การที่ลูกตีพ่อแม่หรือแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว รุนแรง อาจเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนเคยพบเจอ และเกิดความกังวลใจ ซึ่งการที่เด็กแสดงออกด้วยการตีหรือทำร้ายผู้อื่นนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งความเครียด ความไม่เข้าใจ หรือการไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีวิธีการจัดการที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสม และรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แข็งแรงค่ะ มาดูกันว่าพฤติกรรม ลูกตีพ่อแม่ จะแก้ไขยังไงดี

ทำไม? ลูกตีพ่อแม่ พฤติกรรมนี้เกิดจากอะไร
พฤติกรรมลูกตีพ่อแม่ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงวัยเตาะแตะ อาจเกิดจากหลายสาเหตุค่ะ ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวของลูกและสิ่งแวดล้อมที่ลูกอยู่ด้วย อาทิ
- เป็นการแสดงอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเด็กบางคนยังไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ เช่น ความโกรธ ความหงุดหงิด หรือความกลัว
- การเรียนรู้จากสิ่งที่เห็น ลูกน้อยอาจเรียนรู้จากสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน เช่น การเห็นคนอื่นตีหรือแสดงความรุนแรง ในบ้าน หรือในสื่อ
- ต้องการความสนใจ บางครั้ง ลูกตีพ่อแม่ เพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือเป็นการแสดงออกว่าต้องการให้คุณพ่อคุณแม่สนใจตัวเองมากขึ้น
- ต้องการต่อต้านสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ห้าม ไม่เข้าใจขอบเขตหรือกฎเกณฑ์ ไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม และไม่รู้ว่าการตีเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
- ด้วยพัฒนาการทางสมองของเด็กวัยเตาะแตะ จะยังไม่รู้จักคำว่า “เห็นอกเห็นใจ”
- เป็นวิธีการเล่นแบบหนึ่งของลูก
ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้ว ลูกน้อยไม่ได้มีความตั้งใจที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เจ็บเลยนะคะ เพียงแต่ยังไม่สามารถแสดงออกด้วยวิธีอื่นได้เท่านั้นเองค่ะ
|
ลูกตีพ่อแม่ ความก้าวร้าวที่ซ่อนอยู่ในพัฒนาการแต่ละช่วงวัย
|
วัยเตาะแตะ (1-3 ขวบ) |
- ลูกน้อยวัยนี้ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้อย่างเต็มที่
- อาจแสดงออกถึงความไม่พอใจด้วยการตี หรือทำร้ายร่างกาย
|
วัยก่อนเรียน (3-5 ขวบ) |
- ลูกเริ่มเรียนรู้ที่จะแสดงออกถึงความต้องการของตนเอง
- หากไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่ต้องการ ลูกอาจตีพ่อแม่เพื่อเรียกร้องความสนใจ
|
วัยเรียน (6-12 ขวบ) |
- เป็นวัยที่อาจเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวจากสื่อ หรือจากบุคคลรอบข้าง
- ความเครียดจากการเรียน หรือปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงได้
|

8 วิธีจัดการพฤติกรรม ลูกตีพ่อแม่ อย่างสร้างสรรค์และได้ผล
