พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 – 9 เดือน จะมีอะไรบ้าง ในแต่ละวัน แต่ละคืน ลูกจะเป็นอย่างไรบ้างนะ สมองพัฒนาตอนไหน ทารกในครรภ์ เริ่มมีแขนมีขาตอนไหน ฟันขึ้นเมื่อไหร่ พัฒนาการทารกในครรภ์ แต่ละสัปดาห์จะเป็นอย่างไรบ้าง ไปติดตามพร้อมกันเลย
ทารกในครรภ์คืออะไร หรือตัวอ่อนมีพัฒนาการอย่างไร?
การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์นั้น คือ ช่วงเวลาพัฒนาการของ “เอมบริโอ” จนเป็น “ทารก” ไม่ใช่แค่การเติบโตของทารกอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมของมารดา ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพตัวเองและทารกในครรภ์มากกว่า 40 สัปดาห์ หรือกว่า10 เดือนกันเลยทีเดียว ซึ่งทางการแพทย์สามารถแบ่งการพัฒนาการของทารกในครรภ์ออกเป็น 3 ช่วงหรือ 3 ไตรมาส ตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุดแล้วนับตามอายุครรภ์ได้ดังนี้
พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 – 9 เดือน ทารกในครรภ์ เป็นอย่างไรบ้าง
ติดตามพัฒนาการของ ลูกในครรภ์ ตลอด 40 สัปดาห์ รวมไปถึงพัฒนาการหลังคลอด พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในระหว่างตั้งครรภ์ ในคอมมิวนิตีของคุณแม่ตั้งครรภ์ และปรึกษาปัญหาสุขภาพของคุณแม่ และเจ้าตัวน้อยกับผู้เชี่ยวชาญ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทารกในครรภ์ ไตรมาสแรก (พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือน – 3 เดือน)
พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือน (สัปดาห์ที่ 1 – 4) : ปฏิสนธิ
พัฒนาการทารกในครรภ์ในช่วงแรกสุดของชีวิต คุณแม่หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตั้งครรภ์แล้ว ซึ่งพัฒนาการของทารกในครรภ์เดือนแรกนี้ คือการที่ไข่ผสมกับสเปิร์ม และสร้างเป็นตัวอ่อน ซึ่งไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว จะค่อย ๆ เคลื่อนไปตามท่อนำไข่ และฝังตัวที่มดลูก ขณะที่ไข่เคลื่อนตัวมานั้น เซลล์จะเริ่มแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น หลังจากหนึ่งสัปดาห์ ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะฝังตัวที่ผนังมดลูก ซึ่งถือว่ากระบวนการปฏิสนธิสมบูรณ์แล้ว
พัฒนาการของทารกในครรภ์ 2 เดือน ทารกในครรภ์ (สัปดาห์ที่ 5 – 8) : พัฒนาการเบื้องต้น
เมื่อตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูกเรียบร้อยแล้ว พัฒนาการทารกในครรภ์ ในช่วงเดือนที่ 2 นี้ จะเริ่มเห็นพัฒนาการต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น เราจะเริ่มเห็นศีรษะของทารก และอวัยวะอย่างใบหน้า ดวงตา แขน ขาพัฒนาขึ้นมาอย่างชัดเจน
- ในช่วงเดือนที่ 2 นี้ ทารกจะมีรูปร่างกลม ๆ มีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร มีน้ำหนักเพียงแค่ประมาณ 3 กรัม
- ในช่วงนี้ ตัวอ่อนในครรภ์คุณแม่จะได้รับอาหารจากถุงไข่แดง
- ในช่วงสัปดาห์ที่ 6 หากมีการตรวจอัลตราซาวนด์ จะพบว่าหัวใจทารกเริ่มเต้น และอาจเห็นว่า ทารกขยับไปมา
