เคยสังเกตเห็นกันใช่มั้ยคะว่า เด็กๆ มักจะชอบทำอะไรซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นของเล่นชิ้นเดิม วิ่งวนไปมา หรือพูดคำเดิมซ้ำๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่บางคนกังวลใจว่าลูกมีพัฒนาการที่ผิดปกติหรือเปล่า บทความนี้จะช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการที่ ลูกชอบทำอะไรซ้ำๆ ว่าเป็นเรื่องปกติของการเรียนรู้ หรือมีภาวะเสี่ยงผิดปกติกันแน่! มาเตรียมความพร้อมรับมือพฤติกรรมนี้ของลูกน้อยอย่างเหมาะสมกันค่ะ
ทำไม? ลูกชอบทำอะไรซ้ำๆ
การทำอะไรซ้ำๆ นั้นเกิดได้กับเด็กหลายช่วงวัย เช่น การเล่นเกมเดิม หรือการพูดคำเดิมซ้ำๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติของลูกน้อยค่ะ เนื่องจากเป็นช่วงที่ลูกกำลังฝึกทักษะต่างๆ และ “การทำซ้ำ” ช่วยให้เกิดความคุ้นเคยและมีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังทำนั้นมากขึ้น ซึ่งสามารถสรุปสาเหตุที่ ลูกชอบทำอะไรซ้ำๆ ได้จากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ค่ะ
- การเรียนรู้: เด็กเล็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวผ่านการสัมผัส มองเห็น ได้ยิน และลงมือทำซ้ำๆ ดังนั้น การทำซ้ำๆ จะช่วยให้ลูกน้อยจดจำรูปแบบ ฝึกฝนทักษะ และสร้างความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น เช่น การเล่นบล็อกซ้ำๆ ช่วยพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและจินตนาการ เป็นต้น
- สร้างความมั่นใจและควบคุม: ลูกน้อยนั้นจะยังไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ รอบตัวได้มากนักค่ะ การทำอะไรซ้ำๆ ที่ตนเองควบคุมได้ เช่น การเรียงของเล่น จึงจะช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นใจและปลอดภัย
- การสำรวจ: เด็กเล็กแน่นอนว่าช่วงวัยของลูกน้อย โดยเฉพาะในเด็กเล็กนั้นยังอยู่ในช่วงสำรวจโลกกว้าง การทำอะไรซ้ำๆ เป็นวิธีหนึ่งที่ลูกจะใช้ในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น การกดปุ่มของเล่นซ้ำๆ เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น การโยนบอลให้เด้งไปมาซ้ำๆ ฯลฯ
- การผ่อนคลาย: การทำอะไรซ้ำๆ บางอย่าง เช่น การดูดนิ้วหัวแม่มือ หรือโยกตัวไปมา อาจเป็นหนึ่งในวิธีที่ลูกใช้ในการผ่อนคลายและปลอบประโลมตัวเองนั่นเองค่ะ

ข้อดีของการที่ ลูกชอบทำอะไรซ้ำๆ
ความชอบทำในสิ่งเดิม ซ้ำไปมานั้น ไม่ได้น่าเบื่อสำหรับเด็กเลยค่ะ ตรงกันข้าม ลูกชอบทำอะไรซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟังนิทานเรื่องเดิม ดูการ์ตูนเรื่องเดียวกันหลายรอบ หรือเล่นของเล่นชิ้นเดิมวนไปวนมา กลับให้ประโยชน์หลายอย่างกับลูกน้อย โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่เกิดซ้ำนั้นเป็นสิ่งที่ลูกชอบและเลือกที่จะทำด้วยตัวเอง ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า “การทำซ้ำ” มีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก เช่น
- ทารกอายุ 18-24 เดือน หากยิ่งได้อ่านหนังสือที่สอนวิธีทำของเล่นซ้ำหลายรอบ จะยิ่งสามารถเลียนแบบขั้นตอนการทำได้ดีขึ้น
- เด็กอายุ 3 ขวบ ที่ได้ฟังคำศัพท์ใหม่จากนิทานเรื่องเดิมซ้ำๆ จะสามารถจดจำคำศัพท์ได้ดีกว่าการฟังคำศัพท์เดียวกันจากนิทานหลายๆ เรื่อง
- เด็กที่ได้ดูรายการโทรทัศน์ซ้ำๆ มีแนวโน้มที่จะเลียนแบบพฤติกรรมที่ได้เห็นมากขึ้น
ตัวอย่างข้างต้นชี้ให้เห็นว่า การทำซ้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทั้งด้านความจำ การเรียนรู้ทั่วไป โดยเฉพาะการเรียนภาษา ที่จะช่วยให้ลูกจดจำข้อมูลได้ดีขึ้น เข้าใจภาษาลึกซึ้งมากขึ้น และประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้มาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็เพราะ
- แต่ละครั้งที่ได้อ่าน ได้ลงมือทำ หรือได้เล่น ลูกจะเกิดข้อสังเกตใหม่ๆ ในจุดที่แตกต่างออกไป ยิ่งสิ่งที่ทำมีขั้นตอนรายละเอียดปลีกย่อยมาก เช่น การอ่านนิทานเล่มเดิม ลูกอาจได้สังเกตภาพในจุดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และการดูตัวหนังสือเดิมซ้ำก็ทำให้จดจำคำศัพท์ได้เร็วขึ้น เข้าใจความหมายได้ลึกซึ้งมากขึ้น
- การเล่นสิ่งเดิม หรือใช้ของชิ้นที่คุ้นเคย มีส่วนทำให้ลูกรู้สึกถึงความปลอดภัยและคาดเดาได้ เป็นการสร้างความรู้สึกว่าโลกนี้ไม่น่ากลัว มีความมั่นคง และตัวเองสามารถจัดการกับโลกใหญ่ๆ ใบนี้ได้ เด็กหลายคนจึงรู้สึกดีที่ได้ฟังนิทานเรื่องเดิมอย่างไม่รู้สึกเบื่อ
- ลูกชอบทำอะไรซ้ำๆ จะช่วยสร้างเส้นทางในสมอง (Pathways) ที่ประสานเซลล์สมองให้จดจำสิ่งเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น จนอาจเกิดเป็นทักษะหรือความชำนาญ เป็นประโยชน์ในการต่อยอดเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ต่อไป
- สิ่งที่ลูกทำซ้ำเป็นประโยชน์ต่อการสร้างนิสัยที่ดี โดยพ่อแม่ต้องช่วยกระตุ้นในการจับคู่กิจกรรมที่ลูกชอบทำซ้ำ กับพฤติกรรมดีๆ ที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับลูกด้วยค่ะ เช่น การอ่านนิทานที่ลูกชอบก่อนนอนทุกคืน เพื่อให้ลูกเข้านอนตรงเวลา หรือชุดกินข้าวเดิมกับอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ หรือนม เป็นต้น

