คนท้องหูอื้อ อันตรายไหม ทำไมคนท้องชอบหูแว่ว หูอื้อข้างเดียว หูอื้อบ่อย ได้ยินเสียงตุบๆ คนท้องหูอื้อบ่อยเกิดจากอะไร วิธีแก้หูอื้อ อาการปวดหูข้างซ้าย ในคนท้องต้องทำอย่างไร จำเป็นต้องไปหาหมอไหม เรามาดูกันดีกว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับคุณแม่ตอนท้อง เราควรรับมือ หรือจัดการกับอาการนี้อย่างไร
โรคหูอื้อ หูอื้อบ่อย คืออะไร?
โรคหูอื้อ มีอาการแสดงที่หลากหลาย มักได้ยินเสียงดังในหู เป็นเสียงซ่าๆ ตุบๆ ฮึมๆ เป็นบางครั้ง หรือตลอดเวลาก็ได้ ไม่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทางของผู้ป่วย ไม่มีอาการวิงเวียนบ้านหมุน พบที่หูข้างซ้ายบ่อยกว่าข้างขวา บางกรณีอาจพบเป็นเสียงดังตามจังหวะการเต้นของหัวใจได้ วินิจฉัยได้จากการซักประวัติเป็นสำคัญร่วมกับการตรวจร่างกายที่ไม่พบความผิดปกติอื่นๆ เช่น แก้วหูทะลุ หรือดวงตากรอกไปมา เป็นต้น
สาเหตุของอาการหูอื้อของคนท้องคืออะไร
ระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจะได้ยินเสียงกริ่ง เสียงคลิก เสียงแปลก ๆ ก้องอยู่ในหู หรือคุณแม่บางคนอาจได้ยินเสียงอัตราการเต้นของหัวใจตัวเอง ซึ่งอาการนี้เรียกว่า เสียงหูอื้อขณะตั้งครรภ์แบบพัลซาไทล์ (pulsatile tinnitus) ซึ่งพบมากในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- อาการเดิมจากการตั้งครรภ์ครั้งแรก หากในการตั้งครรภ์ครั้งแรกคุณแม่มีอาการหูอื้อ แน่นอนว่ามีโอกาสสูงมาในการตั้งครรภ์ในครั้งต่อ ๆ ไปจะมีอาการหูอื้อเช่นกัน สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรกก็ให้เผื่อใจไว้เลยว่าการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปอาจพบอาการนี้อีก
- การขาดธาตุเหล็กระหว่างตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่สามารถทำให้มีอาการหูอื้อระหว่างตั้งครรภ์ได้
- ความเครียด คุณแม่บางคนที่มีอาการเครียดไม่ว่าจากเรื่องงาน เรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัว หรือแม้แต่กับการตั้งครรภ์นั้นอาจส่งผลทำให้คุณแม่นั้นเสี่ยงเป็นโรคหูอื้อได้
- ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคหูอื้อได้ เนื่องจากความดันโลหิตนั้นจะเข้าไปรบกวนความดันภายในของหูชั้นกลางทำให้เกิดอาการหูอื้อนั่นเอง
- การผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ ส่งผลทำให้หูอื้อได้
- ไมเกรน การปวดหัวไมเกรนของคุณแม่ที่เป็นโรคประจำตัวนี้ การปวดหัวมาก ๆ อาจทำให้พัฒนากลายเป็นโรคหูอื้อได้
- ปัญหาทางทันตกรรม ในบางกรณี หูอื้อนั้นเกิดจากปัญหาทางทันตกรรม โดยเฉพาะปัญหาการกัด อาการที่พบบ่อยที่สุดของปัญหาการกัดคือกรามแข็ง ปวดกราม และปวดศีรษะ และในบางครั้งอาการเหล่านี้ก็มักมาพร้อมกับอาการหูอื้อ
บทความที่น่าสนใจ : โรคหูดับ ภัยร้ายจากเนื้อหมูดิบ ถ้าไม่ระวังอาจถึงตาย!
