แผลฝีเย็บอักเสบ อาการสุดทรมานของคุณแม่หลังคลอดเองตามธรรมชาติที่คงไม่มีใครอยากเจอ แต่อาการนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ง่าย หากมีการเตรียมตัวก่อนคลอด และดูแลตัวเองหลังคลอดให้ดี วันนี้เราจึงขอนำคุณแม่มารู้จักสาเหตุ สัญญาณเตือนบอกอาการ รวมทั้งวิธีป้องกัน เพื่อให้ปลอดภัยจาก อาการเจ็บฝีเย็บ กันค่ะ
มาทำความรู้จักกับ “แผลฝีเย็บ” กันก่อน
หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมการคลอดธรรมชาติยังต้องมีการผ่าตัด และเย็บแผลด้วย.. อธิบายง่าย ๆ ให้เห็นภาพชัด ๆ ก็คือ แผลฝีเย็บ เกิดจากการตัด หรือกรีดผิวหนังส่วนที่เรียกว่า “ฝีเย็บ” ซึ่งอยู่ระหว่างช่องคลอดถึงทวาร เพื่อเปิดทางให้ทารกออกมาได้สะดวก และไม่ทำให้แผลฉีกขาดเองซึ่งอาจจะควบคุมไม่ได้ คุณหมอจึงจำเป็นต้องตัดเนื้อส่วนนั้นเพิ่ม และเย็บกลับหลังจากคลอดเสร็จ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องตัดฝีเย็บเพื่อคลอด
มีการเปิดเผยผลการศึกษาทางการแพทย์ว่า การคลอดเองโดยไม่ต้องตัดฝีเย็บ เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่ แต่คุณหมอก็ต้องประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจ เช่น หากหัว หรือไหล่ทารกใหญ่กว่าช่องคลอด หรือเด็กมีภาวะผิดปกติ ก็จำเป็นต้องตัดฝีเย็บเพื่อให้สามารถเปิดทางให้กว้างและคลอดได้สะดวกที่สุด แต่หากปากช่องคลอดเปิดและทารกสามารถผ่านออกได้สะดวกก็ไม่จำเป็นต้องตัดฝีเย็บ
บทความที่เกี่ยวข้อง : แผลฝีเย็บ หลังคลอด รู้สึกเจ็บจี๊ด คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร?
เจ็บแผลฝีเย็บ เจ็บฝีเย็บ หลังคลอด ต้องไปพบหมอหรือไม่
สำหรับคุณแม่ที่คลอดปกติทางช่องคลอด ภายหลังจากการคลอดแล้ว อาจจะมีอาการปวดบริเวณฝีเย็บได้ ซึ่งหากมีอาการปวดมาก ก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดตามที่คุณหมอสั่งได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อาการปวดแผลจะน้อยลงหลังจากคลอดแล้วประมาณ 3-4 วัน และอาการปวดจะหายไปภายในเวลา 1 สัปดาห์หลังคลอด แต่ถ้าคุณแม่มีอาการปวดแผลมาก แผลบวมแดง กดเจ็บนั่งไม่ได้ ก็อาจเป็นไปได้ว่าแผลอาจจะมีอาการอักเสบ ก็ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาต่อไป
สัญญาณเตือน แผลฝีเย็บอักเสบ
หลังคลอดเองตามธรรมชาติ คุณแม่จะเริ่มมีอาการปวดตึงที่แผลฝีเย็บอยู่บ้าง แต่อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น ในช่วง 1 สัปดาห์ แต่หากแผลมีการติดเชื้อ สัญญาณเตือน ที่คุณแม่จะสังเกตได้ คือ มีไข้ขึ้นสูง ปวดหัว ปวดตัว เห็นความผิดปกติจากอาการปวด บวมบริเวณแผลฝีเย็บ ปากช่องคลอด และก้น หรืออาจจะมีก้อนหนอง หรือฝีบริเวณปากช่องคลอด และมีอาการปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย
อาการเจ็บฝีเย็บ การติดเชื้อบริเวณฝีเย็บเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก หากมีอาการรุนแรง จะมีขั้นตอนของอาการอักเสบแสดงให้เห็น เริ่มต้นจากอาการบวมแดง พบเนื้อตายรอบแผล และมีน้ำเหลืองปนเลือด หรือหนองไหลออกมาจากแผล จากนั้นแผลก็จะปริ และแยกจากอาการบวม ในอดีตก็จะปล่อยให้แผลหายเองใน 3 – 4 เดือน ถ้าไม่หายจึงจะรักษาด้วยการซ่อมแซมบาดแผล แต่ในปัจจุบันสามารถรักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยคุณหมอจะวินิจฉัย และให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ จากนั้นจึงเริ่มซ่อมแซมแผลด้วยการเย็บใหม่ และดูแลแผลทำความสะอาด ตัดเนื้อที่ตายรอบแผลออก หรือตกแต่งซ่อมแผลเพื่อให้หายเร็วขึ้น
