หลังคลอดต้องอยู่ไฟหรือไม่ การอยู่ไฟ เป็นวิธีทางการแพทย์แผนไทยที่ใช้ดูแลสภาพร่างกายด้านต่าง ๆ ของผู้หญิงหลังคลอดลูก แม้การอยู่ไฟจะถูกปรับเปลี่ยนไปจากอดีตพอสมควรเพื่อความเพิ่มปลอดภัย และความสะดวกสบายแก่คุณแม่ แต่ในปัจจุบันวิธีการนี้ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่มาก เพราะเชื่อกันว่าการอยู่ไฟมีประโยชน์มากมาย เช่น อาจช่วยขับน้ำคาวปลา กระตุ้นน้ำนม และฟื้นฟูสภาพร่างกายที่อ่อนล้าหลังคลอดได้ เป็นต้น แต่ก็มีคุณแม่หลายคน ต่างก็มีข้อสงสัยว่า หลังคลอดต้องอยู่ไฟหรือไม่ จำเป็นมากแค่ไหน ถ้าไม่อยู่ไฟ จะมีผลกระทบอะไรหรือไม่
การอยู่ไฟแบบโบราณ
หลังจากคลอดลูกแล้ว คุณแม่จะต้องไปนอนบนแผ่นกระดานที่เรียกว่า “กระดานไฟ” ซึ่งกระดานนี้มีการจัดวาง 2 แบบตามแต่ละบ้านจะเลือกใช้ แบบแรกคือการยกกระดานให้สูง แล้วก่อกองไฟไว้ด้านล่าง แบบนี้เรียกว่า “อยู่ไฟญวน” หรือ “ไฟแคร่” ส่วนอีกแบบคือการก่อกองไฟไว้ข้าง ๆ กระดาน เรียกว่า “อยู่ไฟไทย” หรือ “ไฟข้าง”
การอยู่ไฟนี้คุณแม่ต้องเข้าไปในเรือนไฟพร้อมกับลูก และห้ามออกมาจากเรือนไฟเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ทั้งหมดนี้จะกินระยะเวลาประมาณ 7 – 15 วัน โดยให้คุณพ่อหรือญาติคอยมาคุมฟืนไฟไม่ให้ร้อนเกินไป หรือหากคุณแม่ร้อนมากก็สามารถใช้กาน้ำที่อยู่ด้านข้างราดหรือพรมกองไฟได้เลย
ตลอดระยะเวลาอยู่ไฟ คุณแม่ต้องอาบน้ำร้อนและดื่มเฉพาะน้ำอุ่น งดเว้นของแสลงทุกชนิด เน้นกินเฉพาะข้าวกับเกลือหรือปลาเค็ม เพราะเชื่อว่าจะไปทดแทนเกลือที่เสียไปทางเหงื่อจากการอยู่ไฟ ถ้าคุณแม่มีอาการปวดเมื่อยก็อาจมีการประคบสมุนไพรร่วมด้วย
การอยู่ไฟยุคใหม่
เมื่อยุคสมัยใหม่ไม่เอื้อต่อการนอนอยู่ในเรือนไฟ จึงมีการปรับเปลี่ยนการอยู่ไฟเป็นการใช้ความร้อนควบคู่กับสมุนไพร ให้ความร้อนเฉพาะช่วงท้อง ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนวดประคบด้วยลูกประคบสมุนไพร, การประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อน, การใช้ชุดคาดไฟรัดไว้บริเวณหน้าท้อง, อบซาวน่าด้วยสมุนไพร, การนาบหม้อเกลือ, การดื่มและอาบน้ำสมุนไพร, การนวดคลายเส้นด้วยสมุนไพร และการเข้ากระโจมอบไอน้ำจากสมุนไพร
วิธีการเหล่านี้ นอกจากจะช่วยกระตุ้นการทำงานของร่างกายคุณแม่ให้เป็นปกติแล้ว ยังช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง และปลอบประโลมร่างกายของคุณแม่ไปในตัวได้อีกด้วย
อยู่ไฟ ทำอย่างไร ?
ในอดีต การอยู่ไฟเพื่อ พักฟื้นหลังคลอด อาจทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การนั่งถ่าน การเข้ากระโจม การประคบสมุนไพร การทอดไฟ การย่างไฟ การรมเตา การทับหม้อเกลือ หรือการนาบหม้อเกลือ เป็นต้น แต่ในปัจจุบัน วิธีการอยู่ไฟถูกปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น เช่น การใช้ตู้อบไอน้ำ หรือการนำกระเป๋าน้ำร้อนมาอังที่หน้าท้อง เป็นต้น
การอยู่ไฟอาจทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยนำสมุนไพรไทยไปต้มน้ำเพื่อให้ได้ไอความร้อน และตั้งสมุนไพรที่ต้มแล้วไว้ใกล้ตัวในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก ซึ่งควรอยู่ไฟประมาณ 1 เดือน ทำเช่นนี้ประมาณ 3 ครั้ง/วัน ครั้งละ 15 นาที และควรเว้นช่วงพักเพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย จิบน้ำร้อนหรือน้ำสมุนไพรเป็นระยะเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะขาดน้ำ หรืออาจรับประทานข้าวต้มผสมเกลือเพื่อทดแทนเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป ทั้งนี้ ควรมีคนอยู่ดูแลตลอดการอยู่ไฟด้วย เพื่อคอยช่วยดูแลความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ และควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ก่อนทำการอยู่ไฟทุกครั้ง
นอกจากนี้ ในปัจจุบันโรงพยาบาลบางแห่งอาจมีบริการดูแลมารดาหลังคลอดในรูปแบบของการแพทย์แผนไทยด้วยการใช้ไอน้ำอบตัวเป็นเวลาประมาณ 15 นาที โดยมีเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยหรือเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยจัดเตรียมอุปกรณ์และสมุนไพรไว้ให้เรียบร้อย พร้อมทั้งคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่ไฟ ดังนั้น การอยู่ไฟที่โรงพยาบาลก็อาจเป็นอีกทางเลือกที่สะดวก ประหยัด และปลอดภัยกว่าทำเองที่บ้าน
อยู่ไฟ จำเป็นหรือไม่ ?
