เตรียมของใช้ของทารกแรกเกิดไปโรงพยาบาลต้องมีอะไรบ้าง ลูกใกล้คลอดแล้ว แต่ไม่รู้ว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง? ทาง theAsianparent ได้ลิสต์รายการ เตรียมของใช้ของทารกแรกเกิดไปโรงพยาบาล สำหรับคุณพ่อคุณแม่ทั้งหมดแล้ว จะมีอะไรบ้างมาเช็คกันเลย
เตรียมของใช้ของทารกแรกเกิดไปโรงพยาบาล มีอะไรบ้าง ?
1. ขวดนม
แนะนำให้เลือกขวดพลาสติกที่ถือง่าย ทำความสะอาดง่าย และปลอดสารบีพีเอ และควรเริ่มที่ขนาดเล็ก กรณีคุณแม่วางแผนให้ลูกดูดนมจากขวดร่วมกับดูดเต้า คุณแม่ควรเตรียมขวดนมประมาณ 4 ออนซ์ และเลือกจุกนมขนาดเล็ก โดยเฉพาะจุกรุ่นเสมือนนมแม่เพื่อให้ลูกน้อยไม่สับสน สามารถสลับดูดเต้า และดูดจุกได้
2. เครื่องนอน
คุณแม่อาจเตรียมเครื่องนอนไว้สำหรับลูกน้อย เช่น หมอน ผ้าห่ม รวมถึงผ้าขนหนูเช็ดตัว/ห่อตัวหลังอาบน้ำ
3. เสื้อผ้า
แนะนำให้ คุณพ่อ คุณแม่เลือกเสื้อผ้าที่เนื้อผ้ามากกว่าที่สี หรือลวดลาย และไม่ระคายเคืองต่อผิว ไม่ทำให้รู้สึกคันเนื้อคันตัว ที่สำคัญต้องเลือกแบบไม่มีกระดุม แต่ใช้เป็นแบบเชือกผูกจะดีกว่า เพราะเมื่อลูกนอนทับแล้วจะไม่สบายตัว หรือถ้าเป็นแบบบอดี้สูท ก็ควรเลือกแบบที่เปิด-ปิดตรงขานะคะ จะได้เปลี่ยนผ้าอ้อมได้ง่าย ๆ ค่ะ
4. ผ้าห่อตัว
แนะนำให้เป็นผ้าสำลีที่มีความอ่อนโยน และให้ความอบอุ่น ช่วยให้ลูกรู้สึกสบาย และรักษาอุณหภูมิในร่างกายของลูกได้ดี
5. ถุงมือ/ถุงเท้า/หมวก/เด็กอ่อน
ก่อนซื้อถุงมือ ถุงเท้าควรพลิกดูด้านใน หลีกเลี่ยงถุงมือ ถุงเท้า ที่ด้านในมีตะเข็บ หรือเส้นด้ายที่ง่ายต่อการหลุดลุ่ย ซึ่งอาจพันนิ้วของลูกจนเกิดอาการห้อเลือดได้ค่ะ สำหรับหมวก ทารกแรกเกิดควรสวมหมวกที่แนบชิด กับศีรษะ เพื่อให้รู้สึกอบอุ่น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็น ในห้องแอร์ มีลมพัด หรือออกไปนอกบ้าน ส่วนผ้ากันเปื้อน ลูกน้อยจะเริ่มได้ใช้เมื่ออายุประมาณ 3 – 4 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ เริ่มเล่นน้ำลาย หรือมักมีน้ำลายไหลบ่อย ๆ
6. ผ้าอ้อม/ผ้าอ้อมสำเร็จรูป
ควรเลือกผ้าอ้อมแบบมีความนุ่มเป็นพิเศษ ซึมซับได้เร็ว ไม่รั่วซึม ระบายอากาศได้ดี เพื่อปกป้องผิวที่บอบบางของทารกแรกเกิด และต้องมีขอบเอวด้านหน้าเว้นส่วนสะดือ เพื่อทำให้สะดือแห้งไว ไม่อับชื้นจนเกิดการติดเชื้อ อาจเตรียมผ้าอ้อมในปริมาณมากพอที่สามารถเปลี่ยนใช้ได้ประมาณ 8 – 12 ผืนต่อวัน ขนาดของผ้าอ้อมควรเลือกคละกันทั้งขนาดกลาง และขนาดใหญ่ที่สามารถห่อตัว หรือใช้เป็นผ้าห่มได้ด้วย
สำหรับผ้าอ้อมสำเร็จรูป สำหรับช่วงแรกเกิด แนะนำผ้าอ้อมสำเร็จรูปแบบเทปแปะ ซึ่งจะสวมใส่ง่ายกว่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปแบบกางเกง ผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็เป็นอีกไอเทมยอดฮิตที่คนมักนำมาให้เป็นของขวัญ เพราะฉะนั้น ผ้าอ้อมสำเร็จรูปไซส์ NB (New born) สำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงน้ำหนักตัว 5 กิโลกรัมหรือแค่ประมาณช่วง 2 เดือนแรก จึงควรเตรียมไว้ประมาณ 50 ชิ้นสำหรับช่วงแรก
7. ทิชชู่เปียก/กระดาษเช็ดก้น/สำลี
คุณพ่อ คุณแม่ อาจต้องเตรียมพวกสำลี หรือทิชชู่เปียก ไว้สำหรับเช็ดบริเวณขับถ่าย เช็ดสะดือ และสำหรับเช็ดดวงตา โดยพยายามเลือกที่ปราศจากสารก่อความระคายเคือง
