จุลินทรีย์หรือจุลชีพ (Microorganism) เป็นเซลล์ที่อยู่ในร่างกายมนุษย์มากกว่า 100 ล้านล้านเซลล์ โดยอาศัยอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นตรงผิวหนัง ช่องคลอด ช่องปาก และระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะในลำไส้ จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร จึงมีความสำคัญอย่างมาก หากจุลินทรีย์ในร่างกายลูกน้อยขาดความสมดุล ก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายได้ บทความนี้จะพามารู้จัก จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร และวิธีการปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ลูกน้อยค่ะ
จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร คืออะไร
ร่างกายของมนุษย์สร้างเซลล์ขึ้นมาหลายรูปแบบ บางส่วนเป็นเซลล์ของคนเราเอง เช่น เซลล์เม็ดเลือด เซลล์ผิวหนัง แต่ก็ยังมีแหล่งอาศัยของเซลล์สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส อาร์เคีย และโพรทิสต์ โดยกลุ่มของเซลล์เหล่านี้เรียกรวมกันว่า “ไมโครไบโอม” (Microbiome) ซึ่งหมายถึงจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จึงมีความสนใจในความสัมพันธ์ของจุลินทรีย์และสุขภาพของเราเป็นอย่างมาก
โดยส่วนใหญ่แล้ว เราจะได้รับจุลินทรีย์เหล่านี้มาจากผู้อื่น ทารกจะได้รับการถ่ายทอดจุลินทรีย์ครั้งแรกจากผิว ช่องคลอด และน้ำนมของแม่ รวมถึงได้รับจากคนอื่นที่มาแตะตัวเขา เมื่อลูกเติบโตขึ้น ก็จะได้รับจุลินทรีย์จากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากคนด้วยกันเอง จากพืช สัตว์ และอาหารที่รับประทาน
จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารทำหน้าที่อะไร
จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารมีส่วนช่วยในด้านสุขภาพ เพราะเป็นแหล่งพลังงานประมาณ 10% ที่เราใช้อยู่ ทำหน้าที่ย่อยบางสิ่งที่รับประทานเข้าไปแต่กระเพาะไม่สามารถย่อยอาหารได้ จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารยังสามารถสังเคราะห์วิตามิน เช่น วิตามินเค และไบโอติน รวมถึงสร้างฮอร์โมนที่คอยส่งสัญญาณการเก็บหรือไม่เก็บไขมัน และยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรคต่าง ๆ อีกด้วย
ทุกคนมีจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารคล้ายกันไหม
ปกตินั้น จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารจะขึ้นอยู่อาหารที่รับประทาน การใช้ชีวิต และการเข้าสังคม จึงมีความแตกต่างกันในแง่ของการพบเจอผู้คนด้วย แม้จะมีแบคทีเรียมากกว่า 1,000 ชนิดที่สามารถเป็นกลุ่มของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร แต่กลับมีเพียง 150-170 ชนิดเท่านั้นที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารของเรา ดังนั้น การที่จะมีจุลินทรีย์ที่คล้ายกันขึ้นอยู่กับการรับประทานอาหาร การใช้ยาปฏิชีวนะ และการเข้าสังคม ที่เป็นตัวกำหนดให้จุลินทรีย์มีการเปลี่ยนแปลง
จุลินทรีย์ไม่สมดุลส่งผลกระทบต่อทารกได้
นักวิจัยได้เผยว่าจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพทารกได้ เช่น น้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคผิวหนัง โรคตับ โรคหัวใจ และมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อีกทั้งยังมีข้อบ่งชี้ว่าจุลินทรีย์ยังอาจส่งผลต่อการนอนหลับ อารมณ์ ความวิตกกังวล และพฤติกรรมของลูกน้อยอีกด้วย นอกจากนี้ จุลินทรีย์ยังสามารถส่งผลต่อการตอบสนองของยา หากลูกมีจุลินทรีย์ไม่สมดุล ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในตอนโตได้
สัญญาณเตือนเมื่อจุลินทรีย์ไม่สมดุล
อาการผิดปกติในทารก เช่น อาหารไม่ย่อย อารมณ์แปรปรวน หรือเป็นโรคผิวหนัง อาจบ่งบอกถึงความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดิน แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้เหมือนกัน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องสังเกตสัญญาณเตือนอื่น ๆ ร่วมด้วย
- มีกลิ่นปาก
- น้ำหนักเกิน
- นอนไม่หลับ
- เป็นโรคหอบหืด
- มีเมือกในอุจจาระ
- เหนื่อยล้า ไม่ร่าเริง
- มีระบบเผาผลาญที่ไม่ดี
- มีภาวะแพ้คาร์โบไฮเดรต
- เป็นผื่นภูมิแพ้ เป็น ๆ หาย ๆ
