การนอนหลับที่ดีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพัฒนาการของทารก แต่การตื่นขึ้นมากินนมมื้อดึกก็เป็นเรื่องปกติของลูกน้อยเช่นกัน ซึ่งเมื่อถึงช่วงวัยหนึ่งที่ลูกน้อยเติบโตขึ้น การเลิกมื้อดึกให้ได้นับเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเกิดขึ้น เพื่อผลดีต่อทั้งสุขภาพและพัฒนาการของลูกน้อย รวมถึงคุณภาพการนอนหลับของคุณพ่อคุณแม่เองด้วย เลิกมื้อดึกลูก สำคัญยังไง? เรามีวิธีเลิกมื้อดึกในช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างได้ผล โดยไม่ทำให้ลูกน้อยรู้สึกสะเทือนใจมาแนะนำค่ะ
ทารกแต่ละช่วงวัย กินนมมากน้อยแค่ไหน?
ลูกน้อยแต่ละช่วงวัยมีความต้องการทางโภชนาการที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะปริมาณนมที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรงสมวัยอาจแบ่งตามช่วงวัยได้ดังนี้
-
วัยแรกเกิด
ควรกินนมวันละ 8-10 ครั้ง หรือทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ครั้งละประมาณ 1 ช้อนชา ตั้งแต่วันแรกที่คลอด กระทั่งวันที่สามขึ้นไปจึงให้นมลูกเฉลี่ยประมาณ 1-1.5 ออนซ์ วันละ 8-10 ครั้ง หรือทุกๆ 2-3 ชั่วโมงเช่นกัน เมื่อลูกน้อยอายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรให้กินนม 2-3 ออนซ์ ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งหากลูกหลับเกิน 3-4 ชั่วโมง ควรปลุกมากินนม เพราะยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ค่ะ นอกจากคุณหมอจะประเมินแล้วว่าสามารถให้ลูกนอนยาวได้
-
ทารกวัย 1-4 เดือน
กระเพาะอาหารของลูกวัยนี้เริ่มใหญ่ขึ้นแล้ว กินนมได้มากขึ้น โดยปริมาณน้ำนมที่ลูกน้อยควรได้รับต่อวัน วัย 1 เดือน ควรได้รับน้ำนมเฉลี่ยวันละ 7-8 ครั้งต่อวัน 2-4 ออนซ์ต่อครั้ง พอเข้าสู่ วัย 2-4 เดือน ลูกควรได้รับน้ำนมเฉลี่ยวันละ 6-8 ครั้งต่อวัน หรือทุก 3-4 ชั่วโมง ในปริมาณครั้งละ 4-6 ออนซ์
-
ลูกวัย 5-6 เดือน
คุณแม่สามารถให้นมลูกมากขึ้นได้ โดยปรับมื้อนมเป็นมื้อที่ใหญ่ขึ้น ลดความถี่ให้นมลง เป็นเฉลี่ยครั้งละ 6-8 ออนซ์ วันละ 5-6 ครั้งต่อวัน หรือทุก 4-5 ชั่วโมง
-
ช่วงวัย 6-12 เดือน
เป็นช่วงที่สามารถเริ่มอาหารตามวัยให้ลูกน้อยได้แล้ว แต่ยังคงต้องการสารอาหารจากน้ำนมอยู่ ความถี่การให้นมลูกจึงอาจลดลงเหลือเพียงวันละ 4-5 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 6-8 ออนซ์ได้ โดยให้ข้าวหรืออาหารตามวัย 1 มื้อ ทดแทนนม 1 มื้อ

นมมื้อดึก คือมื้อไหน? เลิกมื้อดึกลูก คืออะไร?
โดยปกติแล้ว “มื้อดึก” มักหมายถึงช่วง 5 ทุ่ม – 6 โมงเช้า (23.00 – 06.00 น.) หรือ 3 ทุ่ม ถึงประมาณตี 4 – ตี 5 แล้วแต่บ้านค่ะ ถ้าลูกน้อยเข้านอนเร็วตั้งแต่ 1-2 ทุ่ม แล้วตื่นก่อน 5 ทุ่ม ก็ถือว่าให้กินนมได้ปกติจนถึง 5 ทุ่มตรง หรืออาจปรับเวลาเป็น 4 ทุ่ม หรือเที่ยงคืน ดังนั้น การเลิกนมมื้อดึก คือ ไม่ให้ลูกกินนม ทั้งนมแม่ และนมชง ในช่วงเวลาดังกล่าวข้างต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ลูกเลิกกินนม หรือหย่านมนะคะ เพียงแค่เลิกกินช่วงมื้อดึกโดยยังมีคุณแม่อยู่ใกล้ๆ ลูกเสมอ แต่ไม่ให้เข้าเต้าหรือดูดขวดนมหลังจากกล่อมลูกนอนแล้วเท่านั้นค่ะ
เลิกมื้อดึกลูก สำคัญยังไง?
