การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ โดยเฉพาะเมื่อลูกโตขึ้น เพราะเด็กจะเริ่มมีพัฒนาการทางความคิดและอารมณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น มีความคิดและความต้องการเป็นของตัวเอง บางครั้งลูกก็สนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่า หรือบางครั้งลูกก็แค่ไม่อยากทำตามที่เราบอก บางทีแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ต่อต้าน นอนดิ้นกับพื้น ร้องไห้ไม่หยุด ขว้างปาข้าวของ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็ก เพราะฉะนั้นเรื่องการสื่อสารและการสั่งสอนลูกเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนและความเข้าใจเป็นอย่างมาก บางครั้งลูกก็อาจจะไม่เชื่อฟัง หรือทำตรงกันข้ามกับที่เราบอก วันนี้เรามีวิธี สอนลูกไม่ให้ก้าวร้าว มาฝากคุณพ่อคุณแม่กัน
ทำไมลูกถึงดื้อและก้าวร้าว ?
พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กวัย 2-5 ปี จะเป็นปัญหามากกว่าช่วงวัยอื่น เด็กวัยนี้จะแสดงออกถึงความต้องการและอารมณ์ของตัวเองอย่างรุนแรง เมื่อถูกขัดใจมักจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น โวยวาย ดิ้น นอนลงกับพื้น หรือทำร้ายผู้อื่น คุณพ่อคุณแม่หลายคนจึงกังวลว่าลูกจะเติบโตไปเป็นเด็กเกเรและมีปัญหากับการเข้าสังคมในอนาคต
สาเหตุพฤติกรรมของเด็กดื้อ เด็กก้าวร้าว
เพราะพฤติกรรมก้าวร้าวหากปล่อยไว้ไม่สนใจ จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กในด้านต่างๆ หากรู้ถึงสาเหตุ คุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถ สอนลูกไม่ให้ก้าวร้าว ดูแลลูกได้ถูกต้อง
-
การอบรมเลี้ยงดูภายในครอบครัว
หลายครั้งที่พฤติกรรมก้าวร้าวของลูก เกิดจากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น การที่คุณพ่อคุณแม่ขาดความอดทนในการอบรมสั่งสอน หรือตามใจเด็กจนเกินไป ทำให้ลูกขาดวินัยและไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง นอกจากนี้ การใช้ความรุนแรงในการลงโทษ หรือการไม่สนใจความรู้สึกของลูก ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ลูกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวได้เช่นกัน
-
พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กที่เร็วกว่าความคิด
เด็กเล็กมักแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างชัดเจน ทั้งความดีใจ ความโกรธ หรือความกลัว เพราะสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ของเด็กจะพัฒนาเร็วกว่าส่วนที่ควบคุมเหตุผล หรือสติปัญญา ทำให้เด็กยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดี จึงอาจมีพฤติกรรมที่ดูเหมือนจะขัดใจ เช่น โวยวาย ดิ้น หรือร้องไห้เสียงดัง
-
มีปัญหาทางด้านพัฒนาการ หรือมีอาการป่วยทางจิตใจ
หลายครั้งที่เราเห็นลูกๆ แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ดื้อรั้น หรือไม่เชื่อฟังคำสั่ง ซึ่งเด็กเล็กจะยังควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดีนัก แต่หากพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกอาจมีปัญหาทางด้านพัฒนาการ หรือมีภาวะทางจิตบางอย่าง เช่น สมาธิสั้น ออทิซึม หรือซึมเศร้า การสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่พบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
-
เลียนแบบพฤติกรรมจากสื่อต่างๆ
ในยุคดิจิทัลที่เด็กๆ เข้าถึงสื่อต่างๆ ได้ง่าย การให้ลูกดูโทรทัศน์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน เมื่อลูกเห็นตัวละครแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว พวกเขาก็อาจเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ การใช้เวลากับหน้าจอนานเกินไป อาจทำให้ลูกขาดทักษะทางสังคม และไม่รู้จักวิธีระบายอารมณ์ที่เหมาะสม เมื่อรู้สึกเครียดหรือเบื่อหน่าย ก็อาจแสดงออกด้วยพฤติกรรมก้าวร้าว
-
พฤติกรรมและอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่
เด็กมักจะเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมจากผู้ใหญ่รอบข้าง โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างแรกและสำคัญที่สุดในชีวิต ดังนั้น เมื่อลูกต้องเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีความเครียดสูง คุณพ่อคุณแม่มีอารมณ์รุนแรง ดุ ก้าวร้าว ฉุนเฉียวง่าย อาละวาดเก่งหรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวบ่อยครั้ง ลูกก็อาจเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้นตามไปด้วย
ทำไมการ สอนลูกให้ไม่ก้าวร้าว จึงสำคัญ ?