การที่ลูกตีพ่อแม่อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกตกใจ และไม่แน่ใจว่าจะจัดการอย่างไรดี แต่การรับมือกับพฤติกรรมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการที่รุนแรงหรือทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลง ความเข้าใจและวิธีจัดการอย่างสร้างสรรค์ สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ มาดูเคล็ดลับช่วยให้ลูกเรียนรู้วิธีการควบคุมอารมณ์อย่างถูกต้อง และเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แข็งแรงไปพร้อมกันค่ะ
-
เป็นแบบอย่างที่ดี
พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการควบคุมอารมณ์ และการจัดการกับความขัดแย้ง ควรปรับอารมณ์ให้นิ่ง หรือปลีกตัวออกมาจนรู้สึกผ่อนคลายเสียก่อนแล้วค่อยๆ พูดคุยกับคนรอบข้างด้วยความนุ่มนวล ทำให้ลูกน้อยเห็นเป็นประจำลูกจะซึมซับตัวอย่างที่ดีในการจัดการอารมณ์โกรธได้ค่ะ
-
ตั้งสติและควบคุมอารมณ์
เมื่อลูกตีพ่อแม่ สิ่งแรกที่ควรทำคือตั้งสติและควบคุมอารมณ์ของตนเอง ควรเข้าใจว่าพฤติกรรมการตี คือการสื่อสารชนิดหนึ่ง แล้วพยายามช่วยให้ลูกแสดงออกด้วยวิธีอื่นแทน หลีกเลี่ยงการตอบโต้ด้วยความรุนแรง หรือการตะโกนใส่ลูก ลูกจะไม่สามารถสงบลงได้ ถ้าตัวคุณพ่อคุณแม่ยังมีอารมณ์ที่พุ่งสูงปรี๊ด และลูกจะไม่ฟังหากยังไม่ได้ระบายอารมณ์โกรธออกมาก่อน เราจึงต้องอนุญาตให้ลูกมีความรู้สึกโกรธ เป็นการยอมรับความรู้สึกแต่ไม่ยอมรับพฤติกรรม นอกจากนี้ อย่าบอกลูกซ้ำๆ ให้เงียบ อย่าสั่งหรือตีให้ลูกเงียบ การตอบโต้ด้วยความรุนแรงอาจทำให้ลูกเรียนรู้ว่าเมื่อมีความขัดแย้งก็สามารถใช้ความรุนแรงได้ ควรใช้วิธีที่สงบและมีสติในการจัดการพฤติกรรมของลูก ใช้การพูดคุย ให้คำแนะนำ จะช่วยให้ลูกเข้าใจเหตุผลได้ดีกว่า
-
ลูกตีพ่อแม่ ต้องจับมือลูกให้แน่น เพื่อหยุดการตี
หากลูกกำลังตีคุณพ่อคุณแม่อยู่ ให้จับมือลูกแน่นๆ เพื่อหยุดการตีนั้น และพูดสั้นๆ ว่า “ไม่ตี” โดยต้องเป็นคำพูดที่หนักแน่นแต่ไม่คุกคาม แต่ในกรณีที่ลูกหยุดตีไปแล้ว ก็ไม่ต้องจับมือและไม่ต้องพูดค่ะ ทั้งนี้ การจับมือลูกไม่ให้ตีนั้นสำคัญมากนะคะ คุณพ่อคุณแม่จะต้องจับมือลูกให้ทันเพื่อเปลี่ยนทิศทางการทำงานของสมองทันที ลูกจะรู้สึกปลอดภัยและเข้าใจว่าต้องทำตัวอย่างไรในแบบที่พ่อแม่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม บางครั้งลูกวัยเตาะแตะก็ตีเพราะเล่นสนุก คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถใช้วิธีจับมือลูกแล้วรีบเบี่ยงเบนความสนใจลูกไปเล่นอย่างอื่นแทน อย่าตอบสนองการเล่นตีของลูกกลับไปด้วย “ความสนุก” แค่พาลูกไปสนุกกับพ่อแม่ในรูปแบบอื่นดีกว่า แล้วพฤติกรรมลูกตีพ่อแม่จะค่อยๆ หายไปเองค่ะ
-
แยกแยะพฤติกรรม
ควรสอนลูกให้เข้าใจว่าการตีพ่อแม่เป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง และไม่ได้รับการยอมรับ โดยต้องแสดงความรู้สึกและความไม่พอใจอย่างชัดเจนและเหมาะสม เช่น การบอกลูกว่า “พ่อแม่ไม่มีความสุข และรู้สึกเสียใจ ที่ลูกตี” โดยใช้เสียงที่หนักแน่นแต่ไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกทำร้ายทางอารมณ์ หรือว่าใช้วิธีการพูดที่ไม่ทำให้ลูกรู้สึกกลัว แต่เข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมค่ะ