นมมื้อดึกนั้นจำเป็นสำหรับทารกค่ะ แต่เมื่อถึงช่วงวัยหลังจาก 4-6 เดือนไปแล้ว ลูกน้อยจะพร้อมสำหรับการนอนหลับได้ยาวเกิน 6-8 ชั่วโมง โดยไม่ต้องตื่นมากินนมระหว่างคืน ซึ่งมีประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ ดังนี้
- ดีต่อการเจริญเติบโตของลูก การนอนยาว นอนเพียงพอ ดีกว่าการที่ลูกตื่นบ่อยๆ มากิน เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยพบว่าการนอนหลับลึกจะทำให้ Growth Hormone หลั่งได้ดี ร่างกายลูกน้อยก็เจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ค่ะ
- สร้างนิสัยการกินที่เหมาะสม การเลิกนมมื้อดึกจะช่วยให้ลูกเรียนรู้การกินอาหารเป็นเวลา และไม่พึ่งพาอาหารในตอนกลางคืน การตื่นกินบ่อยๆ จะสร้างนิสัยกินจุบจิบ และมักทำให้มื้ออาหารหลักรวน ไม่ตรงเวลา สุขลักษณะการกินในช่วงกลางวันพังตามไปด้วย สุดท้ายลูกจะไม่ยอมกินข้าว กินแต่นม รอกินนมก่อนนอน และตอนกลางคืน
- ลดความเสี่ยงฟันผุ การกินนมหรืออาหารที่มีน้ำตาลในตอนกลางคืน โดยไม่แปรงฟัน เพิ่มความเสี่ยงของฟันผุ ซึ่งฟันซี่แรกของลูกมักเริ่มขึ้นตั้งแต่หลังอายุ 6 เดือน การนอนโดยที่ยังมีร่องรอยของน้ำนมในปาก ไม่มีผลดีต่อสุขภาพฟันของลูกทั้งนมผงและนมแม่ค่ะ
- คุณแม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เมื่อลูกน้อยนอนยาว ไม่ตื่นบ่อย ก็เป็นผลพลอยได้ที่ดีทำให้คุณแม่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอเพื่อสุขภาพที่ดีด้วยค่ะ

เลิกมื้อดึกลูก ทำตอนไหน?
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แนะนำให้ฝึก เลิกมื้อดึกลูก ได้เมื่ออายุ 6 เดือนเป็นต้นไปค่ะ โดยอาจเริ่มที่อายุ 4-6 เดือนได้หากเป็นเด็กคลอดครบกำหนดและน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับความพร้อมของลูกแต่ละคนด้วย ซึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกน้อยพร้อมเลิกมื้อดึกแล้ว เช่น ลูกสามารถนอนหลับได้นานขึ้นในตอนกลางคืน กินอาหารได้ดีในช่วงกลางวัน และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ค่ะ
วิธีการฝึกลูกเลิกนมมื้อดึก แบบไม่สะเทือนใจ
การฝึกเลิกมื้อดึกให้ลูกเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่อาจต้องใช้เวลาและความอดทนจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเรามีวิธีเลิกมื้อดึกอย่างได้ผล ราบรื่น ไม่สะเทือนใจลูก มาฝาก
-
เพิ่มปริมาณและความห่างการให้นม
คุณแม่ควรเพิ่มปริมาณของน้ำนม และเพิ่มความห่างของชั่วโมงในการให้นมลูก เช่น ปกติคุณแม่ให้นมลูกในปริมาณ 4 ออนซ์ ทุก 4 ชั่วโมง ก็ควรเปลี่ยนมาให้นมลูกในปริมาณ 6 ออนซ์ ทุก 6 ชั่วโมงแทน วิธีนี้จะค่อยๆ ช่วยให้ลูกตื่นมากินตอนดึกน้อยลงค่ะ
-
ค่อยๆ ลดนมทีละนิด
การที่คุณแม่ค่อยๆ ลดปริมาณนมทีละนิด ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้ลูกเลิกดื่มในตอนดึกได้เช่นกัน โดยอาจลดปริมาณนมทีละ 1 ออนซ์ในทุกๆ 4-5 วัน หรือตามความเหมาะสม หรือให้ลูกเลิกดูดเร็วขึ้นทีละนิดก็สามารถช่วยได้เช่นกัน แต่ไม่ควรลดในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกเลิกมื้อดึกได้ค่อนข้างยากกว่าเดิม
