เมื่อการเลี้ยงลูกหนึ่งคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่ยุคใหม่จึงขอเวลาสร้างเนื้อสร้างตัว เก็บเงินเก็บทองให้ครอบครัวมีฐานะที่มั่นคงก่อนจึงจะมีลูก แต่ปัญหาก็คือ เมื่อถึงเวลาที่พร้อม กลับไม่ได้ตั้งท้องง่ายๆ เหมือนเสกได้อย่างใจ เมื่อวัยล่วงเลยผ่านเลข 3 มาจนเข้าหลัก 4 โอกาสที่จะตั้งครรภ์ธรรมชาติ หรือ ท้องตอน 40 ยิ่งไม่ง่าย แม้เส้นทางการมีลูกจะขรุขระและทุลักทุเลยิ่งกว่าเดินบนทางลูกรังอันเฉอะแฉะ แต่อย่าเพิ่งถอดใจ ลองอ่านประสบการณ์ ท้องตอนอายุ 40 ของคุณแม่น้องนานะ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคู่สามีภรรยาที่พยายามจะมีลูกทุกคนค่ะ
ท้องตอน 40 ต้องตรวจอะไรบ้าง
ท้องนี้ยาก แต่มัมก็สู้สุดใจ! วันนี้ขอมาแชร์ประสบการณ์การตั้งท้องแบบเวรี่ฮาร์ดของ มัมวัย 40 ให้ฟังกันค่ะ เผื่อจะเป็นกำลังใจให้หลายๆ ครอบครัวที่พยายามมีลูกกันนะคะ เรื่องของมัมเป็นการตั้ง ท้องตอน 40 ที่เริ่มต้นด้วยการส่องกล้องผ่าตัด เพื่อเอาเนื้องอกมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ แล้วก็พังผืดในมดลูกออกไป อาจารย์หมอยังแซวว่า ผ่าทีเดียวได้ถึง 3 รอยโรค หลังจากผ่าตัดครบ 6 เดือน ก็เข้าสู่เส้นทางการปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเด็กหลอดแก้ว (อิ๊กซี่ ICSI) วัยนี้ท้องเองไม่ได้แล้วค่ะ ยากเกิ๊นหลังจากพยายามวิธีธรรมชาติมาหลายปี
พอจะท้องด้วยวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว ก็ไม่ใช่ปุ๊บปั๊บทำได้เลยนะ เพราะคุณหมอจะต้องตรวจร่างกายทั้งภายนอก ภายในว่ามีความพร้อมแค่ไหน โดยเฉพาะร่างกายภายในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง มดลูก ความสม่ำเสมอของประจำเดือน ดูจำนวนไข่ที่ตกลงมา เจ็บป่วยไม่สบาย มีโรคประจำตัวอะไรหรือเปล่า มัมต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียด ส่วนสามีก็ต้องตรวจร่างกาย และตรวจความเข้มข้นของสเปิร์มว่าแข็งแรงหรือเปล่าด้วยเหมือนกัน
เตรียมมดลูกให้พร้อม
หลังจากปลายปี 65 ตรวจภายในเจอก้อนเนื้อในมดลูก คุณหมอท่านแรกจากโรงพยาบาลที่มัมเข้ารับการตรวจภายใน และเป็นสูตินรีแพทย์รักษาด้านมีบุตรยาก แนะนำว่าถ้าจะทำเด็กหลอดแก้ว สิ่งแรกต้องเอาก้อนเนื้อที่อยู่ในมดลูกออกไปก่อน ซึ่งเจ้าก้อนเนี่ยก็โตเร็วมาก คุณหมอให้มา 2 ตัวเลือกในการผ่าตัด
- ผ่าตัดด้วยการเปิดหน้าท้อง เป็นวิธีเดียวกับการผ่าตัดคลอดลูก ซึ่งวิธีนี้จะต้องพักฟื้นนาน ร่วมๆ รอให้แผลผ่าตัดและมดลูกกลับมาแข็งแรง ก็ใช้เวลาร่วมๆ ปี ถึงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว
- ผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง วิธีนี้เจ็บแผลน้อย พักฟื้นไม่ถึงสัปดาห์ ก็กลับมาทำงานได้ แต่ก็ต้องรอมดลูกที่ผ่าตัดเอาเนื้องอกออกไปกลับมาแข็งแรง ก็จะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน ถึงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการรักษามีบุตรยาก ด้วยวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว
มัมกับสามี เราพุ่งเป้าไปที่การผ่าตัดเนื้องอกด้วยวิธีการส่องกล้องผ่าตัด แต่คำตอบที่ได้คุณหมอแนะนำให้ผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง นาทีนี้รอไม่ได้ค่ะ เราขอผลตรวจอัลตราซาวนด์และใบรับรองแพทย์ จากนั้นก็เปลี่ยนโรงพยาบาล โชคดีที่ได้รับการแนะนำคุณหมอท่านใหม่จากพี่ที่ทำงาน เป็นอาจารย์หมอที่เก่งและเชี่ยวชาญการรักษาโรคในสตรี
บทความที่เกี่ยวข้อง เช็คด่วน! เนื้องอกในมดลูกเสี่ยงมีบุตรยาก
มัมเข้ารับการส่องกล้องผ่าตัดเนื้องอกมดลูกช่วงต้นปี 66 หลังผ่าตัดเสร็จ อาจารย์หมอบอกว่ามีผ่าตัดเอาออกไป 3 รอยโรค นอกเหนือจากเนื้องอกมดลูก ก็มีเอาพังผืดมดลูก กับช็อกโกแลตซีสต์ออกไปด้วย แต่จะมีก้อนเนื้องอกอยู่จุดหนึ่งที่ยังไม่สามารถเอาออกมาได้ เนื่องจากเนื้องอกอยู่ติดไปกับมดลูก ถ้าเอาออกต้องเลาะเป็นแผลใหญ่ และมดลูกอาจได้รับความเสียหาย แต่ก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูมดลูกให้กลับมาแข็งแรงนานขึ้นจากแพลนที่วางไว้ ฉะนั้นเจ้าก้อนเนื้องอกก้อนนี้จะยังคงอยู่ และถ้าท้องก็จะถูกเบียดเพราะเขาก็จะโตไปพร้อมๆ กับขนาดครรภ์ ถึงเวลานั้นก็ต้องมาลุ้นว่ามัมจะไหวไหม จะบอกว่าส่องกล้องผ่าตัด ราคาแรง แต่เจ็บแผลผ่าตัดน้อยมาก ไม่เกิดรอยแผลผ่าตัด ไม่รู้เลยว่าเคยผ่าตัดมาก่อน มัมนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืน วันรุ่งขึ้น อาจารย์หมอมาตรวจแผล แล้วก็บอกแผลผ่าตัด ช่วงสายๆ ก็กลับบ้านได้เลย
หลังผ่าตัดเสร็จ มัมกับสามีก็หาหมอ หาโรงพยาบาล เพื่อที่จะทำเด็กหลอดแก้ว เหมือนพระจะรู้ หลังจากหามา 2 เดือน นาทีนี้สิ่งศักดิ์เข้าข้างมาก จู่ๆ ก็มีงานเขียนบทความโฆษณาเกี่ยวกับคลินิกรักษามีบุตรยาก จากเขียนงานให้ลูกค้า ก็กลายมาเป็นผู้ใช้บริการจริง หลังจากปรึกษาคุณหมอถึงขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว ก็ไม่ง่ายสำหรับเคสของมัม เพราะตัวแปลสำคัญคือ “ไข่” ด้วยช่วงวัยของมัม จะให้มีไข่พันใบเหมือนสาวแรกรุ่นก็คงไม่ได้ ยากเกิ๊นนน อันนี้คุณพระไม่เข้าข้างนะจ๊ะ
กระตุ้นไข่ > เก็บไข่ > เลี้ยงตัวอ่อน
มัมเข้าสู่กระบวนการกระตุ้นไข่อยู่ 1 เดือน ส่วนสามีผ่านขั้นตอนการเก็บสเปิร์มไปอย่างชิลๆ ได้สเปิร์มที่แข็งแรงและสมบูรณ์รอไว้แล้ว จะบอกว่าขั้นตอนของการกระตุ้นไข่ จะต้องเจอกับตัวยาฮอร์โมนที่ทั้งกิน เหน็บ ฉีดยาตรงหน้าท้องสลับซ้ายขวาทุกวัน อัลตราซาวนด์ทุก 3 วัน เพื่อดูจำนวนไข่ พอถึงวันที่ต้องเก็บไข่ คุณหมอเก็บไข่ของ มัมมา 4 ใบ แต่ก็เป็นไข่อ่อน 1 ใบ ไข่ฝ่อ 1 ใบ เหลือไข่อีก 2 ใบ ที่จะได้เข้าไปสู่ขั้นตอนเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ (Blastocyst) ช่วงที่เลี้ยงตัวอ่อนทางคลินิกจะส่งผลมาแจ้งทุกวัน จนท้ายที่สุดก็ได้น้องไข่เพียงหนึ่งเดียว โครโมโซมสมบูรณ์ที่สุด วินเข้าเส้นชัย เพื่อจะย้ายมานอนอุ่นๆ ในพุงมัม ด้วยความที่เหลือน้องไข่เพียงหนึ่ง ก็ต้องมาลุ้นกันว่าน้องจะเกาะผนังมดลูก และสามารถเติบโตหลังย้ายเข้ามาในโพรงมดลูกได้หรือเปล่า
ย้ายตัวอ่อน
คุณหมอบอกว่าหลังจากเก็บไข่ 5-6 วันถ้าพร้อมก็สามารถเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการย้ายตัวอ่อนได้ทันที ของมัมปรึกษากับคุณหมอขอทิ้งระยะในการใส่ตัวอ่อน 1 เดือนเพื่อเคลียร์งานก่อน มัมให้ไว้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับใครที่กำลังแพลนว่าจะมีลูกด้วยวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว การย้ายตัวอ่อนจะมี 2 วิธี คือการย้ายตัวอ่อนรอบสด (Fresh embryo transfer) จะย้ายตัวอ่อนภายใน 5-6 วันหลังจากเก็บไข่ และการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง (Frozen embryo transfer) ของเคสมัมเป็นการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งหลัง 1 เดือน มัมกลับมาหาคุณหมอและวางแผนสำหรับใส่ตัวอ่อน คุณหมอให้กินยา กับเหน็บยา เพื่อเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนา และแข็งแรง ถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกไม่หนาใส่ตัวอ่อนไปแล้วก็จะไม่สามารถเกาะได้ สุดท้ายตัวอ่อนก็จะหลุดไม่ติดค่ะ คุณหมอแนะนำว่าควรให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาให้ได้เกิน 8 มิลลิเมตรขึ้นไป ของมัมหลังจากกินยาตามที่คุณหมอจัดให้ อัลตราซาวนด์ดูแล้วได้ความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ 10 มิลลิเมตร ได้ความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกแล้ว ทีนี้ก็นัดวันเตรียมย้ายตัวอ่อนกันค่ะ
รอบย้ายตัวอ่อน จะไม่มีการทำให้มัมสลบเหมือนตอนผ่าตัดมดลูก กับตอนเก็บไข่ การย้ายตัวอ่อนจะทำขณะที่ยังมีสติรับรู้ทุกอย่าง บอกเลยว่ากลัวมาก เป็นขั้นตอนที่ไม่สามารถนึกคิด จินตนาการได้ว่าจะเป็นยังไง มัมย้ายตัวอ่อนช่วงวีคที่ 3 ของเดือนตุลาคมในปีเดียวกันกับที่ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก การย้ายตัวอ่อนผ่านไปได้ด้วยดี จะบอกว่าไม่เจ็บนะคะ ตอนย้ายตัวอ่อนเข้าไปในช่องคลอดไม่ถึง 5 นาทีก็เสร็จเรียบร้อย