-
กำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน
การตั้งกฎเกณฑ์และขอบเขตที่ชัดเจนในบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ยอมรับได้และไม่ได้ หากลูกทำผิดกฎ ก็ควรมีผลลัพธ์การกระทำที่เหมาะสม เช่น การตักเตือน การลดปริมาณขนมที่ชอบ งดกิจกรรมโปรด หรือการทำโทษอื่นๆ ที่ไม่ใช้ความรุนแรง

-
สื่อสารอย่างเข้าใจ
การพูดคุยกับลูก โดยเฉพาะวัยที่สามารถพูดคุยรับฟังเหตุผลได้แล้ว ควรเป็นไปอย่างเข้าใจ ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน สอบถามถึงสาเหตุที่ลูกตีพ่อแม่ และรับฟังความคิดเห็นของลูกอย่างตั้งใจ จริงๆ แล้วลูกน้อยก็อาจรู้สึกกลัวและตกใจกับพฤติกรรมตัวเองเหมือนกันค่ะ อาจมีความรู้สึกกลัวพ่อแม่จะทิ้ง กลัวพ่อแม่ไม่รักตามมา คุณพ่อคุณแม่จึงควรอยู่กับลูกต่อ เพื่อให้ลูกรู้สึกสบายใจและปลอดภัย จะชวนเล่นหรือทำกิจกรรมที่ชอบก็ได้ค่ะ โดยหาจังหวะสอดแทรกการสอนลูกสั้นๆ เช่น “เวลาลูกโกรธ ลูกร้องไห้ได้ เสียงดังได้ แต่ลูกตีคนไม่ได้นะจ๊ะ” เป็นต้น การสื่อสารที่ดีในครอบครัวสามารถซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ และการให้ลูกมีส่วนร่วมในการสนทนาจะทำให้รู้สึกว่าความรู้สึกของตัวเองได้รับความเคารพ และจะช่วยให้ลูกมีการแสดงออกที่สร้างสรรค์มากขึ้นค่ะ
-
สอนทักษะการควบคุมอารมณ์
สอนลูกให้รู้จักวิธีการจัดการกับอารมณ์ของตนเองอย่างเหมาะสม เช่น การหายใจเข้าออกลึกๆ การนับเลข หรือการเดินไปสงบสติอารมณ์ในที่เงียบๆ หรือการพูดคุยเพื่อระบายความรู้สึก
-
ให้รางวัลเมื่อทำดี
ชื่นชมและให้รางวัลเมื่อลูกสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ หรือแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม โดยเน้นให้รางวัลกับพฤติกรรมที่ดีของลูก เช่น เมื่อลูกแสดงการควบคุมอารมณ์หรือแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ดี ควรให้คำชมเชยหรือรางวัลเล็กน้อยเพื่อเสริมแรงบวกให้กับการกระทำที่เหมาะสม

การแก้ไขพฤติกรรมลูกตีพ่อแม่ต้องอาศัยความอดทน ความเข้าใจ และความสม่ำเสมอค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่ให้ความรัก ความอบอุ่น และความเข้าใจแก่ลูกอย่างเหมาะสม ลูกน้อยจะสามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ของตนเอง และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ ทั้งนี้ หากพฤติกรรมของลูกน้อยยังไม่ดีขึ้น หรือมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญนะคะ
ที่มา : www.bangkokhospital.com , www.thaipbskids.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ลูกชอบทำอะไรซ้ำๆ ปกติมั้ย? แบบไหน มีภาวะเสี่ยงออทิสติก!
6 เรื่องต้องห้าม! หยอกล้อเด็ก กระทบ Self-Esteem แหย่เด็กเล่น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
ดุลูกยังไงไม่ให้เกิดบาดแผลในใจ เทคนิคสร้าง “เด็กดี” ด้วยความเข้าใจ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!