปด้วยขี้เทา ซึ่งเกิดจากสารที่หลั่งในระบบทางเดินอาหาร ปะปนกับขนอ่อนและเซลล์ต่าง ๆ ที่หลุดออกตามทางเดินอาหารของทารก
- ผิวหนังของทารกยังคงมีไขสีขาวเวอร์นิกซ์ (Vernix) เหลืออยู่ ก็เพื่อช่วยหล่อลื่นให้ทารกคลอดได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
- ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายที่อยู่ในครรภ์คุณแม่ ร่างกายทารกจะขับของเสียเป็นเมือกสีเขียวเข้มออกมาในลำไส้ ของเสียที่ทารกขับออกมานี้ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดที่แตกตัว เซลล์ที่ลอกตัวออกจากลำไส้ เซลล์ผิวหนังและขนอ่อนที่หลุดเข้าไปปนอยู่ในน้ำคร่ำที่ทารกกลืนเข้าไป และขับเป็นของเสียออกมา สารที่เป็นเมือกสีเขียว เป็นของเสียชนิดแรกที่ทารกขับออกมาในตอนแรกคลอด ทำให้ทารกมีเมือกสีเขียวเปื้อนอยู่ทั่วร่างกายตอนคลอดนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตามติดชีวิตทารก 9 เดือนในท้องแม่ อาการท้อง 9 เดือน เกิดอะไรขึ้นบ้าง
อีกหนึ่งเดือนก่อนคลอด ท้อง 8 เดือนลูกอยู่ท่าไหน กลับหัวยัง
ในระยะ 1 เดือนก่อนถึงกำหนดคลอด ช่วงนี้คุณแม่อาจจะต้องไปพบคุณหมอบ่อยซึ่งนัดตรวจอาการในช่วงใกล้คลอดถี่ขึ้น ตรวจวัดความดันโลหิต และตรวจปัสสาวะเพื่อดูอาการอย่างละเอียด รวมถึงเช็กร่างกายคุณแม่ที่อาจมีโอกาสเกิดอาการครรภ์เป็นพิษแทรกซ้อนขึ้นได้นะคะ
พัฒนาการของทารกในช่วงอายุครรภ์ตอน 9 เดือนนี้ เรียกได้ว่าสมบูรณ์แทบทั้งหมดแล้วทั้งผิวหนัง เล็บ ผม ที่งอกขึ้น อวัยวะในร่างกาย แขน ขา การทำงานของกล้ามเนื้อต่าง ๆ รวมถึงการมองเห็น การได้ยิน และพัฒนาการต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ ที่มีความสมบูรณ์และมีความพร้อมแล้ว อวัยวะอย่างเดียวที่ไม่พร้อมสำหรับการคลอดของทารกในช่วงนี้ คือการทำงานของปอดยังไม่เต็มที่และยังมีน้ำคร่ำอยู่ในปอด หากคลอดออกมาในช่วงนี้ทารกก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถือว่าเป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด ทารกต้องอยู่ในตู้อบ และต้องดูแลเรื่องระบบหายใจเป็นพิเศษ
สัญญาณใกล้คลอด อาการเจ็บท้องคลอดจริงเป็นอย่างไร
- รู้สึกเจ็บท้อง เป็นระยะต่อเนื่องนานและถี่ขึ้น มีความรู้สึกปวดหน่วง ๆ คล้ายกับการปวดท้องประจำเดือน การปวดระยะแรกจะนานประมาณ 1-2 นาที และจะเกิดในทุก ๆ 10-15 นาที หลังจากนั้นจะเริ่มปวดกระชั้นเข้ามาทุก 5 นาที
- มีอาการคล้ายท้องผูก ท้องเฟ้อ หรือรู้สึกปวดท้องหรือปวดหลัง อาจจะเริ่มปวดที่หลังแล้วร้าวมาถึงด้านหน้าบริเวณหัวหน่าวและท้องน้อย
- มีมูกเลือดสีแดงสดไหลออกมาทางช่องคลอด
- น้ำคร่ำเดิน
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการเจ็บท้องคลอด เจ็บแบบไหน ส่งสัญญาณว่าคลอดชัวร์!
อาหารบำรุงคุณแม่ตั้งครรภ์ เดือนที่ 9 ตั้งครรภ์ 9 เดือนต้องกินอะไรบ้าง
คุณแม่ตั้งครรภ์ จะมีอาการท้องอืด เกิดจากการที่ฮอร์โมนในร่างกาย เปลี่ยนไปจากเดิม การทานไฟเบอร์ จะช่วยให้ท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์ ทำงานได้ดีขึ้น ลดปัญหาที่มักจะเกิดกับช่องท้องได้ ไฟเบอร์ขาดไม่ได้เลยนะคะ สำหรับคนที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ผัก ซีเรียล แครอท กล้วย เป็นอาหารที่มีไฟเบอร์สูง
วิตามิน A จะช่วยเรื่องสายตาของทารกในท้อง และสุขภาพสายตาของคุณแม่ด้วย อาหารที่มี วิตามิน A คือ มันฝรั่ง แครอท ผักโขม เป็นต้น
แม่ท้องในไตรมาสที่ 3 มักจะเจอกับ อาการขาดธาตุเหล็ก อาหารต่าง ๆ ที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กก็คือ ผลไม้ ผลไม้แห้ง ผักโขม ไก่ และปลา เป็นต้น ถ้าไม่อยากขาดธาตุเหล็ก ต้องทานอาหารเหล่านี้ด้วยนะคะคุณแม่
ช่วงตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่แต่ละคนอาจมีอาการใกล้คลอดที่แตกต่างกันไป ดังนั้น จึงควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ หากมีเวลาว่างก็ควรอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ อาการคนตั้งครรภ์ 9 เดือน และวิธีการดูแลตัวเองเมื่อเข้าสู่ช่วงใกล้คลอด เพราะจะช่วยให้คุณแม่เตรียมพร้อมในการคลอดลูกได้ง่ายขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พัฒนาการ ทารกในครรภ์ ตลอด 9 เดือนที่อุ้มท้อง มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 32 เช็กลิสต์แม่ท้อง ควรทำอายุครรภ์ 9 เดือน
อาการคนท้องเดือนที่ 1 – 9 เป็นอย่างไร อาการท้อง แต่ละเดือนต้องเจออะไรบ้าง
ที่มา : mamastory
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!