พัฒนาการทารกในครรภ์ 3 เดือน (สัปดาห์ที่ 9 – 12) : สมองพัฒนา
เมื่ออายุครรภ์ครบ 3 เดือน พัฒนาการทารกในครรภ์ ทารกจะเริ่มมีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ อวัยวะบนหน้าของทารกเกือบจะสมบูรณ์แล้ว เพียงแต่ตายังปิดอยู่เท่านั้น เริ่มเห็นคาง หน้าผาก จมูก มีเล็บมือ และเล็บเท้า แขนขาของทารกจะขยับไปมา ข้อต่าง ๆ เริ่มประสานกัน นิ้วมือและนิ้วเท้าพัฒนาจนสมบูรณ์และงอได้ด้วย และเล็บเริ่มงอกยาว
- ช่วงลำตัวทารกจะเริ่มมีกระดูก ซี่โครง ในช่วงนี้ทารกมีความต้องการแคลเซียมจำนวนมากเพื่อเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ทารกจะดึงแคลเซียมจากคุณแม่มาใช้เป็นจำนวนมาก จึงแนะนำให้แม่ท้องทานอาหารที่มีแคลเซียมเสริมให้เพียงพอ
- ทารกจะมีขากรรไกร เหง้าฟันแท้ทั้ง 32 ซี่ ที่ซ่อนอยู่ในปุ่มเหงือกอย่างครบถ้วน
- ทารกจะเริ่มดูดนิ้วและอาจกลืนน้ำคร่ำ หรือลอยตัวในน้ำคร่ำ
- หัวใจ ตับ ปอด ม้าม ลำไส้ กระเพาะอาหาร และอวัยวะเพศ เริ่มมีการพัฒนาขึ้น
- ตอนนี้ทารกมีขนาดประมาณ 10 – 12 เซนติเมตร
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีสังเกต พัฒนาการทารกวัยแรกเกิด ถึง 1 ปี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ทารกในครรภ์ ไตรมาสที่ 2 พัฒนาการทารกในครรภ์
พัฒนาการ ทารกในครรภ์ 4 เดือน (สัปดาห์ที่ 13-16) : ท้องลูกชายหรือลูกสาว
ตอนนี้ส่วนใบหน้าของทารกพัฒนาขึ้นใกล้สมบูรณ์แล้ว คิ้วและขนตาเริ่มขึ้น มีนัยน์ตาปรากฏขึ้นในดวงตา และใบหูเริ่มออกไปอยู่ในตำแหน่งด้านข้าง ซ้ายและขวา ระยะนี้ทารกจะเริ่มเตะ และยืดนิ้วมือนิ้วเท้า
- ทารกมีชั้นไขมันใต้ผิวหนังห่อหุ้มร่างกายไว้ ผิวจะออกสีชมพู และใสจนเห็นเส้นเลือด
- ปอดเริ่มมีการพัฒนาขึ้น
- ขนและผมจะเริ่มงอกทั่วร่างกาย
- ลิ้นของทารกมีการพัฒนาปุ่มรับรสขึ้นมา
- ทารกเริ่มรับรู้แสงได้แล้ว
- ทารกจะได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจคุณแม่ และเริ่มที่จะได้ยินเสียงที่อยู่ภายนอก ซึ่งช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุย หรืออ่านหนังสือ ร้องเพลงให้ลูกฟังบ่อย ๆ เพื่อจะได้เป็นการเสริมสร้างกระตุ้นพัฒนาการลูกได้ตั้งแต่ในครรภ์นะครับ
- อวัยวะเพศเริ่มพัฒนาขึ้น เช่น ลูกอัณฑะของเด็กผู้ชาย และช่องคลอดของเด็กผู้หญิง
- ตอนนี้ทารกจะมีขนาด 16 – 18 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 200 กรัม
พัฒนาการทารกในครรภ์ 5 เดือน (สัปดาห์ที่ 17 – 20) : รับรู้โลกภายนอก
ในช่วงนี้ทารกในครรภ์จะโตเร็วมาก ซึ่งคุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นบ่อย แนะนำให้คุณแม่จดบันทึกการดิ้นของลูกในแต่ละวัน(ดิ้นกี่ครั้ง/วัน) หากลูกไม่ดิ้นต้องรีบไปพบคุณหมอทันทีนะครับ
- ทารกเริ่มมีเปลือกหุ้มเส้นประสาทไขสันหลัง
- ผิวหนังของทารกหนาขึ้น
- ผมที่หนังศีรษะเริ่มพัฒนาขึ้น
- เล็บมือ และเล็บเท้าเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน
- อวัยวะภายในมีการพัฒนาที่สมบูรณ์มากขึ้น
- หัวใจมีการเต้นเป็นจังหวะ คุณแม่สามารถฟังเสียงหัวใจเต้นของลูกได้ด้วยเครื่องฟังเสียงหัวใจทารก
- ฟันน้ำนมของทารกเริ่มพัฒนาขึ้นในเหงือกแล้ว
- ทารกจะเพิ่มพัฒนาสัมผัสรับรู้ในด้านต่าง ๆ ทั้งรสชาติ กลิ่น และเสียง ถึงแม้ว่าตาจะยังปิดแต่ทารกจะสัมผัสถึงแสงจ้าได้ ได้ยินสิ่งที่คุณพูด รวมทั้งยังรู้สึกเมื่อคุณลูบท้องเบา ๆ
- ตอนท้ายของเดือนที่ 5 ทารกจะเริ่มปัสสาวะปนมาในน้ำคร่ำ
- ตอนนี้ทารกจะมีขนาด 20 – 25 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 400 กรัม
พัฒนาการทารกในครรภ์ 6 เดือน (สัปดาห์ที่ 21 – 24) : ทารกเริ่มตอบโต้
พัฒนาการทารกในครรภ์ในระยะนี้คุณแม่จะรู้สึกว่าทารกบิดตัวไปมา ตอนนี้ทารกจะโตช้ากว่าตอนแรกเพื่อให้อวัยวะภายในร่างกาย เช่น ปอด ระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายพัฒนา
- ร่างกายของทารกมีการพัฒนาเซลล์เม็ดเลือดแดงขึ้นมาจำนวนมาก และเริ่มผลิตเม็ดเลือดขาว
- ฝ่ามือฝ่าเท้าของทารกเริ่มพัฒนาให้มีลายมือลายเท้าชัดมากขึ้น
- ผิวหนังมีการพัฒนาให้หนาทึบขึ้น แขน ขามีการพัฒนาให้มีกล้ามเนื้อที่สมบูรณ์มากขึ้น
- ทารกมีการกลืนน้ำคร่ำ บางครั้งจะมีอาการสะอึก ทำให้คุณแม่รู้สึกเหมือนลูกกระตุกอยู่ในท้อง
- ลำตัวของทารกพัฒนาขึ้น จนมีขนาดใหญ่กว่าศีรษะ
- อวัยวะเพศจะพัฒนาขึ้นมาจนสมบูรณ์ ในเพศหญิงจะมีการสร้างรังไข่ขึ้นมา และเพศชายจะพัฒนาลูกอัณฑะขึ้นมาจนชัดเจน และมีการสร้างฮอร์โมนเพศชาย นั่นคือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone)
- เซลล์สมอง ที่ทำหน้าที่ในการรับรู้พัฒนาขึ้นจนเริ่มทำงานได้ ส่งผลให้ทารกสามารถจดจำ และเรียนรู้ได้บ้างแล้ว
- ประสาทการรับรู้เรื่องเสียงของทารก มีการพัฒนามากขึ้น ทำให้ทารกเริ่มตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เกิดจากการพูดคุยของคุณพ่อแม่ ที่คุยกับทารก หรือเสียงเพลงที่คุณแม่เปิดให้ฟัง ดังนั้น จึงควรกระตุ้นพัฒนาการทารกด้วยการเรียกชื่อลูก เปิดเพลงให้ฟัง ร้องเพลงให้ฟัง หรืออ่านหนังสือให้ทารกฟัง จะช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการการที่ดี
- เดือนนี้ทารกจะมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 600 กรัม
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทุกสิ่งที่แม่ท้องต้องรู้! เกี่ยวกับ การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ ในทุกไตรมาส
ไตรมาสที่ 3 พัฒนาการลูกในครรภ์
พัฒนาการทารกในครรภ์ 7 เดือน (สัปดาห์ที่ 25 – 28) : หนูลืมตาแล้วนะ
ในเดือนนี้ ทารกจะเริ่มสะสมไขมันใต้ผิวหนังทั่วทั้งตัวเพื่อรักษาความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย รวมทั้งปกป้องผิวหนังจากของเหลวอื่น ๆ
- ทารกสามารถขยับนิ้ว กำมือ และมีการพัฒนาการลายนิ้วมือ ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของตัวเองขึ้นมา
- ทารกเริ่มลืมตา และระบบนัยน์ตาพัฒนาขึ้นเกือบสมบูรณ์