ทำไมคนท้องถึงหูอื้อบ่อย
สาเหตุที่พบได้บ่อยขึ้นในสตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากการตั้งครรภ์เองโดยเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงความไวของประสาทหู ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานคลื่นเสี่ยงโดยการสั่นเป็นสัญญาณกระแสประสาทส่งกลับสู่สมองเพื่อแปลผลการได้ยินอีกที ทำให้มีอาการหูอื้อมากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของหูชั้นกลางซึ่งมีท่อรูระบายอากาศมายังเพดานในช่องปาก อาจมีการบวมจากการตั้งครรภ์เป็นครั้งคราว ทำให้การปรับสมดุลของแรงดันอากาศระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลางผิดปกติ ส่งผลให้มีอาการหูอื้อได้คล้ายกับลักษณะที่พบได้เมื่อขึ้นเครื่องบินแล้วมีอาการหูอื้อนั่นเอง
คนท้องหูอื้อ หูอื้อข้างเดียว อันตรายไหม
การหูอื้อ อาการปวดหูข้างซ้าย เป็นอาการที่พบบ่อยในสตรีตั้งครรภ์ โดยจะพบบ่อยได้ถึง 1 ใน 3 ของสตรีตั้งครรภ์ทั้งหมด และหากมารดาเคยมีอาการหูอื้อนำมาก่อนตั้งครรภ์จะพบว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้จะมีอาการหูอื้อที่รุนแรงมากขึ้นขณะตั้งครรภ์ อาการหูอื้อพบได้ทุกช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ แต่จะพบมากที่สุดในช่วงไตรมาสที่สอง(ช่วง 4-6 เดือน) โดยจำเป็นต้องแยกจากอาการหูแว่วซึ่งพบในผู้ป่วยโรคจิตเภท
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เสี่ยงแท้งลูก? คุณแม่ไม่ควรมองข้าม
วิธีการแก้หูอื้อ คนท้องหูอื้อควรทำอย่างไร
การรักษาโรคนี้ จึงขึ้นกับสาเหตุ หากตรวจพบก็สามารถให้การรักษาที่จำเพาะเจาะจงได้ หากตรวจไม่พบสาเหตุ ก็สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. จัดการกับความเครียด
ในบางครั้งคุณแม่ที่อยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์อาจจะต้องต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ มากมาย อาทิ ความเหนื่อยล้า นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เป็นต้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความเครียด และความวิตกกงวลระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ แล้ว ความเครียดอาจนำไปสู่อาการหูอื้อได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการจัดการกับความเครียดในระหว่างตั้งครรภ์
2. ทำสมาธิ
การทำสมาธิเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเครียด และความรู้สึกกระสับกระส่ายของคุณได้ ผลการวิจัยพบว่าการฝึกสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าออกทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์นั้นรู้สึกผ่อนคลาย คลายกังวล ละทิ้งความเครียดที่สะสมได้
3. อยู่ห่างจากเสียงดัง
การอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดังอาจทำให้อาการหูอื้อรุนแรงมากยิ่งขึ้น และอาจส่งผลทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกไม่สบาย หรือป่วยได้ ดังนั้นคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีเสียงดังในระหว่างตั้งครรภ์
4. ออกกำลังกาย
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ออกกำลังกายนั้น จะส่งผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจของตัวคุณแม่เอง การไหลเวียนของเลือดจะดีขึ้น ซึ่งสามารถช่วยในเรื่องของอาการหูอื้อได้ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหม หรือเข้มงวดจนเกินไป เพราะอาจส่งผลทำให้อาการแย่ลงได้
บทความที่น่าสนใจ : คนท้องออกกําลังกาย ช่วยพัฒนาการลูกในครรภ์ ยิ่งออกกำลังกายยิ่งดีต่อลูก
ออกกำลังกายลดอาการหูอื้อได้
5. การรับประทานอาหารที่สมดุล
การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และสมดุลระหว่างตั้งครรภ์นั้นก็เพื่อรักษาสมดุล และความกระฉับกระเฉงของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ที่จะต้องเสียทั้งแรงกาย แรงใจในการตั้งครรภ์ นอกจากนี้คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีปริมาณโซเดียม เนื่องจากอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และเพิ่มโอกาสการเกิดอาการหูอื้อได้
6. อาหารเสริม
บางครั้งแพทย์ของคุณอาจสั่งจ่ายอาหารเสริมให้แก่คุณ โดยเฉพาะสังกะสี ซึ่งสามารถช่วยลดผลกระทบของอาการหูอื้อได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากอาการหูอื้อของคุณไม่ดีขึ้น กรุณาแจ้งกับแพทย์ที่คุณฝากครรภ์ เพื่อหาทางแก้อื่น หรือแพทย์ของคุณอาจมีการแนะนำให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางอีกท่าน เพื่อรักษาอาการหูอื้อนี้
7. เสียงเพลง หรือดนตรีบำบัด
คุณอาจลองใช้การบำบัดด้วยเสียงสีขาว ดนตรีบำบัด หรือ ASMR เพื่อลดเสียงที่ดังภายในหูของคุณ ทั้งนี้การฟังเสียงขาว หรือฟังเพลงที่ผ่อนคลายนั้นสามารถช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย และนอนหลับได้ดีอีกด้วย
เสียงเพลง หรือดนตรีบำบัดหูอื้อ
สรุป อาการหูอื้อเป็นอาการที่พบได้บ่อยในสตรีตั้งครรภ์ มักไม่รุนแรงหรืออันตราย เพียงก่อให้เกิดความรำคาญ จำเป็นต้องหาสาเหตุที่รักษาได้ หากไม่พบสาเหตุอื่น ให้ประคับประคองและติดตามไปจนกระทั่งหลังคลอด อาการมักจะดีขึ้นหรือหายได้เอง
บทความที่น่าสนใจ:
5 สารอาหารที่คนท้องควรได้รับก่อนคลอด สำคัญอย่างไร และมีสารอาหารอะไรบ้าง
อาการคนท้องในแต่ละเดือน คนท้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ต้องเจอกับอะไรบ้าง
คนท้องนอนไม่หลับกลางคืน ทำอย่างไรดี วิธีแก้อาการนอนไม่หลับแบบได้ผล!
ที่มา : healthyhearing, helpingmehear, parenting.firstcry
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!