เด็กๆ จะแสดงอารมณ์ หงุดหงิด โมโห หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวบ้าง แต่การปล่อยปละละเลยพฤติกรรมเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตและพัฒนาการของลูกในระยะยาว และการ สอนลูกให้ไม่ก้าวร้าว ให้ลูกควบคุมอารมณ์และแสดงออกอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะจะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข มีความมั่นใจในตนเอง และสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นได้
- เพื่อพัฒนาอารมณ์ การควบคุมอารมณ์จะช่วยให้ลูกมองโลกในแง่ดีมากขึ้น และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผล
- เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ลูกจะสามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ครอบครัว และคนรอบข้างได้
- เพื่อลดความเครียด การควบคุมอารมณ์จะช่วยให้ลูกมีความเครียดน้อยลง และมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
- เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา ลูกจะเรียนรู้วิธีการจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ
- เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต การควบคุมอารมณ์เป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม
13 เทคนิค สอนลูกโตไปไม่ก้าวร้าว
การปรับพฤติกรรมลูกก้าวร้าว ต่อต้าน ให้ได้ผล คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความอดทนและช่วยเหลือลูกอย่างเต็มที่ด้วย
1. เป็นแบบอย่างที่ดี
ลูกมักจะเรียนรู้จากการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการควบคุมอารมณ์และแสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น เมื่อเจอเรื่องไม่พอใจ หรือเมื่อรู้สึกเครียด ให้แสดงให้ลูกเห็นว่าเรารับมือกับอารมณ์นั้นอย่างไร หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่หยาบคายหรือดุด่าต่อว่า เพราะลูกจะเรียนรู้และนำไปใช้
2. สอนให้ลูกบอกอารมณ์ตัวเอง
คุณพ่อคุณแม่เองสามารถช่วยลูกบอกอารมณ์ที่รู้สึก เช่น โกรธ เสียใจ ดีใจ อารมณ์ต่างๆ ผ่านภาพประกอบ หนังสือหรือเกมที่เกี่ยวกับอารมณ์ และสอบถามลูกว่ารู้สึกอย่างไรในแต่ละสถานการณ์ พร้อมทั้งช่วยกันหาสาเหตุที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้นและคำมาอธิบายความรู้สึกนั้น
3. สอนวิธีการจัดการกับอารมณ์
สอนลูกให้ใช้วิธีในการจัดการกับอารมณ์ เช่น การหายใจลึกๆ การนับเลข การไปอยู่ในที่เงียบสงบ หรือการทำกิจกรรมที่ชอบ หรือสามารถระบายอารมณ์ด้วยการเล่นกีฬา หากิจกรรมที่ชอบมาทำ รวมถึงสอนให้ลูกพูดคุยกับคนอื่น เมื่อรู้สึกโกรธหรือเสียใจ ให้ลูกเรียนรู้ที่จะพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ คุณครู หรือเพื่อน เพื่อขอความช่วยเหลือหรือคำปลอบใจ
4. ฟังลูกอย่างตั้งใจ
เมื่อลูกมีปัญหาหรือรู้สึกไม่สบายใจ ให้พ่อแม่ฟังลูกอย่างตั้งใจและให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูก ทำให้ลูกรู้สึกว่าสามารถพูดคุยกับเราได้ทุกเรื่อง เข้าใจและเห็นใจในสิ่งที่ลูกรู้สึก และไม่ควรตำหนิหรือวิจารณ์ความรู้สึกของลูก
5. ให้กำลังใจและชื่นชม
เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ดี ควรให้กำลังใจและชื่นชมเพื่อเป็นการเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดี และการให้รางวัลก็เป็นการเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดีได้เป็นอย่างดี
6. ตั้งกฎและขอบเขต