รับมือยังไงดี เมื่อลูกชอบทำอะไรซ้ำๆ
- เข้าใจและยอมรับ คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่าการทำอะไรซ้ำๆ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และพัฒนาการของลูกน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้น ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น และไม่ควรดุ หรือบังคับให้ลูกเปลี่ยนพฤติกรรมที่ชอบ
- ส่งเสริม คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมและสนับสนุน เช่น หากลูกชอบเล่นบล็อกซ้ำๆ อาจหาบล็อกแบบต่างๆ มาให้ลูกเล่นเพิ่มเติม เพื่อต่อยอกพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการของลูกน้อย
- เบี่ยงเบนความสนใจ หากลูกทำอะไรซ้ำๆ เป็นเวลานานเกินไป อาจเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปที่กิจกรรมอื่นๆ เช่น ชวนลูกเล่นเกมใหม่ๆ ออกไปวิ่งเล่นข้างนอกเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเพิ่มเติม ทั้งยังได้ใช้เวลาคุณภาพของครอบครัวร่วมกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้ลูกได้พบเจอเพื่อนๆ ผู้คนใหม่ๆ เสริมสร้างทักษะการเข้าสังคมได้ด้วยค่ะ

ลูกชอบทำอะไรซ้ำๆ แบบไหน? เสี่ยงออทิสติก!
พฤติกรรมลูกชอบทำอะไรซ้ำๆ เป็นการเรียนรู้ตามธรรมชาติก็จริงค่ะ แต่ก็มีบางกรณีที่ “การทำซ้ำ” เป็นสัญญาณความผิดปกติบางอย่าง อาทิ ทางพฤติกรรมเสี่ยงออทิสติก เป็นต้น ซึ่งภาวะออทิสติก หรือ Autistic Spectrum Disorder เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง ทำให้ลูกเกิดความบกพร่องของพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และมีพฤติกรรมบางอย่างที่ผิดปกติ โดยอาการส่วนใหญ่จะเริ่มปรากฏเมื่ออายุประมาณ 2 ปี ชัดเจนมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน และแน่นอนค่ะ การที่ลูกชอบทำอะไรซ้ำๆ เป็นหนึ่งในสัญญาณของภาวะนี้ เช่น
- ชอบกินอาหารเดิมๆ ใช้ของซ้ำๆ และยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ยาก
- ทำท่าทางที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวซ้ำๆ อย่างการเดินเขย่งเท้า กระโดดสะบัดมือเวลาดีใจ เอานิ้วมือตัวเองมามองและขยับไปมาใกล้ใบหน้า
- สนใจในบางเรื่องจนหมกมุ่นมากเป็นพิเศษ เล่นของเล่นซ้ำๆ มองส่วนที่สนใจเป็นพิเศษ เช่น มองล้อรถหมุนๆ
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด และปรึกษาแพทย์หรือนักพัฒนาการเด็ก หากพบว่าลูกมีพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับ การไม่สบตา ไม่พูด หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อย มีพัฒนาการด้านอื่นๆ ล่าช้า เช่น พูดช้า เดินช้า หรือมีปัญหาในการเรียนรู้
จะเห็นได้ว่า การทำสิ่งต่างๆ ซ้ำๆ เป็นสิ่งที่ธรรมชาติที่ลูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น และช่วยให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิมๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลค่ะ อย่างไรก็ตาม หากลูกเริ่มแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เหมาะสม หรือมีปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ คุณพ่อคุณคุณแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินและให้คำแนะนำที่เหมาะสม จะช่วยให้ลูกได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ ได้เต็มที่นะคะ
ที่มา : อ่านหนังสือกับลูก , www.trueplookpanya.com , www.phyathai.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ทารก 6 เดือน กินอะไรได้บ้าง ? เริ่มต้นอาหารตามวัยอย่างปลอดภัย ได้ประโยชน์ครบ!
ลูกชอบเถียง วัย 5 ขวบ ทำไม? ลูกเถียงเก่ง พัฒนาการที่ต้องเข้าใจและพร้อมรับมือ
เช็กสัญญาณเสี่ยง! ออทิสติกเทียม รีบแก้ไข ก่อนเป็นภัยคุกคามพัฒนาการลูก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!