การสื่อสารกับลูกน้อยนั้นเป็นศิลปะที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนค่ะ ดังนั้นแน่นอนว่า เสียงตะโกนที่ดังกังวาน อาจฝังรอยแผลเป็นลึกในใจลูกมากกว่าที่คุณพ่อคุณแม่คิด การตะโกนใส่ลูกอาจเป็นเหมือนการทุบตีจิตใจดวงน้อยๆ ซึ่งนอกจากทำให้ลูกเกิดความหวาดกลัว ความวิตกกังวลแล้ว ยังเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก และส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ในระยะยาวได้ เพราะรอยฟกช้ำภายนอกอาจหายไปได้ แต่รอยแผลใจที่เกิดจากการถูกตะโกนใส่ อาจติดตัวลูกไปตลอดชีวิต บทความนี้จะชวนคุณพ่อคุณแม่มาเช็กพฤติกรรมตัวเอง และเรียนรู้เรื่อง ผลเสียจากการตะโกนใส่ลูก สร้างบาดแผลทางใจที่มองไม่เห็น พร้อมป้องกันและแก้ปัญหานี้ไปด้วยกันค่ะ
อะไร? คือเหตุผลหลักที่พ่อแม่ ตะโกนใส่ลูก
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องการเลี้ยงลูกน้อยให้เติบโตไปเป็นคนดี มีคุณภาพ สร้างประโยชน์แก่คนอื่นได้ จึงเป็นเรื่องปกติที่ความรู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจ หรือโมโห จะเกิดขึ้นเมื่อลูกน้อยทำตัวไม่น่ารัก ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้ดั่งใจ จนบ่อยครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจแสดงอารมณ์ไม่พอใจ เกิดการตะโกนใส่ลูก ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงในการตะคอก ดุ เหยียดหยาม ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เพียงเพื่อให้ลูกน้อยหยุดพฤติกรรมไม่ดี ซึ่ง ผลเสียจากการตะโกนใส่ลูก รวมถึงการกระทำต่างๆ ข้างต้น สามารถสร้าง บาดแผลทางใจที่มองไม่เห็น ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยทั้งด้านสุขภาพร่างกาย จิตใจ พัฒนาการ และพฤติกรรมในระยะยาวได้ค่ะ
โดย “การตะโกน” หรือ “ตะคอก” เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้สึกโกรธ โมโห ไม่พอใจ การแสดงออกทางอารมณ์จะเป็นไปในลักษณะที่รุนแรง โทนเสียงและน้ำเสียงจะเริ่มดังขึ้น สูงขึ้น ซึ่งเป็นเพียงการทำให้ลูกเงียบและสงบลงได้แค่เพียงชั่วคราว แต่สาเหตุของปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไข และแน่นอน ลูกน้อยจะเรียนรู้พฤติกรรมนี้ของคุณพ่อคุณแม่ หากคุณพ่อคุณแม่ตะโกนใส่ลูกบ่อย ๆ มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบและนำไปปฏิบัติกับผู้อื่น ทั้งยังอาจทำให้ลูกโตมาเป็นคนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ขี้โมโห และชอบหงุดหงิดใส่ผู้อื่นได้
ผลเสียจากการตะโกนใส่ลูก บาดแผลทางใจที่มองไม่เห็น
การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องที่ท้าทายและอาจทำให้พ่อแม่รู้สึกหงุดหงิดบ้างเป็นธรรมดา แต่การใช้เสียงตะโกนเพื่อสื่อสารกับลูกน้อยนั้น อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางอารมณ์ ร่างกาย สภาพจิตใจ และพฤติกรรมของลูกมากกว่าที่คุณคิด รวมถึงกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เปลี่ยนไป ดังนี้
-
การตะโกนใส่ลูก สร้างปัญหาพฤติกรรม
