อัปเดต วัคซีนเด็ก ตารางวัคซีน 2567 สำหรับคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายมาเช็กได้เลย ตารางวัคซีน 2567 กำหนดการให้วัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 2024 ได้ถูกปล่อยออกมาแล้ว มาอัปเดตกันได้ว่า วัคซีนพื้นฐานของเด็กแรกเกิด ไปจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีอะไรบ้าง ตัวไหนต้องฉีดตอนอายุเท่าไหร่ การพาลูกไปฉีดวัคซีนเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะสำหรับเด็กแรกเกิด ไปจนถึงเด็กประถมศึกษาปีที่ 6 หรืออายุประมาณ 12 ปี เพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันโรคร้ายแรงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้
วัคซีนเด็ก มีอะไรบ้าง
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำแผนงานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค หรือตารางการให้วัคซีน เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เด็กฉีดวัคซีนพื้นฐานฟรี โดยในปัจจุบันวัคซีนพื้นฐานของเด็ก สามารถควบคุมโรคร้ายต่าง ๆ ได้มากกว่าสิบโรค ได้แก่
- วัคซีนวัณโรค หรือวัคซีนบีซีจี
- วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี
- วัคซีนโรคคอตีบ
- วัคซีนโรคไอกรน
- วัคซีนโรคบาดทะยัก
- วัคซีนโรคโปลิโอที่มีทั้งแบบชนิดรับประทานและชนิดฉีด
- วัคซีนโรคหัด
- วัคซีนโรคหัดเยอรมัน
- วัคซีนโรคคางทูม
- วัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี
- วัคซีนโรคเอชพีวี
- วัคซีนโรคฮิบ
- วัคซีนโรต้า
กำหนดการฉีดวัคซีนให้เด็กตามอายุ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 12 ปี
วัคซีนที่ให้เด็กแรกเกิด
- HB1 วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (ควรให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด)
- BCG วัคซีนป้องกันวัณโรค (ฉีดให้เด็กก่อนออกจากโรงพยาบาล)
วัคซีนเด็ก อายุ 1 เดือน
- HB2 วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (เฉพาะรายที่คลอดจากแม่ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี)
วัคซีนที่ให้เด็กอายุ 2 เดือน
- DTP-HB-Hib1 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี ฮิบ
- OPV1 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน
- Rota1 วัคซีนโรต้า (ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งที่ 1 ในเด็กอายุมากกว่า 15 สัปดาห์)
วัคซีนที่ให้เด็กอายุ 4 เดือน
- DTP-HB-Hib2 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี ฮิบ
- OPV2 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน
- IPV วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด 1 เข็ม พร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน 1 ครั้ง)
- Rota2 วัคซีนโรต้า (ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งสุดท้าย ในเด็กอายุมากกว่า 32 สัปดาห์)
วัคซีนที่ให้เด็กอายุ 6 เดือน
- DTP-HB-Hib3 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี ฮิบ
- OPV3 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน
- Rota3 วัคซีนโรต้า
วัคซีนที่ให้เด็กอายุ 9 เดือน
- MMR1 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (หากไม่ได้ฉีดเมื่ออายุ 9 เดือน ให้รีบติดตามฉีดโดยเร็วที่สุด)
วัคซีนที่ให้เด็กอายุ 1 ปี
- LAJE1 วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์
วัคซีนเด็ก เด็กอายุ 1 ปี 6 เดือน
- DTP4 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน
- OPV4 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน
- MMR2 วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน
