หากพูดถึงน้ำนมแม่เราต่างก็รู้ว่ามีประโยชน์กับลูกน้อยอย่างล้นเหลือ แล้วสารอาหารชนิดไหนที่มีประโยชน์และช่วยป้องกันลูกรักจากเชื้อโรคได้ คำตอบของคำถามนี้ก็คือ แลคโตเฟอร์ริน นั่นเอง ส่วน แลคโตเฟอร์ริน คืออะไร แลคโตเฟอร์ริน มีประโยชน์อย่างไร ทำไมจึงช่วยให้ลูกปลอดภัยจากเชื้อโรคได้ พบกับคำตอบได้ในบทความนี้
แลคโตเฟอร์ริน คืออะไร
แลคโตเฟอร์ริน (Lactoferrin) คือ โปรตีนที่มีส่วนประกอบของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย พบมากที่สุดในน้ำนมแม่ระยะแรก หรือ ช่วงน้ำนมเหลือง (Colostrum) ซึ่งจะมีเพียง 1 – 3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น แลคโตเฟอร์รินในถือว่าเป็นสุดยอดสารอาหารที่ลูกควรได้รับ เพราะมีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วย เปรียบเสมือนวัคซีนธรรมชาติจากอกแม่สู่ลูกน้อย
ประโยชน์ของแลคโตเฟอร์ริน
แลคโตเฟอร์รินทนต่อความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ออกฤทธิ์ในลำไส้ และสามารถจับธาตุเหล็กได้ดี จึงช่วยลดโอกาสที่จะมีภาวะขาดแคลนธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคโลหิตจางในทารก
ด้วยคุณสมบัติเดียวกันนี้เองที่ทำให้แลคโตเฟอร์รินสามารถป้องกันลูกน้อยจากแบคทีเรียและไวรัสได้ เพราะแบคทีเรียและไวรัสในลำไส้จะใช้โมเลกุลของธาตุเหล็กในการเจริญเติบโต เมื่อแลคโตเฟอร์รินไปจับธาตุเหล็กก็จะทำให้แบคทีเรียและไวรัสไม่สามารถเติบโตได้ โอกาสติดเชื้อจึงลดลง ลูกมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย
ในทางกลับกัน หากลูกไม่สามารถรับแลคโตเฟอร์รินในนมแม่ได้ตามปกติ โอกาสที่จะติดเชื้อโรคต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้น
น้ำนมแม่แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
- น้ำนมเหลือง (Colostrum) คือน้ำนมแม่ในช่วง 1 – 3 วัน หลังคลอด ระดับแลคโตเฟอร์รินช่วงน้ำนมเหลืองจะอยู่ที่ 6 กรัมต่อลิตร
- น้ำนมระยะปรับเปลี่ยน (Transitional Milk) คือน้ำนมแม่ในช่วง 4 – 20 วัน หลัง คลอด ระดับแลคโตเฟอร์รินช่วงน้ำนมเปลี่ยนผ่านจะอยู่ที่ 3.7 กรัมต่อลิตร
- น้ำนมสีขาว (Mature Milk) คือน้ำนมแม่ในช่วง 20 วัน หลังคลอด ระดับแลคโตเฟอร์รินของน้ำนมแม่ในช่วงนี้จะอยู่ที่ 1.5 กรัมต่อลิตร
จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาที่มีระดับแลคโตเฟอร์รินสูงที่สุดจะเป็นระยะน้ำนมเหลือง ที่จะมีอยู่เพียง 1 – 3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น หากลูกพลาดการดื่มน้ำนมเหลือง ก็เท่ากับลูกพลาดการได้รับวัคซีนธรรมชาติที่มีแลคโตเฟอร์รินสูงสุดไปนั่นเอง
ในนมแม่ไม่ได้มีแค่โปรตีนแลคโตเฟอร์ริน
นอกจากโปรตีนที่เราได้หยิบยกขึ้นมา น้ำนมของคุณแม่ยังมีประโยชน์กว่าที่คิด เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารที่หาได้ยากในนมผง หากคุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ก็ถือว่าน่าเสียดาย เพราะในนมแม่มีสารอาหารที่สำคัญนอกจากแลคโตเฟอร์ริน ดังนี้