8. คาร์ซีท/เปลกระเช้าหรือตะกร้าหิ้วเด็ก
คาร์ซีท/เปลกระเช้า หรือตะกร้าหิ้วเด็ก ต้องเลือกรุ่นที่สามารถใช้ในเด็กแรกเกิดได้ และเตรียมศึกษาวิธีใช้ และการติดตั้งตั้งแต่ก่อนคลอด เพื่อพร้อมรับลูกน้อย กลับจากโรงพยาบาล ทางที่ดีคือควรเลือกรุ่นที่สามารถถอดเปลี่ยนแผ่นนั่งรองได้ เมื่อลูกมีขนาดที่โตขึ้น จะได้ใช้ได้ยาว ๆ
9. น้ำยาล้างขวดนมและแปรงล้างขวดนม
คุณควรเลือกซื้อน้ำยาล้างขวดนมที่ลดการระคายเคืองต่อเด็ก อาจจะต้องเตรียมพวกเครื่องนึ่งขวดนม เพื่อให้น้องได้กินนมในขวดนมที่สะอาดจริง ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : การเลือกน้ำยาล้างขวดนม แบบไหนดี และปลอดภัย ให้เราช่วยแนะนำ
10. โลชั่น หรือออยล์
แนะนำให้เลือกสำหรับทาตัว และทาหน้า รวมถึงครีมทาก้น ป้องกันการเกิดผดผื่น
เตรียมของใช้สำหรับคุณแม่
- เอกสารส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน ใบนัดแพทย์ สมุดฝากครรภ์ เอกสารประกันสุขภาพ เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมก่อนคลอดที่ห้ามลืมเด็ดขาด เพราะจำเป็นต้องใช้ในวันเตรียมตัวคลอดที่โรงพยาบาล
- ของใช้ส่วนตัวในห้องน้ำ สบู่แชมพู ผ้าเช็ดตัวแปรงสีฟัน ยาสีฟัน และแปรงหวีผม
- เสื้อคลุมอาบน้ำ ใช้สวมหลังอาบน้ำ หรือในเวลาที่คุณอยากออกไปเดินนอกห้องพักในโรงพยาบาล
- กางเกงใน เสื้อชั้นใน สำหรับให้นมลูก และแผ่นซับน้ำนม เป็นของเตรียมคลอดสำหรับว่าที่คุณแม่มือใหม่
- ผ้าอนามัยชนิดหนา เพื่อใช้ซึมซับน้ำคาวปลาหลังคลอด ซึ่งเป็นของเตรียมคลอดที่ทางโรงพยาบาลมักจัดเตรียมไว้ให้เช่นกัน แต่ก็ควรเตรียมยี่ห้อที่ใช้เป็นประจำติดไปด้วยเพื่อไว้ใช้สำรอง
- ชุดนอน หากคุณแม่นั้นไม่อยากสวมชุดคนไข้ของทางโรงพยาบาล
- รองเท้าแตะ สำหรับใส่เดินในห้องพักฟื้น พร้อมถุงเท้าอุ่น ๆ เพื่อ คุณแม่จะได้อุ่นร่างกาย
- โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ หนังสืออ่านเล่น กล้องถ่ายรูป เป็นของเตรียมคลอดสำหรับคุณแม่ เพื่อใช้ผ่อนคลายขณะพักอยู่ที่โรงพยาบาล
- ชุดสวมกลับบ้านสำหรับคุณแม่ ที่คุณแม่ใส่แล้วสบายตัว เพื่อกลับไปพักผ่อน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เตรียมพร้อมสำหรับคลอดลูกที่โรงพยาบาล จัดของเตรียมคลอด ให้ครบจบในกระเป๋าใบเดียว
ควรจัดกระเป๋าเตรียมของใช้ทารกแรกเกิดเมื่อไหร่
คุณแม่ควรจัดกระเป๋าเตรียมไว้อย่างน้อย 3 สัปดาห์ ก่อนถึงวันครบกำหนดคลอด เพราะมีความเป็นไปได้ว่าคุณอาจเจ็บท้องคลอดก่อนอายุครรภ์ ครบ 9 เดือน คุณแม่ควรจัดกระเป๋าให้พร้อมสำหรับไปโรงพยาบาลได้ในทันทีที่เริ่มเจ็บท้องค่ะ
คำแนะนำสำหรับมารดาหลังคลอด
- การรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีคุณค่าเพื่อส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรง และผลิตน้ำนมได้เพียงพอ เช่น อาหารพวกเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ถั่ว ไข่ นมสด ผัก และผลไม้ทุกชนิด ดื่มน้ำอย่างน้อย วันละ 6 – 8 แก้ว อาหารที่ควรงดได้แก่ อาหารรสจัดของหมักดอง น้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากสามารถผ่านทางน้ำนมได้
- การพักผ่อน ควรพักผ่อนมาก ๆใน 2 สัปดาห์แรกโดยในตอนกลางวันควรพักผ่อนประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง หรือพักผ่อนในช่วงที่ทารกหลับ ส่วนในตอนกลางคืนควรพักผ่อนอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง
- การทำงาน ในระยะ 2 สัปดาห์แรกหลังคลอดสามารถทำงานบ้านเบา ๆ ได้ไม่ควรยกของหนัก หรือทำงานที่ต้องออกแรงมาก เพราะกล้ามเนื้อ และเอ็นต่าง ๆ ยังไม่แข็งแรงซึ่งอาจทำให้มดลูกหย่อนภายหลังได้ หลังคลอด 2 สัปดาห์ไปแล้วค่อย ๆ ทำงานเพิ่มขึ้นทีละน้อยจนครบ 6 สัปดาห์จึงทำงานได้ตามปกติ
- การรักษาความสะอาดของร่างกาย ควรอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ไม่ควรแช่ในอ่างน้ำ หรือแม่น้ำลำคลองเพราะเชื้อโรคอาจผ่านเข้าไปในโพรงมดลูกทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ควรสระผมสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ตัดเล็บให้สั้น เสื้อผ้าต้องสะอาดอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายสะอาดสามารถ ดูแลบุตรในวัยทารกแรกเกิดได้ ไม่ติดเชื้อ หรืออันตรายต่าง ๆ จากผู้ที่ให้การเลี้ยงดู
- การดูแลรักษาเต้านม และหัวนม ควรล้างให้สะอาดขณะอาบน้ำ และเช็ดทุกครั้งหลังให้นมเพราะอาจมีคราบน้ำนมแห้งติดทำให้หัวนมแตกเป็นแผลได้ ควรสวมเสื้อยกทรงพยุงเต้านมไว้ เนื่องจากเต้านมจะมีขนาดโตขึ้น อาจทำให้เต้านมหย่อนได้ภายหลัง
- การทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ ภายนอกควรทำความสะอาดด้วยสบู่ และล้างด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งที่อาบน้ำ และหลังการถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระ และซับให้แห้งจากด้านหน้าไปหลัง เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคจากรูทวารหนัก มาเข้าสู่ช่องคลอดได้จากนั้นใส่ผ้าอนามัย ที่สะอาดเพื่อรองรับน้ำคาวปลาที่ออกมา ป้องกันติดเชื้อควรเปลี่ยนผ้าอนามัยเมื่อชุ่ม หรือทุก 3 – 4 ชั่วโมง
- การมีเพศสัมพันธ์ ควรงดจนกว่าจะได้รับการตรวจหลังคลอดเมื่อครบ 4 – 6 สัปดาห์แล้วว่าไม่มีภาวะผิดปกติทั้งนี้ เนื่องจากช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ ยังมีแผลในโพรงมดลูกน้ำคาวปลา และมีแผลฝีเย็บยังไม่ติดดี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
สิ่งของที่ไม่ควรนำไปโรงพยาบาล
- เครื่องประดับ
- ของมีค่า หรือเงินสดจำนวนมาก
- ยา หรือวิตามินต่าง ๆ ยกเว้นเมื่อต้องไปโรงพยาบาลที่ไม่เคยไปมาก่อน หรือไม่มีประวัติการรักษาอยู่
ช่วงที่กำลังเข้าสู่เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อีกไม่กี่อึดใจก็จะได้เห็นหน้าเจ้าตัวน้อยกันแล้ว สิ่งที่ควรทำในเดือนสุดท้าย อะไรบ้างที่คุณแม่ไม่ควรพลาด ในการเตรียมตัวรับมือกับเจ้าตัวน้อย คุณแม่ก็สามารถเช็กลิสต์ได้ตั้งแต่ตอนนี้เลยนะคะ พอถึงเวลาไปโรงพยาบาลเตรียมคลอดจะได้ไม่ลืมของสำคัญต่าง ๆ ไปค่ะ
อ่านประสบการณ์ตรงของคุณแม่ที่เคยเตรียมของไปคลอดโรงพยาบาลรัฐ
เตรียมของไปคลอดโรงพยาบาลรัฐ เตรียมของไปคลอดต้องมีอะไรบ้างคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เย็บปากมดลูก ป้องกันคลอดก่อนกำหนด ทำไมต้องเย็บปากมดลูก คนท้องต้องเย็บปากมดลูกทุกคนหรือไม่
ระยะของการคลอด เป็นอย่างไร เจ็บเตือน เจ็บจริง คลอดรก ตอนไหนเจ็บปวดที่สุด
15 อาการหลังคลอดลูก ที่ต้องเจอแน่หลังออกจากห้องคลอด
ที่มา : enfababy
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!