ผลเสียจากการตะโกนใส่ลูก ส่งผลให้พฤติกรรมไม่ดีของลูกนั้นแย่ลง และไม่สามารถแก้ปัญหา หรือยับยั้งพฤติกรรมไม่ดีในอนาคตได้ แน่นอนว่าบางครั้งลูกอาจหยุดการกระทำที่ไม่น่ารักในสายตาคุณพ่อคุณแม่เมื่อถูกดุ หรือตะคอก ตะโกนใส่ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเพราะ “ความกลัว” แต่ลูกกลับไม่ได้เรียนรู้ว่า ทำไมจึงห้ามทำแบบนั้นแบบนี้ สิ่งที่ทำไม่ถูกต้องยังไง เมื่อพื้นที่ในครอบครัวไม่ปลอดภัย มีแต่การใช้อารมณ์ ลูกน้อยจึงอาจไปหาเพื่อนๆ หรือคนอื่นๆ ข้างนอกบ้านแทน ทำให้พฤติกรรมต่างๆ ของลูกน้อยแย่ลงเรื่อยๆ โดยเด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีการใช้ความรุนแรงทางวาจา อารมณ์ มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาเมื่อโตขึ้นได้
-
ผลเสียจากการตะโกนใส่ลูก ส่งผลให้พัฒนาการถดถอย
การตะโกนหรือตะคอกของคุณพ่อคุณแม่สามารถเปลี่ยนพัฒนาการทางสมองของลูกน้อยได้ เนื่องจากสมองของคนเรานั้นจะประมวลผลหรือตอบโต้กับสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์ไม่ดีได้รวดเร็วและละเอียดกว่าเหตุการณ์ที่ดี หากใช้อารณ์หรือความรุนแรง สมองส่วนอารมณ์ของลูกน้อยจะทำงานมากกว่าหรือตอบโต้กับสิ่งเร้าได้ดีกว่า นอกจากนี้ เด็กที่โดนใช้ความรุนแรงทางวาจา มักส่งผลต่อสมองส่วนที่ทำหน้าที่ประมวลผลเสียงและภาษา อาจมีปัญหาในการพัฒนาภาษา ไม่กล้าที่จะพูดคุยหรือสื่อสาร ซึ่งความเครียดที่เกิดจากการถูกตะโกนใส่ อาจส่งผลต่อสมาธิและความสามารถในการเรียนรู้ของลูกได้ด้วย
-
กระทบต่อสุขภาพร่างกาย
มีการศึกษาพบว่า ประสบการณ์ที่คุณพ่อคุณแม่ใช้อารมณ์และความรุนแรงกับลูกน้อยในวัยเด็ก สามารถสร้างความเชื่อมโยงไปยังภาวะการเจ็บปวดเรื้อรัง ข้ออักเสบ ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดคอ และอาการปวดอื่นๆ รวมทั้งสร้างความเครียดให้กับลูก เนื่องจากการแผดเสียงดังด้วยอารมณ์ที่ไม่ดีใส่ลูก อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในจิตใจและสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนอะมิกดะลา (Amygdala) ที่ทำงานทางด้านอารมณ์ และเพิ่มฮอร์โมนความเครียดเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้ร่างกายเกิดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและอื่นๆ เพิ่มความเสี่ยงของการเจ็บป่วยในตอนโตได้
-
ผลกระทบต่อจิตใจ
ผลเสียจากการตะโกนใส่ลูก อันเป็นผลลบทางจิตใจอย่างแรกคือ การสร้างความหวาดกลัว โดยเสียงตะโกนที่ดังและกะทันหันจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกกลัว ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอารมณ์ของลูกในระยะยาว เกิดโรคเครียด มีอาการตื่นตระหนกทุกครั้งที่ได้ยินเสียงดัง นอกจากนี้ การถูกตะโกนใส่ยังอาจเป็นพฤติกรรมฝังใจของเด็ก ที่แม้จะผ่านไปนานเท่าไร แต่สมองยังคงเชื่อมโยงตามประสบการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าเมื่อเกิดเหตุคล้ายกัน ลูกจะยังคงได้ยินเสียงคุณพ่อคุณแม่ตะโกนใส่อยู่ในหัว ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วยก็ตาม
-