วัคซีนที่ให้เด็กอายุ 2 ปี 6 เดือน
- LAJE2 วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์
วัคซีนเด็ก เด็กอายุ 4 ปี
- DTP5 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน
- OPV5 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน
วัคซีนที่ให้เด็กประถมศึกษาปีที่ 1 (ตรวจสอบประวัติและเก็บตกวัคซีน)
- MMR วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน
- HB วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี
- LAJE วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์
- IPV วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด
- dT วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก
- OPV วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน
- BCG วัคซีนป้องกันวัณโรค
วัคซีนที่ให้เด็กประถมศึกษาปีที่ 5 (เฉพาะผู้หญิง)
- HPV1 และ HPV2 วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี (ระยะห่างระหว่างเข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน)
วัคซีนที่ให้เด็กประถมศึกษาปีที่ 6
- dT วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัด
บทความที่น่าสนใจ : แผลบาดทะยัก เป็นแบบไหน จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเป็นโรคบาดทะยัก
อาการที่อาจเกิดกับลูกหลังฉีดวัคซีน
นับว่าเป็นเรื่องปกติที่เด็ก ๆ อาจมีอาการข้างเคียงบางอย่างหลังจากได้รับวัคซีน ซึ่งเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อวัคซีน อาการเหล่านี้มักไม่รุนแรงและหายไปเองภายในไม่กี่วัน มีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
1) เกิดอาการบวมแดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน
หลังฉีด ลูกน้อยอาจมีอาการบวมแดงและมีก้อนแข็งบริเวณที่ฉีดวัคซีน หากบวมมากสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการประคบเย็น โดยปกติแล้ว อาการบวมจะเป็นประมาณ 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม หากมีการอักเสบมาก ไม่ควรอปล่อยไว้นานจนเป็นหนอง ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
2) ไข้ขึ้น
หากลูกน้อยมีไข้ สามารถเช็ดตัวให้ลูกเพื่อให้ไข้ลด โดยเน้นเช็ดที่ซอกคอ และข้อพับ หากไข้ยังไม่ลด ควรให้ยาลดไข้ตามคำแนะนำของแพทย์ โดยทั่วไปแล้ว อาการไข้จะหายได้เองภายใน 2-3 วัน อย่างไรก็ตามหากลูกมีไข้สูงจนชักให้จับหน้าลูกนอนตะแคงคว่ำหันหน้าออกเพื่อไม่ให้ลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ ไม่นำของแข็ง เช่น นิ้วมือ ช้อน ฯลฯ ใส่ปากลูก เพราะจะทำให้สำลักมากขึ้น ควรรีบพาไปโรงพยาบาลทันทีค่ะ
3) ผื่นขึ้น
การฉีดวัคซีนบางชนิด เช่น วัคซีนป้องกันหัดเยอรมันและอีสุกอีใส อาจทำให้เกิดผื่นขึ้นบนผิวหนังได้ ซึ่งเป็นผลมาจากเชื้อไวรัสที่อ่อนแอที่อยู่ในวัคซีน ผื่นเหล่านี้มักปรากฏขึ้นประมาณ 5-7 วันหลังจากได้รับวัคซีน และอาจมาพร้อมกับอาการไข้ โดยทั่วไป ผื่นจากวัคซีนจะหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ค่ะ อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจมีอาการแพ้รุนแรงจากวัคซีน ซึ่งจะแสดงอาการ เช่น บวมรอบดวงตาหรือรอบคอ หรือ หายใจลำบาก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีค่ะ
เด็กที่มารับวัคซีนล่าช้า ควรทำอย่างไร
- วัคซีนทุกชนิด ถ้าไม่สามารถเริ่มให้ตามกำหนดได้ ก็เริ่มให้ทันทีที่พบครั้งแรก
- สำหรับวัคซีนที่ต้องให้มากกว่า 1 ครั้ง หากเด็กมารับวัคซีนครั้งต่อไปล่าช้า สามารถให้วัคซีนครั้งต่อไปได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นครั้งที่ 1 ใหม่
- กรณีให้วัคซีนแก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วนหรือล่าช้า เด็กจะได้รับวัคซีนตามกำหนดครบภายในระยะเวลา 1 ปี จากนั้นให้วัคซีนต่อเนื่องตามที่กำหนดในกำหนดการให้วัคซีนปกติ