- สมองของทารกพัฒนาขึ้น จนโตเต็มกะโหลกศีรษะ และมีร่องหยักบนเนื้อสมอง ส่วนเซลล์ประสาทเชื่อมโยงเครือข่ายกันอย่างสมบูรณ์ เริ่มมีไขมันห่อหุ้มเส้นประสาทเหมือนกับที่ไขสันหลัง
- ทารกจะขยับตัวเมื่อได้ยินเสียงดัง จังหวะการเต้นของหัวใจจะเปลี่ยนตามแสงและเสียงที่ทารกรู้สึก
- ขนอ่อนตามร่างกายเริ่มหลุดร่วง มีเหลือไว้เฉพาะที่บริเวณไหล่ และหลัง
- ทารกจะปัสสาวะลงในน้ำคร่ำประมาณวันละครึ่งลิตร
- ตอนนี้ทารกมีความยาว 35 เซนติเมตร และหนักประมาณ 1,000 – 1,200 กรัม ถ้าคลอดในตอนนี้ อัตราการรอดชีวิตจะค่อนข้างสูง เนื่องจากอวัยวะสำคัญเริ่มทำงานเป็นปกติแล้ว
พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 8 (สัปดาห์ที่ 29 – 32) : เตรียมคลอด
พัฒนาการทารกในครรภ์ในเดือนที่ 8 ร่างกายของทารกจะดูเหมือนทารกแรกเกิด คุณแม่อาจมีการเจ็บท้องเตือน เนื่องจาก มดลูกบีบตัว
- ทารกเริ่มกลับตัวให้อยู่ในท่าศีรษะลง เพื่อเตรียมพร้อมที่จะคลอด
- ทารกจะรับรู้ความมืด และสว่างจากการสะท้อนของแสง ผ่านทางผนังหน้าท้องของคุณแม่
- ทารกเริ่มที่จะเปิดปิดเปลือกตา และเริ่มกะพริบตาถี่ ๆ ได้แล้ว รูม่านตาจะเริ่มขยาย และหรี่ได้แล้วด้วยเช่นกัน
- ทารกจะมีความยาวประมาณ 40-45 เซนติเมตร และหนักประมาณ 2,000 – 2,500 กรัม
พัฒนาการทารกในครรภ์เดือนที่ 9 (สัปดาห์ที่ 34 เป็นต้นไป) : ยินดีต้อนรับ
ในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ทารกจะอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมคลอด และคุณแม่ก็พร้อมจะคลอดได้ทุกเมื่อเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คุณแม่จะคลอดประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ก่อนครบกำหนด (สัปดาห์ที่ 40)
- ต่อมหมวกไตจะเร่งสร้างฮอร์โมนเพิ่มความสมบูรณ์ของปอด เพื่อเตรียมการหายใจครั้งแรกในชีวิตที่ต้องออกจากครรภ์ของคุณแม่
- ในลำไส้ของทารกเต็มไปด้วยขี้เทา ซึ่งเกิดจากสารที่หลั่งในระบบทางเดินอาหาร ปะปนกับขนอ่อนและเซลล์ต่าง ๆ ที่หลุดออกตามทางเดินอาหารของทารก
- ผิวหนังของทารกยังคงมีไขสีขาว เพื่อช่วยหล่อลื่นให้ทารกคลอดได้ง่ายขึ้น
- ทารกมักมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร และหนักประมาณ 2,800 – 3,000 กรัม
ในช่วงตั้งครรภ์ตลอดระยะเวลา 9 เดือน คุณแม่ควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์บ่อย ๆ และควรไปตรวจครรภ์ตามกำหนด เพื่อให้แพทย์ได้ติดตามดูพัฒนาการ ทารกในครรภ์ อย่างละเอียด นอกจากนี้ คุณแม่จะต้องสังเกตร่างกายของตัวเองว่ามีสัญญาณจะคลอดลูกหรือไม่ เพื่อที่จะได้เตรียมความพร้อมในการคลอดลูกค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทารกในครรภ์คืออะไร ระยะของตัวอ่อนในครรภ์ มีพัฒนาการอย่างไร?
พัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ ร่างกายคนท้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
ตารางน้ำหนักและขนาดของทารกในครรภ์ ที่จะบอกว่าลูกในท้องแข็งแรงดีแค่ไหน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!