To Do List คุณแม่ท้องแต่ละช่วง แต่ละไตรมาส เป็นอย่างไร ตั้งแต่แรกเริ่มที่รู้ว่าท้อง สิ่งที่แม่ท้องต้องจดเอาไว้ ต้องให้ความสำคัญเรื่องไหน อย่าลืมว่าต้องทำอะไร และเตรียมตัวอย่างไรเมื่อรู้ว่าท้อง
คุณแม่ท้องแต่ละช่วง ก็มี To Do List ที่ต่างกันไป เรามาเริ่มดูตั้งแต่คุณเริ่มรู้สึกถึงสัญญาณว่า เจ้าตัวเล็กได้มานอนอยู่ในท้องคุณแล้ว ต้องทำอย่างไร ?
เตรียมตัวอย่างไรเมื่อรู้ว่าท้อง
สัปดาห์ที่ 1-8
- ทดสอบการตั้งครรภ์ โดยใช้ที่ตรวจครรภ์ ตรวจปัสสาวะ หากขึ้น 2 ขีด แม้จะจางมากๆ นั่นแสดงว่าคุณตั้งครรภ์แล้ว
- บอกข่าวดีกับสามีของคุณ เรามีไอเดียประกาศข่าวดีเมื่อตั้งครรภ์น่ารักๆ มากมาย คลิกที่นี่
- ตรวจสอบสิทธิในการเบิกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิฝากครรภ์ฟรี สิทธิข้าราชการ สวัสดิการพนักงาน และอื่นๆ
- เลือกสถานพยาบาลที่ต้องการฝากครรภ์ ควรรีบฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้คุณหมอดูแลครรภ์ของคุณแต่เนิ่นๆ
- ตรวจสุขภาพแม่ท้อง เพื่อให้แน่ใจว่า คุณแม่มีความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อทารกหรือไม่
- คำนวณสภาพคล่อง ว่าการลาคลอดจะส่งผลต่อการเงินของคุณหรือไม่ เพราะในการลาคลอดนั้นบริษัทจะจ่ายค่าจ้างให้คุณเพียง 45 วัน และประกันสังคมจะจ่ายให้คุณในอัตราเหมาจ่ายเท่านั้น
- ประเมินค่าใช้จ่ายในการตรวจครรภ์แต่ละเดือนไปจนคลอด แพ็กเกจคลอดบุตร ค่าของใช้เจ้าตัวน้อย อย่าลืมเผื่อค่าใช้จ่ายในกรณีแม่เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือลูกต้องเข้าตู้อบด้วย
- นอกจากค่าใช้จ่ายแล้ว ต้องมีเงินเหลือเก็บด้วย ควรประเมินความสามารถในการออมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในอนาคตของเจ้าตัวน้อย และเริ่มต้นเก็บออมอย่างจริงจัง
วิธีดูแลตัวเองตอนท้องอ่อนๆ
สัปดาห์ที่ 8-12
- เตรียมตัวซื้อชุดคลุมท้อง ถ้าคุณรู้สึกว่าชุดที่มีอยู่เริ่มอึดอัด ควรเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าสำหรับแม่ท้อง และเพื่อความประหยัด อาจเลือกเป็นชุดที่สามารถให้นมได้สะดวกทีเดียวเลย
- พบแพทย์ตามนัดหมาย
- เก็บชิ้นเนื้อรกส่งตรวจ หรือที่เรียกว่า Chorionic Villus Sampling (CVS) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซม แทนการตรวจน้ำคร่ำ สามารถตรวจได้เร็วกว่าการตรวจน้ำคร่ำแต่ไม่สามารถบอกโรคความพิการทางสมองได้
- หรืออาจ ตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมด้วยวิธี Nuchal translucency screening (NT scan)
To Do List คุณแม่ท้อง ไตรมาสสอง
แม่ตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 2
สัปดาห์ที่ 12-16
- บอกเจ้านายว่าคุณตั้งครรภ์
- วางแผนเคลียร์งาน และการส่งไม้ต่อให้เพื่อนร่วมงาน ในระหว่างที่คุณลาคลอด
- พบแพทย์ตามนัดหมาย
