เมื่อลูกเกิดความกลัว ร้องไห้ งอแง คงเป็นสิ่งที่ดีหากผู้ปกครองจะระวัง เรื่องน่ากลัวสำหรับเด็ก ที่อาจมองข้ามไป หลายอย่างสำหรับผู้ใหญ่อาจไม่มีอะไร แต่สำหรับเด็กกลับกลายเป็นสิ่งน่ากลัวจนฝังใจไปแล้ว
8 เรื่องน่ากลัวสำหรับเด็ก ที่มีแต่เรื่องใกล้ตัว
เป็นเด็กลำบากกว่าที่คิด ด้วยประสบการณ์ที่น้อย อ่อนต่อโลก ทำให้มีความเข้าใจในสิ่งรอบตัวน้อยมาก เวลาเจออะไรที่ตนเองไม่รู้จัก ไม่เข้าใจต่ออะไรก็มักจะมีความกลัวเสมอ โดยเราจะนำเสนอสิ่งที่เด็กเล็กมักกลัวมากที่สุด เพื่อให้ผู้ปกครองระมัดระวังเอาไว้ก่อน ได้แก่ กลัวการถูกทิ้ง พ่อแม่ไม่รัก, ผี ปีศาจ และสัตว์ประหลาด, ความมืด, กลัวเสียงดัง, กลัวหมอ และพยาบาล, กลัวตำรวจ, คนแปลกหน้า และตู้เสื้อผ้า
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูก ๆ กลัวความสูง จะดูแลลูกยังไงดี โรคความกลัวนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตเด็กหรือไม่
วิดีโอจาก : เด็กทารก Everything Channel
1. กลัวการถูกทิ้ง พ่อแม่ไม่รัก
การที่ต้องอยู่กับคุณพ่อคุณแม่มาตลอดชีวิต ความผูกพันเริ่มตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์แล้ว และเรียนรู้จดจำคนที่เป็นพ่อแม่ได้ตอนเป็นทารก เมื่อโตขึ้นเขาจะเข้าใจว่าพ่อแม่ คือ บุคคลที่สามารถไว้ใจได้ ปกป้องตนเองได้ ทำให้เกิดความกลัวว่าหากวันหนึ่งพ่อแม่ไม่รัก หรือถูกทิ้งขึ้นมาจะเป็นอย่างไร มีความกลัวเพราะว่าไม่สามารถรับมือสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง และไม่มีที่พึ่งในยามที่ตนเองกลัว หรือพบเจอสิ่งไม่ดี อย่างไรก็ตามความคิดนี้จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อลูกมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เด็กบางคนก็อาจฝังใจ หากเคยถูกพ่อแม่ทอดทิ้งมาก่อนเช่นกัน
2. ผี ปีศาจ และสัตว์ประหลาด
สิ่งแรก ๆ ที่เด็กมักนึกถึง คือ ปีศาจต่าง ๆ เวลาได้ยินเสียงตอนกลางคืน หรือเห็นรูปปั้น ภาพ หรือปีศาจต่าง ๆ ในหนังจะยิ่งทำให้เด็กจดจำความน่ากลัวเหล่านี้ เด็กเล็กอาจยังไม่สามารถแยกแยะความจริง กับสื่อบันเทิงต่าง ๆ ได้ เวลาเจออะไรที่เขาไม่เข้าใจ ก็จะคิดไปว่าเป็นปีศาจ เป็นสัตว์ประหลาด นอกจากนี้สิ่งเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ มักฝันถึง เป็นหนึ่งในฝันร้ายที่เด็ก ๆ กลัว เพื่อลดความกลัวในเรื่องนี้ผู้ปกครองควรระวังสื่อต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก โดยเฉพาะการดูภาพยนตร์ที่มีความรุนแรง เกี่ยวกับผี ปีศาจ ที่ไม่ควรให้ลูกดูด้วยจนเกิดความกลัวในที่สุด
3. ความมืด
เป็นความกลัวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากข้อที่แล้ว เมื่อเด็ก ๆ กลัวสัตว์ประหลาด กลัวผี ก็ทำให้เด็ก ๆ จะกลัวความมืดตามมาด้วยนั่นเอง เพราะความมืดเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ทำให้พวกเขาไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ในความมืดบ้าง นอกจากนี้ลูกยังมีภาพจำไม่ต่างจากผู้ใหญ่ที่ดูสื่อน่ากลัว ๆ ว่าสัตว์ประหลาดมักหลบซ่อนในความมืด ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เด็กเล็กมีปัญหาในการฝึกนอนคนเดียว และไม่ชอบที่จะให้ห้องของตนเองมืด ยิ่งหลับในความหวาดระแวง ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการฝันร้ายได้
4. กลัวเสียงดัง
ปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กเล็กกลัววัตถุ หรือเหตุการณ์ สภาวะแวดล้อมที่มีเสียงดัง เป็นเพราะว่าเด็กเล็กนั้นจะมีความไวต่อเสียงมาก ทำให้เสี่ยงดังที่ได้ยินไปกระตุ้นการรับรู้มากเป็นพิเศษ ประกอบกับความไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ทำให้เกิดเสียงคืออะไร ไม่รู้จักอุปกรณ์นั้น ๆ หรือไม่เข้าใจว่าสถานที่นั้นทำไมเสียงดัง จนทำให้เกิดอาการตกใจและหวาดกลัวในที่สุด เช่น เสี่ยงเครื่องดูดฝุ่น, เสียงฟ้าร้อง และเสียงพื้นที่ก่อสร้าง เป็นต้น
5. กลัวหมอ และพยาบาล
เมื่อต้องพาลูกน้อยไปโรงพยาบาล หากลูกรู้ว่าตนเองกำลังไปไหนก็อาจร้องไห้งอแงไม่ยอมไป เพราะกลัวนั่นเอง ความกลัวแบบนี้เป็นผลมาจากความเข้าใจผิด คิดว่าคนที่ต้องไปเจอหมอ คือ คนที่ป่วยต้องรักษา หรือเป็นคนที่จะต้องตายหรือเปล่า นอกจากนี้ยังเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวอีกด้วย โดยเฉพาะการฉีดยาที่เด็ก ๆ มักไม่ชอบกันเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากการฉีดยาสำหรับเด็ก ถือว่ามีอาการเจ็บปวดอยู่พอสมควร เด็ก ๆ จึงกลัวว่าหากไปโรงพยาบาลต้องโดนฉีดยาแน่นอน ทั้ง ๆ ที่ผู้ปกครองอาจพาไปตรวจสุขภาพเฉย ๆ เท่านั้นเอง
6. กลัวตำรวจ
เมื่อลูกทำอะไรผิด หรือเพื่อป้องกันลูกทำพฤติกรรมที่ผิดบางอย่าง ผู้ปกครองอาจขู่ว่า “เดี๋ยวตำรวจจับนะ” เพื่อให้ลูกเกิดความกลัวและไม่กล้าทำ ซึ่งก็ได้ผลอย่างที่ต้องการ เมื่อลูกได้ยินบ่อย ๆ ความกลัวตำรวจจึงเกิดขึ้นมาจริง ๆ เวลาเดินไปแล้วเห็นตำรวจ ลูกจะเกิดความกังวล เกิดความระแวง ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็มาได้ทำอะไรผิด ความกลัวรูปแบบนี้ยังเกิดขึ้นในรูปแบบคล้าย ๆ กัน เช่น ลูกกลัวตัวตลก เพราะมีคนบอกว่าเดี๋ยวกินตับ เป็นต้น
7. คนแปลกหน้า
ตลอดเวลาตั้งแต่จำความได้ใบหน้าของพ่อแม่เป็นสิ่งที่ลูกคุ้นชิน และไว้ใจมากที่สุด พวกเขาจะไม่คุ้นชินกับคนอื่น โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเจอหน้า ไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย ลูกจะมีความกลัวเป็นพิเศษ ไม่กล้าพูดคุยหรือเล่นด้วยหากไม่มีผู้ปกครองคอยอยู่ใกล้ ๆ ยิ่งถ้าให้อยู่กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักแค่ 2 ต่อ 2 แม้ว่าจะเป็นญาติกัน ลูกก็จะไม่ยอมและงอแงร้องไห้ออกมาในที่สุด
8. ตู้เสื้อผ้า
ด้วยพื้นที่แคบจำกัด และถูกปิดเอาไว้ตลอด อีกทั้งยังเป็นภาพจำที่ว่าจะต้องมีสิ่งน่ากลัวซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าแน่นอน นอกจากความแคบ ความน่าพิศวงแล้ว ความมืดในตู้เสื้อผ้าก็เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกไม่ชอบเช่นกัน ไม่ใช่แค่ตู้เสื้อผ้าเท่านั้น แต่พื้นที่แคบ และมืดอื่น ๆ ก็สามารถทำให้ลุกเกิดความกลัวได้เช่นกัน เช่น ใต้เตียง หรือใต้บันได เป็นต้น
ความกลัวยังมีอีกหลายอย่างที่เด็ก ๆ มักจะจดจำ ซึ่งมักจะเกิดจากประสบการณ์ต่อสิ่งนั้น ๆ ที่ไม่ค่อยดี การได้ฟังจากผู้อื่น หรือจากสื่อที่หาชมได้ง่ายในยุคนี้ ผู้ปกครองจึงควรดูแลสื่อของลูก และระมัดระวังคำพูด หรือคำขู่ต่าง ๆ ที่สามารถส่งผลต่อความคิดของลูกน้อยได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกกลัวคนแปลกหน้า วิธีแก้ปัญหาควรทำอย่างไร ?
7 วิธีดูแลเด็กบนรถ เมื่อต้องเดินทางไกล ให้ปลอดภัยที่สุด
สอนลูกให้กล้าตัดสินใจ ทำอย่างไรให้ลูกมีความกล้า ทำอะไรได้ด้วยตัวเอง
ที่มา : childmind, childcarefinder
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!