แย่แล้ว ลูกป่วยบ่อย ทำอย่างไร เป็นเรื่องทำให้คุณพ่อคุณแม่กลุ้มใจอยู่ไม่น้อย ทำอย่างไรลูกรักถึงจะมีร่างกายแข็งแรง ภูมิคุ้มกันดี เพื่อจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด เราจำเป็นจะต้องมาดูกันที่ สาเหตุที่ทำให้ลูกป่วยบ่อย รวมถึงคำแนะนำในการป้องกันลูกน้อยจากเชื้อโรคเบื้องต้น
8 สาเหตุที่ทำให้ลูกป่วยบ่อย คืออะไร
ผู้ปกครองที่มีลูกน้อย ไปจนถึงลูกวัยเรียน อาจมีข้อสงสัยว่าทำไมลูกน้อยมีอาการปวดเล็ก ๆ น้อย ๆ บ่อยมาก ถึงแม้อาการจะไม่หนัก และสามารถหายได้ในเวลาไม่นาน แต่เรื่องแบบนี้ก็ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นบ่อย เพราะอาจเป็นสัญญาณที่กำลังบอกว่า ลูกน้อยไม่แข็งแรง ต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลลูกรักมากขึ้น โดยทั่วไปเด็กที่ป่วยบ่อยมี สาเหตุ ดังนี้
- ไม่ได้ดื่มนมแม่ โดยเฉพาะ น้ำนมเหลือง ที่อุดมไปด้วยสารอาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- ในเด็กเล็กระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ ระบบภูมิคุ้มกันยังอ่อนแอ ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ ทำให้เด็ก ๆ มีโอกาสติดเชื้อโรคได้โดยง่าย
- ผ่าตัดคลอด เด็กที่ผ่าตัดคลอดจะไม่ได้รับแบคทีเรียดีระหว่างคลอดจากแม่
- สภาพแวดล้อมของลูกไม่สะอาด หรือเอื้อต่อการเติบโตของเชื้อโรค เช่น ฝุ่นในห้องนอน หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกน้อย เช่น ของเล่น, ผ้าห่ม, ปลอกหมอน หรือขวดนม เป็นต้น
- ลูกน้อยยังไม่รู้จักวิธีในการดูแลตนเอง โดยเฉพาะในเรื่องสุขอนามัย การเล่น การหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงได้ หรือบ้านไหนที่ลูกไปโรงเรียนแล้ว ก็มีโอกาสรับเชื้อโรคมาจากเพื่อนที่โรงเรียนได้สูง
- บางครั้ง เด็ก ๆ อาจไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะตอนที่วิ่งเล่นกับเพื่อน เพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น เด็ก ๆ อาจถอดหน้ากากอนามัยออก ทำให้สูดอากาศที่มีเชื้อหวัดปนอยู่เข้าไป
- การเว้นระยะห่าง Social distancing หรือ Physical distancing โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่ชอบวิ่งเล่น สัมผัสถูกตัวกัน ทำให้มีโอกาสสูงที่เชื้อจะแพร่กระจายเชื้อโรค จากคนหนึ่งไปสู่เด็กอีกคนหนึ่งได้ง่าย
- โรคประจำตัว เด็กบางคนมักมีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ ซึ่งถ้าหากอยู่ในสภาพอากาศที่ไปกระตุ้นให้เกิด ก็อาจจทำให้มีอาการกำเริบของโรคภูมิแพ้ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกไข้สูงไม่ลด ลูกตัวร้อนไม่หาย สิ่งที่ห้ามทำ และวิธีลดไข้ที่ถูกต้อง
สัญญาณอาการแบบไหนที่บอกว่าลูกไม่สบาย?
เพราะเด็กเล็ก หรือ ทารกแรกเกิด ไม่สามารถสื่อสารหรือบอกกับเราตรง ๆ ได้ว่าป่วย แต่หากเราสังเกตเห็นว่าลูกเริ่มมีอาการหงุดหงิด หรือร้องไห้อย่างต่อเนื่องและนานกว่าปกติ อาจจะเป็นสัญญาณบอกได้ว่าลูกไม่สบาย บวกกับว่าถ้าหากลูกมีไข้ ตัวเริ่มร้อน เบื่ออาหารหรือไม่ยอมกินนม ท้องเสีย หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที
วิธีดูแลลูกให้ห่างไกลจากเชื้อโรค
คุณแม่สามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของลูก ไม่ให้ลูกป่วยบ่อย ได้ด้วย 4 วิธีง่าย ๆ ที่เป็นเรื่องพื้นฐานรอบตัว ซึ่งอาจถูกมองข้ามไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนี้
1. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
น้ำนมแม่คือ อาหารที่ดีที่สุดของลูกน้อย และดีต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่สุด เพราะในน้ำนมแม่จะมีภูมิคุ้มกัน แอนติบอดี และเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่ทำหน้าที่ปกป้องลูกน้อยจาก โรคหูติดเชื้อในเด็ก โรคภูมิแพ้ โรคท้องร่วง โรคปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และโรคใหลตายในเด็ก โดยเฉพาะ “น้ำนมเหลือง” ที่ไหลออกมาในช่วงสองสามวันแรกหลังคลอด ที่อุดมไปด้วยแอนติบอดีที่จำเป็นในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ
ทารกแรกเกิดนั้น ไม่ควรพลาดน้ำนมเหลือง (Colostrum) ซึ่งเป็นน้ำนมแม่ช่วงที่มีปริมาณสารอาหารสูงสุด และจะมีเพียง 1 – 3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น ในน้ำนมเหลืองอุดมไปด้วย “แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin)” ที่มีบทบาทสำคัญต่อภูมิคุ้มกันของทารก ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของทารกแข็งแรงมากขึ้น ลดโอกาสติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรียต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ ในนมแม่ยังมี “MFGM” หรือเยื่อหุ้มไขมันในน้ำนมแม่ ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อเซลล์สมองและเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองแล้ว ยังพิสูจน์แล้วว่าช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดการเจ็บป่วยของลูกได้