- แจ้งข่าวดีแก่เพื่อน และญาติๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละครอบครัว ว่าต้องการเก็บเป็นความลับก่อนหรือไม่
วิธีดูแลตัวเองตอนตั้งครรภ์ ไตรมาสสอง
สัปดาห์ที่ 16-20
- วางแผนการเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยเมื่อคุณต้องกลับไปทำงานหลังลาคลอด ให้คุณตาคุณยายเลี้ยง หรือจ้างพี่เลี้ยง หรือมองหาเนอสเซอรี่ที่ไว้ใจได้ ทั้งนี้ เนอสเซอรี่ชื่อดังหลายแห่งต้องจองล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ
- พบแพทย์ตามนัดหมาย
- อัลตร้าซาวนด์ เพื่อดูเพศทารก
- เจาะน้ำคร่ำ หรือตรวจ triple screen เพื่อคัดกรองดาวน์ซินโดรม
- คุยกับลูกในท้อง เปิดเพลงสบายๆ อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เมื่อทารกเริ่มพัฒนาการได้ยินประมาณสัปดาห์ที่ 18
สัปดาห์ที่ 20-28
- ตรวจปัสสาวะทุกครั้งที่ไปตรวจครรภ์ ตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป เพื่อตรวจหาปริมาณน้ำตาล โปรตีน และแบคทีเรียในปัสสาวะ
- ฉีดวัคซีน Tdap เพื่อสร้างภูมิต้านทาน คอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก ไปสู่ลูก
- เตรียมคิดตั้งชื่อลูก
- เตรียมหาข้อมูลของใช้เด็กแรกเกิด
- พบแพทย์ตามนัดหมาย
To Do List คุณแม่ท้อง ไตรมาสสาม
ไตรมาส 3 ของการตั้งครรภ์
สัปดาห์ที่ 28-32
- นับลูกดิ้นทุกวัน
- เข้าคลาสอบรมคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีจัดอบรมอย่างน้อย 1 ครั้ง
- พบแพทย์ตามนัดหมาย คุณหมอจะนัดถี่ขึ้น เป็นสองครั้งต่อเดือน
สัปดาห์ที่ 32-36
- เริ่มซื้อของใช้เตรียมต้อนรับเจ้าตัวน้อย
- เตรียมตัดผมสั้น เพื่อง่ายต่อการดูแล เนื่องจากคุณแม่หลังคลอดจะทุ่มเวลาไปกับการดูแลลูกน้อย ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเอง และมักประสบปัญหาผมร่วงหลังคลอด จึงมักตัดผมก่อนคลอด
- จัดกระเป๋าเตรียมไปคลอด
- พบแพทย์ตามนัดหมาย สองครั้งต่อเดือน
- ตรวจคัดกรองการติดเชื้อ Group B streptococcus ในช่วงสัปดาห์ที่ 35-37
สัปดาห์ที่ 36 – วันคลอด
- พบแพทย์ตามนัดหมาย ทุกสัปดาห์
- เตรียมซักเสื้อผ้า ผ้าอ้อม ทำความสะอาดของใช้ต่างๆ ให้เจ้าตัวน้อย
- สังเกตสัญญาณคลอด ได้แก่ มีมูกเลือดแสดงว่าปากมดลูกเริ่มเปิดแล้ว หากมีอาการน้ำเดินแสดงว่าถุงน้ำคร่ำแตก มดลูกหดรัดตัวถี่ทุก 5 นาที รีบคว้ากระเป๋าแล้วไปโรงพยาบาลได้เลย
อ่านมาถึงตรงนี้แสดงว่า คุณใกล้จะได้พบหน้าลูกน้อยแล้วล่ะค่ะ ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่คนใหม่ และขอให้การคลอดผ่านไปด้วยดี สุขภาพแข็งแรงทั้งคุณแม่และคุณลูกนะคะ
แหล่งอ้างอิง : https://www.healthline.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
แต่งตัวไปคลอด แบบไหนใช่ แบบไหนไม่ควร
กำหนดวันคลอดจากหมอแม่นแค่ไหน
เมนูปลาหลังคลอด เมนูปลาอะไรกินได้หลังคลอด กินแล้วดี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!