ทำอย่างไรดีตอนนี้ ลูกฝันร้าย ทำไมลูกฝันร้ายบ่อยจัง เกิดจากอะไร และมีวิธีป้องกันไม่ให้ลูกฝันร้ายอย่างไรบ้าง หากผู้ปกครองกำลังประสบกับปัญหาเหล่านี้ เรามีวิธีมาแนะนำในบทความนี้
ลูกฝันร้าย ช่วงไหน อายุเท่าไหร่
โดยทั่วไปแล้วผู้ปกครองจะไม่รู้เลยว่าทารกที่ร้องไห้ตอนกลางคืนหลังจากหลับไปแล้วฝันร้ายหรือไม่อย่างไร ซึ่งมักจะสังเกตอาการป่วยต่าง ๆ มากกว่า แต่สำหรับเด็กเล็กที่เริ่มสื่อสารได้ จะเริ่มบอกแล้วว่าตนเองฝันร้ายหรือไม่ โดยเด็กที่ฝันร้ายครั้งแรกมักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 3 ปีขึ้นไป และเกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงอายุ 5 – 6 ปี โดยเฉพาะในช่วงเวลาใกล้เช้าประมาณตี 4 ถึง 6 โมงเช้า โดยฝันร้ายสำหรับเด็กเล็กโดยทั่วไปมักจะเกี่ยวกับสัตว์ประหลาด, ผี และสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น
แต่เมื่อลูกโตขึ้นตั้งแต่วัยเรียนขึ้นไป ความฝันของลูกจะมีความหลากหลายมากขึ้น และจะมีการเก็บความเครียด จากเรื่องที่ทำให้คิดมากมาฝันโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ปกครองจะต้องให้ความสำคัญ และคอยแนะนำอยู่เสมอ ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝันร้ายกับละเมอฝันผวา ต่างกันอย่างไร ?
สาเหตุที่ทำให้ลูกฝันร้าย
เรื่องของการฝันร้ายไม่สามารถเจาะจงสาเหตุได้แน่ชัด ว่าจริง ๆ แล้วเกิดจากอะไร อย่างไรก็ตามอาการฝันร้ายที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ มักเกิดขึ้นหลังจากการพบเจอเหตุการณ์เลวร้าย หรือความรู้สึกของลูกเอง ตัวอย่างเช่น
- เด็กเล็กอาจมีอาการฝันร้ายที่มากขึ้น หากต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่
- เกิดจากความเครียด หรือความกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากในชีวิตจริง
- เด็กอาจจินตนาการไปเอง ไม่ได้เครียด หรือกลัวอะไร
- เด็กในช่วงวัยเรียนมักฝันร้าย จากเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ เช่น การย้ายโรงเรียน หรือคนในครอบครัวทะเลาะกัน เป็นต้น
- ฝันร้ายที่มาจากความรู้สึกหลังจากดูสื่อต่าง ๆ ที่น่ากลัวก่อนเข้านอน เช่น ภาพยนตร์สยองขวัญ หรือฟังเรื่องสยอง เป็นต้น
- ฝันร้ายที่เกิดจากอาการเจ็บป่วย และอาการไข้
โดยส่วนมากอาการฝันร้ายนี้จะเกิดขึ้นในช่วงระยะหลับฝัน (Rapid Eye Movement Sleep: REM Sleep) ถือเป็นช่วงท้ายสุดของการนอนหลับในครั้งนั้น ๆ โดยให้สังเกตอาการผวาของลูก ร่วมกับร้องไห้งอแง แสดงความกลัวออกมา และมักจะไม่ยอมนอน เพราะกลัวว่าพอนอนหลับจะฝันร้ายอีกครั้ง
วิดีโอจาก : Young At Heart Show
ทำไมฝันร้ายในเด็กจึงน่ากลัวกว่าที่คิด
ใคร ๆ ก็ฝันร้ายกันได้ทั้งนั้น อาจเป็นความคิดเห็นของผู้ปกครอง จึงมองว่าการที่ลูกรักจะฝันร้ายก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว อาการนี้เป็นอาการที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป หรือเด็กที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยเรียน หรือกำลังเรียนหนังสืออยู่ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือทางจิตใจ
ยิ่งถ้าเป็นเด็กที่อยู่ในวัยเรียน ยิ่งมีแนวโน้มว่าฝันร้ายจะมาจากสภาพจิตใจ เช่น อาการซึมเศร้า หรือเป็นส่วนหนึ่งของความเครียดหลังจากผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง แต่ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจอยู่ (PTSD) ไปจนถึงความกังวลต่อปัญหาที่กำลังเจออยู่จนส่งผลให้เก็บเอาไปคิดมาก และฝันร้าย หากปล่อยเอาไว้จะส่งผลให้ลูกมีสภาพจิตใจที่ไม่ดี รู้สึกเศร้า และมีอาการซึมขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าปัญหาเหล่านั้นจะหมดไป
ทำอย่างไรเมื่อลูกฝันร้าย