โรคที่ต้องมีการรับวัคซีนเพิ่มเติม
คุณพ่อคุณแม่สามารถพาเด็กไปรับวัคซีนได้ตามคลินิกทั่วไป เทศบาลท้องถิ่น รวมไปถึงโรงพยาบาล โดยควรนำสมุดบันทึกการฉีดวัคซีนของเด็กไปด้วยทุกครั้ง และไม่ควรรับวัคซีนถ้าหากเด็กมีไข้ขึ้นสูงค่ะ
วัคซีนโรต้า (Rota)
สิ่งที่คุณแม่จะต้องอัปเดตกันหน่อย ก็คือวัคซีนโรต้า (Rota) ที่ตอนนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้บรรจุไว้ในวัคซีนพื้นฐานของเด็กแล้ว คุณแม่สามารถขอรับวัคซีนหลักได้ฟรี โดยสำหรับวัคซีนโรต้านั้น ให้หยอดตามตารางวัคซีนเด็ก ที่ช่วงอายุ 2, 4 และ 6 เดือน หยอดครั้งแรกอายุ 6-15 สัปดาห์ ส่วนครั้งสุดท้าย ให้หยอดในช่วงที่ไม่เกิน 8 เดือน แต่ละครั้งต้องห่างกันมากกว่า 1 เดือน สำหรับการรับวัคซีนล่าช้า สามารถทำได้ แต่องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำว่า อายุไม่ควรเกิน 2 ปีค่ะ
วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella Vaccine / Chickenpox Vaccine)
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ถือเป็นวัคซีนเสริม สามารถให้ได้ที่อายุน้อยสุด 1 ปี แนะนำว่าควรได้รับวัคซีนเข็มแรกในช่วง 12-18 เดือน จะดีที่สุด ส่วนเข็มที่ 2 ควรให้เมื่ออายุ 2-4 ปี อาจจะฉีดก่อน 4 ปีได้ ถ้าหากช่วงนั้นโรคอีสุกอีใสกำลังระบาด สำหรับเด็กอายุมากกว่า 13 ปีขึ้นไป ไปจนถึงผู้ใหญ่ ถ้าหากไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ให้ฉีด 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่างกัน 1 เดือน
วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก CYD-TDV (Chimeric Yellow Fever Dengue Tetravalent Dengue Vaccine) ถือเป็นอีกวัคซีนเสริม สามารถฉีดได้ช่วงอายุ 9-45 ปี จำนวนทั้งหมด 3 เข็ม สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน ให้ฉีดตอน 0, 6 และ 12 เดือน ส่วนสำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน ควรตรวจเลือดก่อนให้วัคซีน
วัคซีนโควิด 19
- วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 วัคซีนไฟเซอร์ สําหรับเด็กอายุ 5 – 11 ปี บรรจุในขวดแก้ว “ฝาขวดและฉลากสีส้ม”
- วิธีการฉีด: เข้าชั้นกล้ามเนื้อ (Intramuscular injection)
- กําหนดการให้วัคซีน : ตามคําแนะนําของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ฉีดวัคซีนขนาด 10 ไมโครกรัม ปริมาณ 0.2 มิลลิลิตร เข้ากล้ามเน้ือ 2 ครั้ง ห่างกัน 3 – 12 สัปดาห์ โดยระยะห่าง 8-12 สัปดาห์ จะดีกว่า 3-4 สัปดาห์ เพราะได้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า
- อายุที่สามารถฉีดวัคซีนได้: ตั้งแต่อายุ 5 ปี ถึง 11 ปี 11 เดือน 29 วัน
ข้อห้าม
- ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ครั้งก่อน หรือแพ้อย่าง รุนแรงต่อ ส่วนประกอบของวัคซีน
- ห้ามนำวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ (ฝาขวดสีม่วง) มาใช้ในเด็กอายุ 5 – 11 ปี เพื่อป้องกัน การให้วัคซีนผิดพลาด (Administration errors, including dosing errors)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เริ่มจองได้แล้ว! ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เปิดให้จองคิวฉีดไฟเซอร์สำหรับเด็ก
ทำความรู้จัก 6 โรคอันตรายในเด็ก ที่ป้องกันได้ด้วย วัคซีนรวม เพียงเข็มเดียว
ฉีดวัคซีนแล้ว ทำไมลูกถึงไม่สบาย อาการต่าง ๆ หลังการรับวัคซีน มีอะไรบ้าง
แพ็คเกจวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ราคาฉีดวัคซีนโรงพยาบาลชั้นนำ กรุงเทพฯ
ที่มา : PIDST, ddc.moph , facebook, khonkaenram
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!