คุณหมอให้ลุ้นต่อ 14 วันหลังจากใส่ตัวอ่อน คือภายใน 14 วันนี้ ตัวอ่อนต้องเกาะผนังมดลูกและฝังตัว หลายคนอาจเคยได้ยินว่าหลังใส่ตัวอ่อน ต้องนอนนิ่งๆ บนเตียงใช่ไหมคะ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น คุณหมอบอกว่าแต่ละคนมีความพร้อมของร่างกายไม่เหมือนกัน อย่างของมัมคุณหมอไม่ให้นอนทั้งวันทั้งคืน สามารถขยับ เคลื่อนไหวร่างกายได้ แต่มีข้อจำกัดว่าให้ขึ้นลงบันไดได้วันละแค่ 1 ครั้ง เดินช้าๆ ห้ามเดินเร็ว ห้ามวิ่ง ห้ามออกกำลังกาย ห้ามท้องผูก ห้ามเบ่งเวลาขับถ่าย ห้ามนั่งระหว่างวันนานติดต่อกันหลายชั่วโมง มัมบอกเลยว่าเครียดมาก ที่เครียด ที่กังวลก็เพราะเราไม่รู้เลยว่าตัวอ่อนจะเกาะกับผนังมดลูกแล้วหรือยัง ช่วง 14 วันนี้ เราทำอะไรพลาดไปหรือเปล่า เป็น 14 วันที่ยาวนานมาก กลัวและกังวลว่าลูกจะไม่ติด ถ้าไม่ติดคือต้องเริ่มต้นกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วใหม่หมด เริ่มนับ 1 ใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรก เนื่องจากมัมไม่มีไข่จากที่เก็บรอบแรกเหลือเลย และก็ไม่รู้ว่าถ้าเก็บใหม่ จะมีไข่หรือเปล่า
บทความที่เกี่ยวข้อง คนท้อง ท้องผูก ถ้าต้องเบ่งอุจจาระแรงๆ ลูกในท้องจะเป็นอันตรายไหม
ใจฟู เมื่อตั้งครรภ์สำเร็จ ท้องตอน 40 ได้จริง
พอได้ 14 วัน คุณหมอนัดมัมไปตรวจเลือดเพื่อดูฮอร์โมนตั้งครรภ์ งานนี้มัมเป็นลูกรักคุณพระนะคะ คุณขา มัมท้องแล้วค่าาาา คุณหมอว่าอายุครรภ์ได้ 4 สัปดาห์แล้ว เริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนรอบล่าสุดก่อนใส่ตัวอ่อน คุณหมอว่ามัมคือเคสที่โชคดี ที่ทำเด็กหลอดแก้วครั้งแรกและครั้งเดียวก็ติดเลย เพราะด้วยสุขภาพ จำนวนไข่ที่มีในร่างกาย และด้วยวัยที่ ท้องตอน 40 เกือบจะไม่มีหวังได้ 100%
มัมต้องกินยาฮอร์โมน เหน็บยา และฉีดยาเข้าผนังหน้าท้องเองเหมือนสเต็ปของขั้นตอนการกระตุ้นไข่ กิน กับเหน็บไม่เท่าไหร่ แต่ฉีดยานี่ยังคงหวาดเสียวและเจ็บเหมือนเดิม ต่อให้เป็นเข็มเบอร์เล็กสุดก็ตามเถอะ
ใจฝ่อ เมื่อเจอภาวะแท้งคุกคาม
พอท้องเข้าสัปดาห์ที่ 7 มัมเริ่มเหม็นข้าว เหม็นผัก เหม็นผลไม้ที่กิน คุณหมอว่าเป็นสัญญาณแพ้ท้อง แต่ไม่หมดแค่นั้นค่ะ เพราะมัมมีเลือดออก คุณหมอตรวจดูแล้วว่าเป็นอาการแท้งคุกคาม จากใจฟู ดีใจที่ท้องได้แล้ว ตอนนี้ใจเหลือนิดเดียว คุณหมอว่าต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่างที่ส่งผลต่อครรภ์ เพราะอาจแท้ง!
ครั้งหน้ามัมจะมาเล่าถึงอาการแพ้ท้องหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล แพ้ท้องกินอะไรไม่ได้ แต่กลับเป็นเบาหวานแทรกซ้อนที่ต้องเช็กเลือดก่อนกินข้าว และหลังกินข้าวทุกวันของทุกมื้ออาหาร เช็กเลือดดูค่าน้ำตาลไปจนถึงวันคลอด เบาหวานแทรกซ้อน ที่น้องไม่ขาดสารอาหาร ต้องทำไง มัมจะมาแชร์ให้นะคะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภัยเงียบที่ต้องระวัง ส่งผลร้ายต่อลูกในท้องได้
อาการแพ้ท้องในแต่ละเดือน อาการของคนท้อง พร้อมวิธีรับมือ บรรเทาอาการ
อาการคนท้องเดือนที่ 1 – 9 เป็นอย่างไร อาการท้อง แต่ละเดือนต้องเจออะไรบ้าง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!