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ท้องเสีย อาเจียน คลื่นไส้
วิธีปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ทารก
การปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ทารก คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมของลูกน้อยได้ ซึ่งวิธีเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีดังนี้
1. เลือกโภชนาการย่อยง่ายให้ลูกน้อย
อย่างที่รู้กันว่านมแม่เป็นสารอาหารสำคัญที่สุดของทารก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเป็นประโยชน์ต่อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ช่วยให้สุขภาพลำไส้ของลูกน้อยดีขึ้น และยังมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของทารก เนื่องจากนมแม่ดีที่สุด เพราะเป็นนมย่อยง่าย เหมาะสมกับระบบลำไส้ของลูก รวมถึงนมแม่ยังมี MFGM และ DHA ที่ช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อเซลล์ประสาท ทำให้พัฒนาการสมองของลูกดียิ่งขึ้น
ส่วนในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการเลือกโภชนาการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูก โดยแพทย์อาจจะแนะนำโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนหรือ PHP (Partially Hydrolyzed Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีขนาดโมเลกุลเล็กที่ย่อยง่าย
2. กินอาหารที่มีไฟเบอร์ขณะตั้งครรภ์และให้นมลูก
อาหารที่มีไฟเบอร์จะช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ดีและช่วยลดความเสี่ยงของโรคแพ้ภูมิตัวเองด้วย คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมลูกจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เพราะสารอาหารนี้จะถ่ายทอดไปยังทารกในครรภ์โดยตรง และยังผ่านในน้ำนมแม่ที่ต้องให้ลูกกินอีกเช่นกัน
3. ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
งานวิจัยได้เผยว่าการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะช่วยให้ร่างกายพักผ่อนและช่วยลดความเครียดได้ อีกทั้งยังช่วยให้ลำไส้สุขภาพดี คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกนอนหลับอย่างเพียงพอ ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน โดยทารกแรกเกิดนั้นควรนอนประมาณ 14-18 ชั่วโมงต่อวันจึงจะเพียงพอ
4. เลี้ยงสุนัขในบ้าน
คุณพ่อคุณแม่อาจกังวลว่าการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขกับทารก อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้ อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงสุนัขจะช่วยลดความเสี่ยงโรคผิวหนัง โรคเบาหวาน และโรคหอบหืด ซึ่งมีผลโดยตรงต่อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของลูกน้อย
5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะกับลูกน้อย
แม้ว่ายาปฏิชีวนะจะช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของทารก แต่การให้ยาลูกมากเกินไป ก็อาจส่งผลให้เกิดการดื้อยาได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อจุลินทรีย์ในลำไส้โดยตรง สามารถทำลายจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารและทำให้เกิดความเสี่ยงในติดเชื้อจากแบคทีเรีย แต่หากคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะจริง ๆ ก็ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนเพื่อดูว่าปลอดภัยหรือไม่
การรักษา จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ของทารกมีความสำคัญอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีสุขภาพที่ดีด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และควรลดการใช้ยาปฏิชีวนะ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของลูกสมดุลมากยิ่งขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ภาวะแหวะนมในทารก อันตรายไหม อาการพบได้บ่อยที่พ่อแม่ต้องรู้
สารอาหารในน้ำนมแม่ สุดยอดประโยชน์จากธรรมชาติสำหรับลูกน้อย
นมผงแต่ละสูตรต่างกันอย่างไร ก่อนเปลี่ยนนมให้ลูกแม่ต้องรู้อะไรบ้าง
ที่มา :samitivejhospitals ,bioentist , 3
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!