จากสถิติมักพบว่ามีเด็กจำนวน 1 ใน 4 ที่ฝันร้ายแทบจะตลอดทุกสัปดาห์ โดยอาการนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเช้าตรู่ หากเป็นเด็กเล็กจะต้องระวังให้ดี เพราะอาจรบกวนการพักผ่อน ส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการของลูกได้ ผู้ปกครองควรรับมือ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- กรณีเป็นเด็กเล็กผู้ปกครองควรเข้าหาลูกทันที เข้าไปกอด และคอยปลอบลูกว่าสิ่งที่เจอในความฝันไม่ใช่ความจริง โดยพยายามอยู่กับลูกจนกว่าลูกจะใจเย็น และหยุดร้องไห้
- สร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายขึ้น เช่น เปิดเพลงสบาย ๆ หรืออ่านนิทานให้ลูกฟัง หากลูกมีของเล่น หรือตุ๊กตาตัวโปรดให้นำมาให้ลูกกอดได้
- หากลูกต้องการพูด ต้องการเล่าให้ฟัง ผู้ปกครองควรรับฟัง เพราะฝันร้ายบางอย่างอาจมีรากฐานมาจากเหตุการณ์จริงที่ลูกเจอ พร้อมให้คำแนะนำการแก้ปัญหาต่อสิ่งที่ลูกกังวล
- หากลูกมีอาการรุนแรง หรือฝันร้ายถี่เกินไป อาการไม่ดีขึ้น ควรพาลูกพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ทำอย่างไรให้ลูกไม่ฝันร้าย นอนหลับสนิทมากขึ้น
เมื่ออาการฝันร้ายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก การป้องกันปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดฝันร้ายจึงมีความสำคัญขึ้นมา โดยให้ผู้ปกครองสามารถทำตามวิธีดังต่อไปนี้ ได้แก่
- พยายามพูดคุยสอบถามลูกว่ากำลังมีความเครียดในเรื่องไหนหรือไม่ เจอปัญหาอะไรที่ไม่สบายใจหรือเปล่า หากมีให้ฟังลูกเล่า และให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาเพื่อให้ลูกสบายใจมากขึ้น
- หาโอกาสพูดคุยกับลูกว่าความฝันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ ซึ่งมีทั้งดี และร้าย ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เจอในฝันจะเกิดขึ้นจริง
- ก่อนนอนไม่ควรให้ลูกดูสิ่งที่น่ากลัว หรือสิ่งสยองขวัญ เพราะลูกจะเก็บเอาไปฝันได้
- ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนที่เพียงพอเด็กเล็กควรนอน 10 – 14 ชั่วโมง / วัน และเด็กวัยเรียนควรนอน 9 – 12 ชั่วโมง / วัน
- หากลูกยังไม่ชินกับการนอนในห้อง หรือกลัวความมืด ควรติดไฟสำหรับห้องนอนเด็ก เพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัย
- แง้มประตูเอาไว้เล็กน้อย ข้างนอกห้องของลูกควรเปิดไฟ เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกว่าถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวในห้อง
- กรณีเด็กเล็ก ผู้ปกครองอาจหาตุ๊กตา หรือของเล่น แล้วบอกกับลูกว่าสิ่งนี้จะปกป้องลูกจากฝันร้ายได้
นอกจากนี้เมื่อลูกสามารถรับมือกับฝันร้ายได้ด้วยตนเอง สามารถกลับไปนอนได้ หรือลูกบอกว่าเมื่อคืนฝันร้าย แต่ไม่ได้ร้องไห้งอแง ผู้ปกครองควรกล่าวคำชื่นชมกับลูก เพื่อให้ลูกมีความมั่นใจ และจัดากรกับฝันร้ายที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้
แม้ฝันร้ายจะเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป แต่สำหรับเด็กเล็กนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเขายังไม่มีประสบการณ์ในการจัดการกับความฝันที่ไม่ดี จัดการความกลัวของตนเองได้ลำบาก จึงต้องพึ่งผู้ปกครอง แต่เมื่อลูกโตขึ้น จะสามารถปรับตัวในเรื่องนี้ได้อย่างที่ควรจะเป็น ยิ่งผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำก็ยิ่งทำให้ลูกมีความเข้าใจในการรับมือได้มากขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ฝัน คืออะไร ? ทารกฝัน ทำให้ทารกนอนหลับไม่เพียงพอจริงหรือไม่ ?
ลูกไม่ยอมนอน เจ้าตัวน้อยที่ตื่นมาบรรเลงเพลงร้องไห้ตลอดทั้งคืน เป็นเพราะอะไร ?
10 วิธี ฝึกลูกนอนเร็ว เทคนิคที่ทำให้ลูกนอนหลับง่ายขึ้น วิธีให้ลูกนอนง่าย ๆ
ที่มา : 1, Samitivej Hospitals
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!