นอกจากลูกจะรู้สึกกลัว เจ็บปวด หรือเศร้า เมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้อารมณ์ที่รุนแรงกับตัวเองแล้ว พฤติกรรมตะโกน ดุ ตะคอก ขึ้นเสียง ที่คุณพ่อคุณแม่ทำนั้นยังสามารถทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าเมื่อเด็กโตขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง การติดสารเสพติด
-
เกิดสถานภาพความสัมพันธ์เชิงลบ
หากคุณพ่อคุณแม่เผลอตัวตะโกนใส่ลูกเป็นประจำ จะทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่เชื่อใจพ่อแม่ ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเสียหาย ซึ่งเด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย อาจมีปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคมได้เมื่อโตขึ้น
สื่อสารกับลูกยังไงแบบไม่ตะโกน ไม่สร้างบาดแผลทางใจที่มองไม่เห็น
มีผลสำรวจพบว่า 3 ใน 4 ของพ่อแม่จะตะโกนใส่ลูก อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งการขึ้นเสียง ส่งเสียงดัง หรือ ตะโกนใส่ลูก ก็เพื่อดึงความสนใจให้ลูกฟังหรือเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น และส่วนใหญ่ไม่ได้ผล แต่เป็นเสมือนการปิดประตูการสื่อสาร เพราะทันทีพ่อแม่เริ่มส่งเสียงดัง ลูกน้อยจะเริ่มเข้าสู่โหมด Shut Down ดังนั้น เมื่อลูกทำผิด ทำในสิ่งต้องห้าม หรือฝ่าฝืนคำสั่ง การเปลี่ยนวิธีสื่อสารกับลูกมาเป็นแบบไม่ตะโกน จึงส่งผลลัพธ์ที่ดีกว่า และไม่สร้างบาดแผลทางใจที่มองไม่เห็นให้ลูกน้อยด้วย ดังนี้
|
รักษาอารมณ์ให้สงบ
|
รู้อารมณ์ตนเอง ให้ตั้งสติก่อนที่จะพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงไม่พอใจ ควรพาตัวเองออกจากที่เกิดเหตุสักครู่เพื่อสงบสติอารมณ์โกรธ หายใจเข้าลึกๆ เมื่อเย็นลงจึงกลับไปพูดกับลูกด้วยโทนเสียงปกติ ไม่ตะคอก ไม่ตะโกน |
ใช้คำพูดที่สุภาพ
|
คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังการใช้คำพูดที่ทำให้ลูกรู้สึกแย่ ทั้งคำหยาบ คำกล่าวเชิงลบ โดยพยายามเลือกใช้คำที่สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึก ค่อยๆ พูดด้วยความใจเย็น เพราะบางคำที่หลุดปากออกมาอาจติดอยู่ในใจลูกไปตลอด |
ใช้การอธิบาย
|
ให้ใช้การพูดคุยปกติ อธิบายว่าตอนนี้กำลังโกรธ เพราะอะไร ลูกทำผิดอย่างไร ซึ่งลูกจะสามารถเรียนรู้พฤติกรรมเหล่านี้จากพ่อแม่ ส่งผลให้ลูกรู้จักใช้เหตุผลในการพูดคุยมากกว่าการระเบิดอารมณ์ |
ขอโทษหากใช้คำพูดรุนแรง
|
หากเผลอตะโกนใส่ลูก ให้ขอโทษลูกและอธิบายว่ารู้สึกเสียใจ รวมถึงเปิดโอกาสที่จะรับฟังข้อเท็จจริงจากลูก ให้โอกาสลูกได้อธิบายความรู้สึกของตัวเอง ไม่ควรเป็นฝ่ายพูดใส่ลูกฝ่ายเดียว ทั้งสองฝ่ายควรผลัดกันพูด อธิบาย และรับฟังซึ่งกันและกัน |
ลองวิธีกระซิบกระซาบ
|
มีนักจิตวิทยาแนะนำไว้ว่า เมื่อลูกเริ่มแผลงฤทธิ์ วิธีหนึ่งที่อาจเป็นทางออกที่ดีคือ ให้คุณพ่อคุณแม่พูดแบบกระซิบกระซาบ เนื่องจากเป็นการสื่อสารที่ต่างจากสิ่งที่ลูกได้ยินตามปกติ ทำให้ลูกน้อยหยุดและสนใจฟัง เพราะเด็กๆ จะอยากรู้มากๆ คุณพ่อคุณแม่กำลังพูดอะไร |
ลงโทษด้วยความรักและกฎกติกา