-
ปรับเวลามื้อเย็นให้เหมาะสม
ปรับมื้ออาหารในช่วงเย็นให้เพียงพอ เพื่อให้ลูกไม่หิวตอนกลางคืน หากลูกกินมื้อเย็นในเวลาที่เหมาะสมและได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ก็จะช่วยให้รู้สึกอิ่มจนถึงเช้าและไม่ตื่นขึ้นมากินมื้อดึกค่ะ
-
อย่ารีบให้นมลูกหลังตื่นนอน
โดยปกติแล้ว เมื่อลูกตื่นนอน คุณแม่มักจะให้นมลูกทันที ซึ่งบางครั้งลูกอาจจะยังไม่ได้หิว หรืออาจตื่นมาเพราะความเคยชินก็เป็นได้ การที่คุณแม่ให้นมลูกทันทีที่ลูกตื่น จะทำให้ลูกติดนิสัยในการอยากดื่มนมทันทีหลังตื่นนอน ดังนั้นจึงควรรอสัก 5-10 นาทีแล้วจึงค่อยให้นมจะดีที่สุด
-
ใช้วิธีการหักดิบ
หากคุณแม่ใช้ 4 วิธีข้างต้นไม่ได้ผล อาจลองใช้วิธีหักดิบได้ค่ะ แม้จะเป็นวิธีที่ค่อนข้างดูใจร้ายแต่เชื่อว่าได้ผลอย่างแน่นอน โดยเมื่อลูกตื่นกลางดึกควรปล่อยให้ลูกเล่นไปก่อน ถ้าลูกร้องควรทำใจให้ร้องไปก่อน แต่พยายามกล่อมให้หลับอีกครั้ง ทำแบบนี้สัก 2-3 คืน เพื่อฝึกนิสัยให้ลูกรู้ว่าการตื่นมากลางดึกจะไม่ได้กินนมเสมอไป
-
สร้างกิจวัตรการนอนที่ชัดเจน
การตั้งกิจวัตรการนอนที่แน่นอนช่วยให้ลูกรู้ว่าเวลาไหนถึงเวลานอน เช่น การอาบน้ำ อ่านนิทาน หรือเล่นกับลูกก่อนนอนจะช่วยให้ลูกผ่อนคลายและรู้ว่าเมื่อทำกิจกรรมเหล่านี้ก็หมายถึงการเข้านอนโดยไม่ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก
-
สอนให้ลูกนอนหลับโดยไม่ต้องพึ่งนม
หากลูกตื่นกลางคืนแล้วร้องขอกินนม ควรพยายามให้ลูกกลับไปนอนหลับโดยไม่ต้องให้นม วิธีนี้อาจทำได้โดยการให้ความปลอดภัยและปลอบโยนลูก เช่น การอุ้มปลอบลูก หรือพูดคุยเพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัยโดยไม่ต้องให้นมค่ะ
-
สร้างบรรยากาศการนอนที่ดี
การทำให้ห้องนอนเป็นที่นอนที่ปลอดภัยและสะดวกสบายสำหรับลูก จะช่วยให้ลูกนอนหลับได้ยาวนานขึ้น รวมถึงการปรับอุณหภูมิห้องให้อบอุ่น ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป และให้แสงไฟที่ไม่มากเกินไปด้วย

การเลิกมื้อดึกอาจไม่สำเร็จในคืนเดียว แต่จำเป็นต้องใช้เวลาและความอดทนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกนะคะ บางครั้งการที่ลูกตื่นมาในตอนกลางดึกอาจไม่ใช่เพราะหิวเสมอไป เพราะก่อนนอนคุณแม่ย่อมให้ลูกกินนมจนอิ่มก่อนหลับเสมอ แต่เกิดจากการที่รู้สึกไม่สบายตัว ผ้าอ้อมเต็ม หรือตื่นเพราะความเคยชินก็เป็นได้ ดังนั้น หากสามารถฝึกลูกให้เลิกมื้อดึกได้ก็ย่อมเป็นผลดีต่อตัวลูกและคุณแม่อย่างแน่นอน ที่สำคัญคือ ไม่ควรใช้วิธีที่รุนแรงหรือทำให้ลูกตกใจ เพราะนอกจากจะทำร้ายจิตใจลูกแล้ว ยังอาจทำให้พฤติกรรมไม่หายไปด้วย นอกจากนี้ หากลูกมีอาการผิดปกติ เช่น ร้องไห้ไม่หยุด หรือมีน้ำหนักตัวลดลง ควรปรึกษาแพทย์ค่ะ
ที่มา : เลี้ยงลูกตามใจหมอ , คลินิกเด็กหมอรวงข้าว , www.sanook.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ลูกกินนมน้อย ผิดปกติไหม แม่ให้นม ต้องแก้ไขอย่างไร
นมสำหรับเด็กเป็น G6PD เลือกยังไง ปลอดภัยกับลูกที่มีภาวะพร่องเอนไซม์
นมแม่สีเหลือง ปกติมั้ย? ลูกกินได้หรือเปล่า น้ำนมแม่มีกี่สี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!