กำหนดกฎและขอบเขตที่ชัดเจนให้ลูกเข้าใจ และสอนให้ลูกเคารพกฎเหล่านั้น ใช้ภาษาที่ลูกเข้าใจง่ายๆ และอธิบายเหตุผลของกฎแต่ละข้อ รวมถึง ให้ลูกมีส่วนร่วมในการตั้งกฎ จะทำให้ลูกรู้สึกเป็นเจ้าของกฎเหล่านั้น และต้องบังคับใช้กฎอย่างสม่ำเสมอเมื่อลูกทำผิดกฎ ควรลงโทษตามที่ได้ตกลงกันไว้
7. สอนให้ลูกแก้ปัญหา
เมื่อเกิดปัญหาให้ช่วยลูกคิดวิเคราะห์ปัญหาและหาทางแก้ไขด้วยตนเองก่อน หรือหากคุณพ่อคุณแม่มีคำแนะนำเสนอวิธีแก้ปัญหา ควรให้ลูกมีทางเลือกในการแก้ปัญหานั้น แม้ว่าลูกจะแก้ปัญหาผิดพลาด ก็ควรให้กำลังใจและช่วยให้ลูกลองแก้ไขใหม่อีกครั้ง
8. สอนให้ลูกมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
การสอนให้ลูกคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่น เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น หรือการทำบุญ หรือสามารถเล่านิทานหรือเรื่องราวที่สอนให้เห็นถึงความสำคัญของการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้ลูกฟัง
9. ใช้การลงโทษที่เหมาะสม
การลงโทษเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องเป็นการลงโทษที่สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ควรลงโทษทันทีหลังเกิดเหตุการณ์เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าพฤติกรรมที่ลูกทำนั้นส่งผลอย่างไร และเน้นที่การสอนให้ลูกเรียนรู้จากความผิดพลาด ควรพูดคุยกับลูกเพื่อให้เขาเข้าใจถึงสาเหตุที่ต้องได้รับการลงโทษ และวิธีการแก้ไข
10. สร้างบรรยากาศในครอบครัวที่อบอุ่น
สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและมีความสุข ใช้เวลาทำกิจกรรมในครอบครัวร่วมกัน ทำให้ลูกรู้สึกว่าเป็นที่รักและได้รับการยอมรับ และลูกสามารถพูดคุย แสดงความรู้สึกได้อย่างอิสระ
11. ส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมที่ชอบ
สนับสนุนให้ลูกได้ลองทำกิจกรรมต่างๆ ที่ลูกสนใจ การที่ลูกได้ทำในสิ่งที่ชอบจะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้น
12. อดทนและสม่ำเสมอ
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกต้องใช้เวลาและความอดทน พ่อแม่ต้องสอนลูกอย่างสม่ำเสมอ สอนลูกซ้ำๆ ในหลายๆ สถานการณ์ และให้กำลังใจลูกอยู่เสมอแม้ว่าลูกจะทำผิดพลาดก็ตาม
13. พาลูกไปพบหมอเด็ก ผู้เชี่ยวชาญ
หากพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น การทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง การทำลายข้าวของ หรือการทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมของลูกได้ด้วยตัวเอง ควรพาลูกไปขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาเด็กหรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก
อย่าลืมว่าการเลี้ยงลูกเป็นศิลปะ ไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัว การให้กำลังใจ สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น และการ สอนให้ลูกไม่ก้าวร้าว สอนให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์ เป็นสิ่งสำคัญกว่าการบังคับให้ลูกทำตามกฎอย่างเคร่งครัด เป้าหมายของเราคือการปลูกฝังให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีความสุข และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความหมายค่ะ
ที่มา : HealthSmile , โรงพยาบาลเปาโล
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
วิธีเลี้ยงลูกให้มี Self-esteem ไม่ยอมให้ใครรังแก และไม่เอาเปรียบใคร
10 แนวทาง เลี้ยงลูกให้ใช้เงินเป็น ในยุคของแพง ค่าใช้จ่ายสูง
5 แนวทาง เลี้ยงลูกยุคใหม่ : สอนลูกก้าวข้ามความกลัว ความล้มเหลว
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!