เมื่อพบว่า ลูกท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ คุณแม่หลายคนคงเป็นห่วง บางคนก็ไม่แน่ใจว่าควรทำอะไรต่อ จะดูแลที่บ้านก่อนดีไหมหรือพาไปพบแพทย์เลยดี เป็นปัญหาที่อาจคาใจคุณแม่หลายคน เพราะว่าอาการท้องเสียในเด็กก็เป็นเรื่องที่พบบ่อยและเกิดได้ทุกช่วงวัย เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะมาดูสาเหตุที่ทำให้ลูกท้องเสีย พร้อมวิธีรับมืออาการท้องเสียในเด็ก และการป้องกันโดยทั่วไปกันค่ะ
ลูกท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ เกิดจากอะไร
ตามนิยามแล้ว อาการท้องเสียหรือท้องร่วง คือ การถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งต่อวัน หรือ มากกว่านั้น ในเด็กเล็กอาการนี้มักเกิดจากการติดเชื้อเพราะเด็กเล็กมักจะดูดนิ้ว หรือ เอาของเข้าปากเวลาเล่นโดยที่ไม่ได้ล้างมือ ทำให้ได้รับเชื้อไปโดยไม่รู้ตัว และตามสถิติแล้ว ในช่วงเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ เชื้อที่พบบ่อย ก็คือ เชื้อไวรัสโนโร (Norovirus) ที่ปะปนมากับอาหารและน้ำดื่มได้
ลูกท้องเสียอาการเป็นอย่างไร
หากลูกน้อยมีอาการท้องเสีย ร่างกายของเด็กจะสูญเสียน้ำและแร่ธาตุมาก ทำให้เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำภายใน 1-2 วัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตอาการท้องเสียของลูกอยู่บ่อย ๆ ซึ่งอาการท้องเสียในทารกที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้
- อุจจาระมีกลิ่นเหม็น
- อุจจาระเหลวผิดปกติ
- อุจจาระมีน้ำมากกว่าปกติ
- เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยกว่าปกติ
- อุจจาระมีเลือดหรือมีมูกเลือดปน
- อุจจาระบ่อย หรือถ่ายอุจจาระทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอ้อม
ทำไมลูกกินนมแม่แล้วท้องเสีย
ทารกที่กินนมแม่ในช่วงเดือนแรก อาจมีอาการถ่ายบ่อย ถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายทันทีหลังกินนม ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าลูกมีอาการท้องเสีย แต่จริง ๆ แล้วการที่ลูกมีอาการดังกล่าวนี้ เป็นอาการปกติของเด็กที่กินนมแม่ เพราะนมแม่ย่อยง่าย สามารถดูดซึมสารอาหารได้ดี และทำให้อุจจาระของลูกอ่อนนุ่ม
ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุ อาจเกิดจากการที่คุณแม่ให้ลูกกินนมไม่เกลี้ยงเต้า กล่าวคือ ให้ลูกดูดเต้าแรกไม่นานแล้วสลับไปกินอีกเต้า ทำให้ลูกได้กินน้ำนมเฉพาะส่วนหน้าของสองเต้าเท่านั้น หรือในอีกกรณีคือ คุณแม่มีน้ำนมมาก ให้ลูกกินแค่น้ำนมส่วนหน้าก็อิ่มแล้ว ซึ่งในน้ำนมส่วนหน้าจะมีน้ำและน้ำตาลแล็กโทสค่อนข้างมาก ทำให้ไหลผ่านลำไส้ได้รวดเร็วจนลูกถ่ายออกมาเลยหลังกินนม
ลูกท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ ต้องหยุดให้นมแม่ไหม
ความจริงแล้ว หากลูกมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ ก็ไม่ควรหยุดให้นมแม่ค่ะ ยิ่งถ้าเป็นการท้องเสียจากการติดเชื้อโรคแล้ว ก็ยิ่งต้องให้นมแม่เท่านั้น เพราะในนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารกว่า 200 ชนิดที่ช่วยในการเจริญเติบโตของทารก โดยเฉพาะในช่วง 2-3 วันหลังคลอด ร่างกายของคุณแม่จะหลั่ง “น้ำนมเหลือง (Colostrum)” ออกมา ซึ่งเป็นสารอาหารสูงสุดที่ทารกต้องการ
โดยในน้ำนมแม่ชนิดนี้จะพบ “แลคโตเฟอร์ริน” ที่ช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานโรคหลายอย่าง เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคภูมิแพ้ และโรคหูน้ำหนวก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสารอาหารที่สำคัญ ได้แก่ MFGM DHA และทอรีน ส่วนในกรณีที่ลูกท้องเสียจากการแพ้โปรตีนในอาหารที่คุณแม่รับประทานก็ไม่ต้องหยุดให้นมเช่นกัน แต่ให้คุณแม่งดทานอาหารกลุ่มที่ลูกแพ้แทนและให้นมลูกต่อไปเหมือนเดิมค่ะ
วิธีรับมือเมื่อลูกมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ
สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อลูกท้องเสีย ก็คือ การให้น้ำเกลือแร่ (ORS) เพื่อชดเชยสารน้ำให้เพียงพอเด็กที่ตัวเล็ก การขาดน้ำเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ปริมาณสารน้ำในหลอดเลือดลดลงได้อย่างรวดเร็ว เด็กท้องเสียจึงป่วยได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ การให้น้ำเกลือแร่เด็กก็ควรป้อนทีละช้อน ๆ ไม่ควรรีบป้อนในทีเดียว เพราะลำไส้เด็กยังอักเสบ ยังย่อยและดูดซึมได้ไม่ดี
ส่วนอาหารควรเลือกควรที่ปรุงสุกย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและน้ำตามสูง อาหารรสจัด ผลไม้รสเปรี้ยว เพราะอาจทำให้อาการท้องเสียเป็นมากขึ้น ในกรณีที่ให้นมบุตร สามารถให้นมบุตรต่อไปได้ เพราะนมแม่มีสารอาหารครบถ้วน และช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยอีกด้วย
วิธีป้องกันอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำในทารก
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ เนื่องจากมือเป็นแหล่งเชื้อโรค เวลาเด็กไปเล่นตามที่ต่าง ๆ จึงควรหมั่นล้างมือให้เป็นนิสัย จะช่วยลดโอกาสการปนเปื้อนได้
- ทำความสะอาดขวดนมและภาชนะต่าง ๆ เนื่องจากเด็กทารกยังมีภูมิคุ้มกันที่ยังไม่ดีนัก จึงควรมั่นใจว่าขวดนมสะอาดปลอดเชื้อ และควรล้างจานชามให้สะอาด สำหรับเด็กโตด้วย
- วัคซีนไวรัสโรต้า เนื่องจากเป็นเชื้อที่พบบ่อยในอาการท้องเสีย เด็กควรได้รับวัคซีนจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ โดยโดสแรกควรได้ก่อนอายุ 15 สัปดาห์ และควรให้โดสสุดท้ายก่อนอายุครบ 8 เดือน
- ไม่ควรให้ยารักษาลูกเอง โดยเฉพาะยาหยุดการถ่าย หรือยาลดการบีบตัวของลำไส้ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้องรุนแรง ท้องบวม หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
อาการท้องเสียแบบไหนควรพาไปพบแพทย์
อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพาไปแพทย์ทันที
- มีภาวะขาดน้ำ สังเกตว่า มีตาโหลลึก กระหม่อมบุ๋ม ปากแห้ง ซึมลง ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่มีปัสสาวะ แสดงว่าร่างกายขาดน้ำมาก ควรมาพบแพทย์ในโรงพยาบาล เพื่อพิจารณาให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำต่อไป
- ถ่ายเป็นมูกเลือด บ่งบอกว่าอาจมีการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น โรคบิด จึงควรพบแพทย์ เพื่อพิจารณาการรักษาต่อไป
- เด็กดื่มน้ำนมหรือกินอาหารไม่ได้ หากเด็กมีอาการอาเจียนร่วม จนไม่สามารถกินหรือดื่มน้ำเกลือแร่ได้ ก็ควรพามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดชดเชยแทน
- ลูกมีอาการท้องเสียเกิน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการท้องเสียเรื้อรัง ซึ่งอาจบ่งบอกว่ามีการติดเชื้ออื่น เช่น พยาธิ หรือภาวะผิดปกติอื่นของลำไส้ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
ปัญหาท้องเสียในเด็กอาจมีอาการมากน้อยต่างกันไปในแต่ละคน แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้เท่าทันถึงสาเหตุ และวิธีการป้องกันโรคแล้ว ก็น่าจะสามารถรับมือกับปัญหานี้ที่บ้านเองได้ และหลายครั้งเด็ก ๆ เองก็จะอาการดีขึ้นโดยไม่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ อย่างไรก็ดี หากลูกมีอาการรุนแรงตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็ควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติมค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เด็กทารกท้องผูก สัญญาณอันตราย ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ทารกไม่สมดุล ระวังลูกเป็นโรค!
ลูกมีอุจจาระผิดปกติ สีอุจจาระแต่ละสีบอกอะไรบ้าง แบบไหนที่ผิดปกติกับลูก
ที่มา : enfababy, enfababy
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!