เมื่อพบว่า ลูกท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ คุณแม่หลายคนคงเป็นห่วง บางคนก็ไม่แน่ใจว่า ควรทำอะไรต่อ จะดูแลที่บ้านก่อนดีไหมหรือพาไปพบแพทย์เลยดี เป็นปัญหาที่อาจคาใจคุณแม่หลายคน เพราะว่า อาการท้องเสียในเด็ก ก็เป็นเรื่องที่พบบ่อย และเกิดได้ทุกช่วงวัย เพราะฉะนั้น เราจะมาดู วิธีรับมืออาการท้องเสียในเด็ก รวมทั้งการป้องกันโดยทั่วไปด้วยครับ

ลูกท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ เกิดจากอะไร
ตามนิยามแล้ว อาการท้องเสีย หรือ ท้องร่วง คือ การถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ ตั้งแต่ 3 ครั้งต่อวัน หรือ มากกว่านั้น ในเด็กเล็ก อาการนี้มักเกิดจากการติดเชื้อ เพราะเด็กเล็กมักจะดูดนิ้ว หรือ เอาของเข้าปาก เวลาเล่นโดยที่ไม่ได้ล้างมือ ทำให้ได้รับเชื้อไปโดยไม่รู้ตัว และตามสถิติแล้ว ในช่วงเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ เชื้อที่พบบ่อยก็คือ เชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus) ที่ปะปนมากับอาหารและน้ำดื่มได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : วัคซีนโรต้า วิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า อย่าคิดว่าไม่สำคัญ
ลูกท้องร่วง ท้องเสีย ควรทำอย่างไร
สิ่งแรกที่ควรทำ เมื่อลูกท้องเสีย ก็คือ การให้น้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยสารน้ำให้เพียงพอ เพราะร่างกายของเด็กยังเล็ก การขาดน้ำเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ปริมาณสารน้ำในหลอดเลือดลดลงได้อย่างรวดเร็ว เด็กท้องเสียจึงป่วยได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ การให้น้ำเกลือแร่เด็กก็ควรป้อนทีละช้อน ๆ ไม่ควรรีบป้อนในทีเดียว เพราะลำไส้เด็กยังอักเสบ จึงรับอาหารและน้ำในปริมาณมากไม่ไหว ส่วนอาหารควรเลือกควรที่ปรุงสุกย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนม โยเกิร์ต ผลไม้รสเปรี้ยวไปก่อน เพราะอาจทำให้อาการท้องเสียเป็นมากขึ้น ในกรณีที่ให้นมบุตร สามารถให้นมบุตรต่อไปได้ เพราะนมแม่มีสารอาหารครบถ้วน และ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยอีกด้วย
ที่สำคัญ ไม่ควรให้ยารักษาลูกเอง โดยเฉพาะยาหยุดการถ่าย หรือ ยาลดการบีบตัวของลำไส้ เพราะการหยุดถ่ายจะเป็นการกักเชื้อโรคไว้ภายในลำไส้ จึงอาจทำให้การติดเชื้อลุกลามไปยังอวัยวะอื่นได้
อาการท้องเสียแบบไหนควรพาไปพบแพทย์
อย่างไรก็ดี หากเด็กมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพาไปแพทย์
- มีภาวะขาดน้ำ สังเกตว่า มีตาโหลลึก กระหม่อมบุ๋ม ปากแห้ง ซึมลง แสดงว่าร่างกายขาดน้ำมาก ควรมาพบแพทย์ในโรงพยาบาล เพื่อพิจารณาให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำต่อไป
- มีถ่ายเป็นมูกเลือด บ่งบอกว่าอาจมีการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น โรคบิด จึงควรพบแพทย์ เพื่อพิจารณาการรักษาต่อไป
- เด็กดื่มหรือกินอาหารไม่ได้ หากเด็กมีอาการอาเจียนร่วม จนไม่สามารถกินหรือดื่มน้ำเกลือแร่ได้ ก็ควรพามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดชดเชยแทน
- อาการท้องเสียเป็นเกิน 3 วัน อาการท้องเสียเรื้อรังบ่งบอกว่า อาจมีการติดเชื้ออื่น จึงควรได้รับการตรวจเชื้อในโรงพยาบาลต่อไป

วิธีป้องกัน ลูกท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ ทำอย่างไร
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูก ทำให้ไม่ป่วยง่าย
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ เนื่องจากมือเป็นแหล่งเชื้อโรค เวลาเด็กไปเล่นตามที่ต่าง ๆ จึงควรหมั่นล้างมือให้เป็นนิสัย จะช่วยลดโอกาสการปนเปื้อนได้
- ทำความสะอาดขวดนมและภาชนะต่าง ๆ เนื่องจากเด็กทารกยังมีภูมิคุ้มกันที่ยังไม่ดีนัก จึงควรมั่นใจว่าขวดนมสะอาดปลอดเชื้อ และควรล้างจานชามให้สะอาด สำหรับเด็กโตด้วย
- ฉีดวัคซีนไวรัสโรต้า เนื่องจากเป็นเชื้อที่พบบ่อยในอาการท้องเสีย การฉีดวัคซีนจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ โดยโดสแรกควรได้ก่อนอายุ 15 สัปดาห์ และควรให้โดสสุดท้ายก่อนอายุครบ 8 เดือน
ปัญหาท้องเสียในเด็กอาจมีอาการมากน้อยต่างกันไปในแต่ละคน แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้เท่าทันถึงสาเหตุ และ วิธีการป้องกันโรคแล้ว ก็น่าจะสามารถรับมือกับปัญหานี้ที่บ้านเองได้ และหลายครั้ง เด็ก ๆ ก็จะอาการดีขึ้น โดยไม่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ อย่างไรก็ดี หากมีอาการรุนแรงตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็ควรพามาพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติมครับ
แม่ ๆ คนไหนยังมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถพบ #ทีมหมอGDTT ได้ฟรี ที่ Good Doctor Technology แอปพลิเคชัน เพียงกดรับสิทธิ์ผ่าน Reward ในแอปพลิเคชัน theAsianparent หรือสามารถกดลิงก์นี้ได้เลยครับ https://community.theasianparent.com/reward/4093/?lng=th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
มีอาการท้องเสีย เมื่อมีอาการท้องเสียทำอย่างไร ท้องร่วงสิ่งที่ควรกินและไม่ควรกิน
พรีไบโอติก แตกต่างจากโพรไบโอติกอย่างไร? มีประโยชน์อย่างไรบ้าง
เด็กทารกควรถ่ายวันละกี่ครั้ง สีอุจจาระของทารกบ่งบอกอะไร
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!