เมื่อลูกทำผิดแน่นอนว่าควรมีการตักเตือนหรือลงโทษเกิดขึ้นค่ะ แต่แม้ในปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่ยุคนี้ไม่ได้ลงโทษด้วยการตีลูกแล้ว แต่หลายบ้านกลับใช้วิธีดุ ต่อว่า ตวาด หรือตะโกนเสียงดังใส่ลูก เป็นการลงโทษที่ลูกไม่เจ็บตัว แต่เกิดบาดแผลที่หัวใจ ฝังอยู่ในความทรงจำ ดังนั้น ก่อนการลงโทษ คุณพ่อคุณแม่ต้องกำหนดกฎกติกาภายในบ้านให้ชัดเจนก่อนค่ะ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ การมีวินัย และการอยู่ร่วมกันในครอบครัว ทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติตามร่วมกัน ซึ่งการกำหนดกติกาภายในบ้านเริ่มได้ง่ายๆ ดังนี้
- เป็นกฎกติกาที่ชัดเจน เข้าใจง่าย และปฏิบัติได้จริง มีเหตุผล เหมาะสมกับวัยของลูกที่จะปฏิบัติได้ ไม่บังคับให้ลูกทำตามความต้องการของพ่อแม่ และต้องไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจของคนในครอบครัว
- ควรให้ลูกน้อยได้มีส่วนร่วม ในการกำหนดกติกาภายในบ้านไปด้วยกัน เพื่อสร้างทางเลือกให้ลูกได้ตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่เพียงสร้างความอิ่มใจว่าพ่อแม่ยอมรับในความคิดของลูกเท่านั้น ยังเป็นการใช้เวลาร่วมกันเพื่อสานความรักความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย
- ยึดตามกฎเสมอ เมื่อวางกฎกติกาแล้ว ต้องใช้และยึดถืออย่างสม่ำเสมอ
- สร้างขั้นตอนของการทำโทษ เมื่อมีการทำผิดกติกา ควรมีขั้นตอนการลงโทษ โดยเริ่มจากการตักเตือนทันทีเมื่อทำผิดกฎ หรือกำหนดบทลงโทษเป็นขั้นตอน ซึ่งต้องรับรู้ร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูกตั้งแต่แรกเริ่ม
- ชื่นชมเมื่อลูกปฏิบัติได้ตามกฎ เมื่อลูกน้อยสามารถทำตามกติกาที่กำหนดได้ ควรชื่นชมสิ่งที่ลูกทำ มอบรางวัลเป็นอ้อมกอด หรือรอยยิ้มที่แสดงความรักความอบอุ่น จะช่วยให้การทำตามกติกานี้ดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า การลงโทษทุกครั้งลูกจะรับรู้และสัมผัสได้ว่า เป็นการลงโทษด้วยแบบไหน ความโกรธ หรือความรัก และผลหลังจากการลงโทษจะกลายเป็นภาพฝังใจลูกไปตลอดชีวิต ดังนั้น ควรลงโทษด้วยเหตุผล ด้วยถ้อยคำและการการทำที่ยังคงแสดงออกถึงความรักที่คุณพ่อคุณแม่มีให้ลูกนะคะ
การตะโกนใส่ลูกเป็นการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมและส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูกในทุกด้าน ดังนั้น การทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็ก การเลี้ยงลูกด้วยความรัก ความใส่ใจ และความอดทน จะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นเด็กที่มีความสุขและมั่นใจในตัวเองได้แน่นอนค่ะ
ที่มา : neurobalanceasia.com , hellokhunmor.com , th.rajanukul.go.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
7 วิธี สอนลูกให้มี Logical Thinking รู้ถูกผิด รู้หน้าที่ อยู่เป็น คิดได้
ทารกนอนนาน ต้องปลุกไหม ทารกนอนนานเกินไป เสี่ยงปัญญาอ่อนจริงหรือเปล่า
ลูก 1 เดือน กินนมแม่ แต่ไม่ถ่ายหลายวัน ท้องผูกรึเปล่า ผิดปกติไหม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!