2. โภชนาการอื่น ๆ ต้องดี
สำหรับเด็ก ๆ ในวัย 6 เดือนขึ้นไป นอกจากจะดื่มนมแม่แล้ว ก็ควรได้ทานอาหารตามวัยอย่างเหมาะสม ซึ่งจะปรับจากอาหารบดกระทั่งเป็นอาหารแข็งเมื่อลูกมีพัฒนาการการบดเคี้ยวที่ดีขึ้น ซึ่งควรมีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่
แต่ถ้าน้ำนมแม่ไม่พอ หรือนมแม่หมดแล้ว และยังกินอาหารอื่นไม่ค่อยได้ คุณแม่ควรมองหาโภชนาการการอื่น ๆ เข้ามาเสริมโดยเลือกสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้าง และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างปกติ เช่น แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin) ตามที่กล่าวไปข้างต้น และ MFGM เด็กบางคนอาจมีข้อจำกัดในการดื่มนม เช่น ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี ย่อยโปรตีนนมปกติไม่ค่อยได้ อาจจะต้องเลือกโภชนาการย่อยง่ายที่ประกอบด้วยโปรตีนที่ย่อยบางส่วน (PHP) ถ้าคุณแม่อยากจะปรับเปลี่ยนหรือเสริมโภชนาการ คุณแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อโภชนาการที่เหมาะสมกับลูกน้อย
3. สภาวะแวดล้อมต้องปลอดภัย
พื้นที่อยู่อาศัยของลูกน้อยสำคัญมาก เพราะทารกไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ การดูแลความสะอาดในห้องนอน ห้องนั่งเล่น ไปจนถึงของเล่นของลูก และอุปกรณ์ที่ใช้กับลูกบ่อย ๆ เป็นสิ่งพื้นฐานที่ห้ามมองข้าม เพื่อเลี่ยงการสะสมของเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ นอกจากนี้เมื่อลูกมีอายุที่มากขึ้น พอที่จะเรียนรู้ได้ คุณแม่อย่าพลาดที่จะสอนลูกในเรื่องของสุขอนามัย การล้างมือเมื่อจับสิ่งของ ล้างมือก่อนหลังกินข้าว เป็นต้น
4. การเรียนรู้นอกบ้าน
คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปสัมผัสกับธรรมชาติ ให้เค้าได้อยู่กับต้นไม้ใหญ่ ต้นหญ้า โดยอาจจะพาไปออกกำลังกาย เดินเล่น ที่สวนสาธารณะ ดีกว่าไปในที่คนพลุกพล่าน อย่างเช่นห้างสรรพสินค้า ที่อาจจะเป็นแหล่งสะสมและแพร่เชื้อโรค แต่อย่าให้ลูกตากแดดจัด นอกจากนี้การพาลูกไปข้างนอกบ้านยังมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของร่างกาย และยังส่งเสริมเรื่องภูมิคุ้มกันอีกด้วย อย่างไรก็ตามการพาเด็กเล็กไปนอกบ้าน ผู้ปกครองจะต้องไม่ลืมการป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ รวมไปถึงคอยดูแลความปลอดภัยไม่ให้พ้นจากระยะสายตา รวมถึงเตรียมอุปกรณ์ และยารักษาโรคประจำตัวของลูกไปด้วย
การให้โอกาสลูกที่จะออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย เช่น การได้วิ่งเล่นไปบนสนามหญ้า เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยให้ลูกมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงมากขึ้นได้ ผู้ปกครองควรเล่นกับลูกด้วย ถือเป็นการใช้เวลาร่วมกับลูกอีกแบบหนึ่งไปในตัว ดังนั้นเมื่อลูกสามารถหัดเดินได้ พอวิ่งได้ การออกไปปิกนิกข้างนอกก็ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
5. รับวัคซีนให้ครบ
ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงเด็กเล็กมีวัคซีนหลายชนิดที่ต้องรับตามอายุที่เหมาะสม ในเรื่องนี้เป็นสิ่งพื้นฐานที่แพทย์จะต้องบอกคุณแม่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อลูกผ่านพ้นช่วงแรกของการคลอดแล้วกลับไปอยู่บ้าน อย่าลืมที่จะพาลูกน้อยไปพบแพทย์ตามที่แพทย์นัด ไม่ควรปล่อยให้เลยกำหนดวันฉีดวัคซีน เพราะจะยิ่งทำให้ลูกมีความเสี่ยงต่อโรคร้ายต่าง ๆ ได้
การดูแลเด็กที่อยู่ในวัยกำลังซนแบบนี้ อย่าปล่อยให้อาการป่วย อาการไข้มารบกวนความสนุกของพวกเขาได้ การดูแลเรื่องโภชนาการ สภาพแวดล้อม และการเคร่งครัดเรื่องวัคซีน เป็นสิ่งที่สามารถช่วยปกป้องลูกจาดเหล่าเชื้อโรคได้เป็นอย่างดีแน่นอน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
มัดรวมประโยชน์ของ “แลคโตเฟอร์ริน” สารอาหารยืนหนึ่ง เรื่องสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกรัก
5 วิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูกรักด้วยวิธีธรรมชาติ
วิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ทารก พ่อแม่ควรทำอย่างไรไม่ให้ลูกเป็นเด็กป่วยง่ายวิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ทารก พ่อแม่ควรทำอย่างไรไม่ให้ลูกเป็นเด็กป่วยง่าย
ที่มา : phyathai verywellhealth, samitivej
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!