- DHA : กรดไขมันโอเมก้า 3 DHA (Docosahexaenoic Acid) เป็นสารอาหารที่เราน่าจะได้ยินกันบ่อยในนมผงชนิดต่าง ๆ เพราะเป็นสารอาหารพื้นฐานที่ทารกควรจะได้รับ สารอาหารชนิดนี้มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาสมอง และการมองเห็นของทารก อย่างไรก็ตามหากคุณแม่ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ DHA ในร่างกายก็จะน้อยลงตามไปด้วย
- ไลโซไซม์ (Lysozyme) : เป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่พบในน้ำนมแม่ ซึ่งมีปริมาณมากกว่านมวัว มีความเฉพาะตัว และหาได้ยาก โดยทั่วไปแล้วจะไม่สามารถพบเจอในนมผง เนื่องจากไลโซไซม์จะถูกทำลายได้ในขั้นตอนที่ใช้ความร้อน สารอาหารชนิดนี้จะช่วยทำลายผนังเซลล์แบคทีเรีย ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียถูกทำลายไปในที่สุด
- ทอรีน (Taurine) : เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถสร้างได้เอง อย่างไรก็ตามสำหรับทารกแรกเกิดนั้น สารอาหารชนิดนี้ก็ยังถือว่ามีความสำคัญ เพราะมีส่วนช่วยในเรื่องของพัฒนาการทางสมอง และการมองเห็นคล้ายกับ DHA นั่นเอง
- MFGM : เป็นเยื่อหุ้มของกรดไขมัน รวมไปถึง DHA และ ARA ซึ่งเยื่อชนิดนี้โดดเด่นในเรื่องของโปรตีน และไขมัน มีคุณสมบัติที่ช่วยในการสร้างเยื่อไขมันหุ้มเส้นใยสมอง และช่วยในการเชื่อมต่อของระบบประสาท และเซลล์สมองได้ด้วย
- วิตามิน และแร่ธาตุ : ในนมแม่พร้อมไปด้วยวิตามินนานาชนิดทั้งวิตามิน B, C, A, และ E และยังมีแร่ธาตุที่สำคัญอย่างแคลเซียม และธาตุเหล็ก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นสารอาหารที่มีผลต่อพัฒนาการของทารกในทุก ๆ ด้าน
แม้ว่านมแม่ มีประโยชน์อย่างมากต่อทารก แต่ปริมาณของสารอาหารที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทารกจะได้มาก ได้น้อยจากการดื่มนมแม่ ต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในการทานอาหาร การพักผ่อน และดูแลสุขภาพของคุณแม่ร่วมด้วย
หลังคลอด คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมในแต่ละวัน และสามารถรับคำแนะนำจากนักโภชนาการในการทานอาหารเสริมคุณภาพน้ำนมแม่ได้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณแม่ได้รับสารอาหารครบถ้วนกับความต้องการและส่งต่อน้ำนมที่มีคุณภาพไปยังลูกน้อยผ่านทางน้ำนม
ถึงตรงนี้ คุณแม่คงรู้จักโปรตีน แลคโตเฟอร์ริน กันเป็นอย่างดี เพื่อให้มีพัฒนาการที่เติบโตแข็งแรงเป็นไปตามวัย และปลอดภัยจากเชื้อโรคแบคทีเรีย ไวรัสต่าง ๆ เพราะอย่างนี้นมแม่จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยอย่างไม่ต้องสงสัย หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถไป ที่นี่
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ข้อควรรู้ก่อน “บริจาค” หรือ “รับบริจาค” นมแม่
เด็กผ่าคลอด กับ คลอดธรรมชาติ พัฒนาการต่างกันอย่างไร
แลคโตเฟอรินในนมแม่ ป้องกันแบคทีเรียให้ทารก ให้นมลูกไม่ได้ควรทำอย่างไร
ที่มา : multimedia, webmd, phyathai, my.clevelandclinic
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!