การดูแล และรักษาอาการอักเสบจากแผลฝีเย็บเป็นสิ่งจำเป็น หากไม่แน่ใจว่ามีอาการแผลติดเชื้ออยู่หรือไม่ ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อขอคำแนะนำในการรักษา เพราะการรับประทานยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้ปวดบางชนิดของคุณแม่เพิ่งคลอด จะมีผลข้างเคียงต่อการให้นมกับลูกได้
การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อปวดฝีเย็บ
การดูแลแผลอักเสบ และแผลฝีเย็บหลังคลอด มีข้อปฏิบัติที่ไม่ซับซ้อน เพียงแต่คุณแม่อาจจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ถึงแม้จะเป็นแผลเล็ก แต่ถ้าเกิดภาวะติดเชื้อขึ้น ก็จะทำให้เกิดความยุ่งยาก และเสียเวลาในการรักษาเพิ่มอีกเท่าตัว
1. ประคบเย็นที่แผลในช่วงหลังคลอด เพื่อบรรเทาอาการปวด และลดบวม แต่ถ้าต้องการอาบน้ำขอแนะนำให้เป็นน้ำอุ่น จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด แต่ควรทำหลังคลอดมาแล้วมากกว่า 24 ชั่วโมง
2. แช่แผลฝีเย็บในน้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี แผลหายเร็วขึ้น
3. รักษาความสะอาดบริเวณแผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการติดเชื้อ
4. ทานยาตามคำแนะนำของคุณหมอเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะแก้ปวด หรือทาครีมแก้ปวดเฉพาะที่
5. พยายามอย่าให้แผลรับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เช่น การเบ่งอุจจาระ การใช้สายฉีดชำระแรงเกินไป หรือการเช็ดทำความสะอาดแบบรุนแรง
6. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีเส้นใยสูง และดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายได้ดี ทำให้คุณแม่ไม่ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แผลฝีเย็บแตกได้
7. สังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง หากมีความผิดปกติ รีบพบคุณหมอก่อนวันนัดหมาย
บทความที่เกี่ยวข้อง : เคล็ดลับ ดูแลแผลผ่าคลอด ให้สวยเฉียบเรียบเนียน ไม่นูนแดง
เตรียมตัวก่อนคลอดให้ดี ไม่ต้องมี “แผลฝีเย็บ”
การตัดฝีเย็บอาจจะไม่จำเป็นสำหรับคุณแม่ทุกคน ถ้าได้ลองปฏิบัติตัวเพื่อเตรียมความพร้อมได้อย่างเหมาะสม ในช่วงใกล้คลอด เช่น การออกกำลังกาย กล้ามเนื้อเชิงกรานให้แข็งแรง จะช่วยให้คลอดง่ายขึ้น และลดปัญหาช่องคลอดฉีกขาด การนวดฝีเย็บด้วยน้ำมันมะกอก หรือน้ำมันจากธรรมชาติ ในช่วง 3-4 สัปดาห์ก่อนคลอดทุกวัน วันละ 3-4 นาที จะทำให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่น และผ่อนคลาย การใช้น้ำมันนวดหรือช่วยหล่อลื่นปากช่องคลอด ในช่วงก่อนคลอดจะช่วยให้ปากช่องคลอดไม่ฉีกขาดได้ง่าย และที่สำคัญอย่าลืมฝึกการเบ่งคลอด เพื่อช่วยให้คุณแม่มีแรงตลอดการคลอดอีกด้วย
การติดเชื้อ และแผลฝีเย็บอักเสบที่เกิดจากการคลอดเองตามธรรมชาติไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก หากคุณแม่ดูแล ใส่ใจ และเตรียมความพร้อมทั้งก่อนคลอด และหลังคลอดเป็นอย่างดี เชื่อว่าการคลอดตามธรรมชาติจะเป็นวิธีที่คุณแม่ประทับใจ และมีความสุขครั้งหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แผลผ่าคลอดปริ เรื่องที่แม่ผ่าคลอดคนไหนก็ไม่อยากเจอ
ภาวะแผลผ่าคลอดติดเชื้อ อาการอันตรายที่แม่ผ่าคลอดต้องระวัง
นานแค่ไหน กว่าแผลผ่าคลอดจะหาย ใช้เวลาเท่าไหร่ กว่าจะเป็นปกติ
ที่มา : re.kbu, thairath
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!