อยู่ไฟ เป็นวิธีการพักฟื้นหลังคลอดของผู้เป็นแม่ซึ่งมีมาแต่โบราณ โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยได้แนะนำการอยู่ไฟให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลตนเองสำหรับผู้หญิงหลังคลอดลูก เพราะเชื่อว่าอาจช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น และช่วยดูแลสุขภาพร่างกายในด้านต่าง ๆ ได้ด้วย
โดยความเชื่อเกี่ยวกับประโยชน์ของการอยู่ไฟ มีดังนี้
– ฟื้นฟูสภาพร่างกายที่อ่อนล้าหลังการคลอด
– ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
– ขับน้ำคาวปลา
– กระตุ้นให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
– พักฟื้นเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง
– ป้องกันอาการหนาวสะท้าน
– กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
– ลดความรู้สึกชาที่มือหรือเท้าและการเกิดตะคริว
– ลดปัญหาผิวบวมช้ำ
– คลายกล้ามเนื้อที่ปวดเมื่อย
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้มีการพัฒนายาแผนปัจจุบันที่ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว รวมทั้งช่วยขับน้ำคาวปลาให้หมดไปได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การอยู่ไฟก็อาจไม่จำเป็นต่อผู้หญิงหลังคลอดอีกต่อไป
หลังคลอดต้องอยู่ไฟ ไม่เช่นนั้นจะหนาวใน
ไม่จริง การอยู่ไฟเป็นกุศโลบายในสมัยก่อนที่จะช่วยให้คุณแม่ได้พัก ได้ดูแลตนเอง และเลี้ยงดูลูกได้อย่างเต็มที่ แต่ในปัจจุบันคุณแม่ก็สามารถลาพักหลังคลอดเพื่อดูแลตนเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องอยู่ไฟก็ไม่จำเป็น ส่วนความเชื่อเรื่องหนาวในไม่เป็นความจริง เหตุที่หลังคลอดแล้วมีอาการหนาว เป็นเพราะการลดลงของฮอร์โมนซึ่งมีสูงในระหว่างตั้งครรภ์ พอคลอดแล้วฮอร์โมนลดลง ก็จะมีอาการหนาว และร้อนวูบวาบ ไม่ว่าจะอยู่ไฟหรือไม่ก็ตาม (และความรู้สึกนี้ก็จะเกิดอีกครั้งกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะขาดเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน เนื่องจากรังไข่หยุดทำงานนั่นเอง)
ข้อควรระวังของการอยู่ไฟ
หากต้องการอยู่ไฟหลังคลอด ควรไปพบแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ก่อนทำการอยู่ไฟทุกครั้ง เพื่อปรึกษาถึงวิธีการที่ถูกต้องปลอดภัยและความเสี่ยงเผชิญอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งคุณแม่ที่ต้องการอยู่ไฟหลังคลอดควรตระหนักถึงข้อควรระวังต่าง ๆ ของการอยู่ไฟด้วยเช่นกัน
โดยข้อควรระวังของการอยู่ไฟ มีดังนี้
– ควรอยู่ไฟในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และมีแสงสว่างเพียงพอ
– ควรจิบหรือดื่มน้ำทดแทนน้ำที่เสียไป และเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะขาดน้ำ
– ไม่ควรก่อไฟให้ร้อนหรือลุกโชนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังพุพองได้
– ไม่ควรนำทารกเข้าไปอยู่ไฟด้วย เนื่องจากความร้อนจะทำให้ทารกเสียน้ำและเกลือแร่มากจนเป็นอันตรายได้
– หากมีอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า หรือเหนื่อยผิดปกติ ควรหยุดการอยู่ไฟ
– หากมีฝีเย็บ ให้รอจนครบ 7 วันก่อนเริ่มอยู่ไฟ เพราะอาจทำให้ไหมละลายได้
– ห้ามใช้ฟืนไม้ตาด ฟืนไม้รัก และฟืนไม้แดง เพราะเมื่อนำมาเผาอาจทำให้ไฟแตกกระเด็นเป็นควันแสบตาได้ ซึ่งรวมถึงฟืนไม้เนื้ออ่อน เช่น มะม่วง ขนุน งิ้ว หรือนุ่น เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดควันมากเกินไป
ที่มา : พบแพทย์ , trueplookpanya , รพ.ขอนแก่น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เมนูสำหรับคุณแม่อยู่ไฟ อาหารว่างอร่อย ๆ ประโยชน์เน้น ๆ สำหรับคุณแม่
เครื่องดื่มคุณแม่อยู่ไฟ สูตรเมนูอาหารเครื่องดื่มคุณแม่อยู่ไฟ ทำง่าย ๆ อร่อยด้วย
สมุนไพรอยู่ไฟมีอะไรบ้าง สมุนไพรอยู่ไฟหลังคลอดมีอะไรบ้าง การอยู่ไฟหลังผ่าคลอด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!